BRN ปฏิเสธเอกราชจริงหรือ?(ตอน1) - เกาะติดกระบวนการสันติภาพปาตานีจากคนใน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อ่านคำแปลข้อเขียนของ อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม คลายข้อสงสัยทำไม BRN เรียกร้องการปกครองตนเอง(ออโตนอมี) บนผืนแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีการแยกตัวออกจากประเทศไทย อธิบายสาระสำคัญของสิทธิของประชาคมมลายูปาตานี แล้ว BRN ปฏิเสธเอกราชจริงหรือ? 

 
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 ทางบีอาร์เอ็น (BRN) ได้ยื่นคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อถึงรัฐบาลไทยโดยผ่านผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) เป็นที่คาดหวังว่า ทางฝ่ายไทยจะเอาไปวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน และจะได้ส่งคำตอบมาอย่างเป็นทางการในภายหลัง ไม่ว่าจะยอมรับเพื่อนำมาถกเถียงเรื่องดังกล่าวในการประชุมกลุ่มคณะทำงานร่วมกัน (Joint-Working-Group, JWG) ในครั้งที่ 5 
 
คำตอบดังกล่าวจะเป็นสิ่งยืนยันว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ จะเดินหน้าต่อไปหรือเป็นไปในทางตรงข้ามกัน
 
จนถึงขณะนี้ การเดินทางของกระบวนการสันติภาพเคแอล "ถูกระงับ" เป็นการชั่วคราว เพราะทางฝ่าย BRN ยังรอคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย ก่อนที่การพูดคุยจะสานต่อใหม่อีกครั้ง
 
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การที่การพูดคุยถูกระงับไปในครั้งนี้ เป็นมติการตัดสินจากสภาชูราของบีอาร์เอ็นที่ได้ประกาศในเดือนรอมฎอนโดยสมาชิกกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป
 
หลายฝ่ายรวมทั้งกองทัพ (ไทย), ฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์) และนักวิเคราะห์ข่าวบางราย ไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูลใดๆ ก็ได้สรุปไปแล้วว่า กระบวนการพูดคุยที่เคแอลได้ประสบกับทางตันหรือสิ้นสภาพไปแล้ว (ตามมุมมองของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเดอะเนชั่น) อีกทั้งเขาก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลควรทบทวนอย่างรีบเร่งถึงบทบาทของตัวเอง หรือไม่ก็หากลุ่มอื่น (ที่นอกเหนือจากกลุ่มปัจจุบันที่นำโดยท่านฮัสซัน ตอยิบ) เพื่อหาทางพูดคุยต่อไป
 
เขามองว่าข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อนั้น เป็นเรื่องที่เกินเลย และทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีความจงใจที่จะให้รัฐบาลไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะตัดสินใจลำบาก ก็เลยตัดสินใจปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยพลัน ในขณะเดียวกันทำให้กระบวนการสันติภาพต้องหยุดชะงักลง
 
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงจากทางฝ่าย BRN ก็คือ จากคำประกาศดังกล่าว มิได้หมายความว่าฝ่ายไทยจะต้อง ยอมรับ และ ดำเนินการ ตามข้อเรียกร้องหมดทั้ง 5 ข้อแต่อย่างใด แต่ทว่าเพียงขอให้ฝ่ายไทยนั้น ยอมรับ สิ่งเหล่านั้น เพื่อเป็นแก่นสารในการถกอภิปรายในการประชุมในครั้งต่อๆ ไป
 
จุดประสงค์ก็คือเพื่อต้องการให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลวางอยู่บนรากฐานที่ถูกต้อง
 
จนถึงขณะนี้เอกสารข้อมูลคำอธิบายของบีอาร์เอ็น (ประมาณ 20 หน้า) ฉบับภาษาอังกฤษยังไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนในประเทศไทยแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังหน่วยงานของรัฐบางหน่วยที่เกี่ยวข้อง เผื่อว่าเอกสารดังกล่าวนั้น จะถูกพิจารณาและถกเถียงกัน มีนักวิเคราะห์ข่าวบางรายได้เข้าถึงข้อมูลในเอกสารดังกล่าวในทางลับ และได้กลั่นกรองเพียงบางส่วนได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เหล่านั้น
 
เป็นที่แน่นอนไปแล้วก็คือ ประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกถกเถียงกันมากที่สุดก็คือข้อเรียกร้องเบื้องต้นประการที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ สิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติมลายูปาตานี (กรุณาอ่านคำอธิบายของผู้เขียนในหัวข้อดังกล่าวใน: http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4740 และฉบับแปลไทย - http://www.deepsouthwatch.org/node/4757)
 
ในบรรดาสาระสำคัญที่มีการระบุไว้ในข้อเรียกร้องประการที่ 4 ของเอกสารของ BRN 4 ได้แก่ 
 
1. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับว่าแผ่นดินปาตานีเป็น สิทธิ (เจ้าของ) ของประชาคมมลายูปาตานี
2. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดพื้นที่และโอกาสให้กับประชาคมมลายูปาตานีในการปกครองจังหวัดทางภาคใต้ ให้สอดคล้องกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right of Self-Determination) ผ่านหลักการการปกครองตนเอง (AUTONOMI) ที่มีการบริหารในฐานะเขตปกครองแบบพิเศษ (Special Administrative Region) ภายในประเทศไทย ตามแบบอย่างของรูปแบบการปกครองตนเองอย่างจำกัดที่ได้ลิ้มรสมาแล้วโดยเมืองกรุงเทพฯและเมืองพัทยา
3. บีอาร์เอ็นไม่ได้เรียกร้องเพื่อแยกตัวออกจากประเทศไทย
 
กล่าวโดยสรุปก็คือว่า หากเราอาศัยข้อมูลตามเอกสารดังกล่าว BRN เรียกร้องการปกครองตนเอง (ออโตนอมี) บนผืนแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีการแยกตัวออกจากประเทศไทยนั่นเอง
 
ตรงนี้นี่เองที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยและเครื่องหมายคำถามจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นในหมู่นักต่อสู้กันเอง นักเคลื่อนไหว นักวิเคราะห์สื่อ นักวิเคราะห์การเมือง ประชาชนทั่วไป และแม้แต่คนของทางการเอง เป็นไปได้อย่างไรกันที่ขบวนการต่อสู้อย่าง BRN ซึ่งได้ต่อสู้กับรัฐไทยด้วยกำลังอาวุธมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้มาซึ่งเอกราช จะยอมรับการปกครองตนเองภายใต้กฎหมายไทย? 
 
ขบวนการ BRN ได้ทอดทิ้งอุดมการณ์แห่งการปลดปล่อยและเอกราชเสีย โดยปรารถนาเพียงการปกครองตนเองเหมือนเช่นเมืองกรุงเทพฯและพัทยา เช่นนั้นหรือ? บางฝ่ายนั้นเกิดข้อสงสัยว่า ทางฝ่าย BRN อาจมีนัยยะซ่อนเร้นภายใต้ความพยายามเรียกร้องการปกครองแบบตนเองอะไรหรือไม่ หรือจะเป็นบันไดขั้นแรกก่อนที่จะเดินหน้าสู่ความเป็นอิสรภาพเต็มรูปแบบ?
 
ก่อนที่เราจะกล่าวอย่างอื่น คงจะเป็นการดีหากเราย้อนไปดูคำแถลงการณ์ที่ได้เผยแพร่ผ่านทางยูทูปไปแล้วก่อนหน้านี้ ภายหลังจากการลงนามข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2013
 
1. จากยูทูปคลิปที่1 :
 
“BRN คือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี เป้าหมายในการก่อตั้งขบวนการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวมลายูปาตานี เพื่อทำการรวบรวมชาวมลายูปาตานีภายใต้ความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งเดียวกัน ที่จะครอบคลุมไปถึงทุกกลุ่มชนของสังคม ในฐานะนักต่อสู้ชาวปาตานีด้วยกัน 
 
“หลังจากนั้นเราจะทำการรวบรวมชาติพันธุ์มลายูปาตานีที่มีอยู่ให้เป็นหนึ่งและที่ทรงพลัง จากนั้นเราก็จะได้รับความเป็นอิสรภาพ ซึ่งต่อไปเราคงจะได้รับอิสรภาพในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเราจะสามารถปกครองด้วยตัวเราเองด้วยความยุติธรรมที่สุด ไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม 
 
“ด้วยเหตุนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผมขอความร่วมมือจากประชาชนชาวมลายูปาตานีทุกเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นคนสยามก็ดี คนมลายูก็ดีและคนจีนเองที่มีอยู่ในปาตานี อย่าได้วิตกกังวลใจต่อการสร้างความยุติธรรมครั้งนี้เลย”
 
“นั่นคือภาพรวมอย่างคร่าวๆของ BRN เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมความเจริญรุ่งเรืองตลอดจนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐในที่สุด
بَلْدَةٌ طَيِّبَةٌ وَرَبٌّ غَفُورٌ "–อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ
 
2. จากยูทูปคลิปที่2
 
“ด้วยเหตุนี้ขบวนการ (BRN) เพื่อการปลดปล่อยปาตานีจากการยึดครองของสยามก็ได้กำเนิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราพร้อมที่จะเสียสละทั้งเลือดเนื้อและทรัพย์สิน ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและอิสรภาพของปาตานีจากการยึดครองของสยาม” - ฮัจญี อาดัม มูฮัมหมัดนูร - ตัวแทน BRN
 
 
3. จากยูทูปคลิปที่ 3:
 
 
“หลังจากสยามทำให้ปาตานีตกเป็นอาณานิคม และปกครองด้วยการกดขี่และความโหดร้าย องค์กร BRN ก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีในประชาชน (ปาตานี) รวมตัวกันในการต่อสู้ปลดปล่อยชาวปาตานีจากการปกครองแบบอาณานิคมของสยาม” อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ
 
จากทั้งคลิปทั้งสามดังกล่าวข้างต้น เราสามารถสรุปได้ว่า จุดประสงค์ของการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็นนั้นก็เพื่อหลอมรวมชาวมลายูปาตานีให้มีความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสรภาพจากอาณัติของนักล่าอาณานิคมและสถาปนาการปกครองเสมือนเช่นประเทศหนึ่ง
 
ควรกล่าวด้วยว่า องค์กรที่ต่อสู้เพื่อปาตานีกลุ่มอื่นๆก็มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นขบวนการ PULO (Patani United Liberation Organisation) BIPP (Barisan Islam PembebasanPatani) GMIP (Gerakan Mujahidin Islam Patani) ทั้งหมดนั้นได้จัดวางการปลดปล่อย (Liberation)ในฐานะที่เป็นแนวทางและกำหนดให้อิสรภาพ (independence) เป็นเป้าหมายสูงสุด 
 
หากจะมีความแตกต่างในหมู่พวกเขาอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นเพียงความต่างในแง่ของยุทธศาสตร์และวิธีการเพียงเท่านั้น บางกลุ่มมุ่งเน้นต่อสู้ด้วยอาวุธ มีไม่น้อยที่เน้นไปที่การทำงานทางการทูตกับต่างประเทศ (ระดับนานาชาติ) และมีบางกลุ่มเช่นกันที่มุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างงานทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (การศึกษา) เศรษฐกิจชุมชนและการจัดตั้งมวลชนโดยทั่วไปแล้ว บรรดาองค์กรเหล่านี้จะมีจุดยืนที่หนักแน่นว่าจะไม่ประนีประนอมไม่ให้ความร่วมมือและจะไม่มีการต่อรอง (เจรจา) ใดๆ ทั้งสิ้นกับรัฐไทย
 
จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่านับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาประมาณ 50 ปีที่แล้วองค์กรต่อสู้เพื่อปลดแอกปาตานีทั้งหมด ยังคงยืนหยัดกับเป้าหมายเดิมคือความเป็นอิสระ จนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีองค์กรใดออกมายกเลิกความตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายของอิสรภาพอย่างเป็นทางการ
 
แต่อยู่ๆ ประชาชนปาตานีก็ต้องตื่นตระหนกกับท่าทีของ BRN ที่ได้ตกลงจะเข้าร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลกับรัฐบาลไทย เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ และข้อสันนิษฐานจากหลายๆ ฝ่ายซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปกันไปแล้ว 
 
ตลอดระยะเวลาของกระบวนการนี้ดำเนินอยู่ สิ่งที่ไม่คาดฝันก็ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนสมาชิกคณะการพูดคุยท่านอื่นๆของ BRN ที่ปรากฏตัวขณะที่มีการลงนาม (คนอื่นที่ไม่ใช่อุซตาสฮัสซัน ตอยิบ) บางคลิปวิดีโอของ BRN ที่เผยแพร่ผ่านยูทูปอย่างการริเริ่ม “หยุดยิง” ในเดือนรอมฎอน การระงับการพูดคุยโดยอาศัยมติจากสภาชูราของบีอาร์เอ็น และล่าสุดในตอนนี้ก็เป็นเอกสารอธิบายเกี่ยวกับข้อการเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ข้อ
 
ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร? หรือจะเป็นเรื่องจริงตามความคาดเดาจากบางฝ่ายที่ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เคแอลนี้เป็นการจัดฉาก? อะไรคือทัศนะที่แท้จริงของ BRN และองค์กรอื่นๆที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจาดังกล่าว (PULO และ BIPP)? ฝ่ายไทยจะปฏิบัติตามความต้องการของ BRN หรือไม่? มาเลเซียในฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกจะมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่อย่างไร?
 
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามในการแสวงหาตามอุดมการณ์แห่งเสรีภาพและความเป็นอิสรภาพของ BRN และกลุ่มพันธมิตรจะมีการยอมรับการปกครองตนเองที่อยู่ภายใต้การปกครองของไทยนั้น จะมีความเป็นไปได้หรือ?
 
 
ทั้งหมดนี้จะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้งในตอนที่ 2 เร็วๆนี้
 
น้ำส้มสายชูและน้ำผึ้ง - จากนอกรั้วปาตานี
ซุลฮิจญะฮ์ / ตุลาคม 2013
 
 
หมายเหตุ: กรุณาดูต้นฉบับเดิม “BRN TOLAK MERDEKA ? (Bahgian1)” ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4821
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท