Skip to main content
sharethis

70 ปีภาษามลายูท่ามกลางการต่อสู้ ตั้งแต่ยุคหะยีสุหลงถึงการเปิดประชาคมอาเซียน กระทั่งเป็นสื่อในกระบวนการสันติภาพ แต่กระนั้นการใช้ภาษามลายูของคนในพื้นที่ก็ยังมีปัญหา จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาคประชาชนในการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ของคนปาตานี

70 ปีกว่ารัฐจะยอมรับภาษามลายู

“ความพยายามรื้อฟื้นภาษามลายูที่ปาตานี(3จังหวัดชายแดนภาคใต้) เกิดขึ้นเมื่อ 70 ปีมาแล้ว คือในสมัยหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้นำศาสนาอิสลามในสมัยนั้นได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 7 ข้อเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลไทย

ใน 7 ข้อดังกล่าว มี 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายู คือ ข้อเรียกร้องที่ให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูทุกระดับการศึกษา และข้อเรียกร้องที่ให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย

ปัจจุบันการใช้ภาษามลายูในพื้นที่มีปัญหามาก ถึงขนาดที่ว่า เด็กๆ ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่เอง ไม่สามารถฟังคุตบะห์(การเทศนาธรรม) ในการละหมาดวันศุกร์ด้วยภาษามลายูได้เข้าใจ ถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาษามลายูที่ปาตานีในช่วงที่ผ่านมา”

นั่นคือคำถามชวนคิดข้อหนึ่งที่ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม (ตนกู อารีฟีน บินจิ) ประธานคณะกรรมการดำเนินสถานีโทรทัศน์และวิทยุภาษามลายู กล่าวในพิธีเปิดการเสวนาสื่อภาษามลายู หัวข้อ “Bahasa Melayu Dalam Era Proses Damai”

เป็นวงเสวนาที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี จัดโดย madrasah kewartawanan sempadan selatan (DSJ) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นความพยายามในการฟื้นตัวของภาษามลายูในพื้นที่มากขึ้น เห็นได้จากการมีสื่อภาษามลายูมากขึ้น เช่น วิทยุภาษามลายู หนังสือพิมพ์หรือวารสารภาษามลายู

“ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเองก็ยอมรับภาษามลายูมากขึ้น เห็นได้จากการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ก่อตั้งสถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ขึ้นมาแล้ว” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า

นโยบายของรัฐเกี่ยวกับภาษามลายู

ในความเป็นจริง การยอมรัฐภาษามลายูของรัฐบาลไทยไม่เพียงแค่เห็นจากการตั้งสถาบันดังกล่าวเท่านั้น หากพิจารณาในช่วงหลังๆมานี้ จะพบว่า รัฐได้กำหนดเป็นนโยบายในการส่งเสริมภาษามลายูในพื้นที่แล้ว

โดยในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้ระบุชัดเจนในวัตถุประสงค์ข้อที่ 5 ว่า รัฐต้องส่งเสริมให้คนในพื้นที่สามารถเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศทั้งในด้านการศึกษาและการสื่อสาร

เมื่อมีนโยบายชัดเจน กิจกรรมหรือโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาษามลายูก็เกิดขึ้นตามมา โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นแม่งานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนภาษามลายูในพื้นที่

ที่ผ่านมา มีหลายโครงการ ศอ.บต.ดำเนินการ เช่น การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์มลายู 24 ชั่วโมง การติดตั้งป้ายภาษามลายูในหน่วยงานของรัฐบาล การติดตั้งป้ายภาษามลายูริมทางหลวง กระทั่งมีความพยายามเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นภาษามลายูให้ถูกต้องตามคำเรียกดั้งเดิม เป็นต้น

นอกจากนี้ ศอ.บต.ยังเปิดอบรมภาษามลายูอีกหลายรายการ โดยเฉพาะการอบรมครูผู้สอนภาษามลายูตามโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ และอบรมกลุ่มสื่อวิทยุในพื้นที่ ถึงกระนั้นก็ตาม หลายรายการวิทยุภาษามลายูของรัฐ ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานการใช้ภาษา

การเกิดขึ้นของอาเซียน

ยังมีอีก 2 ประการ ที่ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำต้องยอมรับภาษามลายู ในฐานะอัตลักษณ์หนึ่งของคนมลายูในพื้นที่

ประการแรก คือการเกิดขึ้นของประชาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาคมอาเซียน (ASEAN) ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนที่พูดภาษามลายู ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวม เมื่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียนมาถึงในปี พ.ศ.2558 เพราะจะมีการเปิดให้เคลื่อนย้ายแรงงานและสินค้าได้อย่างเสรี

ประการต่อมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาษามลายูได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการต่อสู้ของคนในพื้นที่ เนื่องจากคนในพื้นที่มองว่า ความตกต่ำของภาษามลายูมาจากความตั้งใจของรัฐเองที่ไม่ต้องการให้คนในพื้นที่พูดภาษามลายูแล้วหันมาพูดภาษาไทยอย่างเดียว ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งของเหตุรุแรงที่เริ่มปะทุขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 ด้วยเหตุนี้รัฐจึงพยายามสนับสนุนภาษามลายูมากขึ้น เพื่อขจัดเงื่อนไขดังกล่าวออกไป

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา มีการรณรงค์ให้มีการใช้ภาษามลายูอย่างถูกต้องของหลายองค์กรในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชนและองค์กรสื่อด้วย

ภาษามลายูกับกระบวนการสันติภาพ

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการต่อสู้ที่อยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ โดยเริ่มปรากฏการต่อสู้ในทางการเมืองมากขึ้น นับตั้งแต่ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) หรือบีอาร์เอ็น (BRN) เริ่มปรากฏตัวผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทย

การสื่อสารของ BRN ก็ใช้ภาษามลายู ทั้งการสื่อสารต่อมวลชนในพื้นที่หรือต่อสาธารณะ เห็นได้จากการประกาศข้อเรียกร้องของขบวนการผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือป้ายข้อความต่างๆ ที่ถูกติดตั้งตามจุดต่างๆในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่การแปลเนื้อหาจากภาษามลายูมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้สังคมไทยได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ภาษามลายูจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของการสร้างสันติภาพในพื้นที่ไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีการอธิบายเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของขบวนการBRN ที่เป็นเอกสาร 38 หน้าที่ส่งให้ฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายBRNเริ่มจากการเขียนด้วยภาษามลายู ส่งให้ฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ

ฝ่ายมาเลเซียก็จัดการแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งมาให้ฝ่ายไทย แน่นอนฝ่ายไทยก็ต้องจัดการแปลเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง ก่อนจะส่งให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา ซึ่งในทางกลับกันในการตอบกลับของฝ่ายไทยก็คงต้องมีการแปลกลับไปเป็นทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายูต่อไปด้วย

โจทย์สำคัญในการรื้อฟื้นภาษามลายู

ทว่า ความพยายามในการรื้อฟื้นภาษามลายูในพื้นที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากปัจจุบันการใช้ภาษามลายูของคนในพื้นที่มีปัญหามาก เหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับอิทธิพลจากสื่อภาษาไทยที่มีอยู่ตลอดทั้งวัน และไม่มีสื่อภาษามลายูอย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้คนรุ่นใหม่ใช้ภาษามลายูที่ไม่ถูกต้อง มีการแทรกคำในภาษาไทยมากขึ้น เพราะนึกคำในภาษามลายูไม่ออก มีการใช้คำที่สลับกันระหว่างภาษามลายูกับภาษาไทย หรืออาจจะเห็นบางคนกำลังพูดภาษามลายู แต่ก็เรียงประโยคเป็นแบบภาษาไทยไปแล้ว

ที่สาหัสกว่านั้น คือการเขียน เพราะมีหลายแห่งที่เขียนภาษาไทยด้วยอักษรยาวีแล้วคิดว่าเป็นคำภาษามลายู เช่นคำว่า “กรรมการ” แทนที่จะเขียนว่า “Jawatan kuasa” ก็เขียนเป็นคำว่า “kamkan”

หรืออาจเป็นเพราะต้องการตอบสนองคนมลายูในพื้นที่ที่พูดภาษามลายู แต่เข้าใจภาษาไทยมากกว่า ก็เป็นไปได้

ตัวอย่างนี้เป็นเพียงปัญหาและอุปสรรคส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนในพื้นที่จะต้องมาร่วมกันฝ่าฟันกันต่อไป หากจะให้ภาษามลายูของที่นี้เป็นอัตลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างพลังทางการสื่อสารในโลกอาเซียนให้ได้ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net