Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรครัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 แต่ได้แจ้งเป็นทางการว่า ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 ซึ่งเป็นวันจักรี เพื่อแสดงจุดยืนว่า เป็นพรรคนิยมกษัตริย์และเป็นศัตรูกับรัฐบาลคณะราษฎรที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ในขณะนั้น

ตลอดหลายสิบปีมานี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่และตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” มาโดยตลอด ความเชื่อนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลชนของพรรค แม้แต่การเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ก็ยังอ้างความเชื่อดังกล่าวในปริบทปัจจุบันว่า “ต่อต้านเผด็จการรัฐสภาของระบอบทักษิณ”

แต่ถ้าหากเราเข้าใจว่า ประเด็นใจกลางของการต่อสู้ทางการเมืองไทยนับแต่ 2475 จนถึง 2500 รวมศูนย์อยู่ที่ปัญหาว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือเป็นของพระมหากษัตริย์?” แล้ว เราก็จะเห็นทะลุถึงเนื้อแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างถึงแก่นว่า ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาไม่ใช่การต่อสู้กับเผด็จการทั้งทหารหรือพลเรือน หากแต่เป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งของพวกอำนาจเก่าในการทำลายล้างใครก็ตามที่พวกเขาเชื่อว่า เป็นภัยคุกคาม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์มีความปรารถนาที่จะ “ปรองดอง” กับคณะเจ้า จึงหาทางยุติความขัดแย้งด้วยการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ให้บุคคลในคณะเจ้าซึ่งถูกจำคุกหรือถูกเนรเทศในเวลานั้นได้กลับคืนสู่เสรีภาพ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่ยินยอม “ปรองดอง” กับนายปรีดี หากแต่รวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อแก้แค้นคณะราษฎรและรื้อฟื้นอำนาจเก่ากลับคืนมา เครื่องมือชิ้นแรกสุดที่คนพวกนี้สร้างขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์

ภารกิจชิ้นแรกของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นจึงเป็นการใช้เวทีทั้งในและนอกรัฐสภามาทำลายล้างคณะราษฎร โดยมีเป้าหมายใหญ่คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของการปฏิวัติ 2475 พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีว่า เป็นผู้บงการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขให้คณะทหารของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก่อการรัฐประหาร 2490 ทำลายล้างกลุ่มนายปรีดีได้สำเร็จ

หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็หันปลายหอกการโจมตีมายังส่วนที่เหลืออยู่ของคณะราษฎรคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็มีความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยม มีการปราบปราม จับกุมคุมขังและสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” จึงเริ่มต้นขึ้นจากการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต่อต้านจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เอง จนกระทั่งพวกนิยมกษัตริย์ร่วมมือกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก่อรัฐประหาร 2500 โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของคณะราษฎร ถอนรากถอนโคนการปฏิวัติ 2475 จนหมดสิ้น

ภายใต้เผด็จการสฤษดิ์และช่วงต้นของเผด็จการถนอม-ประภาส พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านแต่อย่างใดเพราะนี่เป็นช่วงเถลิงอำนาจอย่างเต็มรูปของแนวร่วมเผด็จการสฤษดิ์กับพวกจารีตนิยม จนกระทั่งเมื่อกลุ่มถนอม-ประภาสก่อรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในกลุ่มตระกูลของตน จนอาจเป็นอันตรายต่อพวกจารีตนิยมแล้วนั่นแหละพรรคประชาธิปัตย์จึงได้มีการเคลื่อนไหว โดยอดีต สส. 3 คนยื่นฟ้องคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อศาลอาญา แต่กลับถูกจอมพลถนอมสั่งจำคุก ซึ่งยิ่งเป็นการตอกย้ำนิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ”

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทบาทเพียงเข้าร่วมรัฐบาลผสม เป็นขาหยั่งในรัฐสภาสนับสนุนพลเอกเปรมยาวนานถึงแปดปี และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยุคสมัยของพลเอกเปรมเป็นช่วงเวลาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูพระราชอำนาจมากที่สุดนับแต่ 2475 เป็นต้นมา

เมื่อเกิดรัฐประหารของ รสช.ในปี 2534 พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้มีบทบาทในการต่อต้านรัฐประหารแต่อย่างใด แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลผสมที่สนับพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใหญ่ต่อต้านพลเอกสุจินดาในเดือนพฤษภาคม 2535 แล้วกลับฉวยโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ด้วยวาทกรรม “เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” และ “จำลองพาคนไปตาย”

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเป็นเครื่องมือของจารีตนิยมในปัจจุบันยิ่งชัดเจนเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถูกมองว่า เป็นภัยคุกคาม จนเกิดเป็นขบวนการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในต้นปี 2549 โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทเป็นตัวจุดชนวนหรือตัวเร่งสถานการณ์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย บอยคอตการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ร้องขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน ร่วมกับพันธมิตรเสื้อเหลืองโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แล้วอาศัยคณะนายทหารก่อรัฐประหารเงียบจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จากนั้นก็ยอมเป็นเครื่องมือให้ใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 หลังแพ้เลือกตั้ง ก็ตั้งหน้าเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ นิทานเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการ” มีคนเชื่อน้อยลงไปทุกที เพราะคนไทยวันนี้จำนวนมากไม่ได้ขี้หลงขี้ลืมอีกต่อไป หากแต่ได้ “รู้ความจริง” กันอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ พฤติการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์คือเครื่องพิสูจน์ที่ดีที่สุดว่า เนื้อแท้ของพรรคการเมืองนี้ไม่ใช่ต่อต้านเผด็จการ หากแต่เป็นการรับใช้พวกจารีตนิยมที่ครอบงำระบอบรัฐสภาในปัจจุบัน

อนาคตของระบอบเผด็จการในประเทศไทยนั้นริบหรี่เต็มที อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันถ้าไม่สามารถวิวัฒน์ตนจากการเป็นมือเท้าของพวกจารีตนิยมไปเป็นพรรคการเมืองที่เสนออนาคตที่เป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทย ดังเช่นพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษที่เริ่มต้นหลายร้อยปีก่อนก็เป็นเพียงพรรคนิยมกษัตริย์ที่ดื้อดึงล้าหลัง แต่ภายหลัง “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ปี 1688 เมื่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องยินยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พรรคอนุรักษ์นิยมก็สามารถปฏิรูปตนเอง กลายเป็นทางเลือกที่ไม่อาจมองข้ามได้ของคนอังกฤษมาทุกยุคสมัย ผลัดกันแพ้ชนะในสนามเลือกตั้งกับพรรคเสรีนิยมและพรรคแรงงานจนถึงปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละที่จะต้อง “ข้ามพ้นทักษิณ” ให้ได้ เลิกงมงายไล่กวดอยู่กับเงาของ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เงยหน้าขึ้นสูง แล้วมองไปในอนาคตข้างหน้า ถึงวันที่เผด็จการสิ้นสุดลงและพรรคไม่ได้รับการคุ้มกะลาหัวจากพวกจารีตนิยมอีกต่อไป แล้ววันนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลายไปกับเผด็จการหรือจะผันตัวเองมาเป็นทางเลือกที่จริงจังในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net