Skip to main content
sharethis

(7 ต.ค.56) เนื่องในโอกาสวันการทำงานที่มีคุณค่าสากล (World Decent Work Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค.ของทุกปี เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ใช้แรงงานจากหลายภาคส่วน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ ร่วมด้วยนักศึกษากลุ่มแนวร่วมลูกหลานเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งรวมตัวกันที่บริเวณหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล

โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ยอมรับสัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเรื่องของเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว โดยขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องการให้สัตยาบันทั้งสองฉบับเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว โดยกำหนดกรอบเวลา กระบวนการ และขั้นตอนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยขอให้กระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จก่อนวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ ขอให้นายกฯ และรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมกับคณะผู้แทนของคณะทำงานที่เข้าพบและรับฟังคำตอบที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 7 ต.ค. 2556 นี้ก่อนเวลา 11.00น.

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตอบรับกับข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็พร้อมจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งไทยเองในฐานะที่เป็นหนึ่งใน 45 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง ILO ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2462 แต่กลับไม่ยอมรับอนุสัญญาทั้งสองฉบับนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

นายชาลีชี้แจงว่า แม้ว่า ประเทศไทยจะออกกฏหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานคือ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองแรงงานจากทั่วประเทศได้ ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เองกลับเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดการตั้งและรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานได้อย่างเสรี ทั้งที่ควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน

นายชาลี กล่าวถึงกระบวนการว่า หากรัฐบาลออกมาตอบรับเรื่องดังกล่าวก็จะต้องดำเนินการ นำเรื่องการให้สัตยาบันทั้งสองฉบับเข้าพิจารณา โดยผ่านการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากญัตติดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากสภา ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานเพื่อชี้แจงผลก่อนส่งเรื่องต่อให้กระทรวงต่างประเทศเพื่อให้สัตยาบันยอมรับแก่อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ หลังจากนั้นรัฐบาลมีระยะเวลาอีกหนึ่งปีเพื่อแก้กฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับตัวอนุสัญญา โดยหากรัฐบาลดำเนินการแก้กฎหมายเสร็จไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถยื่นเรื่องยืดเวลาออกไปได้อีกถึงสิบปี ก่อนที่จะมีการยกเลิกการลงสัตยาบัน

นายชาลี กล่าวต่อว่า ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าหากยอมรับตัวอนุสัญญาจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั้นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลมีเวลาอย่างมากในการแก้ข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาโดยที่ครอบคลุมถึงประเด็นของความมั่นคงได้ ในทางกลับกัน ผลของการยอมรับอนุสัญญาทั้งสองจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศมากกว่า

นายชาลี กล่าวเสริมว่า ได้เรียกร้องในประเด็นนี้มาถึง 21 ปีแล้ว ปัจจุบัน มี 152 ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ไปแล้ว และอีก 163 ประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 98 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 185 ประเทศ และเฉพาะแต่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ก็เหลือเพียง ไทย เวียดนาม ลาว และ บรูไน เท่านั้นที่ยังไม่ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาหลักทั้งสองฉบับ

นอกจากนี้ คนงานจากกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เล่าว่า สาเหตุที่มาร่วมชุมนุมเพราะถูกนายจ้างเอาเปรียบ เช่น เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าว ขัดขวางในการตั้งสหภาพหรือการทำงานของสหภาพ หากไปประชุมกับสหภาพจะถูกระบุว่าขาดงาน การตั้งสหภาพก็ยาก ซึ่งทำได้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเล็กก่อตั้งยาก หากมีการผลักดันให้รับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะช่วยคุ้มครองพวกเขาในการเจรจา

ล่าสุด (17.30น.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการเจรจาของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ร่วมกับ พล.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง สมพาศ นิลพันธ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ และอิทธิพร เหล่าวานิช รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานสัมพันธ์ ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า รัฐบาลจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม นี้ และจะตั้งคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลร่วมกับฝ่ายผู้ใช้แรงงาน เพื่อผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวให้ได้ข้อสรุปร่วมกันภายใต้กรอบระยะเวลา 60 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net