Skip to main content
sharethis
กรรมการ คปก.ระบุ 16 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนเสนอกฎหมายได้ 44 ฉบับ ประกาศใช้แค่ฉบับเดียว ต้องใช้กว่า 400,000 ชื่อ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เสนอถ้าทุกคนร่วมแสดงตัวตนผลักดัน ‘กฎหมายประชาชน’ จะเป็นจริง
 
 
ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงสถานการณ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ในงาน “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน” วันที่ 5 ต.ค.56 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
ไพโรจน์ กล่าวว่า นับจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ผ่านมา 40 ปีแก่นสารของประชาธิปไตยที่เรียกว่าสิทธิเสรีภาพนั้นบังเกิดน้อย เราเคยเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ แต่ที่ผ่านมาคำตอบนั้นยังคลุมเครือว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่าหรือยิ่งถ่างช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ไพโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยว่า ปัจจุบันเราเห็นการเลือกตั้งทุกระดับชั้น เป็นผู้นำทางการเมืองเยอะแยะไปหมด แต่ปัญหาพื้นฐานของประชาชน เกษตรกร กรรมการ ชาวนา เรื่องที่ดินทำกิน ราคาพืชผล ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ยังคงเป็นปัญหานิรันดร์กาล
 
ประเด็นปัญหาของกระบวนการออกกฎหมาย ไพโรจน์แสดงความเห็นว่า คนที่ผูกขาดความรู้ในการเสนอกฎหมายที่แท้จริงคือ กฤษฎีกา ซึ่งมีหน้าที่จัดทำร่างกฎหมาย กฤษฎีกาเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ในเรื่องหลักกฎหมายแต่ไม่ได้เข้าใจปัญหาประชาชนเลย ส่วน ส.ส.ก็ถูกสมมติว่าจะต้องรู้ปัญหาของประชาชนดี แต่ ส.ส.ส่วนหนึ่งไม่ใช่ และเรื่องกฎหมายไม่ใช่ว่า ส.ส.จะมีความรู้
 
ที่ผ่านมาการเสนอกฎหมายเป็นสิทธิผูกขาดของหน่วยงานรัฐทำให้กฎหมายที่ผ่านมามีแต่กฎหมายลักษณะอำนาจนิยม เราจึงมีสมมติฐานใหม่ว่า การให้ประชาชนมีสิทธิเสนอกฎหมาย กฎหมายจะรับใช้ประชาชนและแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมได้
 
ไพโรจน์กล่าวด้วยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของประชาธิปไตยไทยอีกครั้งอยู่ที่ปี 2540 ซึ่งเปิดให้ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบนักการเมือง มีสิทธิชุมชน มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับนโยบายต่างๆ และยังให้สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย ตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา มีการเสนอกฎหมายโดยประชาชนทั้งหมด 44 ฉบับ จากตัวเลขของ คปก.เพิ่งประกาศใช้ไป 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข หลังมีประชาชนไปกดดันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นหมื่นคนก็ผ่านได้อย่างรวดเร็ว
 
กลุ่มคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พอจะแบ่งได้เป็น 1.กลุ่มวิชาชีพ เสนอกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานของวิชาชีพ 2.กลุ่มกระจายอำนาจ เสนอกฎหมายการปกครองตนเองของท้องถิ่น 3.กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอกฎหมายเรื่องที่ดิน ป่า น้ำ ชายฝั่ง ฯลฯ ถ้ากฎหมายเหล่านี้ผ่านจะเป็นการปฏิรูปการใช้อำนาจนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม เป็นวิธีการปฏิรูปการเมืองอย่างหนึ่ง 4.กลุ่มเสมอภาคระหว่างเพศและบุคคล 5.กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและสุขภาพ 6.กลุ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน 7.กลุ่มกระบวนการยุติธรรม 8.กลุ่มสวัสดิการสังคม
 
ไพโรจน์ กล่าวว่า กฎหมายประชาชน 44 ฉบับ เสนอด้วยคนมากกว่า 400,000 คน แล้วประชาชนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ถ้าคนแต่ละคนทำทีละฉบับก็จะได้ผู้สนับสนุนฉบับละ 10,000 คน แต่ถ้าทั้ง 400,000 คนทำกฎหมาย 44 ฉบับด้วยกันก็อาจเป็นเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
 
ไพโรจน์ กล่าวเรียกร้องให้เจ้าภาพของกฎหมายแต่ละฉบับต้องไปทำความเข้าใจกับคนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายของตัวเองว่ากฎหมายทั้ง 44 ฉบับนั้นเกี่ยวข้องกับตัวของประชาชนทุกคนเอง ถ้ามารถทำความเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายเหล่านี้ร่วมกันได้ ก็น่าจะมีโอกาสสำเร็จ
 
“รัฐสภาจะเห็นหัวของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของกฎหมายที่ดีเลิศประเสริฐศรีอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยพลังทางความคิดพลังทางความเชื่อร่วมกัน เราในฐานะ คปก.เชื่อว่าถ้าประชาชน 400,000 คน คนแสดงตัวตนจริง ร่วมกันผลักดันจริง กฎหมายเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นจริงได้” กรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจบเวทีสาธารณะ “บทเรียน 16 ปี สิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน” เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดแถลงข่าว เรียกร้องรัฐสภาผลักดันกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน คุ้มครองสิทธิประชาธิปไตยทางตรง มีรายละเอียด ดังนี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net