Skip to main content
sharethis

ในงานเฉลิมฉลองเดือนตุลาประจำปีนี้ งานวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคืองิ้วการเมือง ของกลุ่มโดมรวมใจ ซึ่งจัดแสดงเรื่อง “เปาบุ้นจิ้น ตอนสะสางคดี 6 ศพ” ซึ่งได้แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำหรับผู้ที่ได้ชมมาแล้ว จะเห็นได้ว่า งิ้วเรื่องนี้คือวรรณกรรมการเมืองที่มุ่งที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ถูกฆ่าตายในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ซึ่งยังคงเป็นรอยมลทินทางการเมืองไทยอยู่ในขณะนี้

ในคำปรารภของสูจิบัตรงิ้วของชมรมโดมรวมใจ เล่าว่า เหตุการณ์ความโหดเหี้ยมในครั้งนั้น มีการสังหารประชาชนไร้อาวุธจำนวนเกือบร้อยศพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หกศพที่หลบลี้หนีภัยการปราบปรามเข้าไปในเขตอภัยทานวัดปทุมวนาราม การสังหารผู้คนจำนวนมากกลางเมืองเช่นนี้ ถือเป็นอาชญากรรมทางการเมืองที่ป่าเถื่อนและใกล้ตัวที่สุด แต่ดูเหมือนว่าสื่อกระแสหลัก และชนชั้นกลางบางกลุ่มในสังคมไทยจะมองข้ามอาชญากรรมครั้งนั้น แต่ไปร่ำรำพันอาลัยอาวรณ์กับอาคารห้างสรรพสินค้าที่ถูกไฟไหม้ ด้วยเหตุนี้ แกนกลางของเนื้อหาสำหรับงิ้วเรื่องนี้ก็คือ ความพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว

ผู้เขียนบทงิ้วและกำกับการแสดงเรื่องนี้ คือ คุณสุขุม เลาหพูนรังสี ซึ่งเป็นนักเขียนและนักแต่งบทกวีที่มีความสามารถอย่างยิ่ง คุณสุขุมได้อธิบายถึงความเป็นมาโดยย่อของงิ้วการเมืองว่า ถือกำเนิดในยุคเผด็จการ โดยจัดทำขึ้นเพื่อจะเสียดสีนโยบายหรือวิธีการปกครองในยุคมืดทางการเมืองเช่นนั้น นักศึกษาที่รักประชาธิปไตยค้นพบทางออกจากการแสดงงิ้วว่า การแสดงงิ้วต้องแต่งหน้าแต่งตา จนยากที่จะจดจำได้ว่าใครเป็นผู้แสดง จึงสร้างความปลอดภัยขั้นหนึ่งสำหรับผู้แสดง นอกจากนี้ นิยายและพงศาวดารจีนมีเรื่องราวจำนวนมากที่เป็นที่รับรู้ในหมู่คนไทย จึงสามารถหนิบยกมาปรับให้เสียดสีล้อเลียนการเมืองไทยในขณะนั้นได้อย่างไม่ยากนัก จากนั้น การแสดงงิ้วในลักษณะดังกล่าวก็ยังพัฒนาต่อมา จนถึงงิ้วการเมืองของฝ่ายพันธมิตรเมื่อ พ.ศ.2548 แต่จุดอ่อนของงิ้วการเมืองเช่นนี้ คือขาดความพิถีพิถัน นักแสดงก็ไม่ค่อยมีพื้นฐานการแสดง บทงิ้วก็เขียนแบบง่ายๆ หรือมีบทเจรจาไม่มีบทร้อง หรือมุ่งจะด่าอย่างไม่มีศิลปะ เน้นความสะใจของผู้ชม ซึ่งมีลักษณะเป็นการเล่นปาหี่มากกว่างิ้ว

ดังนั้น งิ้วการเมืองที่จัดแสดงครั้งนี้ จะพยายามทำขึ้นโดยการเคารพศิลปะของการแสดงงิ้วอย่างแท้จริง ให้มีการร้องแบบงิ้วต้นตำรับ มีการรำอันเป็นท่วงท่าเอกลักษณ์ของการแสดงงิ้ว และมีเครื่องดนตรีจีนเล่นประกอบสมบูรณ์แบบ เนื้อหาของเรื่องก็จะเน้นการเล่าที่เรื่องเป็นระบบ เน้นความสะเทือนใจที่เปาบุ้นจิ้นต้องจำนนต่ออำนาจอธรรม และนี่คือความพยายามในการสร้างงิ้วที่แตกต่างจากปาหี่ที่เคยเล่นกันมา

แต่กระนั้น ในบทความนี้ จะพิจารณาบทงิ้วเรื่องนี้ในฐานะวรรณกรรมเรื่องหนึ่ง โดยเริ่มจากการอธิบายเนื้อเรื่องของวรรณกรรม คือ การพิจารณาคดีบนโลกมนุษย์ต่อกรณี 6 ศพที่หลบในวัดแล้วถูกฆ่าตายไม่มีความคืบหน้า แม้แต่เวลาผ่านไป 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องกล่าวหาใครเลย ทั้งที่โดยสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็พอรู้ได้ว่าใครควรจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันป่าเถื่อนนี้ จึงสรุปในขั้นต้นได้ว่า “ความยุติธรรมที่มาช้า ก็ไม่ต่างอะไรกับความอยุติธรรม” แม่นางหงซิงเซียน มารดาของผู้เสียชีวิต จึงสะท้อนว่า

แผ่นดินใด ไร้สิ้น ยุติธรรม  ความมืดดำ ย่อมงำแฝง ทุกแห่งหน
ย่อมไม่ผิดขุมนรก หมกมืดมน ใครยอมทน ย่อมเขลาโง่ กว่าโคควาย

ดังนั้น ผู้ถูกสังหาร 6 คน จึงได้นำคดีนี้ไปร้องเรียนต่อเอี๋ยนอ๋องที่เป็นประมุขในยมโลก เอี๋ยนอ๋องจึงได้เชิญเปาบุ้นจิ้น ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมจากโลกมนุษย์ลงไปตัดสินคดีความ เหยื่อที่ถูกสังหารได้ร้องเรียนว่า อำมาตย์หม่าเคอะเป็นผู้ใช้กำลังสั่งทหารมาประหารตายคาวัด และตุลาการชั่งเอียงเอียงช่วยถ่วงเวลาล่าช้าปกปิดความชั่ว เปาบุ้นจิ้นจึงได้เรียกวิญญาณของหม่าเคอะ และช่างเอียงเอียง มาไต่สวนในยมโลก จากนั้นได้มีการพิจารณาโทษกรรมของหม่าเคอะที่เป็นฆาตกรหลัก และช่างเอียงเอียง ผู้สมคบคิด ในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างโทษกรรมของช่างเอียงเอียงที่วรรณกรรมนี้ได้สะท้อนไว้ดังนี้

เอียงเอียงเบี่ยงตาชั่ว ไร้หลักตั้งช่างเอียงเอียง
ตีความอย่างบิดเบี่ยง ไปตามธงสั่งลงมา
คนถูกทำจนผิด  แล้วเบือนบิดลงอาญา
ใครท้วงไม่นำพา  หลงตัวว่าเหนือมนุษย์
เอาอคติตน  คอยฉ้อฉลไม่ยอมหยุด
หลักการแตกซ่านทรุด จนต่ำสุดถูกเหยียบจม
กฎหมายไม่เปิดกาง กลับไปอ้างพจนานุกรม
หลักการจึงแหลกล่ม ยิ่งหมมหมักหลักทลาย
อคติเป็นที่ตั้ง  เที่ยวสั่งขังคนจนตาย
ไม่เหลือแล้วยางอาย อวดยะโสหยิ่งโอหัง
ลืมหลักจนไฟลุก  กลียุคจึงประดัง
กี่ศพถูกกลบฝัง  ฆาตกรในชุดครุย
แม้มือไม่ได้ฆ่า  แต่อาญาแบบชุ่ยชุ่ย
เลือดจึงไหลหลากลุย มหันต์โทษเท่าเทียมทัน


แต่ปรากฏว่า เปาบุ้นจิ้นไม่สามารถตัดสินลงโทษฆาตกรทั้งสองได้ เพราะหม่าเคอะมีหยกศักดิ์สิทธิ์ ม.7 ที่ได้รับมอบจากองค์กรอิสระสวรรค์แต่งตั้งไว้เป็นภูมิคุ้มกัน ส่วนช่างเอียงเอียงก็มีป้ายหยกศักดิ์สิทธิ์ที่เนติสวรรค์ประทานไว้คุ้มครอง เปาบุ้นจิ้นคับแค้นใจ จนต้องร้องถามฟ้าว่า


อำนาจฟ้ามาจุนเจือเอื้อคนผิด  หยกศักดิ์สิทธิ์ใยยื่นมอบชอบไฉน
เหมือนมอบดาบให้โจรพาลระรานไป  โลกไฉนไร้แสงธรรมส่องนำทาง


แต่ในท้ายที่สุด วรรณกรรมเรื่องนี้ก็จบลงตรงที่ว่า เปาบุ้นจิ้นก็สามารถหาอุบายมาลงโทษหม่าเคอะและช่างเอียงเอียงได้สำเร็จ ซึ่งก่อให้เกิดความยุติธรรมในเนื้อเรื่องเป็นอย่างน้อย แม้ว่าในโลกของความเป็นจริง ทั้งหม่าเคอะและช่างเอียงเอียง ยังคงอยู่ในเกราะกำบังของอำนาจแห่งอำมาตยาธิปไตยก็ตาม

สำหรับผู้สนใจ การแสดงงิ้วเรื่องนี้ ยังมีรอบสุดท้ายในวันที่ 13 ตุลาคม เวลาสองทุ่ม ผู้ชมก็คงจะได้รับทั้งศิลปะการแสดงและเนื้อหาของเรื่องที่เป็นวรรณกรรมอันน่าสนใจไปพร้อมกัน

 


ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 433 วันที่ 12 ตุลาคม 2556



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net