Skip to main content
sharethis

วันนี้ (2 ต.ค.56) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี นพวรรณ (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกกล่าวหาว่า ใช้นามแฝงว่า bento ซึ่งโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท เมื่อ 15 ต.ค.51 (เว็บบอร์ดประชาไทปิดตัวลงเมื่อ ก.ค. 53) ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ขณะนี้ทนายจำเลยกำลังดำเนินการประกันตัว 

ล่าสุด เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยจำเลยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท ขณะที่ทนายจำเลยเตรียมยื่นฎีกาภายใน 30 วัน 

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุโดยสรุปว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2551 จำเลยได้พิมพ์ข้อความอันเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง แล้วนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวได้อ่าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เบื้องสูงได้ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่เป็นไอพีแอดเดรส และเบอร์โทรศัพท์ สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย
      
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่โจทก์ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท.เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไทและตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พบว่าไอพีแอดเดรส ตรงกับ เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย นอกจากนี้ตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของจำเลย พบว่า วันและเวลา ตรงกับการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะต้องมีรหัสผ่าน และใช้หมายเลขโทรศัพท์ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าวตรงกับจำเลย ที่สมัครสมาชิกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 และได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา
      
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบผู้ใช้งานในวันและเวลาขณะเกิดเหตุพบว่า มีผู้ใช้งานเพียงคนเดียว ซึ่งไอพีแอดเดรสของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกันและมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้
      
ไอพีแอดเดรส จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้ทราบ ชื่อผู้ใช้ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งตรงกับข้อมูลของจำเลย ทั้งนี้แม้ว่าข้อความที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ประชาไท จะโดนลบไปแล้ว แต่ข้อความที่โพสต์ดังกล่าวยังถูกเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังในการตรวจสอบ จนทราบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงจริง
     
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าถูกบุคคลอื่นปลอมแปลงไอพีแอดเดรสนั้นเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า การปลอมแปลงไอพีแอดเดรส และการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ไอพีแอดเดรสของจำเลยทำได้ยาก เพราะไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความจำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย ซึ่งหากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลย ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตนเอง เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักของประชาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังบัญญัติให้ปวงชนชาวไทยต้องมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงสืบไป ผู้ใดจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความ ทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เห็นควรให้ลงโทษจำเลยสถานหนักเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
       
พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 ซึ่งความผิดเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิด ตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี และให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด

อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องตามความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ต้องหาต่อสู้คดีจนกระทั่งมีการตัดสินคดี โดยผู้ต้องหาถูกบุกค้นบ้านและจับกุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2552 และถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางราว 10 วันจึงได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 7 แสนบาท และต่อมา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.54 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ยังมีเหตุอันควรสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

นอกจากนี้ คดีดังกล่าวถูกใช้อ้างอิงเป็นกระทงที่ 10 ในการฟ้องนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และผู้ดูแลเว็บบอร์ด ตามความผิดมาตรา 15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่จีรนุชถูกดำเนินคดี ประชาไทได้ตัดสินใจปิดบริการเว็บบอร์ดในเดือนกรกฎาคม ปี 2553

 

 

ที่มา บางส่วนจาก ผู้จัดการออนไลน์  และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไข-เพิ่มเติม เนื้อหาเมื่อเวลา 17.00 น. 2/10/56 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net