สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: แดงยึด 6 ตุลา- 14ตุลา!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สำนักข่าวเอเอสทีวี-ผู้จัดการเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รายงานข่าวโดยเสนอประเด็นว่า ในการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลาประจำปี พ.ศ.2556 นี้ มีการจัดงานเป็นสององค์กรแยกกันโดยชัดเจน คือ ฝ่ายมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ซึ่งจัดงานเป็นประจำอยู่ทุกปี แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์” และได้จัดงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และงานของฝ่ายเสื้อแดงนั้น เอเอสทีวีเห็นว่ามีปัญหา เพราะ จัดให้ “จาตุรนต์จ้อ พร้อมไฮไลต์ อำมาตย์เต้นทอล์กโชว์” ซึ่งหมายถึงรายการที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมากล่าวปาฐกถาในงานวันที่ 13 ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และ อนาคตของประชาธิปไตย” และการที่นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมาเดี่ยวไมโครโฟนเรื่องปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน ในเวลาบ่ายวันเดียวกัน

แต่ความจริง รายการที่น่าสนใจจากการจัดงานของฝ่ายกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังมีอีก โดยเฉพาะรายการด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรายการเด่นที่ลงทุนค่อนข้างสูง รายการวัฒนธรรมนี้จะแสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลาเย็นทั้งวันที่ 6 และ วันที่ 13 ตุลาคม นั่นคือ ละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ของประกายไฟ ลิเกกายกรรมเรื่อง “บัลลังก์เลือด” โดย มะขามป้อม และ งิ้วธรรมศาสตร์19 เรื่อง “เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ” ซี่งแน่นอนว่า งานวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะสะท้อนแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นสำคัญ

ส่วนมูลนิธิ 14 ตุลา ได้มีการจัดกิจกรรมหลายอย่างปูทางมาสู่กระแส 40 ปี 14 ตุลาเช่นกัน เช่น การเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับวันที่ 14 ตุลาเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย การผลักดันให้ออกแสตมป์ที่ระลึก 40 ปี 14 ตุลา เป็นต้น แต่งานสำคัญคงอยู่ในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่ง ธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปณิธานประเทศไทย” ที่น่าสนใจคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล รับจะมาปาฐกถาทั้ง 2 งาน คือ ในวันที่ 13 ตุลาคม จะปาฐกถาเรื่อง “เจตนารมณ์ 14 ตุลา คือ ประชาธิปไตย” ให้กับกรรมการชุดจรัล ดิษฐาอภิชัย และบ่ายวันที่ 14 ตุลา ก็จะปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความฝันเดือนตุลา 40 ปี” ที่หมุด 14 ตุลา ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายถึงว่า เสกสรรค์พยายามวางตัวเป็นกลางที่ประสานกับทั้งสองฝ่ายได้

มีคำถามที่ถามกันว่า การจัดเป็นสองงานเช่นนี้ หมายความว่าคนเดือนตุลาขัดแย้งแตกแยกกันใช่หรือไม่ หรือน่าจะมีความพยายามรวมกันเป็นงานเดียวได้หรือไม่ ต่อคำถามนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม คนเดือนตุลาก็ขัดแย้งกันมานานแล้ว ไม่เคยเป็นเอกภาพ และยิ่งขัดแย้งกันทางการเมืองมากยิ่งขึ้นหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 จึงได้สะท้อนออกมาในการจัดงานครั้งนี้

จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้อธิบายว่า ในช่วง 7 ปีมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในกลุ่มนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งเป็นแกนหลักในการจัดงาน 14 ตุลาด้วย ทำให้มีอีกหลายคนโดยเฉพาะฝ่ายเสื้อแดง ไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น คนเสื้อแดงคงไม่มีใครสนใจที่จะไปฟังปาฐกถาของคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นแน่ ดังนั้น กลุ่มคณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จึงต้องจัดงานขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเข้าร่วมด้วยได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการให้ความหมายแก่กรณี 14 ตุลา เพราะการที่คนรุ่น 14 ตุลาจำนวนมาก หันไปสนับสนุนฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตีความประวัติศาสตร์ 14 ตุลาว่า ไม่ได้เป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นชัยชนะของฝ่ายศักดินาที่ฉวยโอกาสใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ในความเห็นของคนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่ชื่นชม 14 ตุลา แต่มีความชื่นชมต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มากกว่า เพราะรู้สึกว่าถูกปราบปรามสังหารจากต้นเหตุรายเดียวกัน ดังนั้น ฝ่ายของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย จึงต้องการให้มีการจัดงานเพื่อรื้อฟื้นความสำคัญของประวัติศาสตร์ 14 ตุลาในฝ่ายประชาชนให้ชัดเจนขึ้น

ฝ่ายกรรมการ 14 ตุลาของคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ยังอธิบายด้วยว่า เป้าหมายของการจัดงาน 14 ตุลา จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการตอบโจทย์ 14 ตุลา อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคลที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน และไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การจัดงาน 14 ตุลาอย่างเป็นเอกภาพเพียงงานเดียว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อันที่จริงตามหลักการของประชาธิปไตย ก็ยอมรับในความเป็นอิสระของความคิดที่แตกต่าง เพราะการบังคับให้คนคิดอย่างเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพนั้นคือระบอบเผด็จการ การยอมรับในความแตกต่าง และให้แต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตามทิศทางของตนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และยังเป็นวิธีการระดมคนเข้าร่วมได้หลากหลายที่สุด

ส่วนงาน 6 ตุลาครบรอบ 37 ปีในปีนี้ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเดือนตุลา เป็นเจ้าภาพในการจัดด้วย ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะฝ่ายเหลืองสลิ่มส่วนมากก็ไม่จัดงานและไม่ค่อยร่วมงาน 6 ตุลามานานแล้ว จึงกลายเป็นฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นคนจัดงานโดยปริยาย แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะหันไปจัดงาน และสดุดีวีรชน 7 ตุลาแทน

สรุปแล้วเจตนารมณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ได้ถูกตีความใหม่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันถึงจิตใจแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการ 14 ตุลา เพียงแต่ว่าการตีความประชาธิปไตยในวันนี้มีความแตกต่างกัน จึงนำมาสู่การจัดงานที่แยกจากกัน ซึ่งถือได้ว่าทำให้งาน 14 ตุลาปีนี้มีความคึกคักขึ้นกว่าปีก่อนมมาก

สำหรับประเด็นในทางประวัติศาสตร์ การตีความประวัติศาสตร์แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และแสดงให้เห็นด้วยซ้ำว่า ประเด็นทางประวัติศาสตร์นั้นยังไม่ตายและยังเป็นที่สนใจ เช่นเดียวกับประเด็นประวัติศาสตร์ 14 ตุลาที่ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 432 วันที่ 4 ตุลาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท