Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การประท้วงการทำเหมืองทองครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลโรมาเนียเสนอร่างกฎหมายเมือวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา  เพื่อให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าของโครงการ คือ บริษัทโกลโรเซีย มอนทานา (ซึ่งกลุ่มกาเบรียลรีสอร์ตเซสของแคนาดาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) ในการทำเหมืองทองแบบเปิดใหญ่ที่สุดในยุโรป บริเวณเทือกเขาอาปูเซนีที่อุดมสมบูรณ์  เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุให้บริษัทสามารถย้ายผู้คนออกจากที่อยู่อาศัยในเขตทำเหมือง นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ใบอนุญาตที่จำเป็นทั้งหลายแก่บริษัทภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อกำหนดตามกฎหมายของประเทศ การตัดสินของศาลหรือการมีส่วนร่วมของสาธารณชน

กฎหมายฉบับนี้เป็นการเปิดไฟเขียวให้แก่โครงการ หลังจากที่บริษัทไม่ได้รับใบอนุญาตใด ๆ มาเป็นเวลา 14 ปี  ในปี 2547 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโรมาเนีย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เรียกร้องให้ยุติโครงการนี้เพราะต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ และนอกจากโครงการนี้จะมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการโยกย้ายผู้คนออกจากพื้นที่แล้ว  การทำเหมืองขนาดใหญ่ของบริษัทนี้ยังคุกคามมรดกทางวัฒนธรรมในโรเซีย มอนทานาซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองของโรมาเนียมาตั้งแต่ยุคโรมัน 

ในการนำเสนอโครงการต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อม  บริษัทแจ้งว่าได้วางแผนจะสร้างเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่โรเซีย มอนทานา เพื่อสะกัดทอง 300 ตันและเงิน 1,600 ตันในช่วง 17 ปี  โดยในการดำเนินงานจะทำลายหมู่บ้านสามแห่งและภูเขาสี่ลูก และมีการใช้ไซยาไนด์ 12,000 ตันต่อปีและปล่อยของเสียจากการทำเหมือง 13 ล้านตันต่อปี  

ประเด็นหลักที่หยิบยกมาพูดกันโดยตลอดก็คือเหมืองทองแห่งนี้จะสามารถสร้างงานและทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น  ข้อตกลงล่าสุดระหว่างรัฐบาลโรมาเนียกับบริษัท (อยู่ในภาคผนวกของร่างกฎหมาย) ก็คือ บริษัทจะจ้างคน 2,300 คนในช่วงที่มีการก่อสร้าง 2 ปี และ 900 คนในช่วง 17 ปีของการทำเหมือง  และในช่วงการดำเนินงานของบริษัท   เศรษฐกิจของโรมาเนียจะได้ประโยชน์ประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์

ชาวบ้านนับร้อย ๆ คนจากหมู่บ้าน 3,000 แห่ง ซึ่งออกมาประท้วงโครงการนี้เป็นเวลาหลายปีได้ก่อตั้งเอ็นจีโอชื่ออัลบูรนัส มาเลอร์ขึ้น และประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้สาธารณชนเห็นอกเห็นใจขบวนการนี้

การประท้วงที่เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน มีความเข้มแข็งเป็นพิเศษ  นับตั้งแต่เริ่มมีการประท้วง  ก็มีข้อมูลผิด ๆ ออกมาจำนวนมาก สถานีโทรทัศน์ช่องสำคัญๆ ไม่ได้รายงานข่าวการประท้วงครั้งนี้ แม้ว่าจะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก   วันที่ 10 กันยายน สื่อมวลชนให้ข่าวผิดๆ ว่าวุฒิสภาคัดค้านร่างกฏหมายฉบับนี้  และนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์ ปอนทาไม่สามารถสนับสนุนโครงการนี้ได้เพราะขัดเจตนารมย์ของประชาชน แต่ภายหลังก็สนับสนุนโครงการ  นอกจากนี้  สื่อหลัก ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศยังได้โฆษณาจากบริษัท และไม่ได้รายงานข้อถกเถียงเกี่ยวกับการกอบโกยทรัพยากรในโครงการนี้

ในวันที่ 15 กันยายน  ไม่เพียงการประท้วงจะเกิดขึ้นใน 33 เมืองของโรมาเนียเท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นใน 41 เมืองในประเทศต่าง ๆ  ด้วย  และก่อผลสะเทือนในระดับสากลขึ้นแล้ว  โดยสโคเทียแคปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทโบรกเกอร์ ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะไม่จำหน่ายหุ้นให้แก่บริษัทกาเบรียลรีซอร์สเซส เนื่องจากแรงกดดันของสาธารณชนในโรมาเนียและทั่วโลก

กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันโดยไม่มีโครงสร้างการสั่งการและผู้นำที่เป็นทางการ มีทักษะในการให้ข้อมูลแก่สาธารณชนโดยตลอดและใช้ช่องทางผ่านเฟสบุ๊ค การเดินขบวนทุกอาทิตย์เป็นเวลาหลายชั่วโมงๆ  ผ่านชุมชนต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงโครงการนี้และแสดงให้เห็นว่าผู้ประท้วงไม่ใช่อันธพาลตามที่ออกข่าวทางโทรทัศน์  กลยุทธ์นี้ดูจะได้ผลเพราะมีผู้ประท้วงเพิ่มมากขึ้น   ผู้ประท้วงในวันแรก ๆ เป็นเยาวชน แต่หลังจากนั้นมีผู้ใหญ่และพ่อแม่ของเยาวชนมาร่วมเพิ่มขึ้น 

คลอดิว คราซิอัน ผู้เข้าร่วมในการประท้วงอย่างกระตือรือร้นกล่าวว่า “น่าสนใจมากที่การต่อต้านครั้งนี้เริ่มขึ้นจากการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่นี่ไม่ได้เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  หากยังเป็นเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะรักษาทรัพย์สินของตนเอง และเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องปกปักรักษามรดกตกทอดที่ไม่ได้เป็นของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นของโลกและคนรุ่นหลังด้วย”

 

แหล่งอ้างอิง

  1. Claudia Ciobanu, Street Power Takes On Gold, http://www.ipsnews.net/2013/09/street-power-takes-on-gold/, 17 กันยายน 2556
  2. The protesters’ demands are not negotiable! Victor Ponta must be the only person still believing in the cyanide-based gold mine!, 16 กันยายน 2556, http://rosiamontana.org/en/stiri/the-protesters-demands-are-not-negotiable-victor-ponta-must-be-the-only-person-still-believing      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net