Skip to main content
sharethis

หลังมีผู้ร้องต่อดีเอสไอ ให้ตรวจสอบ สสส. กรณีอนุมัติเงิน "ผิดวัตถุประสงค์" มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจง ได้งบ 2 ล้านจาก สสส. ฟื้นฟูการดำเนินงาน หลังอาคารสำนักงานได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ช่วง พ.ค.53 เพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคได้

สืบเนื่องจากกรณี ธำรง หลักแดน รองประธานชมรมนักกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐ (กพผร.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกรรมการทั้งคณะรวม 17 คน กรณีที่กระทำผิดมิชอบโดยให้ความเห็นชอบอนุมัติเงินจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 3 ล้านบาท เป็นค่าปรับปรุงอาคารให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วานนี้

วันนี้ (11 ต.ค.56) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ชี้แจงว่า หลังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันบริเวณอนุสาวรีย์ชัย และลุกลามมายังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ซึ่งอยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้ทรัพย์สินและอุปกรณ์สำนักงานของมูลนิธิฯ เสียหายเกือบทั้งหมดจนไม่สามารถทำงานได้ มูลนิธิฯ จึงจัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถฟื้นฟูและปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยเร็ว และเพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในขณะนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกำหนดเวลาของโครงการ

โดยก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ ได้แจ้งขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะอ้างว่า มูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายจากไฟไหม้ที่เป็นผู้ค้าขาย นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้รับความช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงิน และอุปกรณ์สำนักงาน จากประชาชน และองค์กรต่างๆ จนทำให้มูลนิธิฯ สามารถกลับมาให้บริการประชาชน และปฏิบัติงานในสำนักงานเดิมได้เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2553

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ในหลายกรณีที่สำคัญ ทั้งยังแสดงบทบาทด้านสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักธรรมภิบาลในการพัฒนาสังคม จึงหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีบุคคลและกลุ่มใดนำไปผูกโยงกับการเมือง

 

000000

 

แถลงการณ์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรื่องเงินสนับสนุนจาก สสส.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงการณ์ได้รับการสนับสนุนการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติพฤษภาคม 2553 งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาทจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคได้

19 พฤษภาคม 2553 อาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันบริเวณอนุสาวรีย์ชัย และลุกลามมายังอาคารสำนักงานของมูลนิธิฯ ซึ่งอยู่ติดกัน ทำให้ทรัพย์สินและอุปกรณ์สำนักงานของมูลนิธิฯ เสียหายเกือบทั้งหมด จนไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ในการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ทั้งการให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน การจัดทำนิตยสารฉลาดซื้อ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงให้ผู้บริโภคใช้สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลังจากเกิดเหตุการณ์ การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้ทำจดหมายถึง สสส. เพื่อขอขยายเวลาในการจัดทำโครงการจำนวน 2 โครงการที่ได้รับการสนับสนุน อันได้แก่ 1)โครงการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ภายใต้แผนงานอุบัติเหตุ ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2552-28 กุมภาพันธ์ 2554 และ 2) โครงการปฏิบัติการองค์การอิสระผู้บริโภค (จำลอง) ภายใต้แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ กันยายน 2552-สิงหาคม 2554 ต่อ สสส. เนื่องจากไม่สามารถทำโครงการให้แล้วเสร็จได้ตามเวลาที่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้น และได้จัดทำข้อเสนอการฟื้นฟูการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถฟื้นฟูและปฏิบัติงานสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยเร็ว และเพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. ในขณะนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกำหนดเวลาของโครงการ

ก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ ได้แจ้งขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานเขตราชเทวี แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะอ้างว่า มูลนิธิฯ ไม่ใช่ผู้เสียหายจากไฟไหม้ที่เป็นผู้ค้าขาย นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้รับความช่วยเหลือด้วยการบริจาคเงิน และอุปกรณ์สำนักงาน จากประชาชน ผู้บริโภค และองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรผู้บริโภค ที่มีสมาชิกมากกว่า 250 องค์กรใน 115 ประเทศ ทั่วโลก จนทำให้มูลนิธิฯ สามารถกลับมาให้บริการประชาชน และปฏิบัติงานในสำนักงานเดิมได้เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2553

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ สามารถยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ในหลายกรณีที่สำคัญ เช่น

1. ผู้บริโภคใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเองเพิ่มขึ้น โดยมูลนิธิฯ มีศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้บริการคำแนะนำ ให้ผู้บริโภคแก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ในแต่ละปี สนับสนุนการใช้สิทธิ การเจรจาไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 1,500-2,000 รายต่อปี การจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง พัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานจากปัญหาแคลิฟอเนียร์ฟิตเนสว้าว การบังคับใช้กฎหมายมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม การยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ สร้างความตื่นตัวเรื่องความไม่เป็นธรรมด้านการเงินการธนาคาร เป็นต้น

2. การใช้ข้อมูลเพื่อการเลือกซื้อสินค้า ผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ เป็นนิตยสารรายเดือน ตีพิมพ์มาแล้วมากกว่า 20 ปี เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ผลการทดสอบที่เป็นจริงให้กับผู้บริโภค ในการใช้เป็นข้อมูลเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่า พฤติกรรมการซื้อแต่ละครั้ง คือการลงคะแนนให้กับตัวแบบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแบบแผนการผลิตสินค้าแบบใดแบบหนึ่ง และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้เอื้อต่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ โดยรูปแบบการผลิตและการบริโภคคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

3. พัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ เรื่องหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61 ตามรัฐธรรมนูญ) นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร และผลกระทบของเขตการค้าเสรีต่อผู้บริโภค

4. สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค ให้มีการทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์เกือบ 20 ปี ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การหลอก การโกง ที่ยังมีทุกวัน และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นอกจากนี้มูลนิธิฯยังได้แสดงบทบาทด้านสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การแสดงออกทางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักธรรมภิบาลในการพัฒนาสังคม มูลนิธิฯ หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่มีบุคคลและกลุ่มใดนำไปผูกโยงกับการเมือง

มูลนิธิฯ จึงขอเรียนให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกัน.

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

11 ตุลาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net