Skip to main content
sharethis

หนึ่งในสารคดีชุด “ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ” เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้นำฉายซ้ำพร้อมบทวิจารณ์ ชีวิต ‘ดวงสุดา สร้างอำไพ’ “จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย”แห่งบ้านเฑียรยา ปัตตานี พื้นที่อนุรักษ์เชื่อมคน 2 ศาสนา ก้าวข้ามความทุกข์สู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต

“หลังเสียงปืนและกลิ่นคาวเลือด ชีวิตที่เคยอิสระก็หายไป...

ใครฆ่าพ่อ ฆ่าทำไม หรือเพราะเป็นแค่คนธรรมดา ชีวิตจึงไม่มีค่า

ยิ่งพยายามหาคำตอบและหาทางออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งเหมือนเดินปิดตาตัวเองเท่านั้น

ความเคียดแค้นฝังแน่นเหมือนติดแอก ความเงียบเหงาคืบคลานมาเยือน

ผู้คนย้ายออกไปจากหมู่บ้านที่ละหลัง ชีวิตที่เหลือก็ต้องดำเนินไปอย่างปลอดภัย บ้านเราเหลือแต่ผู้หญิงแล้ว

ไปเถอะ! เรายังมีอีกหลายชีวิต นั่นคือ คำขอของย่า ส่วนแม่แค่บอกว่า ไปเถอะกูอยู่ได้...”

นั่นเป็นคำบรรยายส่วนหนึ่งที่ “ดวงสุดา สร้างอำไพ ” ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองประสบ ผ่านสารคดีชุด ชื่อ “ชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ” ในชื่อตอน “จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย”

สารคดีตอนนี้ ได้ออกอากาศไปแล้วทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อวันศุกร์ ที่ 2 สิงหาคม 2556 เวลา 20.20 – 21.15 น.ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้นำฉายซ้ำเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 ที่ห้องมะปราง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อให้ผู้ร่วมชมวิจารณ์

 

ผู้สูญเสียจากป่าสันทรายแห่งบ้านเฑียรยา

สารคดี ตอน“จากป่าสู่เมือง นักสู้จากป่าสันทราย” เป็นการฉายภาพชีวิตของนางสาวดวงสุดา สร้างอำไพ ซึ่งพ่อและปู่ของเธอถูกฆ่าตายอย่างทารุณในหมู่บ้านเฑียรยา ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยพ่อถูกฆ่าเมื่อปี2547 และปู่ถูกฆ่าปี 2550 ส่วนบ้านพักอาศัยก็ถูกเผาวอดจนเหลือแต่ซาก

หลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญครั้งหลังสุดได้ไม่นาน คุณยายได้ขายที่ดินที่ตั้งของบ้าน แล้วพากันโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านเช่าในเมืองปัตตานี เนื่องจากไม่มีที่ให้ซุกหัวนอนและไม่กล้าที่จะทำมาหากินอยู่ในพื้นที่อีกต่อไป เช่นเดียวกับคนพุทธอีกครอบครัวที่ย้ายออกไปในช่วงเดียวกัน

หลังจากย้ายมาอยู่ที่ใหม่ ทุกคนก็ต้องปรับตัวให้อยู่รอด ทั้งยังเป็นการเยียวยาตัวเองด้วยโดยไม่รอรับการเยียวยาจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่การย้ายมาอยู่ที่ใหม่ซึ่งอยู่ห่างกันไม่ถึง 20 กิโลเมตร กลับยิ่งสร้างความมุ่งมั่นให้ดวงสุดา ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่การเป็นนักสู้แห่งป่าสันทรายแห่งบ้านเฑียรยาตามรอยคุณย่า

ส่วนแม่ พี่สาวและน้องสาวยังอาศัยอยู่ที่เดิม ดวงสุดาจึงตั้งใจจะสร้างบ้านใหม่ให้แม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม

ด้วยเหตุนี้ทำให้เธอยังต้องเดินทางทางไปมาระหว่างตัวเมืองปัตตานีกับหมู่บ้านเฑียรยาเป็นประจำ เพื่อทำงานอนุรักษ์ป่าสันทราย

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า ป่าสันทราย เป็นป่าที่มีความพิเศษกว่าป่าอื่นๆ อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่มาก มีพันธุ์ไม้และพันธุ์พืชหลากหลายชนิด ทั้งที่ใช้รับประทานหรือเป็นยาสมุนไพรได้ ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือที่บ้านเฑียรยา

 

จุดเปลี่ยน

‘ดวงสุดา’ มีพื้นฐานครอบครัวเป็นนักอนุรักษ์ป่าสันทราย ซึมซับวิถีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากย่า ซึ่งจากการเป็นคนชนบทและเคยอยู่ป่าทำให้ดวงสุดามีความฝันที่จะทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าอยู่ตลอดเวลา กระทั่งการย้ายที่อยู่ทำให้ดวงสุดามีโอกาสได้เข้าร่วมงานกับองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆองค์กร

ที่สำคัญยังทำให้ดวงสุดาได้เจอกับหลายคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าผู้สูญเสียย่อมเข้าใจผู้สูญเสียด้วยกัน แม้ว่าจะเป็นคนพุทธหรือมุสลิมก็ตาม

“...เมื่อชีวิตได้ออกมาสู่โลกกว้าง มุมมองด้านลบต่อคนต่างศาสนิกก็ค่อยๆ ลางเลือนลง ที่จริงคนใน 3 จังหวัดต่างก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทำให้ได้คิดในที่สุดว่า จะแช่แข็งตัวเองให้เป็นแค่ผู้ได้รับผลกระทบตลอดไปคงไม่ได้

เราโตมาในวิถีของลูกชาวนา การที่เราได้เดินป่าและสัมผัสกับธรรมชาติ เราสามารถที่จะเรียนรู้การพึ่งตัวเองจากความเป็นอยู่ในที่ที่ไม่มีความสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้รู้ว่าเราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร”

 

พื้นที่อนุรักษ์ เชื่อมคน 2 ศาสนา

นางสาวดวงสุดา กล่าวหลังจากชมสารคดีตอนนี้ว่า “คนบางกลุ่มเคยดูถูกเราในฐานะคนได้รับผลกระทบว่า เป็นแค่คนที่ขอมาตลอด ไม่รู้จักพึ่งพาตนเอง เมื่อเราพบเจอสิ่งที่มั่นคงในชีวิต เราจึงกล้าที่จะเรียนรู้ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายในพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน”

“งานที่ทำส่วนใหญ่ เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางพหุวัฒนธรรมจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ที่เป็นคนต่างศาสนิก เราพยายามหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของคน 2 ศาสนา” ดวงสุดา กล่าว

ดวงสุดา เล่าว่า ที่ผ่านมา กลุ่มที่เข้าไปสำรวจในพื้นที่อนุรักษ์มีทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม ซึ่งทำงานเป็นภาคีเครือข่ายกัน

ดวงสุดา บอกว่า ภาพความรุนแรงในพื้นที่ถูกสะท้อนผ่านสื่อกระแสหลัก สวนทางกับเรื่องราวในสารคดีตอนนี้ จึงอยากสะท้อนภาพทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีของคนในชุมชน เมื่อครั้งยังไม่เกิดเหตุร้ายกับครอบครัว

“สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดได้ดั่งใจหวัง สามารถสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ด้วยการนำเสนอความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ซึ่งถูกกลบไปจากสังคม ทำให้ความเคียดแค้นที่สะสมมานานเริ่มจางหายไป”

ดวงสุดา บอกว่า เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายภาคสังคม ก็สามารถสานต่อเจตนารมณ์ของตัวเองได้สำเร็จ ทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างโอกาสใหม่ให้เพื่อนมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบความรุนแรง ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันของคนทั้ง 2 ศาสนา” ดวงสุดา กล่าว

 

ผืนป่าที่ลบภาพความรุนแรง

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่มเอฟทีมีเดีย ในฐานะผู้กำกับการผลิตสารคดีตอนนี้ วิจารณ์ว่า ทุกครั้งที่เห็นดวงสุดาในสื่อ มักจะเห็นแต่ภาพความรุนแรงที่กระทบต่อตัวของดวงสุดา แต่สารคดีนี้ไม่ต้องการนำเสนอกระทบซึ่งอาจเรียกความน่าสงสารได้ แต่เล่าเรื่องโดยไม่พูดถึงอดีตของดวงสุดามากเกินไป

“เรื่องนี้ต้องการนำเสนอประเด็นการไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับชาวไทยพุทธ ดวงสุดาต้องอพยพมาอยู่ในเมืองกับย่า หลังจากเสียพ่อและปู่ไป บ้านที่เคยอยู่อาศัยก็ต้องขายเพื่อเอาเงินมาจุนเจือครอบครัว”

“การถ่ายทอดเรื่องนี้ต้องการให้ดวงสุดาได้ทำในสิ่งที่เขาพึงพอใจ เพราะถ้าถ่ายทอดออกมาดี อาจเป็นการเยียวยาจิตใจได้อีกทางหนึ่ง” นางสาวนวลน้อย กล่าว

นางสาวนวลน้อย เล่าว่า ดวงสุดาอยากสร้างบ้านดินให้แม่ ไม่ใช่ต้องการความสวยงามอย่างเดียว แต่การสร้างบ้านดินมีราคาถูกและเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งแม่เองก็ไม่ยอมย้ายไปอยู่ในเมือง

”วันนี้ดวงสุดามีคุณย่าเป็นเหมือนแม่ทัพ เพราะเป็นผู้หญิงแกร่งมาก สามารถปรับตัวอยู่ในเมืองได้ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลลูกหลานให้อยู่ให้ได้ด้วย” นางสาวนวลน้อย กล่าว

สิ่งที่เราต้องการสื่อ คือ ดวงสุดาอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าสันทรายที่บ้านเกิด แม้ตอนนี้ดวงสุดาไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่ก็ยังจับมือกับคนในพื้นที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้ปัญหาสถานการณ์รุนแรง และสื่อกระแสหลักไม่ค่อยนำเสนอ

“ปัจจุบันพื้นที่ป่าสันทรายที่นั่นมีเจ้าของแล้วทั้งหมด หากเจ้าของเอาไปทำอย่างอื่น สภาพแวดล้อมของป่าก็หมดลง คนในพื้นที่ก็ต้องย้ายออกไป เพราะไม่สามารถหากินกับป่าได้ แต่เมื่อไม่มีคนอยู่ คนที่จะอนุรักษ์ป่าก็ไม่มีเช่นกัน เพราะป่าเหมือนบ้าน”

นางสาวนวลน้อย กล่าวว่า ดวงสุดาแสวงหาความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิต การอยู่อย่างยั่งยืนก็เป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่ง อาจไม่ใช่ความปลอดภัยจากสถานการณ์ หากแต่เป็นศักดิ์ศรีของตนเองที่ดวงสุดาคิดว่า สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามวิกฤติ

 

หนทางนำสู่สันติภาพ

นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ วิจารณ์ว่า เนื้อหาของสารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ดวงสุดาผ่านการเป็นผู้ได้รับผลกระทบไปสู่การเป็นผู้ให้ต่อสังคม และสามารถตอบโจทย์ความคิดของตนเองได้ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านดิน หรือการอนุรักษ์ ฯลฯ

“สารคดีเรื่องนี้เป็นการสื่อถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่พยายามเติบโต และทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างงานอนุรักษ์ แม้ได้รับความเจ็บปวดในอดีต แต่ความเคียดแค้นเหล่านั้นจางหายไปแล้ว เมื่อเธอได้เข้ามาร่วมเครือข่ายผู้หญิงฯ ที่ช่วยกันดูแลรักษาเยียวยาแผลใจให้เธอ”

“ถ้าในสังคมทุกวันนี้ยังมีคนแบบนี้อยู่ เชื่อว่าสันติภาพคงเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน” นางสาวลม้าย กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net