Skip to main content
sharethis

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสะท้อนปัญหาถูกคุกคามหลังเรียกร้องความเป็นธรรม กลไกปกป้องสิทธิและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไม่มีประสิทธิภาพ เสี่ยงถูกละเมิดซ้ำหากขัดแย้งกับกลไกยุติธรรมเสียเอง



(27 ก.ย.56) เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต Protection International และ Frontline Defender ร่วมจัดเสวนา “การปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยออนไลน์” ที่โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ กรุงเทพฯ โดยมีนักสิทธิมนุษยชนในไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะทนายความคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน เขาพบว่าคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้มักจะมีคดีติดตัว การข่มขู่ ทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ซึ่งรัฐต้องลุกขึ้นมาปกป้องดูแล แต่ในทางกลับกัน ทั้งรัฐและทุนใช้กฎหมายมาตอบโต้การต่อสู้ของชาวบ้าน กรณีต่อต้านโรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี แกนนำการต่อต้านก็ถูกฟ้องร้องถึง 14 คดี

ประสบการณ์การถูกภาครัฐตอบโต้ทั้งทางกายภาพและการใช้กฎหมายบังคับ เป็นสิ่งที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ร่วมเวทีเสวนาต่างผ่านประสบการณ์

ก๊ะแยนะ สาแลแม จากปัตตานี ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ลูกชายที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 เป็นต้นมาจนปัจจุบันเป็นผู้ประสานระหว่างชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการของภาครัฐกับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เธอก็ยังถูกค้นบ้านอยู่เนืองๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา นี้เอง

ขณะที่อาเต็ฟ โซะโก อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กล่าวว่า ผู้ชายที่ตื่นตัวต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในชายแดนใต้นั้นได้รับบทเรียนที่ต้องเข็ดหลาบจากกรณีตากใบ ส่วนตัวเขาเองนั้นเริ่มต้นสนใจปัญหาและข้อเท็จจริงในพื้นที่ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สนนท. แต่ก็ถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็ง เมื่อปี 2547 และมีการซ้อมทรมานประชาชนต่อหน้า ในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว แม้ไม่เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ล่าสุดมีการคุกคามเขาผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนำรูปของเขาไปเผยแพร่พร้อมข้อความโจมตีว่าเป็นคนลวงโลก เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็คือต้องมีสมาธิ และไม่อ่อนไหวไปกับการถูกคุกคาม


คู่ขัดแย้งเป็นบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเสียเอง
พิกุล พรหมจันทร์ จากกาฬสินธุ์ บอกว่าเธอต่อสู้กับผลลบของสงครามยาเสพติด เนื่องจากหลานชายถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้พบว่า เฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์มีผู้สูญหายกว่า 300 กรณี บางกรณีพบเป็นศพ และกรณีที่มาถึงดีเอสไอ 33 คดี และคดีของหลานชายนำไปสู่การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ ลงมาถึงดาบตำรวจ ในกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิของหลานชายที่เสียชีวิตไป พยานเสียชีวิตไป 2 คน และแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาจำเลยว่ากระทำผิดและลงโทษประหารชีวิต และจำคุกตลอดชีวิต แต่ยังมีการอุทธรณ์และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตยังคงได้รับรางวัลเจ้าหน้าที่ตำรวจดีเด่น 

ข้อวิพากษ์ของพิกุลก็คือ กระบวนการยุติธรรมนั้นล้วนมีตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เมื่อประชาชนมีปัญหากับตำรวจ ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างไร

จร นวโอภาส เล่ากรณีชุมชนหนองแหน อ.พนมสารคม ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบจากกลิ่นและปัญหาผิวหนัง เนื่องจากมีผู้ลักลอบนำสารเคมีเข้าไปทิ้งในพื้นที่ เมื่อตัวเขาเองและผู้ใหญ่บ้านจัดการชุมนุม และเอาภาพกากขยะเคมีไปฉายให้ประชาชนดู ก็ถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการฐานหมิ่นประมาททำให้บริษัทเสียชื่อเสียง คดีนี้ยกฟ้องในชั้นอุทธรณ์ ให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย เขาพบว่าการร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษนั้นไม่ได้ผล การร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้ผลเช่นเดียวกัน

ล่าสุด ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องสิทธิถูกฆ่าตายเมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ตำรวจจับผู้จ้างวานได้ เป็นเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเจ้าของบริษัทรีไซเคิลน้ำมันในพื้นที่ มือปืนเป็นจ่าทหารอากาศ คดีอยู่ระหว่างรอการพิจารณา จะเริ่มสืบพยานในเดือน พ.ย. นี้


เจ้าหน้าที่เพิกเฉยต่อกรณีถูกคุกคาม
กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญ วัดอักษร กล่าวว่า ก่อนเจริญจะถูกฆ่าตายก็เคยถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ เธอเคยไปให้ตำรวจตรวจสอบเบอร์โทรที่เคยโทรมาข่มขู่ แต่ตำรวจปฏิเสธ เธอจึงต้องไปขอให้บริษัทโทรศัพท์ตรวจสอบให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปดำเนินการต่อและเปรียบเทียบปรับเพียง 500 บาท หลังจากนั้น เจริญ วัดอักษรก็ถูกยิงเสียชีวิต

ปิยรัฐ จงเทพ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา ที่ต่อต้านระบบโซตัส เขากล่าวว่าแม้กลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ จะได้รับการตอบรับที่ดีและเร็วจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา แต่ตัวเขาเองถูกข่มขู่โดยส่งรูปปืนและข้อความข่มขู่ มาให้ และเมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ บอกว่าเป็นคดีที่ตลกเกินไป

“ถ้าคุณมีความแตกต่างในมหาวิทยาลัย คุณจะเป็นแกะดำในแกะขาว แต่ถ้าคุณลุกขึ้นมาต่อต้าน คุณจะเป็นแกะดำในฝูงหมาป่าแน่นอน” ปิยรัฐ  กล่าวในที่สุด

สำหรับกรณีต่อมา มนต์สวรรค์ วุฒิยิ่งยง เล่าปัญหาสิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งยังต้องต่อสู้กับอคติของสังคมอนุรักษนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่กลุ่ม LGBT เคยถูกกลุ่มรักษ์เชียงใหม่ 51 ต่อต้าน ใช้รถแดงมาปิดล้อมห้ามจัดขบวนพาเหรด อ้างว่าขึดบ้านขึดเมือง (ผิดผีบ้านเมือง) ทั้งนี้ กลุ่ม LGBT ได้ทำงานด้านสิทธิของคนหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนถ้อยคำใน สด. 91 ที่ระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นโรคจิต ซึ่งต่อมาศาลปกครองตัดสินให้เขียนว่า ‘เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ แทน

อย่างไรก็ตาม แม้การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนหลากหลายทางเพศจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จมาบ้าง แต่ก็ยังมีกรณีที่สะท้อนอคติทางเพศอยู่ ล่าสุด กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้พยายามผลักดันกฎหมายคู่ชีวิต แต่ ส.ส.ที่รับผลักดันให้พูดจาในทำนองว่า ทำให้ก็ดีแค่ไหนแล้ว อย่าเพิ่งลงรายละเอียดเรื่องคำนำหน้านาม ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ไม่ใช่การทำให้ด้วยความกรุณา  

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกล่าวว่า ปัญหาของแรงงานเป็นประเด็นละเอียดอ่อน โทษสูงสุดของแรงงานคือการเลิกจ้างเปรียบได้กับการประหารชีวิต คือสิ้นสุดอาชีพ เขากล่าวว่าปัญหาการต่อสู้ของแรงงานต่างไปจากเดิม คือสิทธิในการรวมตัวต่อรองของแรงงานไม่สามารถชุมนุมที่หน้าโรงงานได้อีกต่อไปเพราะมีการฟ้องร้องแรงงานข้อหาบุกรุก ในส่วนของศาลแรงงานต้องถือว่ากระบวนการแย่และล้าช้ากว่าศาลแพ่งและศาลอาญา การต่อสู้ที่ยืดเยื้อทำให้ที่สุดแล้วการตัดสินไม่สามารถบังคับคดีได้ และปัญหาใหญ่อีกประการก็คือการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากสภาทนายความเนื่องจากคนงานยังมีสถานะลูกจ้าง แม้จะไม่มีเงินแต่โดยเงื่อนไขของสภาทนายความไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องทนายอาสาได้

ทั้งนี้ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าในการเสวนาว่า ผู้ที่ออกมาต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว สร้างปัญหา ซึ่งสะท้อนอคติของสังคมไทยที่มีต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  ทั้งที่อำนาจของประชาชนเป็นอำนาจที่ชอบธรรมในการถ่วงดุลกับอำนาจรัฐและอำนาจทุน ขณะที่รัฐยังไม่ยอมรับ ยังไม่เข้าใจการเมืองภาคพลเมือง  ฉะนั้น นักสิทธิมนุษยชนจึงต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายและนโยบาย และสู้กับสังคมวัฒนธรรมให้ยอมรับการสร้างพื้นที่การเมืองของชุมชนท้องถิ่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net