ชวนอ่านผลศึกษา "การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของไทย"

2556 ประเทศไทยเริ่มทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลและทยอยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทสาธารณะ ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปีเป็นต้นมา และจะเริ่มประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจในช่วงปลายปีนี้ ตามแผนแม่บทของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ก่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอล ในปี 2557 "ประชาไท" ชวนอ่านผลการศึกษา  "การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทย" จัดทำโดย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่องค์กรกำกับดูแลมีต่อวิทยุชุมชน ประสบการณ์จากต่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและผู้รับบริการ เพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อยุคดิจิตอล

 

00000

รายงานการศึกษา
การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทย

โดย
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.)

ผู้เรียบเรียง:
สาโรจน์ แววมณี

สนับสนุนโดย
มูลนิธิ ไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Boll Stiftung)
สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สิงหาคม 2556

 

คำนำ

ประเทศไทยกำลังวางแผนการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงในระบบดิจิตอล โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้วางแผนแม่บท นโยบาย และแผนงานในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งได้มีการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลและให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทสาธารณะในช่วงกลางปี พ.ศ. 2556 และจะเริ่มประมูลเพื่อให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจในช่วงปลายปี พ.ศ.2556 สำหรับการกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอล กสทช. ได้วางแผนไว้ว่าจะเริ่มในช่วงปี พ.ศ. 2557

สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงในระบบดิจิตอลดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อแนวการดำเนินงานของวิทยุชุมชน ดังนั้น สวชช. จึงได้ศึกษาการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของต่างประเทศ โดยเน้นศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานที่องค์กรกำกับดูแลมีต่อวิทยุชุมชน รวมทั้งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและผู้รับบริการ ทั้งนี้ก็เพื่อเผยแพร่งานศึกษาในครั้งนี้ต่อสมาชิก สวชช. และผู้ที่สนใจ อันจะนำไปสู่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าวิทยุชุมชนจะอยู่ตรงส่วนไหนของภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) ยุคดิจิตอล

สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติขอขอบคุณ มูลนิธิ ไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Boll Stiftung) สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้การสนับสนุนการศึกษาในครั้งนี้

สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
2556

 

เกริ่นนำ

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้วางแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลของประเทศไทยไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559) ซึ่งกำหนดให้มีการเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภายใน 4 ปี และกำหนดให้มีนโยบายและจัดทำแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลภายใน 1 ปี ตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ

นอกจากนี้ รายงานการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล (พ.ศ. 2555) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เสนอว่าจะมีการปรับเปลี่ยน “โครงสร้าง” ของกิจการโทรทัศน์ ที่คาดหวังให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมและออกแบบให้การเปลี่ยนผ่านนี้ส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการให้น้อยที่สุด (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์, www.nbtc.go.th)

แต่การประเมินผลนี้ยังขาดมุมมองด้าน “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล” (Digital Divide) ที่จำเป็นต้องนำตัวแปรด้านเพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ อายุ และระดับการศึกษา มาร่วมประเมินด้วย ดังนั้น การวางนโยบายและจัดทำแผนที่มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกกลุ่มในสังคมจึงไม่บรรลุผล เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ที่แยกย่อยไปตามตัวแปรดังกล่าวข้างต้นได้รับผลกระทบในการเปลี่ยนผ่านนี้แตกต่างกัน เพราะว่ามีความสามารถในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีนี้แตกต่างกัน และที่สำคัญก็คือการให้คุณค่าต่อเทคโนโลยีนี้แตกต่างกัน (Sophia Huyer and Tatjana Sikoska, 2003: 11)

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ ความเหลื่อมล้ำระดับแรก หมายถึง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ และความเหลื่อมล้ำระดับที่สอง หมายถึง ความเหลื่อมล้ำด้านปริมาณและความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีนี้ (Ana Gargallo-Castel, Luisa Esteban-Salvador, Javier Pe’rez-Sanz; 2010: 2-3) สำหรับประเทศไทย ผู้ให้บริการและผู้รับบริการกิจการกระจายเสียง ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ที่เป็นการบริการชุมชน มีความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลทั้งสองระดับ มากกว่าผู้ให้บริการและผู้รับบริการกิจการกระจายเสียงที่เป็นการบริการสาธารณะและธุรกิจ เนื่องจากส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า และส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในเขตชนบท ทำให้โอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิตอลหรือเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICTs) ยังเป็น “พื้นที่ทางการเมืองที่มีการแข่งขันกัน” เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการเสริมอำนาจให้กับประเทศและกลุ่มคนชายขอบด้วย (Joyce Jacobsen, 2011: 3) แต่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลหรือโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลของกลุ่มคนชายขอบที่น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มี “พื้นที่ทางการเมือง” น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม

บทความชิ้นนี้มุ่งหมายที่จะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และข้อเสนอต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ให้บริการและผู้รับบริการกิจการกระจายเสียงที่เป็นการบริการชุมชนสามารถปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงในระบบดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยภายในทศวรรษนี้

 

การกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อกกับระบบดิจิตอล

ในยุคเริ่มแรกของการกระจายเสียงวิทยุใช้การรับ-ส่งสัญญาณระบบอนาล็อก ที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ วิทยุเอเอ็ม วิทยุเอฟเอ็ม และวิทยุคลื่นสั้น แต่การส่งสัญญาณวิทยุอนาล็อกใช้ความกว้างแถบคลื่น (Band Width) มาก เมื่อมีความต้องการใช้คลื่นความถี่มากขึ้นหรือมีการก่อตั้งสถานีวิทยุมากขึ้น ก็ก่อให้เกิดปัญหาคลื่นรบกวนกันระหว่างสถานีวิทยุ ทำให้ในช่วงทศวรรษ 2520 ได้มีการพัฒนาการรับส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่งใช้ความกว้างแถบคลื่นน้อยกว่า และมีการบีบอัดสัญญาณ ทำให้การรับสัญญาณมีความคมชัดมากขึ้น และสถานีวิทยุสามารถส่งข้อมูลอื่นๆ พร้อมสัญญาณเสียงไปยังผู้ฟังได้

ความแตกต่างระหว่างสัญญาณอนาล็อกและสัญญาณดิจิตอลขั้นพื้นฐาน คือ สัญญาณอนาล็อก (Analog Signal) เป็นสัญญาณข้อมูลแบบต่อเนื่อง (Continuous Data) สัญญาณมีขนาดของไม่คงที่และมีลักษณะเป็นเส้นโค้งต่อเนื่องกัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างเช่น สัญญาณเสียงในสายโทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนสัญญาณดิจิตอล (Digital Signal) เป็นสัญญาณข้อมูลแบบไม่ต่อเนื่อง (Discrete Data) สัญญาณมีขนาดแน่นอนและมีระดับสัญญาณเพียง 2 ค่า คือ สัญญาณระดับสูงสุดและสัญญาณระดับต่ำสุด ระบบดิจิตอลโดยทั่วไปใช้สัญญาณระบบเลขฐานสอง (Binary) อย่างเช่น สัญญาณที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการทำงานและติดต่อสื่อสารกัน เป็นต้น (www.laongdao.blogspot.com และ www.iteiei.blogspot.com) (ดูภาพประกอบข้างล่าง)

ก) การกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็ม (Amplitude Modulation: AM)

การกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็ม คือ การส่งสัญญาณที่เกิดจากการผสมคลื่นเสียงเข้ากับคลื่นพาห์ ซึ่งสัญญาณเสียงจะบังคับให้ช่วงกว้างของคลื่นพาห์เปลี่ยนแปลงไปโดยที่คลื่นพาห์ยังมีความถี่เท่าเดิม ช่วงความถี่ของการกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็มนี้จะอยู่ในช่วงความถี่ 530 - 1600 kHz

หลักการทำงานของเครื่องส่งวิทยุระบบเอเอ็ม คือ เครื่องส่งจะเป็นตัวส่งสัญญาณเสียงผ่านสายอากาศ โดยเสียงพูด เสียงดนตรี หรือที่เรียกว่า “คลื่นความถี่เสียง” จะถูกส่งเข้าไปรวมกับสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งเรียกว่า การผสมสัญญาณ (Modulation)

สาเหตุที่ต้องเอาคลื่นที่มีความถี่สูงมาผสมสัญญาณเข้าไป เพราะคลื่นความถี่สูงนี้จะเป็นพาหะ (Carrier) ที่จะนำพาคลื่นความถี่ต่ำไปได้ไกลขึ้น

ข) การกระจายเสียงวิทยุระบบเอฟเอ็ม (Frequency Modulation: FM)

การกระจายเสียงวิทยุระบบเอฟเอ็มจะคล้ายๆ กับการกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็ม กล่าวคือการกระจายเสียงวิทยุระบบเอฟเอ็มจะส่งสัญญาณเสียงไปกับคลื่นพาห์ แต่จะต่างกันตรงที่ระบบเอฟเอ็มจะผสมสัญญาณเสียงกับคลื่นพาห์ โดยให้ความถี่ของคลื่นพาห์เปลี่ยนแปลงตามสัญญาณเสียงโดยที่ช่วงกว้างของคลื่นไม่เปลี่ยนแปลง การกระจายเสียงวิทยุระบบเอฟเอ็มจะใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านความถี่สูงมาก ( Very High Frequency : VHF ) อยู่ในย่านความถี่ประมาณ 87.5 - 108 MHz

หลักการทำงานของเครื่องส่งวิทยุระบบเอฟเอ็ม คือ สัญญาณเสียงจากไมโครโฟนหรือแหล่งเสียงอื่นๆ จะถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าเข้าสู่ภาคขยายกำลังของสัญญาณเสียง (Audio Amplifier) และส่งต่อไปยังภาคการผสมสัญญาณ (Modulation) โดยสัญญาณที่จะนำมาผสมด้วยนั้น คือ สัญญาณจากอุปกรณ์ก่อกระแสไฟฟ้าสลับ (Oscillator) ซึ่งจะผลิตความถี่ได้ในช่วงความถี่ 87.5 -108 MHz โดยจะต้องมีการเลือกสร้างคลื่นที่ความถี่ใดความถี่หนึ่งในช่วงความถี่ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นคลื่นนำพา หลักการผสมสัญญาณของวิทยุเอฟเอ็ม คือ ช่วงกว้างของคลื่นนำพาจะคงที่ และจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะความถี่เท่านั้น สัญญาณที่ได้จากการผสมสัญญาณ เรียกว่าสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุ (RF) จะถูกนำไปขยายสัญญาณความถี่วิทยุให้แรงขึ้น เพื่อที่จะให้เพียงพอต่อการส่งสัญญาณไปในอากาศ จากนั้นจึงส่งออกไปทางเสาอากาศ

กล่าวโดยสรุป การกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็มและระบบเอฟเอ็ม เป็นการนำเอาสัญญาณเสียงจากแหล่งต่างๆ ในห้องส่งกระจายเสียง เช่น ไมโครโฟน เทปคาสเสท แผ่นเสียง หรือแผ่นซีดี เป็นต้น มารวมกับคลื่นวิทยุหรือสัญญาณวิทยุในอุปกรณ์เครื่องส่ง เพื่อให้คลื่นวิทยุเป็นตัวนำพาไปออกอากาศแพร่ไปยังเครื่องรับ โดยการกระจายเสียงระบบเอเอ็มเป็นการผสมคลื่นเสียงกับคลื่นวิทยุตามความกว้างของคลื่นส่วนระบบเอฟเอ็มเป็นการผสมคลื่นเสียงกับคลื่นวิทยุตามความถี่ของคลื่น การผสมสัญญาณเสียงกับสัญญาณวิทยุแบบนี้เป็นสัญญาณแบบอนาล็อก (Analog) หมายถึงการส่งสัญญาณเสียงและสัญญาณวิทยุออกมาในรูปคลื่นซายน์ (Sine Wave) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคลื่นน้ำ มีความต่อเนื่องกัน แต่มีขนาดของสัญญาณไม่คงที่ การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และแปรผันตามเวลา

การส่งสัญญาณแบบอนาล็อก อย่างเช่น การกระจายเสียงวิทยุระบบเอเอ็ม แม้จะให้เสียงตรงตามต้นเสียงเดิมแต่การส่งสัญญาณแบบอนาล็อกอาจถูกรบกวนจากบรรยากาศและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ จนทำให้สัญญาณเกิดการผิดเพี้ยนได้ ส่วนการกระจายเสียงวิทยุระบบเอฟเอ็มนั้น ถึงแม้จะมีคุณภาพของเสียงดี และมีความเพี้ยนของสัญญาณน้อยกว่าระบบเอเอ็ม แต่ใช้แถบความถี่ในการส่งสัญญาณกว้างมาก จึงได้มีการพัฒนาระบบการส่งสัญญาณที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม นั่นก็คือ การส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล

ค) การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอล

การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอล คือ การนำเอาคลื่นสัญญาณอนาล็อกที่มีลักษณะเป็นคลื่นซายน์ (sine wave) มาแปลงเป็นคลื่นสี่เหลี่ยม (Square Wave) ในรูปของตัวเลขฐานสอง (Binary Digits) โดยกำหนดให้มีค่าเป็น 0 ขณะไม่มีสัญญาณ และมีค่าเป็น 1 ขณะมีสัญญาณ สัญญาณดิจิตอลจึงไม่ต่อเนื่องกัน ขนาดของสัญญาณจะมีค่าคงที่อยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงเปลี่ยนค่าไป สัญญาณดิจิตอลที่เปลี่ยนไปนั้นจะมีลักษณะเป็นการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าแบบเปิด/ปิด อัตราการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าเพื่อส่งข้อมูลรูปรหัสตัวเลขฐานสองนี้เรียกว่า “บิท เรท” (Bit Rate)

การส่งสัญญาณระบบดิจิตอลนั้นมีคุณสมบัติที่ดี คือ ความคมชัดของเสียง ปราศจากการรบกวน และสามารถส่งได้หลายรายการในแถบความถี่เดียวกัน ในการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอล สถานีวิทยุต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆ จากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ส่วนด้านเครื่องรับก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลด้วยเช่นเดียวกัน (www.hq.prd.go.th)

การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลได้รับการพัฒนาในช่วงทศวรรษ 2520 และในทศวรรษต่อมาก็ได้มีการเริ่มทดลองกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอล ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้มีการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลคู่ขนานไปกับการกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อก โดยการส่งสัญญาณดิจิตอลสามารถส่งข้อมูลไปยังเครื่องรับวิทยุ เช่น ชื่อสถานี ความถี่ ชื่อรายการ ชื่อเพลง และชื่อนักร้อง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นได้อีก อย่างเช่น การส่งสัญญาณเตือนภัยพิบัติ โดยระบบเตือนภัยจะทำการควบคุมด้วยการตัดรายการวิทยุเข้าสู่รายการเตือนภัย อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ดังนี้ คือ

1) DRM (Digital Radio Mondiate, Eureka 147) กลุ่มประเทศยุโรปออกแบบมาใช้กับการกระจายเสียงที่จะทดแทนการกระจายเสียงแบบอนาล็อกของวิทยุเอเอ็ม (AM) และวิทยุคลื่นสั้น (SW) โดยการนำคลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่เดิมมาเปลี่ยนระบบการกระจายเสียงให้เป็นระบบดิจิตอล ดังนั้นหากต้องกระจายเสียงวิทยุในระบบ DRM ก็ต้องยุติการกระจายเสียงวิทยุเอเอ็มในระบบอนาล็อก ต่อมามีการพัฒนาระบบนี้ เรียกว่า ‘DRM+’ ส่งสัญญาณในย่านความถี่ 30 MHz ถึงย่าน VHF Band III (www.drm.org)

2) DAB (Digital Audio Broadcasting) กลุ่มประเทศยุโรปออกแบบมาใช้ทดแทนการกระจายเสียงวิทยุเอฟเอ็มระบบอนาล็อก โดย DAB จะส่งสัญญาณในย่านความถี่ VHF Band III (ช่วงความถี่ 174-240 MHz) ถ้าต้องการกระจายเสียงวิทยุระบบ DAB การส่งสัญญาณโทรทัศน์ต้องเปลี่ยนการใช้ย่านความถี่จากย่านความถี่ VHF Band III ไปเป็นย่านความถี่ UHF นอกจากนี้การกระจายเสียงวิทยุระบบ DAB มีการพัฒนาเป็นระบบ DAB+ ในปี พ.ศ. 2550

3) HD Radio (High Definition Audio) หรือ IBOC (In Band on Channel) พัฒนาระบบโดยบริษัท iBiquity Digital ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวคิดที่จะกระจายเสียงระบบดิจิตอลไปพร้อมกับการกระจายเสียงวิทยุเอเอ็มและเอฟเอ็มในระบบอนาล็อก ด้วยการใช้ความถี่เดียวกัน (วีระศักดิ์ เชิงเชาว์, www.hq.prd.go.th)

ระบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล โดยเฉพาะระบบ DAB นั้น สัญญาณที่จะให้บริการแต่ละบริการจะถูกเข้ารหัสแยกกันต่างหาก เช่น บริการเสียง บริการข้อมูลต่างๆ เป็นต้น และในอุปกรณ์เข้ารหัสช่องสัญญาณ (Channel Coder) จะมีการเพิ่มจำนวนบิต ที่เรียกว่า รหัสตรวจสอบ เข้าไปในชุดข้อมูลเพื่อแก้ไขข้อมูลบิตที่ผิดพลาดที่เครื่องรับปลายทาง (Forward Error Correction) และสลับบิตข้อมูลด้านแกนเวลาและทางด้านความถี่ของสัญญาณ (Frequency and Time Interleaving) เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้อมูล หากมีสัญญาณรบกวนเกิดขึ้นบนช่องสัญญาณ หลังจากนั้นสัญญาณการให้บริการด้านต่างๆ จะถูกรวมสัญญาณในอุปกรณ์รวมช่องสัญญาณการบริการหลัก (Main Service Channel Multiplexer) ผลลัพธ์ที่ได้ประกอบด้วยสัญญาณข้อมูลการให้บริการหลายสัญญาณ ซึ่งจะเดินทางเข้าสู่อุปกรณ์รวมสัญญาณเพื่อการถ่ายโอนข้อมูล (Transmission Multiplexer) หลังจากนั้นก็จะมีการผสมสัญญาณเพื่อสร้างคลื่นพาหนะย่อยด้วยกระบวนการ OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplex) กลายเป็นสัญญาณ DAB และสัญญาณนี้จะถูกถ่ายโอนไปยังช่วงความถี่วิทยุที่เหมาะสม แล้วมีการขยายกำลังของสัญญาณและส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับวิทยุ (www.lrr.in.tum.de) (ดูแผนผังข้างล่างประกอบ)

ในปี พ.ศ. 2547 - 2548 กรมประชาสัมพันธ์ทดลองการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DRM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเปรียบเทียบกับการส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอเอ็มแบบเดิม ผลปรากฏว่าคุณภาพเสียงของ DRM ที่รับได้จากเครื่องส่งวิทยุมีคุณภาพเทียบเท่ากับเครื่องเล่นซีดี มีความชัดเจนสูง และไม่มีเสียงรบกวน

แผนผังการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล DAB

ในปี พ.ศ. 2549 – 2550 สำนักส่งเสริมและพัฒนางานเทคนิค กรมประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการทดสอบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ HD Radio แต่ปรากฏว่ามีปัญหาในการใช้คลื่นความถี่ที่จะใช้ในการทดลอง เนื่องจาก พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ (กสช.) มีหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์และการกำหนดมาตรฐานและลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ยังจัดตั้งไม่สำเร็จ ทำให้การพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ไม่สามารถดำเนินการได้ (www.tv11.thaibell.com)

ต่อมา กสทช. ทดลองกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB+ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556 เพื่อทดสอบเทคนิค อุปกรณ์ และขอบเขตการให้บริการที่เหมาะสม ผลการทดสอบดังกล่าวข้างต้นจะนำไปใช้ในการวางแผนการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิตอลในอนาคต โดย กสทช. วางแผนการเปิดประมูลการให้บริการวิทยุดิจิตอลในปี พ.ศ. 2557 หรือหลังจากประมูลโทรทัศน์ดิจิตอลไปแล้ว 1 ปี นอกจากนี้ จะไม่มีการยุติการกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อกทั้งหมดเหมือนกิจการโทรทัศน์ และอาจจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางส่วนกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อกได้ต่อไป ขณะเดียวกัน กสทช.กำลังพิจารณาให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลหรือให้ใบอนุญาตออกอากาศในระยะเริ่มต้นเพื่อสร้างแรงจูงใจ (www.m.posttoday.comwww.pchanneltv.comwww.thanonline.com)

 

ประสบการณ์ต่างประเทศ

การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มต้นมากว่าทศวรรษแล้ว แต่ละประเทศมีแนวทางในการดำเนินการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ เงื่อนไขทางเทคโนโลยี ทักษะความรู้ของบุคคลากร ฐานเศรษฐกิจของผู้รับฟังวิทยุ รวมไปถึงเป้าหมายและนโยบายของประเทศ ว่าจะพัฒนาด้านการสื่อสารของประเทศไปในทิศทางใด อย่างไรก็ตาม การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลนี้ ต้องสัมพันธ์และพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยง อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าว ยังจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การเริ่มต้นเปลี่ยนระบบกระจายเสียงไปสู่ระบบดิจิตอลของประเทศไทยนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและไตร่ตรองประสบการณ์จากประเทศที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เพื่อให้การกระจายเสียงในระบบดิจิตอลนี้ เป็นกลไกหลักในการพัฒนากิจการกระจายเสียง พัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย

การส่งเสริมและสนับสนุนวิทยุชุมชนให้กระจายเสียงระบบดิจิตอล ในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นต้นแบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลของประเทศไทย (นที ศุกลรัตน์, http://www.nbtc.go.th/) นั้น รัฐบาลประเทศออสเตรเลียกำหนดนโยบาย และให้สัญญาว่าจะให้ทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลแก่วิทยุชุมชนปีละ 3.6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี (ค.ศ. 2009 - 2012) เพื่อเปลี่ยนผ่านการกระจายเสียงไปสู่ระบบดิจิตอล แม้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลอนุมัติงบให้เพียงปีละ 2.2 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยในระยะเริ่มแรก องค์กรกำกับดูแลของออสเตรเลียอนุญาตให้วิทยุชุมชนกระจายเสียงระบบดิจิตอลในเขตเมืองหลวงของแต่ละรัฐก่อน ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 37 สถานีเท่านั้น

แผนการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของออสเตรเลียนั้น เริ่มกระจายเสียงในเขตเมืองหลวงของแต่ละรัฐ โดยปัจจุบันกำลังพิจารณาความเหมาะสมทางเทคโนโลยีการกระจายเสียงระบบดิจิตอลสำหรับพื้นที่นอกเขตเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลในเขตพื้นที่นอกเมืองหลวงนั้น ต้องรอให้ยุติการรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อกก่อน (www.acma.gov.au) ซึ่งยังไม่ทราบเวลาที่ชัดเจน

การยุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อก ITU ไม่มีนโยบายที่จะเปลี่ยนการกระจายเสียงวิทยุจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด และแม้ว่าหลายประเทศจะประกาศช่วงเวลาในการยุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อกที่แน่นอน แต่ในทางปฏิบัติก็มีความจำเป็นต้องใช้เงื่อนไขอื่นๆ ประกอบเหตุผลก่อนยุติด้วย เช่น 

1) จำนวนผู้ฟังระบบดิจิตอล : ในสหราชอาณาจักรกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องมีผู้ฟังการกระจายเสียงระบบดิจิตอลจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 จึงจะยุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อก (www.telegraph.co.uk) เช่นเดียวกับในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งกำหนดว่าเมื่อมีผู้ฟังวิทยุระบบดิจิตอลมากกว่าร้อยละ 50 ถึงจะยุติการกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อก (Marko Ala-Fossi, 2008: 6) สำหรับประเด็นนี้ มีข้อโต้เถียงกันว่า การยุติระบบอนาล็อกนั้น ไม่ควรใช้เกณฑ์ผู้ฟังระบบดิจิตอลเท่านั้น แต่ควรจะพิจารณาว่ามีผู้ฟังระบบอนาล็อกน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 มากกว่า เป็นต้น และ

2) พื้นที่กระจายเสียงระบบดิจิตอล : นอกจากประเด็นจำนวนผู้รับฟังระบบดิจิตอลแล้ว สหราชอาณาจักรยังประเมินเงื่อนไขที่จะยุติระบบอนาล็อกจากด้านผู้ประกอบการด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องขยายพื้นที่ให้บริการระบบดิจิตอลได้ครอบคลุมประชากรร้อยละ 90 จึงจะยุติระบบอนาล็อก

นอกจากนี้ แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะประกาศให้ยุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อกสำหรับการกระจายเสียงวิทยุระดับชาติ แต่วิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่นขนาดเล็กก็ยังกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ต่อไป (www.rogerdarlington.me.uk) สำหรับประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก ก็ได้กำหนดให้การกระจายเสียงวิทยุที่เป็นบริการสาธารณะและธุรกิจเป็นการกระจายเสียงระบบดิจิตอล ส่วนสถานีวิทยุขนาดเล็กก็ยังคงกระจายเสียงระบบอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ต่อไปเช่นเดียวกัน (www.access.cmfe.eu)

ค่าใช้จ่ายในการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอล ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญการกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลในกลุ่มประเทศยุโรป ระบุว่าเครื่องส่งกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลทั้งระบบ DAB, DAB+, และ DMB นั้นแพง ไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ และไม่เหมาะสมกับสถานีวิทยุชุมชนและวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นระบบที่ออกแบบสำหรับการกระจายเสียงขนาดใหญ่เท่านั้น อย่างเช่น การบริการธุรกิจและสาธารณะระดับชาติ (Marko Ala-Fossi, 2008: 8)

นอกจากนี้ แม้ว่าการส่งสัญญาณระบบดิจิตอลจะใช้พลังงานน้อยกว่าการส่งสัญญาณระบบอนาล็อก แต่เครื่องรับสัญญาณดิจิตอลใช้พลังงานมากกว่าเครื่องรับสัญญาณอนาล็อก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารับสัญญาณดิจิตอลผ่านโทรศัพท์มือถือจะใช้พลังงานถึง 8 - 9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการรับสัญญาณระบบอนาล็อก

หากต้องการส่งสัญญาณดิจิตอลให้ครอบคลุมพื้นที่เดิมของการส่งสัญญาณอนาล็อกขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องมีสถานีทวนสัญญาณมากขึ้น ถ้าต้องการให้เครื่องรับสัญญาณสามารถใช้รับสัญญาณภายในบ้านได้ และถ้าเปรียบเทียบประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานแล้ว เครื่องส่งสัญญาณเอฟเอ็มที่ออกแบบใหม่มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องส่งสัญญาณดิจิตอล DAB เนื่องจากเครื่องส่งอนาล็อกแบบใหม่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับเครื่องส่งแบบเดิม (www.access.cmfe.eu)

การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลระบบ IBOC ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คลื่นดิจิตอลจะรบกวนสถานีวิทยุกระจายเสียงระบบอนาล็อกขนาดเล็ก และรบกวนคลื่นใกล้เคียง นอกจากนี้ เครื่องส่งเอ.เอ็ม. ระบบ IBOC ไม่เสถียรในเวลากลางคืน ทำให้ไม่สามารถรับฟังได้ และ IBOC เป็นเทคโนโลยีที่มีลิขสิทธิ์ ผู้ให้บริการนอกจากจะต้องซื้อเครื่องส่งใหม่แล้ว ยังต้องเสียค่าอนุญาตรายปีอีกด้วย (ประมาณ 10,000 - 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ทำให้สถานีวิทยุระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ทั้งวิทยุธุรกิจและวิทยุชุมชน ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าอนุญาตนี้ได้ (Gustova Gomez Germano, www.derechos.apc.org)

การเลือกระบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล ประเทศบราซิลกำลังพิจารณาระบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลว่าจะเลือกระบบ HD Radio หรือ DRM+ ทำให้ Community Media Forum Europe (CMFE) และ The World Association of Community Radio Broadcasters (AMARC) เขียนจดหมายไปยังกระทรวงการสื่อสารของประเทศบราซิล เนื่องจากเห็นว่าประเทศบราซิลมีวิทยุชุมชนมากกว่า 4,000 สถานี และการตัดสินใจเลือกระบบสำหรับการกระจายเสียงวิทยุขนาดเล็ก จึงมีความสำคัญและจะส่งผลต่อการประกอบการวิทยุชุมชนได้  ดังนั้น CMFE และ AMARC เสนอให้ประเทศบราซิลเลือกระบบ DRM+ เพราะว่าวิทยุชุมชนดำเนินการโดยมีเครื่องส่งกระจายเสียงของตนเอง และมีความเป็นไปได้ที่วิทยุชุมชนจะสร้างเครื่องส่งที่มีราคาถูกได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะระบบ DRM และ DAB เป็นระบบเปิด ที่ทุกคนสามารถพัฒนาการประยุกต์ใช้ใหม่ๆ ได้เอง ในขณะที่ HD Radio เป็นระบบปิด ที่ผู้ใช้ต้องเสียค่าอนุญาตรายปี เป็นต้น (www.cmfe.eu)

การส่งสัญญาณวิทยุระบบดิจิตอล องค์กรกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรเชื่อว่าลักษณะภูมิประเทศของสกอตแลนด์และเวลส์ ทำให้การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB มีความยากลำบากและค่าใช้จ่ายสูง เพราะระบบ DAB ไม่สามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมประชากรที่รับสัญญาณเอฟเอ็มเดิม โดยเฉพาะเครื่องรับวิทยุที่อยู่ภายในบ้านจะรับสัญญาณ DAB ได้ยาก ทำให้ต้องมีการตั้งสถานีทวนสัญญาณมากกว่าสถานีวิทยุที่ใช้ระบบอนาล็อค (www.digitalradioinsider.blogspot.com)

ข้อควรคำนึงในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล The Latin American and Caribbean Office of the world Association of Community Radio Broadcasters (AMARC-ALC) และ The Latin American Association for Radio Education เสนอว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลควรคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • วิทยุระบบดิจิตอลก่อให้เกิดระบบการกระจายเสียงที่มีลักษณะประชาธิปไตยและก่อให้เกิดความหลากหลาย
  • การกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคจะต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถนำไปใช้ได้
  • มาตรฐานแบบ “เปิด” เป็นหนทางเดียวที่จะก่อให้เกิดความอิสระทางด้านเทคนิค
  • จะต้องไม่มีการยุติการกระจายเสียงวิทยุระบบอนาล็อกจนกว่าวิทยุชุมชนและวิทยุอิสระจะสามารถซื้อหาเครื่องส่งมาใช้ได้และไม่มีปัญหาในการใช้เครื่องส่งแบบดิจิตอล และจนกว่าทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้าถึงเครื่องรับแบบดิจิตอลได้ (www.cominica.org)

 

ผลกระทบในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบดิจิตอล

นอกจากประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอลในต่างประเทศดังกล่าวแล้ว ผลกระทบจากการกระจายเสียงระบบดิจิตอลในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรคำนึงถึง และใช้เป็นข้อพึงระวังในการออกแบบขั้นตอนและกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบกระจายเสียงจากอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ไปสู่ระบบดิจิตอล DAB+ ในอนาคตอันใกล้นี้

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมีการพัฒนาที่รวดเร็ว การกำหนดมาตรฐานเครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้อย่างสำคัญ ยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักร ใช้ระบบ DAB เป็นมาตรฐานในการรับส่งสัญญาณวิทยุดิจิตอล ต่อมามีการพัฒนาระบบนี้เป็น DAB+ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้ต้องกำหนดมาตรฐานใหม่ กล่าวคือ ให้มีการรับส่งสัญญาณทั้ง DAB คู่ขนานไปกับ DAB+ สำหรับประเทศไทยเริ่มการกระจายเสียงระบบดิจิตอลช้ากว่าหลายประเทศ ทำให้มีการกำหนดมาตรฐานตามระบบดิจิตอลที่ได้รับการพัฒนาล่าสุด แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเทคโนโลยีนี้ก็ต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม คำถามมีอยู่ว่าประเทศไทย ซึ่งไม่ได้พัฒนาระบบนี้ด้วยตนเอง จะต้อง “นำเข้า” เทคโนโลยีแบบใหม่ล่าสุดเพื่อเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในการรับส่งสัญญาณดิจิตอลบ่อยครั้งแค่ไหน

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่ประเทศไทยต้อง “นำเข้า” เนื่องจากไม่สามารถผลิตขึ้นมาใช้เองได้ เทคโนโลยีที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่นี้ มักมีราคา “แพง” สำหรับผู้ให้บริการกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ที่เป็นการบริการสาธารณะและธุรกิจนั้น คงไม่มีปัญหาในการลงทุนในกิจการกระจายเสียงระบบดิจิตอล แต่ผู้ให้บริการกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นการบริการชุมชนคงประสบปัญหาใน “การลงทุน” เพื่อการกระจายเสียงระบบดิจิตอล เนื่องจากไม่มีรายได้จากการโฆษณา นอกจากนี้ ผู้รับบริการที่มีฐานะทางเศรษฐกิจก็คงไม่เดือดร้อนในการซื้อเครื่องรับสัญญาณที่เป็นระบบดิจิตอล แต่ผู้รับบริการที่มีฐานะยากจนคงไม่สามารถซื้อเครื่องรับสัญญาณที่เป็นระบบดิจิตอลได้

ผลกระทบด้านสังคม แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก (ประมาณร้อยละ 30) แต่ก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงและไม่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีนี้ การใช้เทคโนโลยีใหม่ของผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือมีอาชีพที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่นี้โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ หญิงชายผู้เป็นเกษตรกรในชนบท ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และคนพิการ จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ดังนั้น กสทช. ควรประชาสัมพันธ์ จัดทำคู่มือและการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ในกลุ่มคนยากจนหรือกลุ่มคนมีรายได้ต่ำไม่สามารถซื้อเครื่องรับวิทยุดิจิตอลได้ สิ่งนี้ก่อให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล” ระหว่างคนรวยกับคนยากจน เสริมเพิ่มเติมกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทและโทรทัศน์ดิจิตอลที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย  ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการ “จูงใจให้รีบเปลี่ยนเครื่องรับวิทยุ” ด้วยวิธีการ “แจกคูปอง” เช่นเดียวกับโทรทัศน์ดิจิตอล องค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. จำเป็นต้องเปิดเผยแผนความร่วมมือในการจัดการ “ขยะวิทยุอนาล็อก” ไม่ให้มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมด้วย

การกำกับดูแล ประเทศไทยแบ่งวิทยุออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ วิทยุธุรกิจ วิทยุสาธารณะ และวิทยุชุมชน สถานีวิทยุทั้ง 3 ประเภทมีจำนวนมากจนเกินกว่า กสทช. จะกำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง ข้อมูลจาก กสท. ระบุว่ามีสถานีวิทยุกว่า 7,000 สถานี ยื่นขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ และ กสทช. ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตฯ แล้วกว่า 2,000 สถานี การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอล อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนและกำกับดูแลทางด้านเทคนิคให้กับผู้ประกอบการวิทยุได้ดีกว่า แต่การกำกับดูแลทางด้านเนื้อหา ก็ยังเป็นประเด็นที่ กสทช. ควรให้ความสำคัญ ในแง่ที่ว่าทำอย่างไรที่จะสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองและการกำกับดูแลร่วมกันให้สามารถแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว การสร้างกลไกที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้อย่างทันท่วงที และการกระจายอำนาจการกำกับดูแลไปยังส่วนภูมิภาค/จังหวัดและองค์กรตัวแทนของวิทยุแต่ละประเภทก็น่าจะทำให้การกำกับดูแลแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

บทสรุป

ถ้าประเทศไทยเลือกระบบการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB+ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อก เนื่องจากการกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลระบบ DAB+ ใช้ย่านความถี่ VHF Band III (ช่วงความถี่ 174 - 240 MHz) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่โทรทัศน์อนาล็อกใช้อยู่ (ดูแผนผังข้างล่าง)

อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายและแผนงานของ กสทช. ที่จะเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลในต้นปี พ.ศ. 2557 สามารถทำได้โดยใช้ความถี่ที่เรียกว่า “คลื่นพาห์ย่อย” (Sub Carrier) หรือ “ย่านความถี่ป้องกันการรบกวนกันของคลื่น” (Guard Band) ของการส่งสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อก โดยในส่วนกลางจะเลือกใช้คลื่นความถี่ของช่อง 6, 8, และ 10 ส่วนในเขตจังหวัดที่ห่างไกลออกไปใช้คลื่นความถี่ของช่อง 5, 7, และ 9 [1]

นอกจากนี้ถ้า กสทช. เลือกใช้ห่วงโซ่ของการให้บริการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลหรือโครงสร้างการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลแบบเดียวกับห่วงโซ่ของการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลหรือการแยกโครงสร้างการประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้สถานีวิทยุกลายเป็น “ผู้ผลิตรายการวิทยุ” หรือ “เจ้าของช่องรายการวิทยุ” และการส่งสัญญาณก็จะต้องใช้บริการของผู้ให้บริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกแทน สำหรับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุระดับชาติ ทั้งประเภทบริการทางธุรกิจและสาธารณะคงจะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ แต่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุ ประเภทบริการชุมชน คงจะเกิดปัญหาขึ้นมากมายหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น สถานีวิทยุชุมชนที่ห่างไกลจะส่งรายการวิทยุของตนไปยังผู้ให้บริการโครงข่ายอย่างไร? วิทยุชุมชนจะมีความสามารถในการหารายได้เพื่อจ่ายค่าบริการให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่? และความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อการกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอลมีเพียงพอหรือไม่? ฯลฯ [2]

ในภาพรวมของกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทย โดยมี กสทช. เป็นองค์กรกำกับดูแล และมีการประกาศระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมามากมายนั้น มีคำถามที่ตามมาหลายคำถาม ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเท่านั้นหรือไม่ นอกจากนี้ กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อ (ความเป็นเจ้าของและเนื้อหาที่หลากหลาย) เพื่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นหรือไม่ หรือนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าทศวรรษที่ผ่านมา (รัฐและกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่กลุ่มเป็นเจ้าของ และเนื้อหาไม่หลากหลายเนื่องจากถูกกำหนดจากกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลุ่มเดิม) และความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอลระหว่างคนรวย (เข้าถึงและมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยี) กับคนจน (ไม่สามารถเข้าถึงและไม่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยี) จะยิ่งถ่างกว้างขึ้นไปอีกหรือไม่ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือคนรวยใช้ระบบดิจิตอล ส่วนคนจนใช้ระบบอนาล็อกต่อไปใช่หรือไม่

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลของประเทศไทยจะเป็นไปในลักษณะ “บังคับ” หรือ “สร้างแรงจูงใจ/สมัครใจ” กล่าวคือ ลักษณะบังคับนั้น เป็นการกำหนดให้การกระจายเสียงวิทยุทุกประเภทต้องเป็นการกระจายเสียงดิจิตอลทั้งหมดและกำหนดเวลายุติการกระจายเสียงระบบอนาล็อกโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนลักษณะสร้างแรงจูงใจ/สมัครใจ เป็นการกำหนดให้วิทยุที่มีความพร้อม อย่างเช่นวิทยุธุรกิจขนาดใหญ่และวิทยุสาธารณะ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลก่อน จากนั้นเมื่อเทคโนโลยีมีราคาถูกลง สัญญาณดิจิตอลครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 90 และผู้รับบริการเปลี่ยนเครื่องรับวิทยุเป็นระบบดิจิตอลมากกว่าร้อยละ 50 แล้ว กสทช. จึงจะมีมาตรการที่ทำให้วิทยุชุมชนและวิทยุธุรกิจขนาดเล็กสามารถกระจายเสียงวิทยุระบบดิจิตอลได้

 

ข้อเสนอแนะ

  • การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอล ควรให้สถานีวิทยุธุรกิจขนาดใหญ่และสถานีวิทยุบริการสาธารณะเริ่มกระจายเสียงในระบบดิจิตอลก่อน เพราะมีความสามารถในการเข้าถึง (ทุนและความรู้) เทคโนโลยีดิจิตอล นอกจากนี้ ถ้าใช้ประเทศออสเตรเลียเป็น “ต้นแบบ” ในการเปลี่ยนผ่าน ควรเริ่มกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลในเขตเมืองใหญ่ที่มีการใช้คลื่นความถี่ที่หนาแน่นก่อน เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เป็นต้น
  • วิทยุธุรกิจขนาดเล็ก (ท้องถิ่น) และวิทยุชุมชน ควรกระจายเสียงระบบอนาล็อก (เอฟเอ็ม) ไปก่อน จนกว่าเครื่องส่งดิจิตอลจะราคาถูกลง และผู้รับบริการซื้อเครื่องรับดิจิตอลมาใช้มากกว่าร้อยละ 50 ถึงจะเริ่มส่งเสริมให้วิทยุธุรกิจขนาดเล็กและวิทยุชุมชนเข้าสู่กระบวนการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล
  • การกำหนดมาตรฐานเครื่องส่งดิจิตอลควรคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศของประเทศด้วย ซึ่งอาจเลือกใช้ทั้งระบบ DAB+ และ DRM+ และการกำหนดมาตรฐานเครื่องรับวิทยุ ควรจะกำหนดให้สามารถรับคลื่นสัญญาณ ทั้งอนาล็อกและดิจิตอล (เอเอ็ม, เอฟเอ็ม, DAB+, และ DRM+)
  • การส่งเสริมให้วิทยุชุมชนทดลองกระจายเสียงระบบดิจิตอล จำเป็นต้องให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานแก่สถานีวิทยุชุมชน และเริ่มก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนดิจิตอลในเขตเมืองใหญ่ก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สะสมองค์ความรู้และเผยแพร่ความรู้การกระจายเสียงวิทยุดิจิตอลแก่สถานีวิทยุชุมชนนอกเขตเมืองใหญ่ในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

  • Ana Gargallo-Castel, Luisa Esteban-Salvador, Javier Pe’rez-Sanz (2010) Impact of Gender in Adopting and Using ICTs in Spain, Journal of Technology Management & Innovation V.5 N.3 Santiago Oct. 2010. (www.scielo.cl)
  • Gustavo Gomez Germano (2007) Digital Television and Radio: Democratization or Greater Concentration?, APC Issue Paper. (www.derechos.apc.org)
  • Marko Ala-Fossi (2008) Future of Community Radio in the Digital Era, Nordic Community Radio Conference, Oct. 31, 2008. (www.sockom.helsinki.fi)
  • Joyce Jacobson (2011) The Role of Technological Change in Increasing Gender Equity with a Focus on Information and Communications Technology, world Development Report 2012. (www.sitersources.worldbank.org)
  • Sophia Huyer and Tatjana Sikoska (2003) Overcoming the Gender Digital Divide: Understanding ICTs and their Potential for the Empowerment of Woman, Instraw Research paper Series No.1
  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยุกระจายเสียง, www.hq.prd.go.th
  • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (2555) รายงานการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, www.nbtc.go.th
  • www.access.cmfe.eu
  • www.acma.gov.au
  • www.cmfe.eu
  • www.cominica.org
  • www.digitalradioinsider.blogspot.com
  • www.hq.prd.go.th
  • www.iteiei.blogspot.com
  • www.laongdao.blogspot.com
  • www.m.posttoday.com, www.pchanneltv.com, www.thanonline.com
  • www.rogerdarlington.me.uk
  • www.telegraph.co.uk
  • www.tv11.thaibell.com
  1. การส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบอนาล็อกใช้หลักการการส่งซ้ำความถี่ (Frequency re-use) กล่าวคือ สถานีโทรทัศน์ที่ส่งแบบภาคพื้นดิน (Terrestrial) จะรับสัญญาณจากสถานีแม่ข่ายมาทำการแพร่สัญญาณทั้งภาพและเสียงซ้ำใหม่ที่เรียกว่าสถานีทวนสัญญาณ (Repeater) ซึ่งการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในส่วนกลางจะส่งเพียงช่องเลขคี่ เช่น ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 โดยช่องเลขคู่จะถูกส่งแพร่ภาพและเสียงในต่างจังหวัดไกลออกไปเพื่อป้องกันการรบกวนซึ่งกันและกัน (ธีรพงษ์ ประมุมศิริ, www.ee.eng.chula.ac.th)
  2. การเปลี่ยนผ่านการกระจายเสียงวิทยุจากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล มักมีการเปรียบเทียบว่าเป็นการย้ายผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ใน “สลัม” ไปอาศัยอยู่ “คอนโดมีเนียม” ซึ่งสะดวกสบายมากกว่า จากพื้นที่ขนาดเดียวกัน ที่เคยสร้างบ้านได้ 10 หลัง จะขยายให้เป็น 100 ห้อง (แต่ละสถานีใช้ความถี่น้อย ทำให้ใช้ความถี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น) แต่สิ่งที่ยังไม่ได้พูดถึง คือ คนที่อาศัยอยู่ในสลัมสามารถย้ายไปอยู่คอนโดมีเนียมได้ทุกคนหรือไม่ เพราะต้องซื้อห้องในคอนโดมีเนียม (อุปกรณ์สำหรับผลิตรายการวิทยุระบบดิจิตอล) และมีค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง ค่าจ้างพนักงาน (ค่าเช่าโครงข่าย) นอกจากนี้จะสามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ในคอนโดมีเนียมได้มากน้อยแค่ไหน (ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อการกระจายเสียงวิทยุในระบบดิจิตอล)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท