Skip to main content
sharethis

<--break->



(18 ต.ค.56) เวลา 10.00 น. กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติการศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาหลายสถาบัน รวมตัวกัน ณ ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระบุว่า วันที่ 18 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประท้วงการศึกษาโลก “Global Education Strike” ซึ่งนักศึกษาทั่วโลกได้ออกมารณรงค์และเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐจัดการศึกษาอย่างเป็นธรรม สำหรับประเทศไทย ทางกลุ่มได้มีส่วนร่วมเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยปีนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 18 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันเรียกร้องรัฐสวัสดิการทางการศึกษาไทย

ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาปราศรัยถึงความสำคัญของการศึกษาว่ามีผลในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจแก่ผู้เล่าเรียนและครอบครัวเพื่อไม่ให้ลำบากเช่นก่อนหน้า รวมไปถึงการเข้าถึงทางการศึกษาในประเทศไทยว่ายังไม่มีความเท่าเทียม แม้จะมีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับแต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริงในเชิงรูปธรรม ทั้งยังสำทับว่าการกู้เงินกองทุนเพื่อการศึกษาคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐและกระทรวงศึกษาธิการ

จากนั้นตัวแทนนักศึกษาประกาศจุดประสงค์การปฏิวัติในครั้งนี้ 2 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อบรรจุการศึกษาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสวัสดิการของรัฐ เหตุเพราะการกระจายรายได้ในประเทศไทยเหลื่อมล้ำถึง 15 เท่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงมีอยู่มาก แต่การศึกษาควรเป็นหนึ่งในสวัสดิการพื้นฐานสำคัญที่รัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมของคนทุกชนชั้น สอง เพื่อผลักดันให้รัฐบาลกำหนดวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันประท้วงการศึกษาโลก “Global Education Strike” เพื่อให้นักศึกษาในประเทศไทยได้มีวาระแลกเปลี่ยนสถานการณ์การศึกษาไทย

กระทั่ง 13.00 น. กลุ่มนักศึกษาได้เคลื่อนขบวนถึงกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการและเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า โดยมี สมบูรณ์ สิมะแสงยาภรณ์ เจ้าหน้าที่ทั่วไปกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับหนังสือ

ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกล่าวเสริมว่า ในการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการต่อยอดมาจากปีที่แล้วที่เคยยื่นเรื่องไปครั้งหนึ่งแต่ทางกระทรวงศึกษาธิการยังไม่มีการดำเนินเรื่องใดๆ จึงต้องการสานต่อให้เสร็จสิ้นในปีนี้ เพื่อปฏิวัติการศึกษาไทยในทุกๆ ด้าน เช่น หลักสูตร คุณภาพบุคลากร รวมถึงความเป็นธรรมทางการศึกษาแก่ลูกหลานคนจนซึ่งเป็นประชากรใหญ่ของประเทศไทยและต้องการให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ โดยในการดำเนินการ ควรให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการทางการศึกษา

สำหรับอุปสรรคในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ธัชพงศ์ มองว่า คือสถานการณ์ทางการเมืองที่อ่อนไหวอยู่ในขณะนี้ โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ อาจไปขัดกับกฎหมายความมั่นคงของชาติได้ อย่างไรก็ตาม หากการเคลื่อนไหวของแนวร่วมปฎิวัติการศึกษาในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ แนวทางต่อไปที่จะผลักดันการคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและปฏิรูปการศึกษาไทยคือจัดเวทีวิชาการขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้วนำไปสู่การแก้ไขในภายภาคหน้า

สำหรับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติการศึกษาไทย ประกอบด้วย แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ, แนวร่วมนักศึกษาลูกหลานเกษตรกร (นศก.), ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD), สหภาพเยาวชนแรงงาน (Young Worker Union), สมาคมยังเติร์กส (Youngturks Thailand), กลุ่มกล้าคิด มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกหลานเกษตรกร มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกพ่อขุนพิทักษ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มฟ้าใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มเหมราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา, กลุ่มกล้าพยอม มหาวิทยาลัยรังสิต, กลุ่มสะพานสูง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กลุ่มกำแพงแดง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, สถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank), เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net