เขื่อนแม่วงก์กับปรากฏการณ์นิยามชนชั้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ มีบทความอย่างน้อย 3 ชิ้นที่มีน้ำเสียงไปในทางเดียวกัน ทั้งหมดปะทะเข้ากับชนชั้นกลาง โดยมีข้อเสนอใน 3 ประเด็นหลัก

1. “เขื่อนอีกหลายเขื่อนทำไมไม่ออกมาต่อต้าน “ ทำไม่จึงเลือกต่อต้านเฉพาะแม่วงก์ มีการเปรียบเทียบกับการไม่เอาเขื่อนของชาวบ้านปากมูลที่ชนชั้นกลางเหล่านี้ไม่เคยสนใจใยดี รวมทั้งไม่คิดจะแตะต้องสิ่งที่อยู่ข้างบนเหนือรัฐบาลซึ่งสนับสนุนการสร้างเขื่อน

“เมื่อเปรียบเทียบว่าเป็นเรื่องการคัดค้านโครงการเขื่อนเหมือนกัน แต่คนกลุ่มหนึ่งพูดเพียงเบา ๆ ก็กลายเป็นเรื่อง “ดัง” ขึ้นมาได้ ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งตะโกนเท่าไหร่กี่พันวันกี่สิบปีกลับไม่มีคนใส่ใจจะฟังมากนัก จะทำได้ก็แค่การเป็นข่าวกรอบเล็ก ๆ ในหน้าสื่อ หรือสื่อออนไลน์ สาเหตุของความเปรียบต่างในเรื่องนี้คงไม่ใช่เพียง “เสียง” ที่ดังไม่เท่ากันเทานั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการให้หรือไม่ให้ความสำคัญแก่ คนที่ลุกขึ้นมาพูด เรื่องที่พูด รวมถึงประเด็นที่นำมาพูด”

2.วิธีคิดแบบอนุรักษ์ ไม่ได้สนใจปากท้อง มุ่งแต่หลักการความดีงาม เก็บรักษาไว้ ละเลยชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านเป็นเพียง”ความฟินของชนชั้นกลาง”

“ หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นสิทธิชุมชน/สิทธิมนุษยชนของชนชั้นล่างนั้นเป็นเรื่องที่ “ขายไม่ดี” เท่ากับเรื่องการต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชนชั้นกลาง โดยชนชั้นกลาง และเพื่อชนชั้นกลาง”

...มันแลดู “บริสุทธิ์” ไร้มลทิน ไม่มี “การเมือง” ไม่ต้องมาคอยสงสัยว่าคนที่ออกมาชุมนุมค้านเขื่อนนั้นถูกใครจ้างมา (เพราะชนชั้นกลางต่างมีฐานะทางเศรษฐกิจดีอยู่แล้ว) ไม่ต้องสงสัยว่าทำเพื่อผลประโยชน์ “ส่วนตัว” หรือ ผลประโยชน์ “ของประเทศชาติ” (เพราะชนชั้นกลางอยู่ไกลจากพื้นที่โครงการฯ จึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน) และไม่ต้องสงสัยเรื่อง “จิตสำนึก” ทางสิ่งแวดล้อม (เพราะชนชั้นกลางต่างมีการศึกษาจึงตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี) 

3. มีความเห็นแย้งว่าไม่ใช่แค่ความฟินของชนชั้นกลางหรือสิทธิ์ที่มีอยู่เหนือกว่าดูดีกว่า แต่มันเป็นเรื่องยุทธวิธีการเคลื่อนไหวต่างหาก

“การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในประเด็นสิ่งแวดล้อมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากชนชั้นกลาง อาจไม่ใช่เพราะชนชั้นกลางไม่สนใจ หรือไม่คิดที่จะสนใจ น่าคิดหรือไม่ว่าเป็นเพราะ “ยุทธวิธีและการสื่อสาร ไม่ได้รับการตอบสนอง” ชาวบ้านอยู่กับจอมเสียม หัวเผือกหัวมัน ชาวบ้านไม่ได้อยู่กับ Facebook Line หรือ Twitter ยิ่งสื่อกระแสหลักนำเสนอแต่ข่าวดารา และสิ่งบันเทิงเริงรมย์จนเกินพอดี จนไม่เหลือพื้นที่ปากเสียงให้กับพลเมืองที่เดือดร้อน การเคลื่อนไหวจึงเป็นเหมือนเทียนที่ถูกเป่าให้ดับเสียสนิท”

และมีประโยคที่น่าสนใจซึ่งถูกนำไปอ้างอิงต่อในหลายที่ในโลกออนไลน์ 

“ชนชั้นบน ได้เรียนรู้จาก ศศินฯ ว่า “มีแค่เงิน” แต่ก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะต้องใช้ทั้ง “สมอง และแรงงาน”

ชนชั้นกลาง ได้เรียนรู้จาก ศศินฯ ว่า “มีแค่ความคิด” แต่ก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะต้องใช้ทั้ง “ความมุ่งมั่น และการลงมือทำ”

ชนชั้นล่าง ได้เรียนรู้จาก ศศินฯ ว่า “มีแค่แรง” แต่ก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะต้องใช้ทั้ง “ยุทธวิธี และการวางแผน”
 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าคนแต่ละชนชั้นได้เรียนรู้ข้อจำกัดของตนเอง และแสดงให้เห็นถึงความหวังของขบวนการประชาสังคมกำลังถือกำเนิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในสังคมไทย แต่สิ่งที่เป็นข้อเสนอในบทความนี้ก็ยังคงตอกย้ำความคิดแบบชนชั้น ที่ปะทะเข้ากับชนชั้นกลางไม่ต่างไปจาก 2 ประเด็นแรก 

เพราะดูเหมือนว่าถ้าไม่ใช่ยุทธวิธีที่เข้าถึง และประเด็นการสื่อสารที่ตรงใจแล้ว ชนชั้นกลางก็ไม่ออกมาร่วมอยู่ดี ยิ่งประโยคที่ว่า 

ชนชั้นกลาง ได้เรียนรู้จาก ศศินฯ ว่า “มีแค่ความคิด” แต่ก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะต้องใช้ทั้ง “ความมุ่งมั่น และการลงมือทำ”

ชนชั้นล่าง ได้เรียนรู้จาก ศศินฯ ว่า “มีแค่แรง” แต่ก็ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ เพราะต้องใช้ทั้ง “ยุทธวิธี และการวางแผน”

ยิ่งตอกย้ำว่า ชนชั้นล่างนั้นมีแต่แรง ไม่มีความคิด ขณะที่ชนชั้นกลางได้ออกมา “แสดงความมุ่งมั่นและลงมือทำแล้ว”

 ดังนั้นทั้ง 3 ประเด็นของข้อถกเถียงทำให้ได้ข้อสรุปชัดขึ้นว่า บ้านเรามีเสียงที่ดังไม่เท่ากันระหว่างชาวบ้าน กับคนในเมือง ซึ่งถูกเรียกว่า “ชนชั้นกลาง” ชนชั้นกลางพวกนี้ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง การจะออกมาเรียกร้องอะไรจะต้องคิดคำนวณ ดูมีภาพลักษณ์ที่ดี บริสุทธิ์ปลอดพ้นจากการเมือง มียุทธวิธีและการสื่อสารที่ตรงใจจึงจะออกมา

ผมพยายามจะมองให้ไกลไปกว่านั้นในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมองว่า

1.มันไม่ได้เป็นเรื่องของชนชั้นสูง กลาง ต่ำ อะไร แต่มันเป็นเรื่องของ ภูมิศาสตร์การเมือง เป็นเรื่องของสถานที่ และการใช้ประโยชน์จากสถานที่ ชนชั้นกลางไม่ได้แตกต่างจากชาวบ้าน ที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหว ชาวบ้านเองก็ไม่ได้มาร่วมหรือสนอกสนใจ ประท้วง ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์ ทวงคืน ปตท. หรือยึดคืนเขาพระวิหาร เช่นกัน มันต่างกันตรงที่ว่าคนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่ ตัวตน อยู่กับสิ่งนั้นมากน้อยเพียงใด

เรื่องที่ชนชั้นกลางจะออกมาเคลื่อนไหว มักจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ได้กระทบโดยตรง แต่กระทบโดยอ้อม เป็นเรื่องที่ถูกทำให้เชื่อว่า เป็นของคนทั้งประเทศที่จะต้องปกป้องดูแล เช่น เรื่องประสาทเขาพระวิหาร การสูญเสียดินแดน การทวงคืน ปตท. การขับไล่รัฐบาลที่มีปัญหาคอรัปชั่น นโยบายจำนำข้าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบโดยอ้อมไม่ได้ตรงไปตรงมา รุนแรง เฉพาะเจาะจงสำหรับใครหรือกลุ่มใด ต่างจากเรื่องของชาวบ้านที่ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องที่กระทบโดยตรง ซึ่งผู้ที่ถูกเรียกว่าชนชั้นกลาง มักไม่ใส่ใจเพราะถือว่าเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยในสังคม และเรื่องที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเหล่านั้น ก็มักเป็นเรื่องที่ถูกอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเสมอ

2. เกิดปรากฏการณ์ที่รัฐไทย มักใช้ประโยชน์โดยอาศัย ผลประโยชน์ของคนเมือง ในฐานะผู้ผลิตสร้าง GDP โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ทั้งที่ในทางปฏิบัติผลจาก GDP นั้นเอื้อประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับคนส่วนน้อยซึ่งพิจารณาได้จากค่าการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคนรวยกับคนยากจน แต่ GDP ถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ข้ออ้างนี้ใช้ไปช่วงชิง ยึดครอง ทรัพยากรในชนบทเสมอมา แต่ในปัจจุบันกรณีเขื่อนแม่วงก์กลับทิศกลับทาง คือ รัฐบาลอ้างผลประโยชน์ของชนบท ชาวบ้าน โดยขอให้ยอมแลกกับป่าที่สร้างใหม่ได้ แต่วิธีพูด วิธีจัดการของรัฐบาลก็ยังคงเหมือนเดิมคือ แยกพื้นที่ชนบท/เมือง ชนชั้นกลาง/ ชาวบ้าน เป็นรูปการบริหารจัดการที่สร้างความขัดแย้งแตกต่างอยู่ตลอดเวลาในระบบการปกครองไทย

3. การพัฒนายังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลเสมอ ในการขยายอำนาจ การควบคุมต่อประชาชน ขณะที่รัฐเริ่มสูญเสียพื้นที่ ให้กับ สิทธิชุมชนท้องถิ่น รัฐก็สร้างเครื่องมือชุดใหม่ขึ้นมา เป็นเรื่องใหญ่ เป็น Mega Project คือทำเรื่องเฉพาะพื้นที่ หลาย ๆ พื้นที่ให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องจัดการในระดับนโยบายส่วนกลางที่ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เร่งด่วน และใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อวางแผนทั้งระบบ (อย่างบูรณาการ) ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นข้ออ้างเข้าไปบริหารจัดการทรัพยากร ละเมิดสิทธิประชาชน โดยอ้างภัยพิบัติ เขื่อนแม่วงก์จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลให้ได้รับรู้กันในวงกว้าง หรือ รับฟังเสียงอย่างรอบด้าน ทั้งยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการสร้างเขื่อนในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท