Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break->อ่านบทความชื่อ “เสรีภาพที่ไร้เดียงสา” ของวิมล ไทรนิ่มนวล (ประชาไท,18 ก.ย.56) ที่วิจารณ์กรณีประท้วงการบังคับใส่เครื่องแบบนักศึกษา โดยพูดถึงประเด็น “สิทธิเสรีภาพ” โยงไปถึง “นายทาสเก่า-นายทาสใหม่”  ทำให้ผมอยากจะแลกเปลี่ยนบางประเด็น เช่นที่วิมลเขียนว่า

...ผมไม่เห็นว่า "การไม่เอาอะไรแบบเก่า" เท่ากับสลัดความเป็นทาส หรืออำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ออกไป แล้วสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คือ "เสรีภาพ" ตราบใดที่เรายังมีกิเลส มีตัณหา ตราบนั้นเราไม่มีวันมี "เสรีภาพที่แท้" ได้หรอก...

เข้าใจว่าวิมลน่าจะสับสน เพราะการยืนยันความมีเสรีภาพจากระบบอำนาจนิยมของ “อำมาตย์-ศักดินา” ย่อมหมายถึงเสรีภาพทางสังคมการเมือง อันได้แก่เสรีภาพตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่เสรีภาพจากกิเลสตัณหาอันเป็นเป้าหมายทางพุทธศาสนาซึ่งแล้วแต่ปัจเจกแต่คนจะเลือกหรือไม่ก็ได้ แต่เสรีภาพในทางสังคมการเมืองเป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีเสมอกัน รัฐประชาธิปไตยต้องรับรองและปกป้องเสรีภาพที่ว่านี้ ฉะนั้น ถ้าปฏิรูประบบเก่าให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เสรีภาพตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นตามมา

อีกตอนหนึ่งวิมลเขียนว่า

แม้ล้มล้างค่านิยมเก่าออกไปหมด เราก็จะรับเอาค่านิยมอีกแบบที่เรียกว่า "ใหม่" เข้ามา "ครอบ" ความรู้สึกนึกคิด หรือชีวิตของเราต่อไปอีก ล้มล้างความเป็นทาสแบบหนึ่งออกไป (ถ้าคิดว่ามันเป็น) ก็จะรับเอานายทาสใหม่เข้ามาครอบหัวต่อไปอีก...นั่นไม่ใช่เสรีภาพที่แท้ แต่หากจะบอกว่า "นายทาสใหม่" ดีกว่า "นายทาสเก่า" ก็แล้วไป แต่ไม่ควรจะมาอ้างเรื่องสิทธิ-เสรีภาพ ไม่เช่นนั้นคนที่เขายังเลือกค่านิยมเก่าก็จะอ้างได้เช่นกันว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา

นี่ถ้าไม่ใช่เพราะสับสนในวิธีคิดอย่างยิ่ง ก็เป็นความจงใจใช้วิธีพูดแบบคลุมเครือเพื่อโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับความคิดของตน เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มี “นายทาสใหม่” ที่มีอำนาจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพอยู่จริง หากจะบอกว่านายทาสใหม่หมายถึง “ทุนนิยมสามานย์” อย่างที่ว่ากัน แม้จะเป็นความจริงว่าทุนนิยมอาจจะมีปัญหาที่สำคัญบางอย่าง เช่นปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจ แต่ทุนนิยมไม่มีกฎหมายห้ามวิจารณ์ตรวจสอบเหมือนระบบเก่า ประชาชนจึงมีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ตรวจสอบ และอภิปรายถกเถียงเพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาทุนนิยม หรือกระทั่งรณรงค์ “ไม่เอาทุนนิยม” แต่เอา “รัฐสวัสดิการ” ตามวิถีทางประชาธิปไตยได้ สุดท้ายจะยุติอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก

ยิ่งเมื่อวิมลเขียนว่า “...คนที่เขายังเลือกค่านิยมเก่าก็จะอ้างได้เช่นกันว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา” อันนี้ถ้าหมายถึงค่านิยมเก่าที่ยึดโยงอยู่กับระบบที่วิมลเรียกว่า ระบบอำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ระบบเช่นนี้เป็นระบบที่มี “สภาพบังคับ” ให้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้แต่ด้านดีด้านเดียวเท่านั้น วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ภายใต้ระบบเช่นนี้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย” อยู่จริง มีแต่สิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เรียกว่า “สิทธิตามที่ชนชั้นปกครองอนุญาต” คือประชาชนได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมืองและบุคคลสาธารณะอื่นๆได้ แต่ไม่สามารถใช้ (apply) สิทธิเสรีภาพเช่นนั้นกับสถาบันกษัตริย์ได้

น่าสังเกตว่า ความสับสนทำนองนี้เรามักเห็นกันอยู่เป็นประจำในการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเรา เช่นข้อโต้แย้งที่ว่า “เมื่ออ้างประชาธิปไตยและการยอมรับเสียงข้างมาก ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมเขายังเอากฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ต้องยอมรับ จะเรียกร้องหรือรณรงค์ให้ยกเลิก 112 ไปทำไม”

ปัญหาของข้อโต้แย้งนี้คือการไม่เข้าใจว่าการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตยนั้น หมายถึง “เสียงส่วนใหญ่โดยการโหวตที่เสรีและเป็นธรรม (free and fair)” เท่านั้น โดยนัยนี้ก่อนจะลงมติในเรื่องใดๆ ต้องมีเสรีภาพในการอภิปรายถกเถียงอย่างเต็มที่ และมีความเป็นอิสระในการออกเสียงลงมติโดยไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดๆมาแทรกแซงบีบบังคับได้ เสียงส่วนใหญ่จึงจะสะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชนได้จริง แต่สังคมนี้มีกติกาที่ free and fair ในการอภิปรายถกเถียงและโหวตเอา-ไม่เอา 112 อยู่จริงหรือ?

กลายเป็นว่า วิมล ไทรนิ่มนวล ที่วิจารณ์คนอื่นว่าอ้างเสรีภาพอย่างไร้เดียงสา ตัววิมลนั่นเองที่ไร้เดียงสาเหลือเกินในความเข้าใจ “มโนทัศน์” (concept) เรื่อง “เสรีภาพ” ตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงแสดงความคิดขัดแย้งในตัวเอง

แต่อันที่จริง หากวิมลจะอ้าง “เสรีภาพจากกิเลส” ตามคำสอนพุทธศาสนา วิมลก็น่าจะรู้ด้วยว่าพุทธศาสนาก็ยืนยัน “เสรีภาพในการแสวงหาความจริง” ตามหลักกาลามสูตรด้วย แต่เสรีภาพที่ว่านี้ย่อมขัดแย้งกับระบบเก่าซึ่งกำหนด “สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล” คือสภาพบังคับที่กำหนดว่าประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้แต่ด้านดีเพียงด้านเดียวเท่านั้น สภาพบังคับนี้ย่อมขัดกับหลักการลามสูตรที่ไม่ให้เชื่อในเรื่องใดๆที่เราไม่มีเสรีภาพจะพิสูจน์ความจริงได้ ฉะนั้นเสรีภาพในการแสวงหาความจริงตามหลักกาลามสูตรจึงไปกันได้กับเสรีนิยมประชาธิปไตยมากกว่า

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราถือว่าการศึกษาต้องช่วยให้คนคิดเป็น หมายถึง “คิดอย่างมีเหตุผล” สภาพบังคับที่กำหนดให้ประชาชนรับและเชื่อข้อมูลด้านดีด้านเดียว ก็คือสภาพบังคับที่ปิดกั้นเสรีภาพในการใช้เหตุผล ฉะนั้น แม้ระบบการศึกษาของเราจะมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้คิดเป็น คิดมีเหตุผล มีความสามารถในการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ แต่เป้าหมายนี้กลับขัดกับ “กรอบใหญ่” ที่ครอบสังคมอยู่คือ “สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล” จึงกลายเป็นว่าแม้คนที่ผ่านการศึกษามาแล้วจะสามารถคิดเป็น คิดมีเหตุมีผลได้ แต่ก็กลับถูกสภาพบังคับดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นเสมือนคนไม่มีเหตุผล เช่นเป็นคนที่ต้องเชื่อ ยอมรับ ยกย่องอำนาจที่ไม่สามารถใช้เหตุผลตรวจสอบได้เป็นต้น

ที่สำคัญสภาพบังคับดังกล่าว ยังเป็นเงื่อนไขให้คนในสังคมคิดอะไรที่ขัดแย้งในตัวเองอยู่ตลอดเวลา  เช่นคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ สิทธิเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางคุณค่า ฯลฯ โดยไม่รู้ตัวว่าหากไม่ปลดล็อก “สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล” แล้วสร้างกติกาของประเทศที่ free and fair จริงๆ เสรีภาพที่พูดๆกันนั้นก็ไม่ได้มีความหมายเป็นเสรีภาพตามกรอบของเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความหลากหลายทางคุณค่าที่พูดถึงกันก็ไม่ใช่ความหลากหลายที่แชร์กันได้อย่างมีเสรีภาพจริงๆ

ตราบที่สังคมเราไม่สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองให้มีกติกาที่ free and fair รองรับการการแสดงออกในด้านต่างๆอย่างมีเสรีภาพตามกรอบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สังคมก็ยังคงติดกับดักของ “เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาต”

เช่น การที่รัฐไทยไม่อนุญาตให้วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ แต่อนุญาตให้ใครก็ได้มีสิทธิแจ้งความเอาผิดคนอื่นๆในความผิดตามมาตรา 112 จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเศร้าในสังคมเช่น อาจารย์แจ้งคดี 112 นักศึกษา สื่อมวลชนแจ้งคดี 112 นักศึกษา พี่ชายแจ้งคดี 112 น้องชาย อดีตภรรยาขู่แจ้งคดี 112 อดีตสามี เป็นต้น ยังไม่ต้องพูดถึงการใช้มาตรา 112 ทำลายศัตรูทางการเมืองหรือคนเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นปัญหามาตลอดเวลาอันยาวนาน

นี่คือปัญหาของกับดัก “เสรีภาพที่ชนชั้นปกครองอนุญาต” ซึ่งเป็น “สภาพบังคับที่ขัดต่อความมีเหตุผล” ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เหตุผลวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นปกครองได้  และยังทำให้คนในสังคมทุกระดับ ไปจนถึงสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัวใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษสูงอย่างไม่สมเหตุสมผลทำร้ายกันและกันอย่างไม่มีเหตุผลอีกด้วย

 

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” (28 ก.ย.-4 ต.ค.2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net