Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายคนคงได้ติดตามข่าวบริษัททุ่งคำฯ ฟ้องร้องดำเนินคดี  14  แกนนำชาวบ้านกลุ่ม  “คนรักษ์บ้านเกิด”  พร้อมกับเรียกค่าเสียหายกว่า  50  ล้านบาท  ในฐานที่ไปจำกัดสิทธิ  เสรีภาพ  และทำให้ธุรกิจบริษัทฯ หยุดตัว

เรื่องนี้หากพิจารณากันให้ดี  สิ่งที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านนั้นถือว่าไม่มีอะไรผิดไปจากคาด  ครั้งนี้เกิดเป็นครั้งที่  2  หลังจากครั้งแรกบริษัทฯ เคยฟ้องร้องนายสมัย  ภักดี  แกนนำกลุ่มฯ  ข้อหาบุกรุก  เมื่อ  3  ปีที่แล้ว  กรณีเดินขึ้นไปบนภูทับฟ้าซึ่งบริษัทฯ ได้ประกาศเป็นเขตห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์  แต่ครั้งนั้นบริษัทได้ถอนแจ้งความและก็ยุติเรื่องไปในที่สุด

มาคราวนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน  ครั้งนี้บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้านทั้งพวง  (กลุ่ม)  พร้อมกับเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมหาศาลถึง  50  ล้านบาท  ซึ่งก็กะว่าจะเอาเข็ดหลาบ  ขยาดกลัว  และเลิกแสดงออกในท่าทีที่ต่อต้าน

การกระทำของบริษัทฯ ถือว่าแย่สุดๆ  เพราะชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำล้วนแล้วแต่มีเหตุมีผลกันทั้งสิ้น  หากจำกันได้  ผลกระทบจากการดำเนินโครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี  2550  จนถึงวันนี้กินเวลาร่วม  6  ปี 

ในเวลา  6  ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องทนทุกข์ระทมกับผลกระทบที่ตนไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรั่วไหลของไซยาไนด์และโลหะหนัก  จนบางคนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยดังที่ปรากฏอยู่ในภาพข่าวเป็นระยะๆ

สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องอยู่วันนี้ไม่ต่างอะไรกับข้อเรียกร้องเมื่อ  5  ห้าปีที่แล้ว  คือการให้รัฐบาลและบริษัทฯ แสดงความรับผิดชอบในการเยียวยาผลกระทบ  และให้ยุติโครงการจากการจัดการที่ล้มเหลว  แต่แล้วผ่านมาหลายปีข้อเรียกร้องนี้ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างรูปธรรม  ทั้งส่วนราชการภายในจังหวัดในฐานะกลไกของรัฐที่รับผิดชอบ  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  (กพร.)  ซ้ำร้ายยังพยายามถูลู่ถูกังทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการเดินหน้าโครงการ

ปัญหานี้แก้ยากและจะลุกลามบานปลายในที่สุดเพราะรัฐไม่จริงใจในการแก้ปัญหา  แม้แต่รัฐบาลเองโดยกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานยังเพิกเฉยและลอยตัวจากปัญหา  ปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นนี้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเบื่อหน่ายกับกลไกของรัฐ  จนไม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นที่พึ่งได้อีกต่อไป 

เหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจของรัฐบาลและหน่วยราชการในจังหวัด  เห็นได้จากกรณีเมื่อวันที่  8  กันยายน  ที่ผ่านมา  บริษัทฯ จัดเวทีการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  (public  scoping)  ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถเข้าไปร่วมเวทีนั้นได้  ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา  และวันนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาต้องการที่จะไปบอกให้ผู้จัดเวทีได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนที่ผ่านมา  รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งกับตัวเขาเองและชุมชน  แต่ผลที่สุดเสียงเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายแต่ประการใด

หนำซ้ำยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า  700  นาย  ปิดกั้นไม่ให้เข้าไปยังเวที  ทั้งที่ในความเป็นจริงเวทีแบบนี้มันควรจะเป็นเวทีเปิดให้ชาวบ้านทุกคนได้เข้าร่วม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า

น่าเสียดายยิ่ง  เวทีแบบนี้ควรที่บริษัทฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรจะได้แสดงความชาญฉลาดในการเปิดกว้างทางความคิด  และไม่ควรจะใช้เงื่อนไขใดๆ ในการไปสกัดกั้นชาวบ้าน  แต่ควรจะเปิดโอกาสให้คนที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเข้ามารับรู้รับฟัง  และให้พวกเขานำเสนอข้อเป็นห่วงกังวล  แต่ท้ายสุดเวทีที่มันควรจะเกิดประโยชน์ก็กลายเป็นเพียงโรงละครเล็กๆ ที่ผู้บริหารบริษัทฯ กับส่วนราชการในจังหวัดร่วมกันปาหี่ตบตาชาวบ้าน

มันคงจะเจริญ?  บ้านนี้เมืองนี้กลุ่มคนที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นได้  คำว่า  “สิทธิชุมชน”  “สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”  ไม่ต้องพูดถึงสำหรับที่นี่  วันนี้ใช้ไม่ได้กับชาวบ้าน  6  หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง

นับเป็นความเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากกระบวนการพัฒนาของรัฐที่ดำเนินการอย่างไร้ความรับผิดชอบ  ปล่อยให้บริษัทฯ กำมะลอเข้ามาสัมปทานและจัดการทรัพยากรอย่างขาดสำนึก

สิ่งที่เจ็บปวดที่มากสุดสำหรับกรณีนี้คือ  การลุกขึ้นมาป้องป้องทรัพยากรของชาวบ้านแต่ต้องถูกบริษัทฯ ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางเพ่งและอาญา  ฟังแล้วน่าหัวเราะเยาะ  บอกว่าชาวบ้านไปปิดทางเข้าบริษัทฯ  สร้างความเสียหายกับธุรกิจ  ยิ่งกว่านั้นยังบอกอีกว่า  ธุรกิจที่เดินไม่ได้ 5  วันทำให้สูญเงินไปวันละ  10  ล้านบาท  เลยจำเป็นต้องฟ้องร้องชาวบ้านถึง  50  ล้านบาท

ฟังแล้วถึงกับสะดุ้ง?  เพิ่งทราบว่าการทำเหมืองแร่ที่ภูทับฟ้า  จังหวัดเลย  สามารถทำให้มีเม็ดเงินเกิดขึ้นถึงวันละ  10  ล้านบาท 

แต่น่าเสียดาย?  สำนึกรับผิดชอบทางสังคมต่ำไปหน่อย  เงินที่ได้จากการตักตวงเอาทรัพยากรท้องถิ่นกลับไม่สามารถนำมาเยียวยาหรือว่าชดเชยความรู้สึกใดๆ ของชาวบ้านได้แม้แต่รายเดียว

นับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่อีกครั้งที่ชาวบ้านตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรแล้วต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำจากผู้ที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าอย่างบริษัทฯ  นี่คือเรื่องเล็กๆ ของคนเฉพาะกลุ่มก้อนหรือไม่?  หรือ  มันคือโจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทย?

แต่หากจะว่าไปแล้ว  การพัฒนาใดๆ ที่เกิดขึ้นบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน  สำหรับสังคมไทยมันไม่ควรจะมีอีกต่อไป  เพราะบทเรียนที่ผ่านมาสะท้อนชัดว่า  รัฐบาล  หน่วยงานที่เป็นกลไกในจังหวัด  และบริษัทที่รับสัมปทานยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

สำหรับสังคมภายนอก  กรณีเหมืองแร่ทองคำ  เราต้องไม่ลืมว่าผลกระทบตรงนี้มันหนักหนาสาหัส  ยากแก่การเยียวยา  แล้วไม่ใช่พึ่งจะเกิดขึ้นปีสองปี  แต่เป็นปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญมาแล้วร่วม  6  ปี  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีคนรับผิดชอบ  โลหะหนักจากการประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ยังเข้าเลือดชาวบ้านทุกวัน  ป่าไม้  ภูเขา  แหล่งน้ำ  ในวันนี้ไม่ต้องพูดถึง  ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ  น้ำอุปโภค  บริโภค  วันนี้ชาวบ้านไม่มั่นใจ  หอย  กุ้ง  ปลา  ผักจากธรรมชาติขณะนี้ปนเปื้อนไปด้วยไซยาไนด์

ทั้งหมดนี้คือ  “หายนะภัย”  ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้ง  6  หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง  จังหวัดเลย  และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านอย่างพวกเขากำลังใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน  และนี่คือเหตุผลสำคัญว่า  “ทำไมชาวบ้านต้องคัดค้านโครงการเหมืองแร่ทองคำ” 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net