Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


(ร่าง) พรบ. ว่าด้วยการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  พ.ศ. ...ได้รับการชี้แจงว่า มีความสำคัญและจำเป็นที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของยูเนสโกต้องตรากฎหมายลักษณะจำเพาะนี้ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องมรดกวัฒนธรรมของประเทศและทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของไทยกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (ดูหน้า 46 ของ (ร่าง) พรบ. ดูต่อที่ http://www.culture.go.th) โดยอิงกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่น่าแปลกที่ไม่มีการชี้แจงถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเอาไว้ด้วย? หรือต้องการสื่อว่า (ร่าง)พรบ. นี้ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองหรือปลอดอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างนั่นหรือไม่?

(ร่าง) พรบ. ฉบับดังกล่าวนี้ยังได้ถูกชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ได้ตราออกมาให้มีลักษณะที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์การแบ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ยูเนสโกใช้อีกด้วย โดยได้แบ่งมรดกทางวัฒนธรรมออกเป็นสองประเภท อันได้แก่ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การจัดทำ (ร่าง) พรบ. ฉบับนี้ก็ถูกวิพากษ์ในหลายประเด็นถึงความลักลั่นและคลุมเครือทั้งในเชิงเจตนารมณ์และการนำกฎหมายไปบังคับใช้ ดังนั้น การเสนอบทความสั้นชิ้นนี้ของผู้เขียนจึงเป็นไปเพื่อชวนถกกันให้มากยิ่งขึ้นถึงผลกระทบที่อาจมีต่อผู้คนและมรดกทางวัฒธรรม โดยบทความแบ่งออกเป็นสามส่วนสำคัญ ได้แก่ ส่วนแรก ผู้เขียนลองสรุปประเด็นที่ได้จากการวิพากษ์ของนักวิชาการที่ได้เขียนบทความถกเถียงไปแล้วในเว็บประชาไท 2 บทความ คือบทความจาก ยุกติ มุกดาวิจิตรและบทความจาก เนตรดาว เถาถวิล สำหรับในส่วนที่สองของบทความนี้ ผู้เขียนได้นำ (ร่าง) พรบ. ฉบับนี้มาชวนถกในบางรายมาตราเพื่อแสดงปมปัญหาในร่าง พรบ. ฉบับนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และส่วนสุดท้ายเป็นการสรุปทิ้งท้ายของบทความชิ้นนี้

ข้อสงสัยของนักวิชาการต่อโครงการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้นำเอาสองบทความที่วิพากษ์การออกกฎหมายดังกล่าว โดยขอเริ่มจากจากบทความแรก คือ เรื่อง “อย่าใช้อำนาจรัฐกำกับวัฒนธรรม” ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร เขาได้เสนอประเด็นที่วิพากษ์ (ร่าง)พรบ. ฉบับนี้ในตอนต้นบทความว่า การนำเอากฎหมายวัฒนธรรมมาใช้เพิ่มเติมกับกฏหมายที่มีอยู่เดิมเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนาและความมั่นคงรัฐมีความเหมาะสมหรือไม่? ขณะที่สังคมไทยเองก็ยังมีปัญหาในคดีความที่มาจาก มาตรา 112 การตรากฎหมายใหม่ที่กำหนดโทษเอาผิดต่อผู้ฝ่าฝืนจึงก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ใครจะเป็นผู้ร้องทุกข์และตัดสินเมื่อเห็นว่า มีการใช้วัฒนธรรมที่ได้รับการคุ้มครองมากระทบต่อสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้ห้ามแตะ โดยเกี่ยวโยงไปถึงวิธีการพิจารณาความผิด

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการให้อำนาจตัวแทน ผู้ตัดสินหรือผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมที่จะมีส่วนในการพิจารณาและการดำเนินการตัดสินคดีความผิดที่เห็นว่า “ไม่เหมาะสม” ยุกติยังเห็นด้วยว่า ชุมชนและผู้คนเป็นผู้สร้างและใช้วัฒนธรรม ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรเข้ามาจัดการด้วยการอ้างสิทธิราวดั่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเสียเอง การออกกฎหมายควบคุมลงโทษการใช้และการดัดแปลงในแนวทางที่เห็นว่า “ไม่เหมาะสม” จึงอาจกระทบต่อการดำรงวัฒนธรรมของผู้คน

สุดท้ายแล้ว การออกกฎหมายปกป้องวัฒนธรรมที่กำหนดห้ามการล่วงละเมิดสถาบันจริงแล้ว ก็อาจไม่ได้ช่วยปกป้องสถาบันทางสังคมเอาไว้ได้ หากตัวสถาบันเหล่านั้น กลับทำให้ตนเองเสื่อมลงด้วยตนเอง หรือจะกล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ หากสถาบันเหล่านั้นมีความสำคัญต่อสังคมไทยจริงๆ สถาบันก็น่าจะคงอยู่ได้โดยไม่เสื่อมถอยสูญสิ้นไปจนต้องมาออกกฎหมายที่บังคับควบคุมลงโทษผู้คนในสังคม  รัฐจึงไม่ควรออกอ้างใช้สิทธิการปกป้องบังคับ แต่บทบาทของรัฐนั้น ควรเป็นการสนับสนุน (ดูต่อในบทความของ ยุกติ ที่ prachatai-blogazine/yukti-mukdawijitra)

ในส่วนของบทความจาก เนตรดาว เถาถวิล เรื่อง “กฎหมายพรีโมเดิร์น กับวัฒนธรรมแช่แข็ง” ได้วิพากษ์ร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ขาดความมีเหตุผลที่มารองรับความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐเพื่อควบคุมวัฒนธรรมที่หมายรวมถึงการดำรงวิถีชีวิตของผู้คน กฎหมายนี้ยังได้ให้อำนาจมากเกินไปหรือไม่กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ที่หมายถึงคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่นอกจากจะตัดสิน “ความไม่เหมาะสม” แล้ว ก็ยังทำการจัดลำดับขั้นของวัฒนธรรมที่อาจเป็นไปอย่างมีอคติทางวัฒนธรรมอีกด้วย การปกป้องความดั้งเดิมของวัฒนธรรมโดยพยายามสืบย้อนกลับไปอ้างต้นกำเนิดวัฒนธรรมก็ยังมีปัญหาที่ว่า วัฒนธรรมไทยหลายอย่างจริงแล้ว กลับมีการหยิบยืม ไหลเวียน แลกเปลี่ยนและดัดแปลงมานานแล้วในภูมิภาคนี้ 

ปัญหาสำคัญที่เนตรดาวเห็นจากการออกกฎหมายนี้ก็คือ นอกจากแช่แข็งวัฒนธรรมและการกักขังอัตลักษณ์ของผู้คนแล้ว กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ปกป้องการกลายเป็นสินค้าของวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมของรัฐไทยในบริบทนี้จึงกลายเป็นการก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมทางวัฒนธรรม ดังที่เนตรดาวชี้ถึงบทเรียนเชิงประจักษ์ทั้งกรณีต่างประเทศและสังคมไทย ดังนั้น เนตรดาวจึงเสนอว่า การออกกฎหมายลักษณะนี้เป็นความพยายามนำสังคมไทยย้อนกลับไปสู่การใช้กฎหมายในแบบสังคมยุคก่อนสมัยใหม่และจะนำไปสู่ปัญหาการแช่แข็งวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น (ดูต่อในบทความของ เนตรดาว ที่ prachatai-blogazine/natedao)

ประเด็นปัญหาที่พบได้จาก(ร่าง) พรบ.

นอกจากตัวเจตนารมย์ที่น่ากังขาใน (ร่าง)พรบ. ฉบับนี้แล้ว ผู้เขียนต้องการชวนให้หันกลับมาพิจารณา (ร่าง) พรบ. ในบางรายมาตราด้วย อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณผู้อ่านคนหนึ่งที่เสนอการถกเรื่อง พรบ.นี้ ไว้ในบทความของยุกติ แต่ขอสารภาพว่า ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมายหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรม ดังนั้น ประเด็นที่จะนำมาเสนอในส่วนนี้จึงมาจากการตีความจากความไม่เข้าใจของตัวผู้เขียนเองต่อ (ร่าง) พรบ. นี้ โดยอยากชวนถกใน 3 ข้อ ได้แก่ โครงสร้างการบริหารที่เกี่ยวพันกับการจัดตั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการ, การนำเครื่องมือทางการเงินมาสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการจูงใจและการควบคุมลงโทษทางกฎหมาย ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ประการแรก (ร่าง) พรบ. นี้ (ดูหน้า 7) ได้ระบุถึงโครงสร้างการบริหารงานตามกฎหมาย หากเราพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการได้มีการระบุถึงภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคการเมือง ภาคข้าราชการ ผู้แทนชุมชน ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลายด้าน แต่เมื่อดูจากจำนวนของคณะกรรมการชุดนี้รวมทั้งสิ้น 24 คน จะพบว่า มีตัวแทนชุมชนเพียง 6 คนเท่านั้น (คัดเลือกจากตัวแทนชุมชนจากหกภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก) ขณะที่ตัวแทนประชาชนในแต่ละภาคกลับมีได้แค่ภาคละคนนั้น กลับพบว่า  คณะกรรมการชุดนี้มีประธานกรรมการ 1 คน (รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม) กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน (ประกอบด้วยข้าราชการระดับปลัดและอธิบดีจำนวน 9 คน ที่เหลือ 2 คน คือ ประธานสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย)

ประการที่สอง ความต้องการให้เกิดแรงจูงใจจากชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้มีการกำหนดใช้เครื่องมือทางการเงินด้วย โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งในรูปของกองทุน ดังในหมวด 7 ว่าด้วยกองทุนคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยมาตรา 45 มีการระบุถึงกองทุนที่มีที่มาของเงินในกองทุนในหลายรูปแบบด้วยกัน แต่หากเราลองย้อนไปดูหมวด 5 ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กลับพบด้วยว่าในมาตร 34 ระบุถึงสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมที่จำเพาะไปที่มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น ต้องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตาม พรบ. ฉบับนี้แล้วเท่านั้น หากชุมชนต้องการได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนตาม พรบ. นี้กำหนดไว้ มาตรา 35 ก็ได้กำหนดให้ชุมชนต้องจัดทำแผนงานและโครงการต่อนายทะเบียน โดยความยุ่งยากอยู่ตรงนี้ กล่าวคือ หากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้แล้ว ชุมชนผู้ขอรับการอุดหนุนต้องมีการระบุถึงการจ่ายค่าตอบแทนจากเงินรายได้ไว้ในตัวโครงการและแผนงานที่เสนอขอด้วย โดยเงินที่ชุมชนจ่ายเข้ามาตอบแทนนี้จะถูกนำเข้าไปไว้ในการกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. นี้ด้วย ยิ่งในมาตรา 39 หากเราลองพิจารณาบางตัวอย่างของมรดกวัฒนธรรมที่ได้รับการเสนอให้ปกป้องในสาขาความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาลที่ได้มีการเสนอให้อาหารและโภชนาการอย่างเช่น ส้มตำ น้ำพริก หรือปลาร้า เป็นวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการปกป้องด้วย (ดู หน้า 45 ในร่าง พรบ.) ดังนั้น หากใครจะใช้หรือดัดแปลงมรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนเข้ากองทุนด้วยหรือไม่? แล้วในกรณีที่เป็นผู้ค้าส้มตำ น้ำพริกหรือปลาร้า จะต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนด้วยหรือไม่? ผู้ค้ายังจะต้องแจ้งถึงแหล่งที่มาและแสดงถึงการประยุกต์หรือสร้างองค์ความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากสาระสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้นด้วยหรือไม่ (ซึ่งก็คือ การลดทอนวัฒนธรรมอย่างแข็งมีแก่นแกนตายตัวหรือไม่?)

ประเด็นที่สาม นอกจากเครื่องมือที่จูงใจทางการเงินแล้ว (ร่าง) พรบ. นี้ยังได้มีการใช้เครื่องมือที่ใช้การลงโทษควบคุมด้วย ดังในหมวด 4 ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในมาตรา 21 ที่ดูเหมือนเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ในมาตรา 23 ก็ได้กำหนดให้วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่มีสิทธิได้รับการขึ้นทะเบียนนั้น ต้องไม่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ (1) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ (3) ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางวัฒนธรรม มาตรานี้จึงเป็นการกำหนดการยอมรับวัฒนธรรมที่รัฐพึงประสงค์ที่สามารถจะนำมาขึ้นทะเบียนซึ่งจะแตกต่างไปจาก หมวด 8 ที่จะเป็นมาตรการหลังการรับขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว โดยที่ใน หมวด 8 ว่าด้วยบทลงโทษ  (ดูหน้า 34 ในร่าง พรบ. นี้) มีการกล่าวถึง 2 มาตราหลัก คือ มาตรา 16 และ มาตรา 40 ที่ระบุโทษทั้งในแบบอาญาและแพ่ง คือ จำและ/หรือปรับ โดยมาตรา 16 เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารจัดการกองทุน มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 40 ระบุถึงโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีสิ่งที่ (ร่าง) พรบ. นี้ห้ามล่วงละเมิดฝ่าฝืนไม่ได้ในกรณีที่จะมีผู้นำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วนี้ไปเผยแพร่แแล้วมีลักษณะที่ต้องห้าม คือ การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนต่อศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้  (ดูต่อประกอบจากหน้า 30 ในร่าง พรบ.นี้ที่www.culture.go.th)

ทิ้งท้าย: โครงการปกป้องวัฒนธรรมแบบนีโอคอนไทย?

จะด้วยความตื่นตระหนกต่ออำนาจของชนชั้นนำเกินไปอย่างที่ ยุกติ วิพากษ์ในบทความของเขาหรือไม่? หรือจะเป็นการแช่แข็งวัฒนธรรมและนำประเทศไทยกลับสู่กฎหมายยุคก่อนสมัยใหม่ อย่างที่เนตรดาวเสนอไว้หรือไม่? ผู้เขียนขอเสนอให้ผู้อ่านลองกลับไปถกเถียงกับยุกติและเนตรดาวอีกครั้ง แต่สำหรับบทความนี้ หลังพิจารณา พรบ. นี้ทั้งเจตนารมณ์และรายละเอียดในมาตราต่างๆ แล้ว ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “ทุนนิยมสามานย์และนีโอคอนไทย” (ดูต่อบทความสามตอนจบของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทุนนิยมสามานย์และนีโอคอนไทย ) เนื่องจาก พรบ. นี้ ในส่วนหนึ่งดูเหมือนพยายามจะก้าวไปสู่การคุ้มครองส่งเสริมวัฒนธรรมด้วยการจัดตั้งกองทุนการเงินเพื่อใช้ตลาดจูงใจการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจธรรมดาๆ ที่เราสามารถพบได้ทั่วไปเมื่อเสรีนิยมใหม่มีอิทธิพลต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนกลับเห็นว่า (ร่าง) พรบ.นี้ ดูแล้วกลับเป็นท่าทีแบบนีโอคอนแบบไทยๆ มากกว่าเสรีนิยมใหม่ ดังที่กฎหมายนี้กลับมีลักษณะของการควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่อาจหมายถึงการเอาผิดลงโทษประชาชนและการคุกคามมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แทนที่จะได้รับการคุ้มครองตามที่ยูเนสโกคาดหวัง?

แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้รับการตัดสินจากรัฐว่า “คุกคาม” ต่อการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ศีลธรรมทางศาสนา (ที่มักให้อิงกับศาสนาพุทธเป็นหลัก) และความมั่นคงแห่งรัฐ (ที่ไม่ใว้ใจและคุกคามประชาชน) ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับภาษามลายู (ดูบทความของ มูฮัมหมัด ดือราแม : 70 ปีภาษามลายูกับการต่อสู้จากหะยีสุหลงถึงอาเซียนและสันติภาพ ) กำลังชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าวนี้หรือไม่สำหรับประเทศไทย? นั่นหมายความว่า หากวัฒนธรรมของผู้คนถูกตีความอย่างมีอคติว่าจะนำไปสู่การท้าทายอำนาจทั้งต่อสถาบันกษัตริย์ อำนาจทางศีลธรรมเชิงศาสนาและความมั่นคงแห่งรัฐ หรือวัฒนธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำประโยชน์ต่อรัฐที่พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว วัฒนธรรมเหล่านั้นก็ไม่สมควรเป็น “มรดก” ที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองหรือก็คือ สามารถปล่อยให้ถูกทำลายให้สูญสิ้นไปหรือไม่?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net