Skip to main content
sharethis

1 ก.ย. มาเลเซียปราบปรามลักลอบเข้าเมือง

1 ก.ย. 56 - ปฏิบัติงานกวาดล้างแรงงานต่างด้าว ไม่พึงประสงค์ทั่วประเทศเริ่มต้นขึ้นเมื่อเช้าวันอาทิตย์ ทางการสามารถจับกุมแรงงานเถื่อนได้ 71 คนในจำนวนนี้เป็นชาย 60 คน และหญิง 11 คนส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ อินโดนีเซีย พม่า และเนปาล ทั้งหมดถูกจับในข้อหาไม่มีเอกสารเข้าเมือง ปลอมแปลงใบอนุญาตทำงาน หรือพักอาศัยในประเทศนานเกินกำหนด  ปฏิบัติการกวาดล้างแรงงานเถื่อนครั้งนี้ นับเป็นครั้งใหญ่ที่สุด โดยในระยะแรกจะดำเนินการไปจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งทางการตั้งเป้าจะกวาดล้างแรงงานเถื่อนให้ได้ราว 400,000 คน ผู้ที่ถูกจับกุมได้จะถูกเนรเทศทันที ขณะที่นายจ้างอาจถูกปรับและจำคุก  หรือทั้งจำและปรับ

คนงานเหมืองแอฟริกาใต้ 8 หมื่นผละงานประท้วง

4 ก.ย.56 - คนงานเหมืองทองคำประมาณ 80,000 คน ในแอฟริกาใต้ ผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม แต่สหภาพคนงานเหมืองแห่งชาติ หรือเอ็นยูเอ็ม กลับลดข้อเรียกร้องลง โดยขณะนี้ เอ็นยูเอ็ม เรียกร้องขอขึ้นค่าแรงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการลดลงจากข้อเรียกร้องเดิมที่ขอให้เพิ่มค่าแรงถึงร้อยละ 60 สำหรับคนงานบางคน ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนงานเหมืองเพิ่งปฏิเสธข้อเสนอขึ้นค่าแรงเพียงร้อยละ 6 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับระดับภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทองคำของแอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่อุตสาหกรรมกลับมีแนวโน้มลดลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมทองคำขาว ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงระหว่างการผละงานประท้วงเมื่อปีที่แล้ว

มีการประเมินว่า การผละงานประท้วงของคนงานเหมืองครั้งนี้ อาจสร้างความเสียหายต่อแอฟริกาใต้มากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จากการสูญเสียการผลิต ส่วนเจ้าของเหมืองก็ออกมาเตือนว่า การผละงานประท้วงอาจนำไปสู่การปิดเหมืองทองคำ และเลิกจ้างงานหลายพันอัตรา หลังจากราคาทองตกต่ำ ส่วนค่าใช้จ่ายในการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องขุดหาทองคำก็ลงลึกมากกว่าเดิม

หลายปีมาแล้ว แอฟริกาใต้เป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่สุดของโลก และรับผิดชอบการผลิตทองคำประมาณร้อยละ 68 ในปี 2513 แต่ขณะนี้ แอฟริกาอยู่ในอันดับที่ อยู่ที่ร้อยละ 6 ของผลผลิตทั่วโลก แต่การทำเหมืองยังคงเป็นภาคที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้

แรงงานกัมพูชาประท้วงถูกไล่ออกยกแผง

5 ก.ย. 56 - คนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า เอสแอล การ์เม้นท์ โพรเซสซิงของสิงคโปร์ ที่ผลิตสินค้าป้อนบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังทั่วโลก เช่น แก๊ป และเอชแอนด์เอ็ม ราว 4,000 คน เดินขบวนไปรวมตัวกันที่ศาลากลางกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เพื่อประท้วงที่โรงงานดังกล่าวได้ไล่คนงานออกไป 720 คน และยังสั่งพักงานอีกกว่า 5,000 คน เมื่อวันก่อน หลังจากคนงานเหล่านี้ได้ผละงานประท้วงสภาพแวดล้อมในการที่ย่ำแย่ก่อนหน้านี้เป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์

นายอาธ ธอน ประธานสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเสื้อผ้ากัมพูชา กล่าวว่า ต้องการให้เจ้าของโรงงานให้คนงานกลับไปทำงาน แต่หากทางโรงงานต้องการปิดตัวลง ก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ตัวแทนจากบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังกว่า 20 บริษัท ซึ่งกำลังประชุมลับถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากัมพูชาอยู่ในขณะนี้ เข้าให้ความช่วยเหลือแก่คนงานเหล่านี้ด้วย

ปัญหาค่าแรง มาตรการความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากัมพูชา เป็นปัญหาพิพาทที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลังๆ โดยอุตสาหกรรมนี้ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีชาวกัมพูชาใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้่ราว 650,000 คน ในอัตราเงินเดือนบวกค่าล่วงเวลาตกเดือนละราว 110 ดอลลาร์ (ราว 3,400 บาท)

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ชี้ว่ากัมพูชายังไม่ได้มีความคืบหน้าในการแก้สภาพปัญหาข้างต้น ทั้งในแง่ของสวัสดิภาพแรงงาน ความปลอดภัยและการใช้แรงงานเด็ก ขณะที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ห่วงว่าการประท้วงของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานผลิตไปยังพม่า ลาวและอินเดีย ที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าแทน

ก.แรงงานของเยอรมนี สั่งห้ามนายจ้างโทรศัพท์ หรือส่งอีเมลนอกเวลาทำงาน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน

6 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พนักงานและลูกจ้างบริษัทในเยอรมนีได้ยิ้มออกหลัง เมื่อวันที่ 6 ก.ย. กระทรวงแรงงานออกกฎระเบียบสั่งห้ามนายจ้างโทรศัพท์ หรือส่งอีเมลนอกเวลาทำงาน ยกเว้นมีเหตุ หรือ กรณีฉุกเฉิน โดย จะอนุญาตกรณีที่งานนั้นๆไม่สามารถดำเนินการในวันและเวลาทำการถัดไปได้ แต่ยังคงจำกัดจำนวนผู้เกี่ยวข้องและเวลาให้น้อยที่สุด นั่นเท่ากับว่า ระเบียบนี้จะทำให้ พนักงานไม่มีความผิดหรือได้รับโทษใดๆ หากปิดโทรศัพท์มือถือ หรือ ไม่ได้ตอบรับอีเมลนอกเวลาทำงาน

นางเออซูล่า ฟอน เดอ ไลเยน  รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้เหตุผลในการออกนโยบายนี้ว่า รัฐบาลเยอรมนีเป็นห่วงสุขภาพจิตของลูกจ้าง หรือ พนักงาน และถือเป็นหนึ่งในการลงทุน เพราะพนักงานจะเกิดความเครียดและตัดสินใจที่จะลาออกจากงานได้เสมอ

หลังจากกระทรวงแรงงานออกนโยบายใหม่นี้ บริษัทรถยนต์อย่าง โฟล์คสวาเกนก็หยุดการส่งต่ออีเมลงานหลังเวลาเลิกงานทันที ขณะที่ ด้าน BMW และบริษัทเครื่องกีฬา Puma ก็ออกมาชี้แจงว่า ทางบริษัทไม่ได้คาดหวังให้พนักงานรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล นอกเวลางานอยู่แล้ว

พนักงานนิวซีแลนด์ไม่คาดหวังจะได้ขึ้นเงินเดือน

7 ก.ย. 56 - จากผลสำรวจของ Website การจ้างงาน Seek.co.nz พบว่า 1ใน 3 ของแรงงานนิวซีแลนด์ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเป็นเวลา 2 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ขึ้นเงินเดือน อย่างไรก็ตามจากการ สำรวจล่าสุดผู้บริโภคและธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังไม่ส่งผลต่อค่าจ้างแรงาน โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเด่นชัดได้แก่ อุตสาหกรรมที่พักอาศัยและก่อสร้าง โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวร้อยละ 6 ทั่วประเทศ


แรงงานกัมพูชาได้กลับทำงานตามเดิม หลังจากมีการประท้วงจนทำให้นายจ้างต้องปีนหนีลงมาจากโรงงาน

7 ก.ย. 56 - แกนนำสหภาพแรงงานกัมพูชาเปิดเผยว่า คนงานทำเสื้อผ้าหลายร้อยคนที่ถูกเลิกจ้างจากโรงงานแห่งหนึ่ง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังอย่าง "แก๊ป" และ "เอชแอนด์เอ็ม" ต่างได้กลับเข้าทำงานตามเดิมแล้ว หลังจากมีการประท้วงจนทำให้นายจ้างต้องปีนหนีลงมาจากโรงงาน

คนงานประมาณ 4,000 คนเดินขบวนทั่วกรุงพนมเปญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในการประท้วงการเลิกจ้างคนงานจำนวน 720 คนเพื่อตอบโต้การข่มขู่จากเจ้าของโรงงาน

แกนนำสหภาพแรงงานกัมพูชาเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า แรงงานที่ถูกไล่ออกเหล่านี้ได้กลับเข้าทำงานตามเดิมแล้ว ขณะที่โรงงาน "เอสแอล การ์เมนท์ โพรเซสซิ่ง" ของสิงคโปร์ก็ได้ยกเลิกคำสั่งพักงานชั่วคราวพนักงานตำแหน่งอื่นจำนวน 5,000 คน

เขากล่าวว่า หลังจากที่มีการเจรจาเป็นเวลานาน บริษัทดังกล่าวก็ได้ตกลงที่จะยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างและให้คนงานทุกคนกลับมาทำงานตามปกติเมื่อวานนี้

อย่างไรก็ตาม โรงงานแห่งดังกล่าวปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและระบุว่าคนงานเหล่านี้ถูกไล่ออกเนื่องจากการประท้วงของพวกเขาขัดต่อกฎหมายผู้จัดการโรงงานแห่งนี้ "นายฉิง เซ่า" ยืนยันว่าคนงานได้กลับมาทำงานตามเดิมแล้ว และตนยินดีที่ได้ทำงานร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในกัมพูชามีประเด็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับค่าจ้าง ความปลอดภัย และสถานภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าอยู่บ่อยครั้ง

มาเลเซียยัน ไม่ทบทวนมาตรการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวเถื่อน แม้ถูกวิจารณ์หนักละเมิดสิทธิมนุษยน

12 ก.ย. 56 - อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของมาเลเซีย ยืนยันในวันพฤหัสบดี (12) ว่า รัฐบาลเสือเหลืองจะไม่ทบทวนมาตรการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
       
ฮามิดีแถลงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์โดยยืนยันว่า กระทรวงกิจการภายในมาเลเซีย(KDN) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายด้านการอพยพเข้าเมืองและแรงงานต่างชาติ จะไม่มีการทบทวนแผนปฏิบัติการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแบบปูพรมนาน 3 เดือน ที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา
       
แม้มาตรการดังกล่าวซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักจากบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวเกือบ 500,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาประกอบอาชีพเป็น “แม่บ้าน” จะต้องถูกเนรเทศออกนอกมาเลเซียก็ตาม
       
ตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ทางการมาเลเซียจะใช้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงตำรวจกว่า 135,000 คน กระจายกำลังกันเข้ากวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อนทั่วประเทศ ก่อนนำไปควบคุมตัวและทำประวัติเพื่อรอการเนรเทศออกนอกประเทศ
       
แม้แรงงานต่างชาติมักไม่ค่อยถูกมองว่าเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาอาชญากรรมในมาเลเซีย แต่การมีอยู่ของแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารจำนวนมาก ได้เพิ่มความกังวลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแดนเสือเหลืองโดยข้อมูลของทางการมาเลเซีย ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ต้องสงสัยว่า มีส่วนพัวพันกับการก่ออาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ได้จำนวน 1,400 คน
       
ทั้งนี้ มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งดึงดูดแรงงานต่างด้าวจากประเทศใกล้เคียงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ย่ำแย่กว่าอย่างอินโดนีเซีย บังกลาเทศ พม่า เวียดนาม และเนปาล

เหมืองถ่านหินถล่มในอัฟกานิสถานตายแล้ว 27 ศพ

15 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกานิสถาน เปิดเผยวันนี้ว่า เกิดเหตุเหมืองถ่านหินถล่มในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน  ทำให้มีคนงานเหมืองเสียชีวิตไปอย่างน้อย 27 ศพ ขณะที่ เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงพยายามให้ความช่วยเหลือคนงานอีก 12 คนที่ติดอยู่ใต้ดิน โดยเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน รีบเร่งไปยังที่เกิดเหตุ หลังจากเหมืองถล่มในเขตห่างไกลของจังหวัดซามันกัน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และศพของผู้เสียชีวิตถูกนำออกจากสถานที่เกิดเหตุแล้ว

โมฮัมหมัด เซดิค อาซีซี โฆษกผู้ว่าราชการจังหวัดซามันกัน กล่าวว่า มีคนงานเหมือง 27 คนเสียชีวิต ขณะที่พวกเขากำลังทำงานอยู่ที่เหมืองถ่านหินใต้ดิน ในเหมืองอับโกรัค เขตรูยี ดู อับ โดยพวกเขากำลังทำงานกันอยู่ในเหมืองเมื่อบางส่วนของเหมืองเกิดพังถล่ม ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังมุ่งหน้าไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม

ด้านโมซาดิกุลลาห์ มูซาฟารี รองหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของจังหวัดซามันกัน กล่าวว่า คนงานที่รอดชีวิต 4 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส และยังมีอยู่ 12 คน ติดอยู่ใต้ดิน

'นิคมอุตฯแกซอง'เปิดทำการหลังปิด 5 เดือน

16 ก.ย. 56  - นักธุรกิจ และคนงานเกาหลีใต้กว่า 800 คน เดินทางข้ามพรมแดนกลับเข้าไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรมแกซองในเกาหลีเหนือเช้าวันนี้ ทันทีที่นิคมเปิดทำการ หลังระงับไป 5 เดือน สืบเนื่องจากความความขัดแย้งกรณีเกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธเมื่อต้นปี และการที่นิคมแห่งนี้เริ่มดำเนินการได้อีกครั้งถือเป็นสัญญาณของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
                           
บรรดาผู้จัดการบริษัทจะเร่งตรวจสอบสายการผลิตเพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด ท่ามกลางความวิตกว่า เกาหลีเหนือจะปิดนิคมอีกในอนาคตหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ชดเชยเงินที่สูญเสียไปเกือบ 1 ล้านล้านวอน ช่วงที่นิคมถูกปิดตั้งแต่เม.ย.ได้หรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ดีใจที่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้อีก
                           
กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ ระบุว่า มีผู้จัดการและพนักงาน 820 คน เข้าไปในนิคมวันแรก ซึ่งถือว่ายังอยู่ในช่วงทดลอง และจะอยู่ค้างคืนกว่า 400 คน เพื่อดูแลสายการผลิต
                           
นิคมอุตสาหกรรมแกซอง มีโรงงานบริษัทเกาหลีใต้ 123 แห่ง ว่าจ้างพนักงานชาวเกาหลีเหนือ 53,000 คน และในช่วงที่เกิดความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีเหนือสั่งถอนคนงานของตนออกไปหมด
                           
แต่หลังจากสองฝ่ายเจรจากันหลายรอบ ก็สามารถบรรลุข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับแผนเปิดนิคมตามปกติและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก โดยสองฝ่ายตกลงตั้งคณะกรรมการร่วมชุดหนึ่งเพื่อกำกับดูแลนิคมและแก้ไขปัญหาต่างๆ และเกาหลีเหนือตอบรับข้อเรียกร้องของเกาหลีใต้ ที่จะให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในนิคมฯ ซึ่งเกาหลีใต้เชื่อว่า การมีนักลงทุนจากภายนอกเข้าไปลงทุน จะทำให้เกาหลีเหนือปิดนิคมได้ยากขึ้น หากความสัมพันธ์สองเกาหลีเสื่อมทรามลงอีกในอนาคต

รัฐวิสาหกิจต่อเรือเวียดนามปลดพนักงานอีกกว่า 14,000

19 ก.ย. 56 - บริษัทวีนาชิน ธุรกิจต่อเรือของรัฐที่ประสบปัญหาขาดทุน ได้ปลดพนักงานออกเกือบ 14,000 ตำแหน่ง ในระหว่างแผนปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อหนีจากภาวะล้มละลาย ผู้บริหารของบริษัทกล่าวกับผู้สื่อข่าววานนี้ (18)
       
จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. บริษัทวีนาชิน มีพนักงาน 26,242 คน โดยมากกว่า 8,000 คน ไม่มีงานให้ทำในระหว่างที่อุตสาหกรรมต่อเรือถูกแช่แข็ง แต่ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงดิ้นรนที่จะหาทุนเพื่อรักษากิจการเอาไว้
       
จากเหตุดังกล่าว ทำให้บริษัทวีนาชิน ตัดสินใจที่จะรักษาพนักงานไว้เพียงแค่ 8,000 คนเท่านั้น
       
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานประกันสังคมของ จ.แค็งห์ฮว๊า รายงานว่า บริษัทในเครือของบริษัทวีนาชิน หลายรายล้มเหลวที่จะจ่ายเงินประกันสังคมให้แก่พนักงาน
       
นายเล หุ่ง จิงห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคม จ.แค็งห์ฮว๊า กล่าวว่า บริษัทมีหนี้ประกันสังคมมูลค่ารวมมากกว่า 9,000 ล้านด่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท Cam Ranh Shipbuilding Co Ltd ติดหนี้ประกันสังคมสูงถึง 3,600 ล้านด่ง ขณะที่บริษัท Nha Trang Shipbuilding Co Ltd และ บริษัท Nha Trang Shipbuilding Industry Co ติดหนี้อยู่รายละ 2,000 ล้านด่ง และ 306 ล้านด่ง ตามลำดับ
       
บริษัทส่วนใหญ่เหล่านี้ล้มเหลวที่จะจ่ายเงินประกันสังคมเป็นเวลานาน 20-45 เดือน ขณะเดียวกัน หนี้สินของบริษัทเหล่านี้ก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่มาจากการชำระเงินล่าช้า
       
กิจการกว่า 902 แห่งที่ดำเนินการอยู่ใน จ.แค็งห์ฮว๊า ในตอนนี้มีหนี้ค้างชำระประกันสังคมรวมกว่า 52,000 ล้านด่ง ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมระบุว่า จะยื่นเรื่องลูกหนี้ 47 รายต่อศาล.

"แบล็คเบอร์รี" ประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก 4,500 ตำแหน่ง

20 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ว่าบริษัท "แบล็คเบอร์รี" ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชื่อดังจากแคนาดา ประกาศแผนปรับลดพนักงานทั่วโลก 4,500 ตำแหน่ง หรือ 40% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งพนักงานที่เข้าข่ายถูกปลดในครั้งนี้ ได้รับจดหมายแจ้งล่วงหน้าจากทางบริษัทแล้ว ดังนั้น ในอนาคตจะทำให้แบล็คเบอร์รีเหลือพนักงานอยู่ 7,000 คน

สาเหตุหลักที่ทำให้แบล็คเบอร์รีต้องปลดพนักงานออกชุดใหญ่อีกครั้ง มาจากผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. ที่ผ่านการประเมินเบื้องต้นแล้วว่า อาจขาดทุนระหว่าง 950-995 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 29,545-30,944 ล้านบาท ) สืบเนื่องมาจากยอดจำหน่าย "แบล็คเบอร์รี แซท 10" ที่ต่ำมาก ทั้งที่บริษัทหมายมั่นปั้นมือจะใช้สมาร์ทโฟนรุ่นนี้แย่งส่วนแบ่งในตลาดจากซัมซุงและแอปเปิ้ล

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบล็คเบอร์รีต้องเลิกจ้างพนักงาน เมื่อปีที่แล้วบริษัทปลดพนักงานทั่วโลกออกมากถึง 5,000 ตำแหน่ง

ขณะที่รายงานล่าสุดของบริษัทวิจัยด้านการตลาดชื่อดังอย่างไอดีซีเผยว่า ปัจจุบันแบล็คเบอร์รีมีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกเพียง 3.7% ต่ำที่สุุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ขณะที่สมาร์ทโฟนซึ่งรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ครองส่วนแบ่งในตลาดเกือบ 80%

แรงงานบังกลาเทศประท้วงขึ้นค่าแรง

22 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบังกลาเทศ เปิดเผยว่า ตำรวจยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา เข้าใส่คนงานทอผ้าชาวบังกลาเทศหลายพันคนเมื่อวันอาทิตย์ ระหว่างการชุมนุมประท้วงวันที่ 2 เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 3,000 บาทต้น ๆ โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ขว้างปาก้อนหินและก้อนอิฐเข้าใส่โรงงานท่อผ้าหลายแห่งในเขตคาเลียโคอีร์ นอกกรุงธากา ซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายบริษัท และมีบางกลุ่มเดินขบวนไปตามถนนหลวงสายหลัก ปิดกั้นการจราจร

“พวกเราถูกบีบให้ต้องยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งโจมตีโรงงานหลายสิบแห่ง” โอมาร์ ฟารัค หัวหน้าตำรวจในเมืองคาเลียโคอีร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว และกล่าวเพิ่มเติมว่า มีคนงานประมาณ 6,000 คน ร่วมชุมนุมประท้วงครั้งนี้

บังกลาเทศ เป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลกจากโรงงานทอผ้าถึง 4,500 แห่ง รับผิดชอบการส่งออกของประเทศต่อปีมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงร้อยละ 80 แต่แรงงานท่อผ้า 3 ล้านคนของประเทศ กลับมีรายได้พื้นฐานต่อเดือนอยู่ที่ 3,000 ตากา หรือประมาณ 38 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเห็นเงินไทย ตกประมาณ 1,200 บาท ซึ่งต่อที่สุดในโลก

คนงานฟอกซ์คอนน์บาดเจ็บ 11 คนจากเหตุวิวาทในจีน

23 ก.ย. 56 - บริษัทฟอกซ์คอนน์ของไต้หวันเปิดเผยวันนี้ว่า มีคนงานของบริษัท 11 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุทะเลาะวิวาทใกล้โรงงานทางตะวันออกของจีน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อคนงานสองกลุ่มเริ่มก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันหลังจากดื่มสุราในร้านนอกโรงงานในมณฑลชานตง โดยมีคนประมาณ 400 คนมุงดูเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นมีการเรียกตำรวจเข้ามาระงับเหตุ และไม่มีใครบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฟอกซ์คอนน์ได้เรียกคนงานคู่กรณีมาตักเตือนแล้ว และปฏิเสธรายงานที่ว่ามีผู้เสียชีวิต 3 คนในเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว ฟอกซ์คอนน์ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกและประกอบสินค้าให้แก่หลายบริษัททั้งแอปเปิล โนเกีย และโซนี่ ต้องปิดโรงงานในมณฑลชานซี ทางตอนเหนือของจีนเป็นการชั่วคราว หลังเกิดเหตุคนงาน 2,000 คนก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน

เปรูเร่งช่วยเหลือคนงานเหมืองถล่มหลังแผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์

26 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลเปรู เร่งให้ความช่วยเหลือคนงานเหมืองที่มีรายงานว่ายังติดอยู่ในเหมืองทองแดงเมื่อวานนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทำให้ดินถล่ม มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและมีความเป็นไปได้ว่า จะมีผู้เสียชีวิตในหลายจังหวัดห่างไกล โดยเจ้าหน้าที่ในเขตอาเรคีปา ทางตอนใต้ของประเทศ กล่าวว่า พวกเขาได้รับแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตหลังจากเหมืองทองแดงชั่วคราว ฮัวราโตและลาเวอร์เด ซึ่งประกอบกิจการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พังถล่ม

ทั้งนี้ เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7 ริกเตอร์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงในบริเวณกว้าง ใกล้เมืองชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของเปรูก่อนเที่ยงคืนวันพุธไม่กี่นาที อย่างไรก็ตาม พวกเขาระบุว่า ยังไม่สามารถยืนยันยอดผู้เสียชีวิตได้ในขณะนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล เดินทางไปยังพื้นที่เหมืองห่างไกล เพื่อช่วยเหลือผู้ติดอยู่ใต้เหมืองแล้ว

แรงงานกัมพูชาประท้วงขอขึ้นค่าแรง

27 ก.ย. 56 - คนงานโรงงานเสื้อผ้าราว 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง จากโรงงาน มุ่งหน้าไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและเงินโบนัส หลังจากที่การเจรจากับตัวแทนนายจ้างเมื่อวานนี้ไม่เป็นผล

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชา ระดมกำลังรักษาความปลอดภัย โดยได้ปิดถนนสกัดกั้นกลุ่มผู้ประท้วง อย่างไรก็ตามไม่มีเหตุรุนแรงใดๆเกิดขึ้น ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจ เผยว่า จะอนุญาตให้ผู้ประท้วง 30 คน เป็นตัวแทนในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน

โดยผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงจากเดือนละ 80 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือราว 2,400 บาท มาเป็น 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4,500 บาทต่อเดือน พร้อมกับเงินโบนัส

ขณะเดียวกันที่บังคลาเทศ ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดยเมื่อวานนี้เกิดการปะทะกับตำรวจและกลุ่มคนงานโรงงานเสื้อผ้า ที่ออกมาชุมนุมประท้วง ขอขึ้นค่าแรง จาก เดือนละ 38 ดอลลาร์ มาเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,000 บาท อย่างไรก็ตามเรื่องนี้รัฐบาลจะร่วมเจรจากับสหภาพแรงงานและเจ้าของโรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

บริษัท "ซีเมนส์" จากเยอรมนี ประกาศเตรียมปลดพนักงานทั่วโลก 15,000 ตำแหน่ง ภายในปีหน้า

30 ก.ย. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่าบริษัท "ซีเมนส์" กลุ่มบริษัทวิศวกรรมชั้นนำของโลกจากเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป รวมถึงยังเป็นผู้ให้บริการในด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ และสารสนเทศ ออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ ระบุถึงการเตรียมปรับลดพนักงานทั่วโลก 15,000 ตำแหน่ง ภายในสิ้นปี 2557 ซึ่งในจำนวนนี้ 5,000 ตำแหน่งจะเป็นพนักงานในสำนักงานที่เยอรมนี

ทั้งนี้ ซีเมนส์ให้เหตุผลของการปรับลดพนักงานครั้งมโหฬารเพียงว่า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงโครงสร้างภายใน และเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของบริษัท นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทบรรลุข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวกับสหภาพแรงงานแล้ว

ถ้อยแถลงดังกล่าวของซีเมนส์มีขึ้น หลังคณะกรรมการบริหารของบริษัทมีมติให้ปลดนายเพเตอร์ เลิชเชอร์ ออกจากตำแหน่งประธานบริษัทเมื่อช่วงต้นปี ด้วยเหตุผลด้านความล้มเหลวในการบริหารงาน


ที่มาเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์, สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net