Skip to main content
sharethis

รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์



วุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

30 ก.ย. 56 -  ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยมติ 105 :9  งดออกเสียง 2

ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ด้วยมติ 105 :9  งดออกเสียง 2   โดยการออกเสียงด้วยวิธีลงคะแนนลับ  หลังคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายชูเกียรติรัตนชัยชาญ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานอันจำเป็นเสร็จเรียบร้อยก่อนเสนอผลการตรวจสอบฯ ต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาแล้วในวันนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 56 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแต่งตั้งนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค. 56  แทนนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้  โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ วันที่ 12 ก.ย. 56 มีมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอแล้ว และวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้วในวันที่ 30 ก.ย. 56  จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตัังต่อไป

ที่มา: วิทยุรัฐสถา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง

วุฒิสภามีมติไม่ถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ไอซีที และ นายไกรสร พรสุธี อดีต ปลัดกระทรวงฯ

1 ต.ค. 56 - วุฒิสภามีคะแนนเสียงไม่ถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ด้วยเสียง 59 ต่อ71 เสียง และ ไม่ถอดถอนนายไกรสร พรสุธี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที ด้วยเสียง 66 ต่อ 66 เสียง ซึ่งไม่ถึง 3 ใน 5 ที่จะถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีถูก ปปช.ชี้มูลความผิดอนุมัติแก้สัญญาสัมปทานดาวเทียมของ บ.ชินคอร์ป

ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในสมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(กระทรวงไอซีที) ด้วยเสียง 59 ต่อ 71 เสียง และมีมติไม่ถอดถอน นายไกรสร พรสุธี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที ด้วยเสียง 66 ต่อ 66 เสียง ซึ่งจำนวนเสียงของ ส.ว. ที่จะสามารถถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 274 ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ จำนวน ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือไม่น้อยกว่า 90 เสียง

สำหรับการลงมติถอดถอนหรือไม่ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นพ.สุรพงษ์ และ นายไกรสร จากกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ(ไอพีสตาร์) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บ. ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ที่ต้องถือใน บ.ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด(มหาชน)ที่เป็นบริษัทลูก ด้วยการลดจำนวนถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ไปเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และวุฒิสภาได้ดำเนินกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติไว้ โดยมีขั้นตอนให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาของวุฒิสภา ส่วนสมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นคำถามประกอบการพิจารณาพร้อมให้มีการแถลงเปิดและปิดสำนวนคดีด้วยวาจาของผู้กล่าวหาทั้งสองแล้ว

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

ฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเรื่องความคืบหน้าการก่อสร้างฟลัดเวย์

1 ต.ค. 56 – ประธานวิปฝ่ายค้าน เผย ฝ่ายค้านเตรียมเสนอญัตติด่วนเรื่องความล้มเหลวการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล หลังพบปัญหาน้ำท่วมหนักประชาชนเดือดร้อนกว่า 2 ล้านคน พร้อมระบุจะตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าการก่อสร้างฟลัดเวย์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 ต.ค. 56 พรรค ประชาธิปัตย์จะเสนอญัตติด่วนเรื่องความล้มเหลวการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้น้ำท่วมแล้วกว่า 24 จังหวัด กระทบประชาชน 2 ล้านกว่าคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 23 ราย ขณะเดียวกันจะตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าโครงการสร้างฟลัดเวย์ (Flood way) และโครงการแก้มลิง ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร และปัญหาน้ำท่วมจะกระทบต่อนาข้าวหรือไม่ และรัฐบาลมีแนวทางป้องกันไว้อย่างไรบ้าง

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 2 ต.ค. 56 วิปฝ่ายค้านจะเสนอญัตติขอเลื่อนร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ที่วุฒิสภาเห็นชอบแล้ว มาพิจารณาก่อน โดยฝ่ายค้านมีมติความเห็นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง

ฝ่ายค้าน เรียกร้องนายกฯ ทบทวนส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ เตือนอย่าอ้างเงื่อนเวลา 20 วัน

2 ต.ค. 56 - ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ อีกครั้ง ให้ทบทวนกรณีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ เตือนอย่าอ้างเงื่อนเวลา 20 วัน   ชี้ รัฐบาลยื่นตรวจสอบฝ่ายค้าน ตามมาตรา 157 ว่าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ถือเป็นการขมขู่คุกคามการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า ทันทีที่ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญและทำหนังสือแจ้งนายกฯ ให้ทราบ ว่ามีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 แล้ว   วิปฝ่ายค้านจะทำหนังสือถึงนายกฯ อีกครั้ง เพื่อให้นายกฯ ทบทวนกรณีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ  เพราะขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบซึ่งยังสามารถดึงเรื่องกลับมาได้ ส่วนกรณีที่นายกฯ ออกตัวว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเพราะในส่วนนี้เป็นการทำงานแยกกันระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภานั้น  นายกจะอ้างอย่างไรก็ได้ แต่นายกฯ ก็ทราบแล้วว่ามีการยื่นเรื่องให้ศาลตีความ ก็ยังดึงดันที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีข้อสงสัยขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะอ้างเงื่อนเวลาขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน คงไม่ได้ เพราะยังมีเวลา 10 กว่าวัน ที่จะทบทวน  อีกทั้งหลายฝ่ายมองว่านายกฯ ทำสิ่งไม่บังควร   ทั้งนี้ ยืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ผิดที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้ดำเนินการและแสดงความคิดเห็น ชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปอย่างเปิดเผย  ดังนั้น การที่รัฐบาลจะไปยื่นตรวจสอบฝ่ายค้าน ตามมาตรา 157 ว่าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  จึงถือเป็นการขมขู่คุกคามการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง

หมออนามัย จี้ สภาฯ เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

 2 ต.ค. 56 - กลุ่มผู้ชุมนุมหมออนามัย เรียกร้อง สภาผู้แทนราษฎรเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนและยกระดับให้หมออนามัยเป็นนักวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

เมื่อเวลาประมาณ 10.10 น. วันนี้ (2 ต.ค 56) นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมด้วยหมออนามัยและนักวิชาชีพสาธารณสุขทั่วประเทศ มาชุมนุมทวงถามความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ...ที่บริเวณหน้ารัฐสภาหลังคณะกรรมาธิการร่วมกันของทั้งสองสภาพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และวุฒิสภามีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อให้ทันในสมัยการประชุมสามัญนิติบัญญัตินี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนในการใช้บริการจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้มาตรฐานทางวิชาชีพ และเป็นการคุ้มครองหมออนามัยให้มีการยกระดับเป็นนักวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน  ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านการสาธารณสุขในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ในการชุมนุมดังกล่าว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สผ. เผย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาบัตรอีซี่พาสแล้ว

2 ต.ค. 56 - กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค สผ. เผย การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแก้ปัญหาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแล้ว พร้อมแนะศึกษาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางจากต่างประเทศ หวังรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอนุสรณ์ ปั้นทอง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาผลกระทบที่ผู้บริโภคได้รับจากกรณีการใช้บริการทางด่วนพิเศษโดยใช้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass)เนื่องจากข้อมูลการใช้จ่ายในบัตรอีซี่พาสไม่ตรงกับความเป็นจริงภายหลังคณะกรรมาธิการรับฟังคำชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการแสดงและการประมวลผลผ่านบัตรอีซี่พาสมีความล่าช้า ทำให้ข้อมูลการใช้จ่ายในบัตรไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยมีการหักค่าใช้จ่ายในบัตรอีซี่พาสเกินกว่าที่ใช้จริง ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลกลางระบบจัดเก็บค่าผ่านทางบัตรอีซี่พาสให้ตรงกับความเป็นจริงแล้ว พร้อมจะดำเนินการปรับปรุงระบบซอฟแวร์ เพื่อรองรับยอดผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นจากวันละ 2.5 แสนรายเป็นวันละ 6 แสนราย และอีก 3 เดือนข้างหน้า ระบบซอฟต์แวร์จะรองรับยอดผู้ใช้บัตรอีซี่พาสได้ถึงวันละ 1 ล้านรายต่อไป ทั้งนี้ กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางบัตรอีซี่พาสให้มีความทันสมัย และสามารถรองรับข้อมูลของผู้ใช้บริการได้เป็นจำนวนมาก โดยศึกษาเปรียบเทียบระบบจัดเก็บค่าผ่านทางจากต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบจัดเก็บบัตรอีซี่พาส ตลอดจนดำเนินการจัดระบบจราจรบริเวณช่องผ่านด่านให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนพิเศษเพิ่มขึ้น

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

รัฐสภาให้ความเห็นชอบรัฐบาลไทยทำความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลชิลีแล้ว

 2 ต.ค. 56 - ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบให้รัฐบาลทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลชิลีกับรัฐบาลไทยแล้ว ด้วยเสียง 464 ต่อ 6 เสียง หลัง ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.บางส่วน ตั้งข้อสังเกต ความตกลงที่ระบุให้นำเข้าฝิ่นและกัญชาได้

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลชิลีและรัฐบาลไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้องและการแก้ไขความคลาดเคลื่อนในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้าของไทยที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 464 ต่อ 6 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 484 คน หลังเปิดให้มีการอภิปรายเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฎ์ นายพุทธิพงษ์ ปุณกันต์ และ ส.ว.บางส่วน ยังมีข้อท้วงติงในความตกลงที่ระบุถึงการนำเข้าฝิ่นแห้ง และกัญชาตัด บด หรือลักษณะอื่น ๆ เข้ามายังประเทศไทย ซึ่ง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุเพียงว่านำมาใช้เพื่อการแพทย์ รวมถึงตั้งข้อสังเกตในการทำเอกสารความตกลงเป็นภาษาสเปนนอกจากภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตของนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ระบุตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้าของไทยยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับความตกลงการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลชิลีกับรัฐบาลไทยฉบับดังกล่าว หลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 190 แล้ว จะมีการลงนามระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ ที่ประเทศไทย ในวันที่ 4 ตุลาคม นี้ ในโอกาสที่นายกฯ ของชิลีเดินทางเยือนประเทศไทย

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

นพ.เหวง ยื่น กก.ยุทศาสตร์ พท. ยกเลิก ม.309 ชี้ คุ้มครองทำรัฐประหาร

2 ต.ค. 56 - นพ.เหวง เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ต่อกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทย  ชี้ คุ้มครองการทำรัฐประหาร

นพ.เหวง โตจิราการ  ส.ส.เพื่อไทย ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ทั้งมาตราต่อนายอำนวย คลังผา สส.ลพบุรี ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย  โดย นพ.เหวง กล่าวว่า  เนื่องจาก มาตรา 309  ที่ได้บัญญัติว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"   ซึ่งถือว่าเป็นบทบัญญัติที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย และรับรองการกระทำของรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งก่อนและหลังประกาศใช้ย่อมทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีจุดประสงค์คุ้มครองการทำรัฐประหาร   ตนจึงขอเสนอให้กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พิจารณาให้มีการดำเนินร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในโอกาสต่อไป

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง

รัฐสภาเห็นชอบให้รัฐบาลดำเนินการกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับ EFTA

 2 ต.ค. 56 - ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับEFTA ด้วยเสียง 446 ต่อ 2 เสียง หลัง ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.หลายคนยังห่วงการดำเนินการของรัฐบาล ที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบและเสียประโยชน์จากการทลายกำแพงภาษีสินค้าและบริการหลายตัว รวมถึงครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องสิทธิบัตรยา

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (Eurpoean Free Trade Association : EFTA)ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 446 ต่อ 2 จากจำนวนสมาชิกที่เข้าประชุม 451 คน โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายก่อนลงมติอย่างหลากหลายซึ่งต่างแสดงความเห็นถึงผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับไทยจากการทำลายกำแพงภาษีที่จะเกิดขึ้น อาทิ นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุผลกระทบจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรอย่างมากจากกรณีนำเข้าสินค้าเกษตรบางชนิดขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการดำเนินการ และทำตามแผนแม่บทที่กำหนดไว้ได้จริงเท่านั้น กรอบเจรจาดังกล่าวจึงจะเกิดประโยชน์ได้ ด้าน นพ.เจตน์ สิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา และ นายอรรถวิช สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นคล้ายคลึงกันโดยระบุว่าเห็นด้วยกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับไทยแต่มีบางส่วนที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการเจรจา โดยเฉพาะความตกลงด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสิทธิบัตรยา ที่จะกลายเป็นการขยายสิทธิบัตรยา ซึ่งส่งผลให้คนไทยเข้าถึงยาได้น้อยลง  หรือต้องจ่ายค่ายาบางชนิดในราคาแพงขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายแล้ว นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยืนยันต่อสมาชิกรัฐสภาว่า   รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาในสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ จะยึดท่าทีในการเจรจากับEFTA ในแนวทางที่สอดคล้องกับ EU โดยมุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศอย่างดีที่สุด

สำหรับกรอบเจรจาความตกลงดังกล่าว มีที่มาจากการที่รัฐบาลไทยและ EFTA ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ประกาศเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันแล้วเมื่อปี 47 และมีความครอบคลุมในทุกเรื่องมาแล้ว อาทิ การเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา แต่การเจรจาต้องหยุดชะงักลงหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเมื่อปี 49 และเมื่อนายกฯ ของไทยได้ร่วมหารือกับนายกฯ นอร์เวย์ เมื่อครั้งประชุมASEMที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อเดือน พ.ย.55 ทำให้มีการตกลงที่จะเจรจาอีกครั้ง โดยกรอบเจรจาดังกล่าวมีความต้องการดึงดูดการลงทุนและใช้ประโยชน์จาก AECเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงของการถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร(GSP)

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากกลุ่มเครือข่ายสภายุติธรรมตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกรัฐสภาที่คัดค้านการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.

3 ต.ค. 56 - กลุ่มเครือข่ายสภายุติธรรมยื่นหนังสือผ่านโฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการจริยธรรมฯ ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกรัฐสภาที่คัดค้านการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ขณะที่โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนจะส่งเรื่องต่อไป

นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสภายุติธรรม เรื่องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกรัฐสภา ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภา ที่ยื่นเรื่องคัดค้านกรณีนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยทางกลุ่มเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม นอกจากนี้ทางตัวแทนกลุ่มเห็นว่าการคัดค้านดังกล่าวจะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายการทำหน้าที่ของรัฐสภา

ทั้งนี้โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ตนจะมอบให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์ นูโพนทอง ผู้สื่อข่าว/เรียบเรียง

หมอวรงค์ เผย ชาวนาร้องได้รับเงินจากโครงจำนำข้าวรอบใหม่ไม่ถึงหมื่นห้าตามที่รัฐบาลกำหนด

 3 ต.ค. 56 - นายแพทย์วรงค์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เผย ชาวนาที่พิจิตรร้องเรียนได้รับเงินจากโรงสีในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่เพียง 9,800 บาท ทั้งที่รัฐบาลกำหนดไว้ 15,000 บาท พร้อมเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ปี 56/57 ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากชาวนาในจังหวัดพิจิตรว่าได้รับเงินจากโรงสีจากการรับจำนำข้าวในราคาตันละ 9,800 บาท ซึ่งไม่ตรงตามที่รัฐบาลกำหนด คือ ตันละ 15,000 บาท ดังนั้นจึงเรียกร้องรัฐบาลทบทวนเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเงินไม่ถึงมือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นโดยกังวลว่าจะนำมาเป็นข้ออ้างว่าโรงสีที่ใช้ในการเก็บข้าวถูกน้ำท่วมจึงทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลทำบันทึก และสำรวจโกดังที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อน้ำท่วมจริง นอกจากนี้นายแพทย์วรงค์ ยังเรียกร้องให้ชี้แจงตัวเลขกำไร ขาดทุน จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างครบถ้วน และตรงไปตรงมา เพื่อความโปร่งใส

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์ นูโพนทอง ผู้สื่อข่าว/เรียบเรียง

กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา มีมติรับเรื่องด่วนกรณีการปลอมเอกสารร่างรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณา

3 ต.ค. 56 - กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา มีมติรับเรื่องด่วนกรณี ส.ว.คำนูณ ตรวจสอบพบเอกสารแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ที่ใช้ประกอบการประชุมของรัฐสภามีเนื้อหาไม่ตรงกับที่ผู้ยื่นเสนอ ไว้พิจารณา ระบุ การปลอมแปลงเอกสารให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกิดเสียหายทั้งต่อผู้พิจารณาและผู้โหวตญัตติเถื่อน ส่งผลต่อสถานภาพของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการโหวตไปแล้ว

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี นายสาย กังกเวคิน เป็นประธานกรรมาธิการ จากกรณีพบเอกสารร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มา ส.ว.ฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เป็นผู้ยื่นเสนอขอให้รัฐสภาพิจารณา กับฉบับที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำสำเนาแจกจ่ายสมาชิกรัฐสภาใช้ประกอบการพิจารณาวาระแรกในการประชุมเมื่อ 1 เม.ย. 56 มีข้อความไม่ตรงกัน ทั้งที่เป็นเอกสารจากฉบับเดียวกัน มีเลขลงรับเดียวกันตามขั้นตอนหนังสือราชการคือลงรับวันที่ 20 มี.ค.56 เวลา 13.05 น. เลขรับที่ 20/2556ดังนั้น ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างเถื่อนร่างปลอมและมีการโหวตรับญัตติปลอม โดย นายคำนูณ ชี้ให้เห็นข้อความที่แตกต่างกันของเอกสาร 2 ฉบับนอกจากหลักการและเหตุผลที่มีข้อความไม่ตรงกันแล้วยังมีอีก 4 จุด คือ มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 115 และมาตรา 116 วรรคสอง ตัวอย่างเช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการเติมข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติ ส.ว. ทำให้สมาชิกที่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่เกิน 5 ปี สามารถลงสมัครได้ ซึ่งหมายถึง ส.ว.ปัจจุบันสามารถลงสมัครได้ ทั้ง ๆ ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่นายอุดมเดช ยื่นเข้ามายังสภาไม่มีข้อความที่ระบุอย่างชัดเจนเช่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ ย้ำว่า ส่วนตัวไม่ค้านกรณีที่ ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่สิ่งที่เหล่านี้ถือเป็นปาฎิหาริย์ที่เกิดขึ้นที่ช่วยให้ ส.ว.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ สามารถเป็น ส.ว.ต่อได้ นอกจากนี้ ยังมีหลายคนออกมาพูดว่าเมื่อสภาลงมติรับแล้วถือว่าสิ้นสุด คล้ายจะเป็นการบอกว่าจะเป็นของปลอมหรือไม่ไม่สำคัญแต่เมื่อมีมติสภารองรับแล้วถือว่าจบ ไม่ตัองมีการมาถกเถียงกันอีก

ด้านคณะกรรมาธิการหลังรับฟังการชี้แจงพร้อมตรวจสอบเอกสารที่นายคำนูณ นำมาแสดงแล้ว มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา พร้อมมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการชุดที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานดำเนินการตรวจสอบต่อไป ซึ่ง นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารประกอบการประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.นั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงอย่างมากไม่ตรงกับฉบับจริงที่ผู้เสนอมีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงข้อความนั้นสามารถทำได้ตามกระบวนการโดยสมาชิกขอปรับปรุงแก้ไขญัตติ แต่จากกรณีนี้ไม่ปรากฏเอกสารการขอแก้ไขแต่อย่างใด แต่กลับมีการแก้ไขเกิดขึ้น จึงนับว่าการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกรัฐสภา เพราะมีการปลอมแปลงเอกสารให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณา ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีคำถามต่อไปถึงสถานภาพของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการพิจารณาไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จี้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบกรณี ส.ส.กดบัตรแทนกัน

 3 ต.ค. 56  –  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ จี้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบกรณี ส.ส.กดบัตรแทนกัน พร้อมเรียกร้อง ส.ส.เพื่อไทย 2 คนที่อยู่ในเหตุการณ์ออกเปิดเผยว่าใครเป็นคนกดบัตร ย้ำถ้าโฆษกพรรคเพื่อไทยเชื่อเป็นคลิปตัดต่อต้องแสดงหลักฐานให้ชัดเจน

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว ถึงกรณีคลิปกดบัตรแทนกันในระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาว่า ตนได้แถลงข่าวเรียกร้องพรรคเพื่อไทยให้หาตัวคนที่กดบัตรในคลิปให้รับผิดชอบกับการกระทำดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ผ่านมา 10 กว่าวันแล้ว ทางพรรคเพื่อไทยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ในคลิปดังกล่าว ตนยืนยันว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ได้ไปรับบัตรจาก ส.ส.ที่กดบัตรแทนกัน 2 คน คือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และ นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งถึงแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะไม่ได้กดบัตรแทนกัน แต่ต้องทราบว่า ส.ส.คนใดเป็นผู้กดบัตร ดังนั้น ตนจึงอยากเรียกร้องให้ ส.ส. ทั้ง 2 คน ออกเปิดเผยว่า เป็นส.ส.คนใด พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรค ให้รับผิดชอบการกระทำดังกล่าวของลูกพรรค เนื่องจากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

นายบุญยอด กล่าวอีกว่า กรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงข่าวระบุว่า คลิปดังกล่าวเป็นคลิปตัดต่อนั้น ตนขอให้แสดงหลักฐานให้ชัดเจนว่าตรงไหนเป็นส่วนที่ตัดต่อ

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง

เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุ ประธานรัฐสภาลงนามหนังสือส่งศาลรัฐธรรมนูญเรื่องแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. แล้ว

3 ต.ค. 56  –   เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผย ประธานรัฐสภา ลงนามในหนังสือส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม แล้ว ด้านเลขาธิการวุฒิสภา คาดในส่วนวุฒิสภาจะแล้วเสร็จภายในวันนี้

นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามส่งหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่มีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 (1) ขอส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราว่าด้วยที่มาของสว. ขัดหรือแย้ง หรือเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว

ส่วนเรื่องที่จะต้องส่งไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้รับทราบนั้น ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้นายกฯได้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว ดังนั้น เรื่องการใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 (1) ของสมาชิกรัฐสภาคงไม่มีผลอะไร

ขณะที่ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า กระบวนการของวุฒิสภา ที่มีสมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 (1) ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภานั้น คาดว่าจะส่งเรื่องไปตามหน่วยงานที่กำหนดไว้ ภายในวันนี้ (3ต.ค.)

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง

คณะกรรมาธิการ ปปช. สภาผู้แทนราษฎร เผยความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

4 ต.ค. 56  – ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เผย ความคืบหน้ากรณีจัดซื้อจัดจ้างนาฬิกาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุ ทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท พร้อมเผยเตรียมยื่นให้คณะกรรมการ ปปช. ตรวจสอบต่อไป

นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการติดตามพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดซื้อจัดจ้างนาฬิกาของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวใกล้เสร็จแล้ว โดยเชื่อว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้พบการกำหนดทีโออาร์ ได้ระบุว่า ผู้ที่จะยื่นซองประกวดราคาต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจและติดตั้งระบบนาฬิกา แต่บริษัทที่ชนะการประมูลไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับนาฬิกา เป็นบริษัทรับติดตั้งระบบอิเลคทรอนิคส์ และพบว่าบริษัทที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาครั้งนี้มีการฮั้วกัน โดยมีการนำเอกสารของอีกบริษัทที่เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคา มาใช้แทนกันในการยื่นเสนอราคา กรรมาธิการฯ จึงเชื่อว่า การเขียนทีโออาร์ครั้งนี้มีการเอื้อประโยชน์ ไม่ให้มีการแข่งขันกัน

นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการเตรียมจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า การกระทำครั้งนี้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเสื่อมเสีย จึงเตรียมเข้าชื่อกันเพื่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบในนามของ ส.ส.อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง

ประธานรัฐสภา มีคำสั่งประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 11 ต.ค.นี้

6 ต.ค. 56  – ประธานรัฐสภา มีคำสั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 11 ตุลาคม นี้ โดยมีวาระสำคัญเรื่องการให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย-จีน

นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา มีหนังสือเชิญประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 11 ตุลาคม โดยมีระเบียบวาระสำคัญ คือ การขอความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับราชอาณาจักรไทย

ในการเริ่มใช้ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐบาลแห่งสหภาพเมียนม่าร์ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมจะเสนอเลื่อนมาพิจารณาเป็นวาระแรก

นอกจากนี้ มีเรื่องแจ้งต่อที่ประชุม เรื่องรับทราบการทบทวนแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่ – บางซื่อ) ระยะที่ 3 ขณะที่เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วก็มี วาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237) ตามลำดับ

ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง













 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net