สหพันธ์สตรีทวายแจง ถูกละเมิดสิทธิจากโครงการทวาย ร้องระงับโครงการ

(26 ก.ย.56) สหพันธ์สตรีทวาย (Tavoyan Women’s Union) ออกแถลงการณ์ ระบุถึงการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย พร้อมเรียกร้องให้ระงับโครงการโดยทันที โดยมีรายละเอียดมีดังนี้

(ย่างกุ้ง) การเปิดตัววิดีทัศน์ของสหพันธ์สตรีทวายวันนี้ ได้เผยถึงการละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และเรียกร้องให้ระงับโครงการโดยทันที

วิดีทัศน์ความยาว 15 นาที เผยให้เห็นภาพชายฝั่งทะเลทวายที่บริสุทธิ์สวยงามกำลังถูกทำลาย และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวทวายกำลังถูกคุกคาม โดยโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศพม่า และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ มาตั้งแต่ปี 2551

ชาวบ้านจำนวน 12,000 คน จาก 6 หมู่บ้านต้องถูกโยกย้ายหลังจากฤดูฝนนี้สิ้นสุดลง เพื่อหลีกทางให้กับการดำเนินโครงการในระยะที่ 1  โดยรวมแล้ว มีชาวบ้านทั้งหมด 30,000 คนจาก 19 หมู่บ้านชาวบ้านได้เล่าเรื่องราวความอัดอั้น ว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะโยกย้าย และไม่ต้องการสูญเสียที่ดินทำกินที่ปลูกยางพารา มะม่วงหิมพานต์ และหมาก มาตลอดระยะเวลาหลายปี  ชาวบ้านปฏิเสธค่าชดเชย และปิดถนนไม่ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าไปสำรวจที่ดิน

นอกจากนี้รถก่อสร้างของบริษัทยังได้สร้างความเสียหายให้กับถนนของชุมชน เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของชาวบ้าน และการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก ๆ  ชาวบ้านได้ร้องต่อบริษัทให้ซ่อมแซมถนนต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่บริษัทกลับเพิกเฉย ชาวบ้านจึงจำต้องซ่อมแซมถนนกันเอง ในขณะเดียวกัน ถนนที่บริษัทสร้างขึ้นใหม่สำหรับโครงการ ยังได้ขวางทางน้ำที่มีอยู่เดิม จนก่อปัญหาน้ำท่วม และสร้างความเสียหายให้กับนาข้าวของชาวบ้าน

ชาวบ้านที่ไม่พอใจกับการละเมิดสิทธิเหล่านี้กำลังแข็งขืนและหาทางตอสู้คัดค้านด้วยตัวเอง หญิงชาวบ้านจากหมู่บ้านมะยินจี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกเสนอให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ได้สร้างเครื่องกีดขวางเพื่อปิดถนนที่ตัดผ่านสวนมะม่วงหิมพานต์ของเธอ  เธอเล่าว่า บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยที่ได้ทำลายสวนมะม่วงหินพานต์ของเธอ แต่กลับไม่เคยให้อะไรเลย

วิดีทัศน์ที่นำเสนอในวันนี้ได้หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากโครงการขนาดใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบจากมลพิษที่จะเกิดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า  พวกเรา - สหพันธ์สตรีทวาย ขอเรียกร้องให้ระงับโครงการอย่างเร่งด่วน  และเพื่อให้ชาวบ้านได้รับสิทธิตามหลักการยินยอมที่ได้รับบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ (Free Prior and Informed Consent) จากโครงการใด ๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“พวกเราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่ชาวทวายต้องมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนา และในทรัพยากรธรรมชาติของเรา",  ซูซูเฉว่ย  เลขาธิการสหพันธ์สตรีทวาย กล่าว


ถนนของชุมชนถูกรถบรรทุกขนาดใหญ่ของบริษัทใช้สัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลาจนสภาพใช้การไม่ได้ ชาวบ้านได้ร้องต่อบริษัทให้ซ่อมแซมถนนต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่บริษัทกลับเพิกเฉย 
 


หญิงจากหมู่บ้านมะยินจี ประท้วงบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ด้วยการปิดถนนที่ตัดผ่านและทำลายสวนมะม่วงหิมพานต์ของเธอ
 


"เราปลูกยางพารา มะม่วงหิมพานต์ หมาก มะพร้าว น้อยหน่า ฝรั่ง มังคุด เราไม่สามารถย้ายออกจากพื้นที่และทิ้งที่ดินเหล่านี้ไป"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท