Skip to main content
sharethis

กกจ.ลั่นยืนข้าง รง.ไทยจากสวีเดน ยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลาง

(8 ต.ค.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวภายหลังแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าตระกูลเบอร์รี ที่ประเทศสวีเดน มายื่นหนังสือเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากได้รับค่าจ้างไม่ครบตามสัญญาจ้าง ว่า เป็นแรงงานที่ไปเก็บผลเก็บผลเบอร์รี ที่ประเทศสวีเดน โดยผ่านบริษัทจัดหางาน ทั้งหมด 6,100 คน และมีปัญหากับนายจ้างจำนวน 240 คน เนื่องจากไม่พอใจที่ได้รับเงินค่าจ้างไม่ครบตามสัญญาจ้าง จนออกมาชุมนุมประท้วง และหนีออกจากที่พักคนงาน ส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างฝ่ายต่างละเมิดสัญญาจ้าง โดยเรื่องนี้จะต้องยื่นเรื่องต่อศาลแรงงานกลางในการพิจารณาชี้ขาดคดี เพราะนายจ้างยืนยันจะจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่ตามจำนวนที่เก็บผลเบอร์รีได้ เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอเท่าเงินประกันที่คนงานต้องได้รับเดือนละไม่ต่ำกว่า 85,000 บาท ทั้งนี้หากคำนวณจากระยะเวลา 2 เดือนที่แรงงานต้องเก็บผลไม้ นายจ้างยังค้างจ่ายค่าจ้างเฉลี่ยคนละกว่า 1 แสนบาท โดยกรมการจัดหางาน ยืนยันจะยืนอยู่ข้างแรงงานในการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อไป
      
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีกในปีหน้า สำหรับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนที่เกินความต้องการ จนผลไม้ราคาตกต่ำ และมีแรงงานไทยออกมาชุมนุมประท้วง โดย กกจ.จะหารือรัฐบาลสวีเดน และฟินแลนด์ ว่า มีความต้องการแรงงานไทยไปเก็บผลเบอร์รีจำนวนเท่าใด และให้ออกวีซ่าตามความต้องการ (โควตา) และต้องการรับซื้อผลเบอร์รีเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อไม่ให้แรงงานไทยเดินทางไปแย่งกันเก็บผลเบอร์รี จนทำให้ราคาตกต่ำ ซึ่งจะทำแรงงานไทยมีรายได้แน่นอน ส่วนประเทศฟินแลนด์จะต้องเจรจาให้มีการจัดส่งคนงานผ่านระบบรัฐต่อรัฐ จากปัจจุบันที่เดินทางไปเก็บผลไม้แบบวีซ่าท่องเที่ยว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-10-2556)

ครม. อนุมัติปรับอัตราเงินเดือนลูกจ้าง สพฐ.

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมการประชุม ครม. ว่า ครม. อนุมัติหลักการให้ปรับอัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายเดือน นักการภารโรง และบุคลากรอื่น ๆ ที่ได้รับค่าจ้างรายวันหรือรายเดือน ในลักษณะจ้างเหมา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. โดยมีสาระสำคัญ คือ ผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มขึ้น รวมเป็นค่าจ้าง เดือนละ 15,000 บาท จากเดิม ได้รับ 9,140 บาท ส่วนผู้มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพเพิ่มขึ้น รวมเป็นค่าจ้าง เดือนละ 9,000 บาท จากเดิม วุฒิอนุปริญญา ได้รับ 6,410 บาท และ ปวช. ม.3 และ ม.6. ได้รับ 5,700 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. 55 - 30 ก.ย. 56 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท ต่ำกว่าปริญญาตรีขั้นต่ำ 9,000 บาท ของรัฐบาล

นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างในลักษณะจ้างเหมา พิจารณาความจำเป็นหากต้องปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เสนอความต้องการ ผ่านคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม. ต่อไป

(ไอเอ็นเอ็น, 8-10-2556)

สอศ.เล็งของบประมาณกลางพัฒนากำลังคน-รองรับ 2 ล้านล้านบาท

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตั้งกรรมการระดับกระทรวง โดยมีสำนักงานคณะกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อหารือเรื่องการผลิตกำลังคนรองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมและการขนส่งมูลค่า 2 ล้านล้านบาท โดยได้มีการวิเคราะห์ว่า ภายใน 7 ปีต้องการกำลังคนระดับประกาศนียับตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) กว่า 100,000 คน เฉพาะ 3 ปีแรกต้องการกำลังคนมากกว่า 70,000 คน เพื่อรองรับโครงการใหญ่ดังกล่าวของรัฐบาล แต่ สอศ.มีกำลังผลิต ปวช. และ ปวส.ในสาขาที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง แค่ประมาณ 6,000 คนต่อปี และ สอศ.ก็ไม่มีงบประมาณสำหรับเพิ่มการผลิตกำลังคนตามยอดที่โครงการใหญ่ต้องการ ขณะที่ภารกิจในการผลิตกำลังคนตรงนี้เป็นภารกิจของ สอศ.โดยตรงฉะนั้น สอศ.จะเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับเพิ่มกำลังผลิตแรงงานฝีมือของ สอศ.

"ในตัวเลขงบประมาณของโครงการ 2 ล้านล้านบาทนั้น มีแต่งบประมาณก่อสร้างล้วนๆ ไม่มีงบพัฒนากำลังคนรองรับการก่อสร้างและการบำรุงรักษาระบบเลย ซึ่งการโหมผลิตแรงงานฝีมือล็อตใหญ่อย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับการก่อสร้าง รวมถึงการพัฒนาแรงงานในตลาดแรงงานให้เข้ามาทำงานในโครงการนี้ได้ ต้องใช้งบประมาณพอสมควร ซึ่งงบประมาณปกติที่ สอศ.ได้ประจำปีไม่สามารถแบกรับได้ เพราะฉะนั้น สอศ.จะเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินให้ สอศ. โดยอาจใช้วิธีกำหนดไว้ในทีโออาร์เลยว่า บริษัทเอกชนที่ชนะประมูลโครงการนี้ ต้องเตรียมงบประมาณสำหรับพัฒนากำลังคนไว้แล้วทำงานร่วมกับภาครัฐและ สอศ.ในการพัฒนากำลังคน หรือรัฐบาลอาจนำงบกลางมาใช้แทน ปัญหาคือยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม นั้น ต้องการกำลังคนรองรับจำนวนเท่าใด ในสาขาอะไรบ้าง" เลขาธิการ กอศ.กล่าว

(มติชนออนไลน์, 8-10-2556)

แรงงานนับพันในอมตะนครได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ  ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยธรรมชาติ ว่า ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นที่ชั้น 11 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่รวบรวมผลกระทบและวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเป็นระบบ หากผู้ประสบอุทกภัยต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อมายังศูนย์ดังกล่าวได้ ที่สายด่วน 1506 และ1546  ล่าสุดมีรายงานว่าสถานประกอบการ 606 แห่ง ลูกจ้าง 10,272คน ได้รับผลกระทบ ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครนายก สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี แบ่งเป็น สถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยหยุดงานชั่วคราว 11 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 731 คน ,สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบบางส่วน เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสถานประกอบการ ที่พักลูกจ้าง และเส้นทางในการเดินทางไปทำงาน จำนวน 439 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 3114 คน ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรีนั้น มีน้ำทะลักเข้าในนิคมบริเวณเฟส 7-9 แต่ไม่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ และยังไม่มีน้ำทะลักเข้าโรงงาน  มีเพียง 2 แห่ง ลูกจ้าง 1,000 คน ที่ประสบปัญหาเรื่องการเดินทางไปทำงาน

นายจีรศักดิ์  กล่าวด้วยว่า  จากการติดตามสถานการณ์และช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย ยังไม่พบมีเรื่องร้องเรียนว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ ได้มอบหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เดินทางไปแจกถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ใน อ.พิมาย กับ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ขณะที่มาตรการช่วยเหลือ กระทรวงแรงงานได้วางมาตรการช่วยเหลือไว้ 2 ระยะ คือ ช่วงน้ำท่วม จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ทั้งการมอบถุงยังชีพ ให้คำปรึกษา ประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยน้ำท่วมในศูนย์พักพิงต่างๆ และประสานโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม รักษาผู้ประกันตนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงขอความร่วมมือนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยหยุดงานโดยไม่ ถือเป็นวันลา หรือการเดินทางมาทำงานล่าช้าได้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ส่วนหลังน้ำลดจะจัดกิจกรรมเยียวยาผู้ประสบภัย อาทิ การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ ฝึกอาชีพ จัดนัดพบแรงงาน พร้อมทั้งนำโครงการส่งเสริมการจ้างงาน มาช่วยนายจ้างไม่ให้เลิกจ้างลูกจ้าง.

(เดลินิวส์, 9-10-2556)

กมธ.ต่างประเทศร้อง ก.แรงงาน ก.ต่างประเทศ ช่วยเหลือแรงงานไทยในฟินแลนด์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นำแรงงานไทยในประเทศฟินแลนด์กว่า 20 คน ร่วมแถลงข่าวโดยระบุว่า ขอเรียกร้องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานไทยในฟินแลด์ว่า มีบริษัทจ้างงานจากประเทศฟินแลนด์ได้มาติดต่อหาแรงงานในพื้นที่ภาคอีสานโดย เฉพาะ จ.ชัยภูมิ ให้เข้าไปทำงานเก็บลูกบลูเบอร์รี่ ได้มีการตกลงค้าจ้างกันแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่ตกลง
 
จากนั้นบริษัทจ้างงานก็ไม่มีการรับผิดชอบแต่อย่างใด ส่งผลให้แรงงานต้องใช้ชีวิตด้วยความลำบากในต่างประเทศ ซึ่งก่อนเดินทางแรงงานไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 65,000 บาท จึงต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานช่วยเหลือ
 
อีกทั้งจะทำหนังสือไปยังนายกฯ ให้หามาตรการช่วยเหลือแรงงานและดูในเรื่องของข้อกฎหมายเพื่อฟ้องร้องบริษัท จัดหางาน และหามาตรการควบคุมบริษัทจัดหางานในต่างประเทศในระยะยาวด้วย

(มติชนออนไลน์, 9-10-2556)

จี้ "บัวแก้ว-แรงงาน"ช่วยแรงงานไทยถูกหลอกในฟินแลนด์

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่รัฐสภา นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่าตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานไทยที่ไปเก็บลูกบลูเบอรี่ ที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานโดยเฉพาะ จ.ชัยภูมิ ว่า ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ คือ วันละ 108 ยูโร ทำให้เป็นหนี้สิน เนื่องจากต้องกู้ยืมเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางคนละ 68,000 บาท โดยคนงานเหล่านี้อ้างว่าได้รับการติดต่อจากผู้ประสานงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานของฟินแลนด์  และมีการฝึกอบรมที่สำนักจัดหางาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ที่น่าสังเกตคือการขอวีซ่าเป็นการขอไปในฐานะนักท่องเที่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน และนายอภิชัย เป็นผู้ยื่นกระบวนการขอวีซ่าเอง โดยที่คนงานไม่ต้องแสดงตัว ซึ่งแรงงานไทยที่ไปเก็บลูกบลูเบอรี่ในฟินแลนด์มีจำนวน 2,745 คน ส่วนกลุ่มแรงงานที่ร้องเรียนกลุ่มนี้มี 73 คน โดยยังมีปัญหาและไม่ได้เดินทางกลับประเทศไทยอีก 16 คน

นายสุนัย กล่าวต่อว่า กมธ.ต่างประเทศ จึงมีข้อสรุปโดย 1.ขอให้อธิบดีกรมการจัดหางานได้ช่วยดูแลแรงงานที่ยังมีปัญหา ให้ได้เดินทางกลับประเทศทั้งหมด 2.ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน พิจารณาข้อกฎหมาย เพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายให้กับแรงงานจากบริษัทดังกล่าว และ 3.ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน วางแผนป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงแรงงานในลักษณะอีก นอกจากนี้ตนจะทำหนังสือถึง รมว.ต่างประเทศ และ รมว.แรงงาน พร้อมทั้งส่งสำเนาไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อวางแนวทางจัดการในอนาคต เช่นเดียวกับที่เคยมีการตกลงกันระหว่างไทยกับสวีเดน เนื่องจากขณะนี้เกิดปัญหาแรงงานที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเก็บผลไม้ป่า และไส้เดือนที่ต่างประเทศจำนวนมาก.

(เดลินิวส์, 9-10-2556)

ซ่อมรถไฟเหนือสะดุดเหตุขาดแรงงาน

เมื่อวัน 10 ต.ค. นายอุดม เหมาเพ็ชร วิศวกรกำกับการกองบำรุงทาง เขตลำปาง ประจำสำนักงานแขวงบำรุงทางลำปาง การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในพื้นที่เขตรับผิดชอบของสำนักงานแขวงบำรุง ทางลำปาง ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และลำพูน หลังปิดเส้นทางรถไฟในสายเหนือ มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ผ่านไปแล้ว 24 วัน การดำเนินงานคืบหน้าไปกว่า 35 % แล้ว ซึ่งคนงานได้เร่งรื้อไม้หมอนเก่าออก แล้วใส่ไม้หมอนคอนกรีต ขนาด 100 ปอนด์เข้าไป ส่วนรางนั้น ยังคงใส่รางเดิมเข้าไปชั่วคราว เพื่อให้มีการเปลี่ยนไม้หมอนคอนกรีตให้หมดก่อน จึงจะทำการใส่รางใหม่เข้าไปทุกเส้นทาง ซึ่งเหตุที่จะต้องใส่รางเก่าเข้าไป ก็เพื่อให้รถไฟโบกี้บรรทุก สามารถวิ่งเข้าไปส่งคนงาน และวัสดุซ่อมแซมได้

นายอุดม กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า ในการดำเนินงานดังกล่าวนั้น ถือว่าได้เกิดความล่าช้ากว่าแผนที่ตั้งเป้าไว้ ประมาณ 10 % เนื่องจากขณะนี้ กำลังประสบปัญหาคนงาน ที่เข้ามาทำงานในแต่ละจังหวัด เกิดขาดแคลนอย่างมาก เพราะแรงงานเดิมมาจากจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ขอลากลับบ้าน เพื่อไปช่วยครอบครัวที่ประสบภัยน้ำท่วมทำให้ต้องหาแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ หรือในแต่ละจังหวัด ให้เข้ามาเสริมงาน ตลอดทั้งต้องเร่งซ่อมแซมทางรถไฟในแต่ละจังหวัดแทน

อย่างไรก็ตาม ในการซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในสายเหนือ ถึงแม้จะเหลือระยะเวลาดำเนินการอีก 22 วัน มั่นใจว่า จะสามารถเร่งซ่อมแซมเส้นทางรถไฟ ให้แล้วเสร็จทันกำหนด 45 วัน ในการปิดเส้นทางรถไฟในสายเหนือ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.นี้ อย่างแน่นอน และจะสามารถเปิดเดินรถไฟไปยัง จ.เชียงใหม่ ตามปกติ ได้ในวันที่ 1 พ.ย. 2556

(โพสต์ทูเดย์, 10-10-2556)

คณะตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเข้าพบ รมว.ศธ. ขอปรับเงินเดือน ระยะเวลาสัญญาจ้าง และกรณีการขอเครื่องราชฯ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. มีรายงานว่า รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และคณะตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าพบ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ยื่นหนังสือแจ้งข้อมูลความเหลื่อมล้ำเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับ บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งหมด 165,341 คน มีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 33,649 คน นอกจากนั้น เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและบุคลากรประเภทอื่นๆ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนที่มากที่สุด เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2542 ที่ให้จ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี พ.ศ.2545

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ขอความเป็นธรรม คือ 1. ขอให้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในอัตราที่เท่ากับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อื่นในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการปรับเพิ่มในปี พ.ศ.2554 จำนวน 2 ครั้ง (8% และ 5%) แต่ปรับเพิ่มให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในปี พ.ศ.2554 เพียงหนึ่งครั้ง (5%) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจในการทุ่มเททำงานแก่ข้า ราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งสายอาจารย์และสายสนับสนุน

2. ขอให้เพิ่มระยะเวลา สัญญาจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่จ้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินรายได้ เพราะบางมหาวิทยาลัยมีระยะเวลาจ้างเพียง 3-5 ปี ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจทำให้ขาดเสรีภาพทางวิชาการ และการวิพากษ์วิจารณ์ อิสระทางวิชาการ ศักดิ์ศรี และความไม่มั่นคงในอาชีพ รวมทั้งสัญญาจ้างระยะสั้นส่งผลให้การทำธุรกรรมต่างๆ ไม่มีความน่าเชื่อถือ

3. การไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งตามมติ ครม. ต้องให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับสายวิชาการ และ 1.5 เท่าสำหรับสายสนับสนุน ปัญหานี้เกิดมานานกว่า 14 ปี เพราะรัฐบาลให้งบประมาณเงินเดือนแก่มหาวิทยาลัยจ่ายจริง 1.5-1.7 แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ปฏิบัติตาม โดยจ่ายเพียง 1.0-1.5 โดยนำเงินที่ได้รับมาหักไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

4. การขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ยังมิได้มีการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอรับพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์ที่ชัดเจน

5. การได้รับสิทธิประโยชน์ที่รัฐฯ มอบให้มีความเหลื่อมล้ำ พบว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมถึงพนักงานมหาวิทยาลัย เช่น เงินรางวัล (เงินพิเศษโบนัส) ที่รัฐบาลมอบให้บุคลากรของรัฐที่สร้างสรรค์ผลงานให้แก่องค์กร โดยผลงานเกิดจากพนักงานมหาวิทยาลัยแต่โบนัสกลับมิได้ถูกจัดสรรแจกจ่ายให้แก่ พนักงานมหาวิทยาลัย

6. สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ที่อยากให้ใช้โมเดลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ทำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปแล้ว

7. สิทธิ์ในการโยกย้ายมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่มีระเบียบชัดเจน

(ไทยรัฐออนไลน์, 10-11-2556)

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพร้อมเปิดศูนย์พักพิงให้ผู้ประสบอุทกภัย

11 ต.ค.- นายกรีฑา สพโชค รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งการร่วมรับบริจาคสิ่งของ จัดทำสุขาลอยน้ำ รวมทั้งได้สั่งการให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศในการจัดชุด เฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วเพื่อช่วยอพยพสิ่งของ เดินสายไฟในบ้านให้สูงกว่าระดับน้ำ พร้อมทั้งจัดศูนย์พักพิงภายในศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงสถานที่จอดรถ เนื่องจากหน่วยงานในสังกัดมีที่พักและสถานที่ในการฝึกอบรมที่สามารถให้ ประชาชนมาพักอาศัยชั่วคราวได้ ขณะเดียวกันกำลังเร่งสำรวจรถบรรทุกในศูนย์และสถาบันต่าง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใดเพื่อจัดให้เพียงพอและกระจายไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ อย่างเป็นระบบ
 
ขณะเดียวกันยังเตรียมฝึกอาชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยตามความเหมาะสมของ พื้นที่ ก่อนจะส่งต่อให้กรมการจัดหางานช่วยหางานให้ โดยหลังน้ำลดจะมีบริการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องมือทางการเกษตร และซ่อมแซมบ้านเรือนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

(สำนักข่าวไทย, 11-10-2556)

กสร.เผยน้ำท่วมกระทบโรงงาน 393 แห่ง ลูกจ้าง 6,392 คน ปิดชั่วคราว 2 แห่ง

นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบใน 9 จังหวัด คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครนายก อุบลราชธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี บุรีรัมย์ สระแก้ว และปราจีนบุรี รวม 845 แห่ง กระทบลูกจ้าง 13,862 คน และปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 393 แห่ง ลูกจ้าง 6,392 คน โดยในจำนวนนี้มีสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ที่ปิดกิจการชั่วคราวจำนวน 2 แห่ง ลูกจ้าง 1,000 คน เนื่องจากน้ำท่วมทางเข้าสถานประกอบการ ทำให้คนงานเดินทางมาทำงานไม่ได้ ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบนั้น ไม่ได้ถูกน้ำท่วมภายในสถานประกอบการ แต่น้ำท่วมบ้านคนงาน หรือทางเข้าสถานประกอบการ ทำให้คนงานเข้ามาทำงานไม่ได้

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า ส่วนการร้องเรียนเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียน เนื่องจากน้ำท่วมในช่วงสั้นๆ ยังไม่ถึงช่วงการจ่ายค่าจ้าง โดยทาง กสร.ได้ทำหนังสือถึงนายจ้างเพื่อขอความเห็นใจให้กับลูกจ้างที่ไม่สามารถเดิน ทางมาทำงานได้ โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีการร้องเรียนเรื่องการจ่ายค่าจ้าง เนื่องจากปัจจุบันนายจ้างต้องการรักษาลูกจ้างไว้ แต่หากมีการร้องเรียน กสร.พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยทันที             

ด้านนายกรีฑา สพโชค รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า กพร.มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งการร่วมรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือประชาชน การจัดทำสุขาลอยน้ำ รวมทั้งได้สั่งการให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ออกเป็นชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วเ พื่อช่วยประชาชนอพยพสิ่งของ เดินสายไฟภายในบ้านให้สูงกว่าระดับน้ำ และจัดทำศูนย์พักพิงให้ประชาชนภายในศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงสถานที่ในการจอดรถ เนื่องจากหน่วยงานในสังกัดมีที่พักและสถานที่ในการฝึกอบรม ซึ่งสามารถให้ประชาชนมาพักอาศัยชั่วคราวได้
 
ขณะเดียวกันกำลังเร่งสำรวจรถบรรทุกในศูนย์และสถาบันต่างๆ ว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อจัดให้เพียงพอและกระจายไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเป็นระบบ และเตรียมฝึกอาชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยตามความเหมาะสมของพื้นที่ จากนั้นส่งต่อให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ช่วยหางานให้ อีกทั้งหลังจากน้ำลดจะมีบริการซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับความเสียหาย โดเยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องมือทางการเกษตรและซ่อมแซมบ้านเรือน

(มติชนออนไลน์, 11-10-2556)

แรงงานชัยภูมิร้อง "เฉลิม" ฟันจัดหางานหลอกคนไทยลอยแพฟินแลนด์

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 12 ต.ค. 56 นายทองแดง สายสังข์ ตัวแทนชาวบ้านพร้อมกลุ่มแรงงานชาวไทยที่เดือดร้อนใน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กว่า 100 คน ที่ได้รับผลกระทบถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศจากนายหน้าและบริษัทจัดหางาน ได้พากันเดินทางมาร่วมตัวกันชุมนุมเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ที่ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแก้งคร้อ เพื่อขอความช่วยเหลือเร่งด่วน ผ่านนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ชัยภูมิ และอดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.สาธารณสุข เพื่อประสานขอความช่วยเหลือไปยัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมต.แรงงาน ช่วยเร่งดำเนินการติดตามความคืบหน้าด้านการช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดือดร้อน

ทั้งนี้ วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้เสียหาย จาก 99 ราย ได้พากันเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ต.ธีรวัฒน์ คนอุตสำห์ พนักงานสอบสวนสภ.แก้งคร้อ ให้ดำเนินคดีกับนายประเสริฐ์ กิ่งคำ ที่มีพฤติกรรมเป็นนายหน้าหลอกลวงว่าสามารถส่งคนไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ ประเทศฟินแลนด์ได้ ในนามบริษัทจัดหางานมาจามัติติออย(MARJA-MATTI OY) โดยต้องเสียเงินเป็นค่าเดินทางให้กับบริษัทจัดส่งไปให้รายละไม่น้อยกว่า 65,000 -115,000 บาท และรับจะดำเนินการนัดให้ไปเดินทางขึ้นเครื่องบินไปทำงานที่ต่างประเทศดัง กล่าวได้ภายในไม่เกินวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมาจนปัจุบันที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้เดินทางไปทำงานได้

ขณะนี้ นายประเสริฐ ถูกตามจับกุมได้ แต่ปฏิเสธที่จะคืนเงินให้ผู้เสียหายทั้ง 99 ราย เพราะถูกหัวหน้า นำเงินหลบหนีออกนอกประเทศไปอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์แล้ว โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน ต้องการให้ดำเนินการติดตามเงินทั้งหมดคืนมาโดยเร็ว

ด้านนายสุรวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รายงานเรื่องทั้งหมดให้ร.ต.อ.เฉลิม ทราบปัญหาแล้ว และด้านบริษัทจัดหางานรายนี้ก็ได้ติดต่อมาล่าสุดว่า ขณะนี้ขอเวลาที่จะเร่งดำเนินการหาเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยมาคืนให้แรงงาน ทั้งหมดโดยเร็วต่อไป

(เนชันทันข่าว, 12-10-2556)

คปก.แนะวิธีแก้ปมแรงงานต่างด้าวเจ๋งสุด ขึ้นทะเบียนผู้ลักลอบให้เข้าสู่ระบบ

นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวว่า มองว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ให้กระทรวงแรงงานขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบเข้ามาทำงานประเทศไทย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากมาจดทะเบียนเพื่อให้เข้าสู่ระบบ เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยให้นายจ้างนำลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคมเพื่อให้ได้รับการดูแลตาม หลักสากลและเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และมีบทลงโทษสำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตาม จากนั้นหากสถานประกอบการมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ก็ให้นำเข้าแรงงานต่าวด้าวผ่านบันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู)

(มติชนออนไลน์, 13-10-2556)

ปลัด ก.แรงงานคาดรู้ผลสอบกรณี รพ.ประกันสังคมไม่รับทำคลอดสัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการเลขาธิการปะกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในระบบประกันสังคมปฏิเสธการรักษา นางชลธิชา วรรณทิพย์ อายุ 31 ปี หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเจ็บท้องก่อนกำหนด ซึ่งเป็นผู้ประกันตน เนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลทำให้ต้องคลอดลูกเองที่ห้องพักส่งผลให้ เด็กเสียชีวิตว่า ได้สั่งการให้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไปตรวจสอบเวชระเบียนการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรฐาน การรักษาซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาที่ทำกับประกันสังคมหรือไม่ รวมทั้งดูด้วยว่ามีการกระทำผิด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางการแพทย์ เพราะปฏิเสธการรักษาหรือไม่

และหากโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ใน สัญญาของ สปส. ในการกระทำผิดครั้งแรกจะลงโทษโดยการตักเตือนและลดโควต้าผู้ประกันตน ถ้ายังกระทำผิดซ้ำก็จะมีโทษถูกยกเลิกการเป็นคู่สัญญากับ สปส.และถ้ากระทำผิด พ.ร.บ. ทางการแพทย์ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตการรักษา โดยคาดว่าจะรู้ผลการตรวจสอบเรื่องนี้ในสัปดาห์นี้
    
นายจีรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ระเบียบปัจจุบันของ สปส.นั้นผู้ประกันตนสามารถคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ในระบบประกันสังคมและ สามารถเบิกเงินตามสิทธิประโยชน์ค่าคลอดบุตรได้รายละ 13,000 บาท ต่อบุตร 1 คน ซึ่งจากปัญหาข้างต้น มีแนวคิดในการแก้ปัญหาว่า จะเปลี่ยนเป็นให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ทำคลอดสามารถเบิกเงินค่าคลอด บุตรกับ สปส.ได้โดยตรงเพื่อตัดปัญหาในเรื่องการปฏิเสธการทำคลอดให้แก่ผู้ประกันตน โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ในเร็วๆ นี้

(มติชนออนไลน์, 14-10-2556)

'ยิ่งลักษณ์'ถกอุตฯไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์/แอร์ พร้อมปรับกฎระเบียบหนุนธุรกิจโต

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันนี้ (14 ตุลาคม 2556) เวลา 12.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมกลุ่มไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ และเครื่องปรับอากาศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันมีความท้าทายใหม่เข้ามาเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลพร้อมรับฟังแนวทางในการปรับตัว ปรับกฎระเบียบ ช่วยในการส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็กทรอนิคส์ลดลงไป 2% เนื่องจากว่าการส่งออกไปประเทศจีนลดลงไปถึง 29% คาดว่าตลอดทั้งปี 2556 จะทำให้ยอดการส่งออกทั้งปีลดลงไป 3% โดยในปัจจุบันแม้ว่าไทยจะเป็นอันดับ 3 ของผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่เริ่มถูกตีตลาดโดยเวียดนามที่จะแซงประเทศไทย ทั้งนี้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ มีการส่งออกปีละ 1.6 ล้านล้านบาท นำเข้า 1.4 ล้านล้านบาท และมีการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 400,000 ล้านบาท ภาคเอกชนจึงเสนอให้ภาครัฐให้โอกาสกับผลิตภัณฑ์ของไทยได้ขายให้กับภาครัฐมาก ขึ้น เพื่อลดการนำเข้า เพราะภาครัฐมีหลายโครงการเช่น แท็บเล็ตพีซี การเปลี่ยนการออกอากาศเป็นโทรทัศน์ดิจิตอล โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าไทยได้มาตรฐาน มอก. เพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมสินค้าไทย

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงเป็น ปัญหาใหญ่ อุตสาหกรรมบางแห่งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลง ทุนหรือ BOI ไม่สามารถจ้างแรงงานไทยอย่างเดียวได้ จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์รวมถึงการพัฒนาแรงงานไทยให้ก้าวขึ้นอีกระ ดับ รวมถึงผลักดันให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุน ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับถ่ายทอดต่อไป

นายณรงค์ ดอกเพชร์ สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ และผู้บริหารจากบริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าภาครัฐต้องเร่งพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ สรรหาบุคลากรยาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นห่วงว่าการเปลี่ยนแปลงการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะกระทบ ต่อผู้ประกอบการเดิม

นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้ประกอบการว่าจะมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ไปดูรายละเอียดในการจัดซื้ออุปกรณ์ของภาครัฐว่าจะสนับสนุนสินค้าจากเอกชนใน ประเทศอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังได้ย้ำว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนจะเป็นการปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุน ใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพร้อมรับฟังทุกความเห็นจากเอกชน

ส่วนเรื่องของแรงงาน นายกรัฐมนตรีอยากให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพราะปัจจุบันภาครัฐได้ขยายสิทธิในการดูแลด้านสาธารณสุข การศึกษา ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานต่างด้าวโดยตรง พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจัดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทยให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหามาตรการในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน การคืนภาษีล่าช้า อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังได้เร่งรัดกระบวนการพิจารณาใบ รง.4 โดยส่งรายชื่อบริษัทที่ยังติดขัดไปยังคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. หรือแม้แต่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจง เพราะรัฐบาลต้องการเห็นการลงทุนที่เป็นเม็ดเงินลงทุนโดยตรงมากขึ้น

(ฐานเศรษฐกิจ, 14-10-2556)

แรงงานมุสลิมไทยในมาเลย์แห่กลับฉลองวันฮารีรายอ

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ผู้สื่อขาวรายงานว่า ที่จ.สตูล บรรยากาศก่อนถึงวันตรุษอีดิ้ลอัฏฮา ที่บริเวณด่านพรมแดนวังประจัน อ.ควนโดน และบริเวณท่าเทียบเรือตำมะลัง อ.เมือง แรงงานชาวมุสลิมที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียต่างเริ่มทยอยเดินทางกลับ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันตรุษอีดิ้ลอัฏฮา หรือรายาฮัจยี ซึ่งเป็นวันสำคัญของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ทำให้บริเวณด่านพรมแดนทั้ง 2 ด่าน คึกคักไปด้วยแรงงานมุสลิมไทยที่เดินทางข้ามกลับพรมแดน โดยเฉพาะที่ด่านพรมแดนวังประจัน อ.ควนโดน ซึ่งเป็นด่านทางบก มีแรงงานทยอยเดินทางกลับกันตั้งแต่ช่วงเช้า บริเวณดังกล่าวคึกคักเป็นพิเศษ สำหรับแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียนั้น เริ่มเดินทางกลับเข้าฝั่งไทยตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาและทยอยเดินทางกลับเรื่อยๆเนื่องจากวันสำคัญดังกล่าว นายจ้างจะให้เป็นวันหยุด แรงงานไทยที่กลับเข้ามา ก็จะแวะซื้อของฝากจำพวกขนม เสื้อผ้า ทำให้บรรยากาศบริเวณตลาดนัดชายแดนบริเวณดังกล่าวพลอยคึกคักไปด้วย.

(ไทยรัฐออนไลน์, 14-10-2556)

ทัณฑสถานหญิงชลบุรีชี้ผู้ต้องขังหญิง พ้นโทษต้องการมีงานทำ

นางกัลยาณี จันมา ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงชลบุรี เปิดเผยว่า ทัณฑสถานหญิงจังหวัดชลบุรี มีผู้ต้องขังที่มีความรู้ ความสามารถชำนาญแขนงวิชาชีพต่างๆ จะพ้นโทษในเดือน กันยายน 2556 เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรม และประกอบการต่างๆ มีความประสงค์จะจ้างแรงงานผู้ต้องขัง สำหรับผู้ต้องขังหญิง ที่จะพ้นโทษมีวิชาชีพดังนี้ เย็บจักรอุตสาหกรรม จำนวน 6 คน ประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 5 คน ปักมุกเสื้อผ้า จำนวน 3 คน และเย็บ ปัก ถัก ร้อย จำนวน 2 คน โรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการต่างๆ หากมีความสนใจติดต่อได้ที่ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 038-282002 ในวันและเวลาราชการ

(สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี, 14-10-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net