6 องค์กรสิทธิฯ จี้รัฐบาลเลิกใช้ กม.มั่นคง จัดการม็อบ

จี้ยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง 6 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องรัฐบาลล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการกับการชุมนุมของประชาชน ขณะสมาคมรัฐศาสตร์ มก. เตือนยกเลิกใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนเสพติดความรุนแรง

กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติวานนี้ (9 ต.ค.56) ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค. นี้<--break->

(10 ต.ค.56) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.) และ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน รวมถึงให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
 
 

แถลงการณ์
คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต  เขตพระนคร   และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพมหานคร   ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556  เพื่อใช้ในการควบคุมกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่ากองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.)  ซึ่งได้ชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล  เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ  ถนนพิษณุโลก  เพื่อคัดค้านการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  โดยเชื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือต้องการล้มรัฐบาล[1]  นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้  ขอคัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.       รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน
อันการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมต้องปกครองโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการฟังเสียงส่วนใหญ่และเคารพเสียงส่วนน้อย การที่รัฐจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลย่อมต้องกระทำอย่างจำกัด มิใช่เพียงอ้างว่ามีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แต่กฎหมายที่อ้างย่อมต้องมีความชอบธรรมตามหลักนิติธรรมและต้องตามวัตถุประสงค์ที่ “ยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย” และ “เพื่อให้สอดคล้องกับความยุติธรรม”

การที่รัฐบาลมุ่งประสงค์ในการใช้กฎหมายอาญากับผู้ชุมนุมย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เคารพเสียงของประชาชนส่วนน้อย หมายจะใช้กฎหมายเป็นหลักในการจัดการกับประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งกฎหมายที่ใช้ก็ไม่ใช่กฎหมายที่มาจากประชาชนแต่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผลของการรัฐประหาร กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นผลไม้พิษของระบอบเผด็จการ การที่รัฐบาลใช้กฎหมายดังกล่าวย่อมถือเป็นการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

รัฐบาลที่มาจากประชาชนจึงต้องมีความเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการปกครองประเทศ

2.       การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลไม่เป็นไปเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โดยที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของรัฐบาล พ.ศ. 2551  มาตรา 15  ได้ให้อำนาจรัฐบาลในการประกาศใช้กฎหมายนี้ได้ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร  และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน  ทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย   โดยมีความมุ่งหมายเป็นการจัดการกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะจัดการไม่ได้โดยภาวะปกติ หรือโดยกลไกปกติ  

ดังนั้น   การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงต้องมีเหตุเกิดขึ้นก่อนและเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน   การที่รัฐบาลอ้างว่าการชุมนุมของกองทัพประชาชนหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ   จึงเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นและเกินสมควรแก่เหตุ    เนื่องจากกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ตามปกติก็เพียงพอที่รัฐจะสามารถจัดการให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบได้อยู่แล้ว  จึงไม่มีเงื่อนไขที่จะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแต่อย่างใด  การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และกระทบต่อหลักประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน    และยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ปกติของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

3.       การกระทำของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญ
กลุ่มผู้ชุมนุมย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา  63  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 การที่ประชาชนใช้เสรีภาพดังกล่าว   รัฐบาลจะกล่าวอ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างเหตุผลว่าผู้
ชุมนุมเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล  ถ้ารัฐบาลจัดการกับความเห็นที่แตกต่างด้วยการใช้มาตรการดังกล่าว ย่อมกระทบสาระสำคัญการใช้เสรีภาพของประชาชน  ซึ่งเป็นกลไกที่ไม่ควรมีและไม่อาจยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย อีกทั้งการชุมนุมย่อมไม่ได้คุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ หรือเป็นอาชญากรรมที่จะเป็นภัยต่อรัฐบาล

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องและขอเสนอแนะให้รัฐบาล

1. ยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในเขตพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

2. ล้มเลิกแนวคิดในการใช้กฎหมายความมั่นคงในการจัดการกับการชุมนุมของประชาชน

3. ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจบริหารให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ศกส.)
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

 

0000000000000000

 

สมาคมรัฐศาสตร์ มก. เตือนยกเลิกใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ก่อนเสพติดความรุนแรง

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย บรรณกร จันทรทิณ รักษาการโฆษกสมาคมฯ ออกแถลงการณ์ เรื่อง “การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล กับการเสพติดความรุนแรงของสังคมไทย” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในครั้งนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยทันที เพื่อหยุดยั้งมิให้สังคมไทยก้าวสู่การเสพติดความรุนแรง พร้อมระบุด้วยว่า ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายของการชุมนุมหรือไม่ แต่จุดมุ่งหมายดังกล่าวจะต้องแยกออกจากสิทธิในการเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อรองรับกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนให้แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังเรียกร้องไม่ให้มีการพาดพิงถึงสถาบันเพียงเพื่อสร้างเสริมความชอบธรรมของการกระทำโดยหวังแต่ประโยชน์เฉพาะตน ซึ่งจะเป็นการทำร้ายสถาบันด้วย

 

000000

 

แถลงการณ์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง “การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล กับการเสพติดความรุนแรงของสังคมไทย”

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตดุสิต (แขวงดุสิต และแขวงจิตรลดา) เขตพระนคร (แขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม และแขวงบางขุนพรหม) และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (แขวงวัดโสมนัส) มีผลตั้งแต่วันพุธที่ 9 ถึงวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม นี้

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืน และยื่นข้อเรียกร้องไปยังบุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก เช่นเดียวกับการชุมนุมทุกครั้งของทุกกลุ่มทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ว่าสมาคมฯ จะเห็นด้วยหรือไม่กับจุดมุ่งหมายของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) แต่สิ่งที่สมาคมฯ ยืนยัน และเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ เรื่อยมาก็คือ จุดมุ่งหมายดังกล่าว จักต้องถูกจำแนกออกจากสิทธิในการเรียกร้องโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งแล้วในรัฐธรรมนูญ

การกระทำใดๆ ในสังคมประชาธิปไตย ที่อ้างเพียงเหตุแห่งความไม่สงบเรียบร้อย หรือความไม่มั่นคง กระทั่งความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก แต่กลับไม่สามารถแสดงให้พี่น้องประชาชนประจักษ์อย่างชัดแจ้ง ถึงความรุนแรงหรือจำเป็นขนาดที่จักต้องเลือกใช้กฎหมายพิเศษ นอกเหนือจากกฎหมายในสภาวการณ์ปกติ เพื่อลิดรอน หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนภายในประเทศ อันเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเช่นนี้ เพื่อปิดกั้นสิทธิในการเรียกร้อง แทนที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล และปล่อยให้กระบวนการทางประชาธิปไตย สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น จะกระทำมิได้

ประการที่สอง สมาคมฯ ขอเรียกร้องไปยังบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ก็ตาม ที่กล่าวพาดพิงถึง ตลอดจนฉกฉวยประโยชน์จากนัยของสถานที่สำคัญ ซึ่งเพียงแต่มีที่ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกัน หากแต่ปราศจากความเกี่ยวข้องใดๆ ในเชิงเนื้อหา อันหมิ่นเหม่ต่อการดึงฟ้าต่ำ เพียงเพื่อสร้างเสริมความชอบธรรมของการกระทำโดยหวังแต่ประโยชน์เฉพาะตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฉพาะหน้า เช่นนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งซึ่งสมควรได้รับการประณาม เพราะทางหนึ่ง ย่อมเป็นการมัดมือชก ทำร้ายสถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่ง ดังที่ทราบดีว่า สถาบันไม่อยู่ในสถานะที่จะออกมาโต้แย้ง หรือชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ แก่สังคม

ประการที่สาม สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยทันที เพื่อหยุดยั้งมิให้สังคมไทยก้าวสู่การเสพติดความรุนแรง ที่ทางหนึ่ง รัฐบาลพอใจกับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ปราศจากความรับผิดชอบตามสัดส่วนที่เหมาะสม อีกทางหนึ่ง ประชาชนชินชากับการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ในสถานการณ์ปกติอย่างยิ่ง เช่นที่เป็นอยู่นี้

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความจริงใจกับสังคม เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ สมควรที่จะเร่งรัดการตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นกติกามาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล และออกแบบมาเพื่อรองรับกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน ให้แล้วเสร็จเพื่อประกาศใช้ต่อไป

แถลง ณ วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2556
นายบรรณกร จันทรทิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รักษาการ โฆษกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท