Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายน 2556 ที่ผ่านมาศาลสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินให้การกดปุ่ม “Like” (หรือ “ชอบ”ในเว็บภาษาไทย)บนเฟซบุ๊กถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยศาลอุทธรณ์ของรัฐเวอร์จิเนียที่เมืองริชมอนด์ได้มีคำพิพากษาคดีที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจ(Sheriff)ร้องต่อศาลว่าเขาถูกไล่ออกเนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งในกรณีนี้ก็คือการกด “Like”เพจเฟซบุ๊กของคู่แข่งทางการเมืองของหัวหน้าของตนเอง

คำพิพากษาจำนวน 81 หน้าระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง โดยการกด “Like” เพจหาเสียงของผู้สมัครทางการเมืองนั้น แสดงถึงการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กยอมรับผู้สมัครนั้นและสนับสนุนการหาเสียงครั้งนี้โดยการเข้าไปมีส่วนร่วม ในกรณีนี้จึงถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองผ่านทางอินเตอร์เน็ต

นอกจากนั้นคำพิพากษายังระบุว่าการกระทำของเขามีลักษณะเช่นเดียวกับการแสดงออกโดยคำพูด ซึ่งการกด “Like”เพจหาเสียงของนักการเมืองสามารถสื่อออกมาได้ถึงการรับรองตัวบุคคลทางการเมืองดังกล่าวของผู้ใช้และสนับสนุนการหาเสียงด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพจ สิ่งนี้คือการแสดงออกที่เทียบเท่ากับการติดป้ายทางการเมืองไว้ที่สวนหน้าบ้าน ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการแสดงออกอย่างอิสระเสรี

จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการกด “Like”บนเฟซบุ๊กนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนเพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยสัญลักษณ์ทำนองเดียวกับการพูดและการเขียนซึ่งได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญทั้งของสหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ถ้อยคำตรงกันทุกประการก็ตาม

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ส่วนที่ ๗ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน และ ส่วนที่ ๘ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการศึกษา ตั้งแต่มาตรา ๔๕ จนถึง มาตรา ๕๐ ได้บัญญัติไว้ชัดเจน อาทิ

           “มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น...”

          “มาตรา ๕๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ

           การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ฉะนั้น การที่ได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยบางคนออกมาข่มขู่ว่าการกด “Like”หรือ “ชอบ”อาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้นั้นจึงเป็นคำขู่ที่หน่อมแน้มและช่างน่าขบขันเป็นอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นในกรณีการกด “Share” หรือ “แบ่งปัน” นั้นจะเข้าข่ายถูกดำเนินคดีได้หรือไม่ ในความเห็นของผมนั้นเห็นว่าคงต้องดูเป็นกรณีๆไป ถ้าเป็นความเห็นโดยปกติทั่วไปที่ไม่เข้าข่ายในการชักจูงหรือปลุกระดมให้ไปก่ออาชญากรรมใดๆ ก็ไม่เข้าข่ายที่จะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

แต่ถ้าข้อความหรือเนื้อหาที่เราไป “Share” หรือ “แบ่งปัน” นั้นเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เราก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ผลิตหรือทำซ้ำและอาจรวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้นได้

ในส่วนของการเข้าไปดูข้อความใน “Line” หรือ “อีเมล์” ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญฯมาตรา ๓๖ ก็บัญญัติไว้ว่า

           “มาตรา ๓๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย

            การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลที่มีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ซึ่งก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าโดยปกติแล้วการตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลที่มีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเท่านั้น

จึงหมายความว่าอยู่ดีๆเจ้าหน้าที่ขอรัฐจะไปเที่ยวดักหรือแท็ปข้อมูลของประชาชนไม่ได้ ต้องขอคำสั่งศาลและต้องทำเป็นคราวๆไป มิใช่กระทำเป็นถาวรไม่มีที่สิ้นสุดหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ใช้สำหรับสถานการณ์พิเศษซึ่งก็ต้องกระทำเป็นคราวๆอยู่ดี

แต่ทั้งนี้ ฐานข้อมูลจะต้องเป็นฐานข้อมูลที่ผู้ให้บริการหรือตัวบริการ(server)อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในเขตอำนาจของกฎหมายไทยเท่านั้น แต่หากฐานข้อมูลที่ผู้ให้บริการหรือตัวบริการ(server)อยู่นอกประเทศไทยหรืออยู่นอกเขตอำนาจของกฎหมายไทย จะทำได้ก็เพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งเขาอาจจะให้หรือไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ โดยปกติแล้วก็มักจะไม่ให้ความร่วมมือเพราะถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rightsหรือ ICCPR)ให้การรับรองไว้ เว้นเสียแต่จะเข้าข่ายบางอย่างที่กำหนดไว้ในกฎหมายนานาชาติ เช่น ภาพอนาจารเด็ก การหมิ่นประมาท เท่านั้น

ซึ่งไทยเราก็เคยมีรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council)กล่าวถึง พ.ร.บ. ความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ 2550 ของประเทศไทยว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเมืองที่ขยายฐานความผิดให้ครอบคลุม "ตัวกลาง" ซึ่งหมายถึงพวกโฮสติ้งหรือไอเอสพีทั้งหลายด้วย(In Thailand, the 2007 Computer Crimes Act imposes liability upon intermediaries that transmit or host third-party content and content authors themselves. This law has been used to prosecute individuals providing online platforms, some of which are summarized in the first addendum.)

กล่าวโดยสรุปก็คือ เราอยู่ในสังคมโลกยุคใหม่ที่มีการติดต่อสื่อสารถึงกันไปทั่วโลกได้ในชั่วพริบตาเดียว การพยายามจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการใช้มาตรการที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญย่อมเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ที่สำคัญก็คือแม้ว่าอาจจะมีความพยายามที่จะกระทำแต่ด้วยเทคโนโลยีฝ่ายรัฐไทยมีอยู่นั้นยังห่างไกลนัก และยิ่งไปประกอบกับทัศนคติที่คับแคบที่จะต้องควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรัฐด้วยแล้ว ยิ่งต้องพบกับการต่อต้านและลองดีจากผู้ที่ถูกคุกคาม

ว่าแต่ว่าระบบอีเล็กโทรนิกของหน่วยงานของรัฐที่ออกมาขู่ประชาชนรายวันนั้นมีการป้องกันระบบของตนเองดีแล้วหรือยัง ขนาดเพนตากอนที่ ว่าแน่ๆยังถูก “แฮ็ก”ได้เลยครับ

 

------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net