การหล่อเลี้ยง “ตัวตน” ด้วยการ “หลอก”ตนเอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมรู้สึกว่าการเล่นสื่อทางสังคมสมัยใหม่ของผู้คนจำนวนไม่น้อยในวันนี้ เป็นกระบวนการเล่นกับ “ตัวตน” ของตนเอง  เป็นกระบวนการเล่นที่ทำให้เราสนุกและรู้สึกว่าตัวตนพองเต็มที่ในเฟซบุ๊ก เพราะได้เลือกที่จะแสดง “ ตัวตน”ของเราออกไป  เราเลือกแสดงเฉพาะส่วนเสี้ยวของตัวตนเราที่อยากให้คนอื่นได้เห็น ได้รับรู้ และได้ซาบซึ้ง

“ ตัวตน”ด้านที่เราเลือกที่จะจะแสดงออกไปนั้น  เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงความเหี่ยวเฉาของตัวตนทั้งหมดในชีวิตจริง  พร้อมกันนั้น  เราก็กลบด้านอัปลักษณ์ที่ดำมืด หรือ ตัวตนที่เกียจคร้าน  โดยซ่อนเอาไว้เบื้องลึกของช่วงเวลาที่สุขสันต์ปลาบปลื้มกับภาพที่ได้เลือกสรรแสดงออกไปสู่สาธารณะ

กระบวนการทางจิตวิทยาของมนุษย์ที่เรียกกันว่ากลวิธานการป้องกันตนเองถูกขยายออกมาสู่เฟซบุ๊ก  แต่แปรเปลี่ยนมาเป็นการป้องกันตนเอง “เชิงรุก”  ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่ากลวิธานการ “ หลอก” ตัวตนของตนเองในอีกรูปแบบหนึ่ง
ในด้านหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิมก่อให้เกิดความกดดันอย่างใหญ่หลวงต่อ “ตัวตน”     

การเผชิญหน้ากับความจริงที่ผู้คนมองเห็นและสัมผัสได้กลับเป็นเรื่องร้ายแรงที่อยากจะหนีให้พ้น     กาลก่อนนั้นการเผชิญหน้าเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นปรกติ  และกลไกทางจิตของมนุษย์ก็จะสร้างกรอบคิดให้ยอมรับการกดดันนี้ได้อย่างไม่เจ็บปวดมากนัก โดยสอดคล้องไปกับกลไกทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางสังคมที่เน้นการยอมรับความผิดพลาดอันจะนำไปสู่ความมุ่งมั่นแก้ไขให้ดีขึ้น หรือ ในกรณีสังคมไทยก็ได้แก่การยอมรับความสูงต่ำของความสัมพันธ์ทางสังคม

อีกด้านหนึ่ง “ตัวตน” เชิงปัจเจกของผู้คนที่บ่มเพาะมาในยุคสมัย  ทำให้ไม่อาจจะทนได้กับกลไกทางสังคมแบบเดิม ความเจ็บปวดรวดร้าวของการเผชิญหน้ากับความจริงในความสัมพันธ์ทางสังคมมีมากเกินกว่าที่ปัจเจกบุคคลจะยอมรับและกลืนมันเอาไว้ข้างในเพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขใน “ตัวตน” ในลักษณะที่เคยทำมาในอดีต

ความสัมพันธ์ทางสังคมทุกมิติในปัจจุบันจึงก่อให้ความเจ็บปวดทวีมากขึ้นในความรู้สึกของแต่ละคน

เราต่างถูกโบยตีด้วยแส้ของความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

นักคิดนักเขียนฝรั่งคนหนึ่งเรียกยุคสมัยนี้ว่า  ยุคแห่งความอิจฉา ( The Age of Envy ) เพราะความอิจฉาได้บานสะพรั่งในหัวใจของผู้คน  ความอิจฉาเป็นความรู้สึกของผู้คนที่ตระหนักรู้ได้ว่าความดี/สิ่งที่ดี/คนดีคืออะไร แต่ตนเองกลับไปไม่ถึงหรือไม่พยายามที่จะไปให้ถึง   กระบวนรู้สึกที่ขัดแย้งกันนี้จึงก่อให้เกิดความรู้สึกอิจฉา(hatred of the good for being the good )

หลุมพรางของการปกปิดเนื้อแท้ของความรู้สึกอิจฉาเพื่อทำให้ตนเองหลับตาและไม่พยายามมองเห็นความดีที่ตนเองอิจฉา   เพราะหากยอมรับว่าเป็นคุณค่าความดีที่ตนไปไม่ถึงก็จะยิ่งทำร้ายตัวตนตนเองมากขึ้น     การสร้างหลุมพรางเพื่อหลบซ่อนนี้จึงกลายเป็นการปลุกเร้าให้ความอิจฉาเบี่ยงเบนออกไปเพราะไม่สามารถยอมรับได้ว่าที่ตนรู้สึกอิจฉาก็เพราะตนทำไม่ได้หรือไม่ได้พยายามทำ    

หลุมพรางนี้ ก็คือ การหาเหตุป้ายสีให้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้นแปดเปลื้อน เพื่อตนเองจะรู้สึกแย่น้อยลงที่ทำไม่ได้หรือไม่พยายามทำ  แต่ลึกลงไปก็รู้อยู่เต็มหัวใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำ

โดยเนื้อแท้แล้ว  แม้ว่าความอิจฉาจะเป็นบาปหนึ่งในหลักศาสนา  แต่ความรู้สึกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมาในโลก เพราะผู้คนจำนวนหนึ่งเอาจริงเอาจังกับความรู้สึก “อิจฉา” และผันแปรไปสู่ความพยายามที่มากขึ้นเพื่อที่จะเข้าไปถึง/บรรลุสิ่งดีๆที่มองเห็น

ความอิจฉาเป็นบาปก็ต่อเมื่อเรายอมตกอยู่ในหลุมพรางของความไม่พยายามก้าวไปสู่สิ่งดีๆที่ตระหนักอยู่ในใจ แต่กลับปลุกเร้าความอิจฉานั้นให้แรงกล้ามากขึ้นจนมองเห็นสิ่งดีที่คนอื่นทำนั้นเป็นสิ่งเลวร้ายและปรารถนาให้สูญสลายไปหมด ( “They do not want to own your fortune, they want you to lose it; they do not want to succeed, they want you to fail; they do not want to live, they want you to die; they desire nothing, they hate existence ..." ) (Atlas Shrugged.)

โดยธรรมชาติของมนุษย์ในสังคม  เราไม่สามารถที่จะกำจัดความรู้สึกอิจฉาได้ทั้งหมด    หากแต่ระบบของสังคมจะมีพลังที่จะแปรเปลี่ยนด้านมืดของความอิจฉาให้กลายมาเป็นพลังความมุ่งมั่นของคน  ด้วยการเปิดให้มีพื้นที่สำหรับผู้แพ้ที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว     รางวัลที่มอบให้แก่ชีวิตที่อุทิศให้แก่ความพยายามแม้ว่าไปไม่ถึงเป็นเรื่องความจำเป็นจะสังคมจะต้องสร้างจะต้องมี  แม้ว่าขีดจำกัดของคนจำนวนหนึ่งจะทำให้ไปเขาไม่ถึงฝั่งฝันก็ตาม

การเล่นกับตัวตนในเฟซบุ๊กเป็นการกลบเกลื่อนความอิจฉาอย่างโจ้งแจ้งด้วยการเลือกการแสดงภาพตัวตนไปในทางที่ตนเองรู้ว่าเป็นส่วนที่ตนเองไม่สามารถจะบรรลุได้ไม่ว่าด้วยการขาดศักยภาพหรือขาดความมุมานะพยายาม ความรู้สึกอิจฉาจึงถูกซ่อนเร้นไว้ในตัวตนที่เลือกแสดงออกในสื่อทางสังคม

การเล่นกับตัวตนในพื้นที่เฟซบุ๊กเป็นเพียงการลดทอนความเจ็บปวดของตนลงชั่วคราว เป็นเสมือนกับการเล่นกับเงาของเด็กในยามค่ำคืนที่ให้ความสนุกเพริดเพลินเพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะอย่างไรชีวิตจริงของผู้คนก็ต้องอยู่กับแสงสว่างกระจ่างจนเล่นกับเงาไม่ได้ตลอดเวลา

การหล่อเลี้ยง “ ตัวตน” ด้วยการ “ หลอก”ตัวเองอย่างที่กำลังขยายตัวอยู่ในสังคมไทยวันนี้ เป็นกลไกทางจิตวิทยารวมหมู่ของผู้ที่เปราะบางต่ออารมณ์ที่ไม่สามารถจะสร้างความตั้งใจพยายามบากบั้นเอาชนะอุปสรรค    การหลบหนีจากการโบยตีของแส้แห่งยุคสมัยอาจจะผ่อนคลายได้ในบางช่วงเวลา  แต่เราก็ย่อมก้าวเข้าไปสู่แสงสว่างที่ไม่อาจะเล่นเงาได้ตลอดเวลา

เราผ่อนคลายกันเพียงพอแล้วกระมัง ก้าวออกมาเถิด และร่วมกันสร้างสังคมที่พร้อมจะให้รางวัลแก่ชีวิตที่มานะพยายามแม้ว่าไม่บรรลุเป้าหมายกันดีกว่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท