"ขอพระราชทานอภัยโทษ" ช่องว่างบนเส้นทางแห่งความไม่สำนึก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

*iLaw บอกว่า.....

“ขอพระราชทานอภัยโทษ” คือช่องว่างบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

iLaw บอกว่า.....

“ว่ากันว่า แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีโทษหนักแต่กฎหมายนี้ก็ไม่ได้น่ากลัวและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะเมื่อมีใครถูกลงโทษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะพระราชทานอภัยโทษให้ในท้ายที่สุด”

แต่ในความเป็นจริงนั้น นักโทษในทุกคดี ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญา ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน เจตนารมณ์ของการพระราชทานอภัยโทษนั้น คือพระราชอำนาจตามจารีตที่กษัตริย์ทรงมี และเป็นไปเพื่อให้นักโทษที่กระทำผิดได้ "สำนึกและกลับตัว" ออกไปทำประโยชน์แก่สังคม

แต่ไม่ใช่การเอา พระราชอำนาจตามจารีต มาเป็นเครื่องมือ และช่องทางในการ "ออกคุกให้เร็วขึ้น" กว่านักโทษคดีอื่น

iLaw บอกว่า.....

“ในช่วงปี 2552-2553 มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง และเริ่มมีการก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมกับที่ข้อหา “ล้มเจ้า” ถูกปลุกขึ้นมาใช้อย่างหนักหน่วงในสังคมไทย ทำให้มีคดีตามมาตรา 112 เกิดขึ้นจำนวนมาก ถึงขั้นที่คดีจำนวนหนึ่ง ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและอัยการอ้างความเป็น “คนเสื้อแดง” ของจำเลยเป็นหนึ่งในพยานแวดล้อม จำเลยหลายคดียังดิ้นรนต่อสู้หาความบริสุทธิ์ให้กับตัวเองอยู่ หลายคดีก็สิ้นสุดไปแล้วด้วยการพระราชทานอภัยโทษ”

แต่ในความเป็นจริงนั้น การพิจารณาพิพากษาในคดีอาญาทุกคดี ศาลจะพิจารณาชั่งน้ำหนัก และให้ความสำคัญพยานหลักฐานตามลำดับ กล่าวคือศาลให้ความสำคัญ "พยานชั้นหนึ่ง" เป็นลำดับแรก (เช่น DNA / ภาพจากกล้องวงจรปิด / หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น) ต่อมาพยานที่ศาลให้ความสำคัญรองลงมาคือ "พยานชั้นสอง" (พยานอื่น ๆ ที่นำสืบแทนพยานชั้นหนึ่ง เช่น สำเนาเอกสาร) และลำดับสุดท้ายคือ "พยานแวดล้อม" (Circumstantial evidence)

ข้อเขียนของ ilaw พยายามจะสื่อว่า ศาลและอัยการให้น้ำหนักของพยานแวดล้อม มากกว่าพยานชั้นหนึ่ง ซึ่งพยานแวดล้อมนั้น ในความหมายทางกฎหมายมันคือ "พยานที่ไม่ระบุโดยตรงว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้น แต่มีเหตุผลหรือพฤติการณ์เชื่อมโยงพอจะเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงควรจะเป็นเช่นนั้น" เช่น คดีเรื่องรถยนต์ชนกัน พยานให้การว่าไม่เห็นขณะเกิดเหตุ แต่ในระยะเวลากระชั้นชิดกับการเกิดเหตุ พยานมาที่เกิดเหตุ และได้เห็นรอยยางรถยนต์ของนาย ก. ครูดไปกับขอบถนนข้างขวา เช่นนี้ ย่อมเป็นพยานแวดล้อมกรณี ซึ่ง “อาจอนุมาน” เอาช้อเท็จจริงได้ว่าเมื่อเกิดเหตุ นาย ก. ขับมาทางขวา เป็นต้น

และการรับฟังพยานแวดล้อมนั้น มีข้อจำกัดอย่างมากมาย กล่าวคือ รับฟัง “ประกอบ” พยานทั้งหลายให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น / รับฟังเมื่อบ่งชี้โดยแน่นอนไม่มีทางจะคิดเป็นอย่างอื่น / รับฟังว่าพยานฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากันเมื่อสองฝ่ายโต้เถียงกันโดยมีพยานเหตุผลหรือพยานแวดล้อมด้วยกัน หมายความว่า รับฟังประกอบ รับฟังประกอบ รับฟังประกอบ รับฟังประกอบ (ขีดเส้นใต้ 500 เส้น) เนื่องจากเป็นการ “อนุมาน” พยานแวดล้อมจึงมีคุณค่าในเชิงพิสูจน์ (Probative Value) "น้อยมาก"

การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์นั้น ศาลไม่สามารถใช้พยานแวดล้อมมาเป็นหลักในการพิจารณาได้ เพราะพยานแวดล้อมเป็นการ "อนุมาน" ว่า เหตุการณ์ความผิด "น่าจะเกิดขึ้น" และจำเลย "น่าจะเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดนั้น"

ประเด็นการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญานั้น "iLaw ไม่รู้ หรือ แกล้งทำเป็นไม่รู้ กันแน่"

iLaw บอกว่า.....

"การรับสารภาพ ตัดตอนการค้นหาความจริง"

"การที่ต้องรับสารภาพก่อนทำให้หลายคดีจำเลยตัดสินใจไม่สู้คดี รีบรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องเลือกวิธีนี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ได้รับอิสรภาพเร็วกว่า"

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีอาญาเอาไว้อย่างละเอียด ไล่เรียงตั้งแต่สิทธิขั้นต้นในกระบวนการของจำเลย ขณะโดนตำรวจจับกุม ไปจนถึงสิทธิขั้นปลายกระบวนการ อย่างการที่ศาลมีอำนาจอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย จำเลยจะสู้คดี หรือจะยอมรับว่ากระทำผิดจริง ไม่มีผู้ใดขู่เข็ญบังคับตัวจำเลย เมื่อจำเลยเลือกที่จะยอมรับว่าทำผิดจริง กฎหมายก็ต้องบอกว่าจำเลยรับสารภาพ ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิพิจารณาพิพากษาเป็นอื่นไปได้

iLaw บอกว่า.....

"โจ กอร์ดอน ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน จำเลยจะยืนยันว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด แต่เนื่องจากเขาไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีจนชนะได้ เพราะเขาเชื่อว่าคดีตามมาตรา 112 จะถูกพิจารณาด้วยอคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม จำเลยจึงเลือกใช้วิธีขอพระราชทานอภัยโทษ วันนัดขึ้นศาลครั้งแรก เมื่อศาลถามว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือไม่ จำเลยให้การต่อศาลว่า “ผมไม่ขอต่อสู้คดี” แต่ศาลต้องถามจนกว่านายเลอพงษ์จะยอมตอบว่า “รับสารภาพ” และสั่งลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับอิสรภาพ ทำให้จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และตำรวจใช้หลักฐานใดในการกล่าวหาว่าเขากระทำความผิด"

ความเชื่อของจำเลย ไม่สามารถเอามาเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายได้ เพราะความเชื่อคือจินตนาการ และจินตนาการของแต่ละคนมีมากน้อย ฟุ้งซ่านและสงบ ไม่เท่ากัน เมื่อจำเลยมั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ จำเลยต้องพิสูจน์ตัวเอง "ในแบบที่จำเลยคดีอาญาอื่นทำ" หากศาลพิจารณาพิพากษาด้วยความเชื่อและจินตนาการในแบบที่จำเลยกล่าวอ้าง โดยไม่มีวิธีพิจารณาที่ชัดเจน จำเลยคิดว่าจินตนาการและความฟุ้งซ่านดังกล่าว สามารถเอามาเป็นหลักในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ ดังนั้นการอ้างความเชื่อและจินตนาการของตัวเองให้เป็นหลักในการสู้คดีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

"นายธันย์ฐวุฒิฯ (หนุ่ม เรดนนท์) ต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี แม้ว่าหลักฐานในคดีของเขายังมีจุดอ่อนอยู่มาก แต่หลังยื่นอุทธรณ์ไปเกือบหนึ่งปีแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับอิสรภาพเมื่อใด นายธันย์ฐวุฒิฯ จึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์เพื่อยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับอิสรภาพจากการอภัยโทษในเวลาต่อมา"

"นายอำพล (อากง SMS) ถูกจับและถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ขณะที่นายอำพลฯ ยืนยันมาตลอดว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิดและต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษและไม่ให้ประกันตัว ต่อมานายอำพลจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ และยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ (ต่อมาเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังก่อนได้รับการอภัยโทษ) จนถึงวันนี้นายอำพลก็ยังไม่เคยได้โอกาสอย่างเต็มที่ในการพิสูจน์ตัวเอง"

คดีนายอำพลฯ ศาลยิ่งพิจารณาพิพากษาถึงเหตุผลในการลงโทษไว้อย่างชัดเจน ถึงพยานหลักฐาน "ทั้งพยานชั้นหนึ่ง" (Cell site แสดงพื้นที่ใช้โทรศัพท์ขณะกระทำความผิด / หมายเลข Imei / รายการรับส่ง SMS จากเครือข่ายโทรศัพท์ ที่พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องหนักแน่นโดยที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน) "พยานแวดล้อม" (คำรับของบุตรสาวจำเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่อง) "พิรุธในคำให้การจำเลย" (ให้การต่อศาลว่านำโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้านฯ แต่ไม่สามารถจำร้านได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นโรคความจำเสื่อม / การแสดงหลักฐานว่าเลข Imei สามารถปลอมแปลงได้ โดยที่เพียงแต่ Print out มาจากอินเทอร์เน็ต และไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญรับรองความถูกต้อง)

จำเลยทั้ง 3 รายข้างต้น (โจ/ธันย์วุฒิ/อำพล) ต่างใช้จินตนาการ และความเชื่อส่วนตัวเป็นฐานคิดในการสู้คดี ผลทางกฎหมายจากฐานคิดดังกล่าวคือ การยอมรับสารภาพ ยอมรับสารภาพหมายถึงการยอมรับว่าได้กระทำผิดตามฟ้องจริง หากจำเลยทั้งหมดข้างต้นบอกในทำนองว่า "ที่ยอมรับเพราะจะได้ออกจากคุกเร็วขึ้น ได้รับอิสรภาพเร็วขึ้น"

และหากจะอ้างว่า การล่าช้าของกระบวนการพิจารณาคดี คือการปฎิเสธความยุติธรรมของจำเลยนั้น ยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เมื่อล่าช้าก็ต้องทำให้รวดเร็ว ซึ่งปัญหาคือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ที่ปัจจุบันศาลมีคดีล้นมือ "แต่ไม่ใช่การล้มกระดานกระบวนพิจารณาแบบที่จำเลยแต่ละคนทำอยู่"

ฐานความคิดของจำเลยพวกนี้ "สมเจตนารมณ์ของหลักการทางกฎหมายเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่"

ประเด็นการรับสารภาพของจำเลยนั้น ไม่ใช่เหตุที่เป็นบรรทัดฐานของกฎหมาย ที่สามารถนำมาอ้างว่าจำเลยโดนปฎิเสธความยุติธรรม "iLaw ไม่รู้ หรือ แกล้งทำเป็นไม่รู้ กันแน่"

iLaw บอกว่า.....

"การยอมรับว่าการแสดงออกนั้นเป็นความผิด ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานการตีความ"

"บางกรณีจำเลยยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้องจริง แล้วเลือกที่จะรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด มากกว่าเลือกที่จะต่อสู้ว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติที่ควรจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวได้ว่า ไม่ต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา ตัวอย่างเช่น

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับเนื่องจากการปราศรัยในหลายพื้นที่ / สุชาติ นาคบางไทร ถูกจับเนื่องจากการปราศรัยที่ท้องสนามหลวง / นายวันชัย แซ่ตัน ถูกจับจากการแจกเอกสารแผ่นปลิว พวกเขาเลือกที่จะรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและยื่นขออภัยโทษในทันที และในปัจจุบันได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นอิสระแล้ว........

ขณะที่คดีที่เลือกต่อสู้ในประเด็นเนื้อหา คือ ยอมรับว่าตัวเองได้กระทำไปตามที่ถูกฟ้อง แต่เนื้อหาของสิ่งตัวเองที่แสดงออกนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และไม่เลือกขอพระราชทานอภัยโทษ เช่น นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, ดา ตอร์ปิโด, นางปภัสนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ (เจ๊แดง) หรือ นายเอกชัย ต่างก็ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ"

เมื่อคนที่เลือกต่อสู้ไม่เคยชนะ ทำให้คนอื่นๆ เลือกที่จะไม่ยืนยันต่อสู้ในประเด็นการตีความเนื้อหาและเลือกใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้น จึงไม่ค่อยปรากฏว่ามีคดีความตามมาตรา 112 ที่ขึ้นถึงศาลฎีกา และไม่มีแนวบรรทัดฐานของศาลที่วินิจฉัยว่าเนื้อหาแบบใดที่เป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด ทำให้พื้นที่ของการตีความมาตรา 112 ก็ยังเป็นแดนสนธยาที่ไม่ว่าอะไรเฉียดใกล้ก็ถือเป็นผิดไปหมด และผลักให้การเอ่ยถึงบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดต่อไป"

จำเลยมีสิทธิเลือก ว่าจะสู้ หรือจะถอย ไม่มีใครสามารถบังคับจำเลยได้ ระบบศาลยุติธรรมของไทยมีทั้งหมด 3 ศาล ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา อรรถคดีต่าง ๆ ล้วนได้รับการแก้ไขโทษ กลับคำพิพากษาศาลล่างโดยศาลสูง มาแล้วนับหมื่นคดี ศาลชั้นต้นอาจพิพากษาว่าจำเลยผิดจริง แต่ศาลฎีกาอาจจะไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาต่างเป็นผู้พิพากษาที่มีความช่ำชองในข้อกฎหมาย และสามารถมองเห็นความผิดพลาดบกพร่องของศาลล่างได้เสมอ เมื่อกติกาบอกไว้ และต่างคนต่างถือปฎิบัติมาโดยตลอด คดี 112 เป็นเพียงแค่มาตราหนึ่งในกฎหมายอาญาเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษไปมากกว่าคดีอื่น 

คดี 112 บางคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง บางคดีศาลยกฟ้อง นั่นหมายความว่า อัยการพิจารณาสั่งคดี และศาลพิจารณาพิพากษาคดีด้วยพยานหลักฐาน และข้อกฎหมาย ไม่ใช่อคติ และจินตนาการ

ประเด็นการยอมรับว่าการแสดงออกนั้นเป็นความผิด ทำให้ไม่มีบรรทัดฐานการตีความนั้น "iLaw ไม่รู้ หรือ แกล้งทำเป็นไม่รู้ กันแน่"

iLaw บอกว่า.....

"การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องแลกกับอิสรภาพระดับหนึ่งที่ไม่แน่นอน"

"สิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อกัน คือ ระหว่างที่ขอคำสั่งอภัยโทษนั้น นักโทษต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิด โดยการเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เลิกกิจกรรมรณรงค์ หรือยอมทำตัวให้เงียบเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกห้องขังนั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่ายิ่งคนที่เงียบเท่าไรก็ยิ่งได้รับอิสรภาพเร็วเท่านั้น"

"ยังมีข้อสังเกตอีกว่า ไม่ว่าจะเงียบเท่าไรก็ตาม กว่าคดีจะถึงที่สุด กว่าจะยื่นขอหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและรอคำสั่ง จนถึงวันที่ได้รับอิสรภาพจริง ก็ต้องแลกมากับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนเสมอ เช่น กรณีนายเลอพงษ์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 1 เดือน 18 วัน กรณีนายอำพล ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน 6 วัน ก่อนจะเสียชีวิต กรณีนายวันชัย ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 ปี 2 เดือน 1 วัน กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 3 ปี 3 เดือน 5 วัน (ระยะเวลานี้รวมช่วงเวลาที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น)"

"ขณะที่คดีในอดีต อย่าง กรณีนายแฮรี่ ก็ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 5 เดือน 19 วัน กรณีนายโอลิเวอร์ ต้องถูกจองจำอยู่ทั้งหมด 4 เดือน 6 วัน หรือกรณีของนายวีระ มุสิกพงศ์ ต้องถูกจองจำอยู่ประมาณ 1 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ"

ในส่วนนี้นั้น เราต้องแยกประเด็นพิจารณาในเรื่องของ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐบาลโดยการออกเป็นกฎหมายเรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ" และการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายนั้น ผู้ต้องโทษ ผู้มีส่วนได้เสีย (บิดา มารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยรัฐในตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอเรื่องไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 259-261)

ซึ่งมาตรา 259 ได้ระบุชัดอยู่ในตัวบทแล้วว่า "ผู้ต้องคำพิพากษาอย่างใด ๆ" หมายความว่า คดีอาญาใดก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้หมด ไม่จำกัดแต่เฉพาะคดี 112 เท่านั้น

จากหลักคิดที่ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายนั้น เป็นต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ ซึ่งแปลความหมายในตัวอยู่แล้วว่ามีความผิดตามกฎหมาย เมื่อคนที่กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยหลักแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องได้รับโทษ

น่าแปลกเหลือเกินว่า แทนที่จะต้องได้รับโทษ กลับมีนักกฎหมายบางกลุ่มบางคน กลับแสดงความเห็นไปในทำนองว่า "เหตุใดจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษช้า" คนทำผิดสมควรต้องเจียมตัว ไตร่ตรองสำนึกในความผิดที่ได้ทำลงไป ไม่ใช่ต่อว่ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษที่ล่าช้า

และ iLaw สรุปว่า.....

"การใช้ช่องทางยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ของนักโทษคดีมาตรา 112 นั้น เป็นช่องทางที่ช่วยให้นักโทษหลายคนได้รับอิสรภาพอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันช่องทางนี้ก็ต้องแลกกับการถูกจองจำเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นการจองจำที่ไม่มีหลักประกันและระยะเวลาที่แน่นอน ต้องแลกกับการยกเว้นเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองโดยการทำตัวให้เงียบที่สุด ต้องยอมรับว่าการแสดงออกของตัวเองนั้นไม่ใช่สิทธิแต่เป็นการกระทำความผิด และยอมสละสิทธิที่จะไม่ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความจริงบางประการ"

หากคนทำผิดไม่ได้รับการรับโทษ รอคอยแต่รับสารภาพเพื่อใช้ช่องกฎหมาย ออกมาทำผิดซ้ำ และไม่รู้สึกสำนึกในความผิดที่ตัวเองได้ก่อลงไป ประเทศนี้จะอยู่กันอย่างไร "เราต้องการอยู่กันด้วยหลักกฎหมาย หรืออยู่กันด้วยจินตนาการและความฟุ้งซ่านไร้สติ"

หากคิดว่าการแสดงออกของตนไม่เป็นความผิดแล้ว กระบวนการก็อนุญาตให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ มิใช่อ้างแต่ความล่าช้าเอาเป็นเหตุในการล้มโต๊ะล้มกระดานอยู่ร่ำไป

หากถามว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาในทางปฎิบัติหรือไม่ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าไม่มี แต่ต้องพิจารณาว่าปัญหาเกิดจากอะไร "ตัวบท" หรือ "วิธีการตีความ"

ตัวบทบอกว่า "........ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย........" ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น น่าสังเกตุเหลือเกินว่า ตัวบทไม่ได้ใส่คำว่า "วิจารณ์" ลงไปด้วย นั่นหมายความว่า การวิพากษ์วิจารณ์โดยอาศัยเสรีภาพทางวิชาการสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากวิจารณ์ในทางลบ ย่อมเป็นธรรมดาเหลือเกินว่า ผู้ถูกวิจารณ์ได้รับความเสียหาย หลักฐานที่จะนำมาสนับสนุนข้อวิจารณ์ในทางลบ จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ ประกอบด้วยเพื่อยืนยันว่าข้อวิจารณ์นั้นเป็นจริง

นักกฎหมายบางท่าน ยึดถือเอาคำพูดในระหว่างการพิจารณาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในคดี 112 เพียงคนเดียว มาเป็นสรณะ ".....ยิ่งจริง ยิ่งผิด......." คำพูดนี้ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจรับรองถึงความชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น เป็นเพียงความเห็นของผู้พิพากษาท่านนั้นเท่านั้น "ไม่ใช่แนวทางการพิจารณาคดีที่ออกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา" แต่อย่างใด

นั่นหมายความถึงว่าปัญญา 112 เกิดจากการตีวามของศาล/ผู้พิพากษา เช่นประเด็นในเรื่องการขอปล่อยชั่วคราว (ขอประกันตัว) ซึ่งโดยหลักนั้น ศาลไม่มีอำนาจสั่งขังจำเลยไว้ ก่อนมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีผิด เว้นแต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี/ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน/เกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น เป็นต้น (ป.วิ.อาญา มาตรา 108/1)

ปัญหาคือ การที่ศาล "นำข้อยกเว้นมาเป็นหลัก และนำหลักไปเป็นข้อยกเว้น" ในการสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว แทนที่จะเป็นหลักการเรื่องเสรีภาพของจำเลย และการห้ามปฎิบัติกับจำเลยดังเช่นผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

การพิจารณาการอนุญาตปล่อยชั่วคราวของศาล จะพิจารณาเงื่อนไขประกอบดังนี้คือ ความหนักเบาแห่งข้อหา/พยานหลักฐานที่ปรากฎ/พฤติการณ์แห่งคดี/ความเสี่ยงในการที่จำเลยจะหลบหนี/คำคัดค้านของพนักงานสอบสวน โจทก์ อัยการ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี (ป.วิ.อาญา มาตรา 108)

การรับฟังประกอบหมายความว่า "รับฟังทั้งหมด" โดยไม่ได้ให้น้ำหนักแก่เงื่อนไขหนึ่งมากกว่าอีกเงื่อนไขหนึ่ง ดังนั้นเหตุผลที่ว่า 112 เป็นคดีที่มีโทษหนัก ศาลจึงไม่ให้ประกัน นั้น เป็นเพียงหนึ่งในเหตุผลจากหลาย ๆ เหตุผลเท่านั้น มิใช่ว่าเมื่อทำการแก้ไขโทษให้ลดลง หรือแก้ไขตัวบทให้ออกจากหมวดความมั่นคงแล้ว ศาลจะให้ประกันต้วเสมอไป (หากศาลยังคงตีความในลักษณะนำข้อยกเว้นมาเป็นหลัก และนำหลักไปเป็นข้อยกเว้น แบบในปัจจุบัน)

ที่อธิบายมาทั้งหมด จะสื่อว่า เมื่อปัญหาอยู่ที่การใช้ และการตีความของคน แม้จะแก้ไขตัวบทสักเท่าใด หากยังใช้และตีความแบบเดิม ปัญหาก็ไม่ลดลง มีความจำเป็นและเหตุผลใด ที่จะต้องแก้ไขกฎหมายนี้ เพื่อลดความคุ้มครองประมุขของรัฐ ในฐานะ Head of State

ผมไม่ได้สะใจหรือเสียใจไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เพราะคนที่ทำผิดก็ต้องได้รับโทษ แต่หากไม่ทำผิดก็ต้องได้รับการยืนยันว่าบริสุทธิ์ และได้รับการปล่อยตัว หลักคิดมีอยู่ง่าย ๆ แค่นี้ แต่ผมได้เฝ้ามองถึง "เหตุผลและวิธีคิด" ของนักประชาธิปไตย ที่อ้างกฎหมายสำหรับคนอื่น แต่ใช้กฎหมู่สำหรับตนเอง

iLaw สื่อออกมาแล้ว รู้สึกราวกับว่า อ่านเรียงความของเด็กไม่รู้จักโต ที่เขียนฟ้องคุณครูในเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเอง โดยไม่ได้คิดว่าเพื่อนร่วมห้อง เค้ากำลังมองตัวเองในแบบไหน

ตั้งแต่อ่านข้อเขียนเกี่ยวกับกฎหมายมา ผมไม่เคยเจอข้อเขียนอันไหนที่ fail แบบนี้มาก่อนเลยครับ !!!

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท