เบี้ยและการเมืองของการเป็นเบี้ย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

<--break->

ปรากฏการณ์เบี้ยและรางวัลพานแว่นฟ้า เกิดขึ้นเร็วและทำท่าจะจากไปเร็วอย่างที่หลายคนคนเอ่ยไว้  ผมอ่านบทคำวิจารณ์และข้อถกเถียงต่างๆ พลันพบว่า แทบไม่มีการวิจารณ์ในตัวบทเลย  แทบทุกคำวิจารณ์มักพุ่งไปที่ “บริบท” ทางสังคมและการเมือง ซึ่งแม้จะนับว่ามีประโยชน์อยู่  กระนั้น ก็ออกเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนักต่อกวีนิพนธ์ในฐานะที่เป็นตัวบททั้งในกลุ่มที่ตัดสินให้ได้รับรางวัลและคัดค้านเกณฑ์การตัดสิน

ออกตัวแบบผู้อ่อนด้อยและปราศจากความรู้ทางบทกวีและฉันทลักษณ์ ผมขอวิสาสะกับตัวบทเรื่องเบี้ยในประเด็นดังต่อไปนี้ครับ

ผมคิดว่าตัวบทกวีคือความพยายามในการจัดระเบียบความสับสนวุ่นวายในโลกทัศน์หนึ่งๆ ให้มีความชัดเจนเพียงพอต่อการนำเสนอผ่านสุนทรียศาสตร์ทางภาษา  ในแง่นี้ไวยกรณ์ทางภาษาจึงส่อในความเป็นตัวแทน “ระดับหนึ่ง” ของความคิดทางการเมือง  ตัวบทเบี้ยก็เช่นเดียวกัน  ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเลือกเบี้ยเพื่อแทน “ไพร่” ในความหมายกว้างๆ ภายใต้กรอบการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา แม้ว่า “ไพร่” อาจจะไม่ใช่เบี้ยเสียทั้งหมด  ทว่า “เบี้ยสีแดง” ที่ผู้เขียนเจตนาสื่อความออกมานั้น มีลักษณะของการทำให้ความพร่ามัวทางการเมืองเกี่ยวกับความเป็นไพร่ปรากฏภาพลักษณ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  ผมเดาว่า เบี้ย(สีแดง) ของผู้เขียนน่าจะหมายถึง สามัญชนทั่วไป ซึ่งอาจเคยถูกอธิบายมาก่อนหน้าด้วยถ้อยคำต่างๆ อาทิ คนชายขอบ ชาวบ้าน เหยื่อ และคนจน  แน่นอน มองในแง่นี้ คำว่า เบี้ยในตัวบทล้วนมีภูมิหลังที่ปะติดปะต่อกันผ่านวาทกรรมและความหมายหลากหลายชุด  คำว่าเบี้ยจึงคล้ายกับมีนัยทางการเมืองสูงแต่มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหรือคำอื่นๆ  ก็ล้วนเป็นคำที่สลายความเป็นการเมืองด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่ไม่สื่อความหรือนัยสำคัญทางการเมือง  บ่อยครั้งที่คนอ่านและรับถ้อยคำพวกนี้มักจะ “อิน” และ “ฟิน” ไปโดยอัตโนมัติ  โดยมิต้องไถ่ถามถึงความหลากหลายของเบี้ย ปัญหาของเบี้ย และการเมืองของการเป็นเบี้ย  พูดง่ายๆ คือ เมื่อเบี้ยถือกำเนิดจากบริบททางการเมือง เบี้ยก็สลายความเป็นการเมืองลงไป  การพูดถึงเบี้ยจึงมีลักษณะของกลไก  ในเชิงภาษา คำว่า “เบี้ย” หรือคำอื่นๆ ที่เคยปรากฏมาจึงได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำความเข้าใจสภาวะทางการเมือง

แน่นอน การระบุถึงเบี้ยในตัวบทนี้ มีหลากหลายอารมณ์และภูมิหลังค่อนข้างมาก แต่ทั้งหมดสามารถรวบความได้ว่ากำลังจะพูดถึง การลุกขึ้นสู้ของเหยื่อ ผู้ต่ำต้อย ถูกมองว่าด้อยค่า ให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ในระบอบประชาธิปไตย  แน่นอน พลังของโครงเรื่องเช่นนี้ มีความคล้ายคลึงกับโครงเรื่องสาธารณะทั่วไป คล้ายคลึงกับโครงเรื่องในตัวบทกวียุคหลัง14 ตุลา รวมไปถึงตัวบทเพื่อชีวิตทั่วไป  มองให้ไกลกว่านั้น โครงเรื่องเช่นนี้ก็ประสบความสำเร็จในแง่ระดับฮอลลีวู้ดเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้น ความสาธารณ์และสากลของตัวบทในลักษณะนี้จึงมิใช่อยู่เพียงแค่โครงเรื่อง  หากมีความพยายามระบายเส้นศีลธรรมหรือการกำหนดถูกผิดลงไปในตัวบททางการเมืองด้วยเช่นกัน  ภาพที่ปรากฏจึงมีลักษณะคล้ายธรรมะกับอธรรม ภาพขาวและดำ และมีลักษณะเหมารวมค่อนข้างมาก  ตัวบทเช่นนี้เอง มิใช่ตัวบทเชิงรุก หากเป็น เชิงรับ กลายเป็นการทำหน้าที่เขียนแถลงการณ์ทางการเมืองด้วยชั้นเชิงของภาษาอีกรูปแบบหนึ่ง  ตัวบทซึ่งทำหน้าที่รับใช้ความคิดทางการเมืองในลักษณะนี้มีดาษดื่นและน่าจะเป็นปัญหาของวงการกวีไทยเสียด้วยซ้ำ  เนื่องจาก เป็นแวดวงที่ไม่สามารถนำเสนอความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงการคลี่ภาพความซับซ้อนหรือปมต่างๆออกมากได้อย่างกระจ่าง  หรือไม่แม้แต่จะทำหน้าที่โยนคำถามให้กับสังคมไทย  ปัญหานี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้เขียน หากเป็นปัญหาของวงกวีไทยที่ไม่มีปัญญาชนเป็นของตนเอง

ปัญหาที่สืบเนื่องกันมานี้เอง  สิ่งที่ดำเนินตามมาของตัวบทเบี้ยหรืออาจรวมความถึงตัวบทกวีทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาก็คือ จินตนาการในตัวบทได้ถูกย่อยสลายกลายเป็นจักรกลทางความคิดหรือโรงเรื่องสำเร็จรูป  เปรียบได้กับการเทเนื้อหา(content) ใหม่ๆ ลงไปในโครงแบบ (form) เดิมๆ  ผลที่ออกมาคือ ตัวบทที่มีสีสันเพียงภาพนอกแต่ซ้ำซาก จำเจ  กระทั่งเกิดอาการดิ้นทุรนทุรายของตัวบท เนื่องจากหาที่ลงทางความคิดไม่ได้  ตัวบทเบี้ยก็เช่นกัน  ผมอ่านไปแล้วพลันรู้สึกได้ว่าผู้เขียนอึดอัดกับภาษาและโครงแบบของบทกวีเป็นอย่างมาก  การเล่าเรื่องไม่มีความเนียนของภาษา ปัญหาเรื่องฉันทลักษณ์ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง  ปัญหาใหญ่คือ มันเป็นการพยายามยัดปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองให้ไปกับภาษา เนื้อหา และโครงแบบในการเล่าเรื่องแบบเก่า

ปัญหาในแง่นี้ก็ดูไม่ใช่ความผิดของกวีผู้เขียนเสียทั้งหมด แม้ว่า ผู้เขียนควรทำหน้าที่แหวกขนบหรือการทำลายโครงแบบหรือ form แบบเก่าก็ตามที  ทว่าปัญหาในแง่นี้กลับใหญ่กว่าการระบุโทษตัวผู้เขียนเพียงฝ่ายเดียวมากมายนัก  ผมคิดว่า ปัญหาของโครงแบบในตัวบทกวีลักษณะนี้มีส่วนสะท้อนโครงแบบหรือform ทางการเมืองอย่างยิ่ง  โครงแบบของเบี้ยมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาการเมืองในเชิงสถาบัน  แน่นอน การต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมาล้วนเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเชิงสถาบัน  แต่สิ่งที่ขัดกันเองในเจตจำนงค์ของผู้เขียนคือความเป็น “เบี้ย”ที่มาจากคนสามัญหรือผู้ที่ถูกกดทับต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวบทเบี้ยภายใต้โครงแบบทางการเมืองเช่นนี้ ไม่สามารถค้นหา “เบี้ย” ที่มีชีวิต มีศักยภาพ ความใฝ่ฝัน และมีพลังในการคิดค้นวิธีการและพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาได้  เบี้ยในตัวบทเบี้ยจึงเป็นได้แค่ผลผลิตทางการเมือง ไม่ใช่ผู้กระทำการทางการเมือง  สรรพเสียงของเบี้ยในชีวิตจริงที่ตัวบทเบี้ยพยายามนำเสนอออกมาจึงถูกลดทอนลงด้วยกระบวนการผูกขาดโดยผู้เล่าซึ่งตกอยู่ภายใต้โครงแบบการเมืองในเชิงสถาบันอีกที  form ทางการเมืองในลักษณะนี้จึงมีลักษณะของอำนาจเผด็จการที่ผูกขาดความคิดได้ในระบบภาษาและการพยายามจัดระบบระเบียบความคิด

แน่นอน form เช่นนี้ ไม่จำกัดสีหรือเลือกข้าง  เพราะมันคือ โครงสร้างความคิดทางการเมืองที่เชื่อมต่อโดยตรงกับโครงสร้างการใช้ภาษา 

การวิพากษ์ form จึงเป็นวาระสำคัญของผู้เขียน และน่าจะเป็นเกณฑ์ตัดสินสำคัญกรรมการมากกว่าความสั้นยาวหรือการใช้ฉันทลักษณ์ที่ผิดพลาด  ตัวบทกวีจะมีความสำคัญได้อย่างไรเล่าหากมัวแต่รับใช้ความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแต่ตัวเนื้อหาแต่มิอาจเปลี่ยนโครงแบบทางความคิดได้  บทกวีไม่สามารถพาเราเดินไปสู่โลกทัศน์ชุดใหม่ด้วยคำถาม หากพาเราแบกภาระอันหนักอึ้งด้วยการหลอกตัวเองให้หลงเชื่อว่าสังคมกำลังเปลี่ยน การเมืองเปลี่ยน และบรรดาเบี้ยทั้งหลายกำลังไปสู่จุดใหม่

มองจากจุดนี้ มองโลกให้มันมืดดำมากยิ่งขึ้นแม้แต่ “เบี้ย” เอง ก็ยังอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ โลกที่เบี้ยถูกทำให้คิดว่า แม้จะเป็นเบี้ยแต่ก็ยังมีพลัง...ผู้คนจึงยินยอมพร้อมใจกันเป็นเบี้ยด้วยเหตุผลต่างกัน  ทว่า พากันลืมไปว่า “เบี้ย” หรือ “ไพร่” นั้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปภัมภ์หรือโครงสร้างที่อยุติธรรมในบ้านเมืองนี้  การต่อสู้ของเบี้ยและ “การเป็นเบี้ย” จึงมีนัยของการยอมรับระบอบและต่อสู้ภายใต้ระบอบ ไม่เคยคิดถึงหรือคำนึงในสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น

ดังนั้น ไม่ว่าจะ “เบี้ย” หรือ “ไพร่” ต่างก็ตกอยู่ในภาพลวงตาของผู้กระทำการภายใต้โครงสร้างทางการเมืองชุดเดิม  ไม่สามารถจินตนาการถึงตัวตนทางการเมืองอื่นๆ ได้

ในแวดวงวิชาการเริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์บรรดา “ปัญญาชนสรณะ” กันอย่างเปิดเผยแล้ว ในวงการกวีเล่า ใครคือปัญญาชนและการวิพากษ์วิจารณ์ควรเริ่มที่ใด

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท