‘สุภรณ์’ ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว พร้อมเคลียร์ปัญหาโรงงานยางพาราฯ

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ลงพื้นที่ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ ระบุนายกไม่ได้นิ่งนอนใจ มีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว พร้อมร่วมประชุมกรณีปัญหาที่จะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา ชี้พร้อมเชิญทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
 
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.56 เวลาประมาณ 09.00 น. นายสุภรณ์  อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งตัวแทนชุมชนบ่อแก้ว (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.) ลงพื้นที่ร่วมประชุมกรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ณ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
ทั้งนี้ การประชุมในกรณีสวนป่าคอนสาร จังหวัดขัยภูมิ ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงผลการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 และตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.56 ที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงสวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
 
จากนั้น นายสุภรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวก่อนที่จะลงตรวจสอบพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ว่า รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยนายกมีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในนามตัวแทนของนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการให้ความคุ้มครองประชาชนให้สามารถอาศัยและทำมาหากินในที่ดินไปจนกว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ พร้อมจะรับข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รวมทั้งจะรับข้อเสนอให้มีการคุ้มครองพื้นที่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีการประชุมในวันที่ 31 ต.ค.56  นี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันดังกล่าว นายสุภรณ์ได้ร่วมประชุมกรณีปัญหาที่จะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา ตามที่ชาวคอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร ได้เข้าร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหา และความไม่โปร่งใสกรณีที่บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือ ขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงานยางพาราอัดแท่ง บนเนื้อที่กว่า 290 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิด้วย
 
นายวิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร ชี้แจงว่าได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อคัดค้านความไม่โปร่งใสและไม่ชอบธรรมของโรงงานยางพาราฯ มานานกว่า 2 เดือน กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ก.ย.56 ได้มีการชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอครั้งแรก เพื่อทวงถามหนังสือที่ระบุให้มีการทบทวนต่อการอนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงงานพาราฯ ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 – 15 ต.ค.56 กลุ่มรักษ์คอนสารจึงมารวมตัวชุมนุมใหญ่กันอีกครั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อทวงสัญญาประชาคม เมื่อวันที่ 30 ก.ย.56 ที่รองผู้ว่าฯ ในนามตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ให้คำมั่นสัญญาว่าภายใน 10 วัน จะให้มีการจัดการทำประชาคม กรณีโรงงานยางพาราดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าควรที่จะมีโรงงานยางพาราฯ หรือไม่
 
ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารกล่าวว่า เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และแสดงออกในสิทธิด้วยการกำหนดชีวิต ความเป็นอยู่ และเพื่อมาทวงสัญญาประชาคม ทางกลุ่มฯ จึงได้มาร่วมชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค.56 เนื่องจากทางผู้ว่าฯ ไม่ดำเนินตามที่รับปาก
 
นอกจากนั้น ประธานกลุ่มรักษ์คอนสารยังให้ข้อมูลด้วยว่า จากลำดับเหตุการณ์การเข้ามาขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราของ บริษัทศรีตรังฯ กับองค์การบริหารส่วนตำบลดงบังยังก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการดำเนินการเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน อีกทั้งขั้นตอนกระบวนการขอจัดตั้งโรงงานไม่ครบถ้วน โดยมติขององค์การบริหารส่วนตำบลดงบังไม่สมบูรณ์ และเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของบริษัทฯ ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งที่เป็นกิจการขนาดใหญ่
 
นายวิเชษฐ กล่าวว่า ก่อนจะมีการชุมนุมครั้งนี้ ตนเองในฐานะประธานกลุ่มฯ ได้ทำการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ยังได้เดินทางเพื่อขอเข้าพบนายสุภรณ์ ถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่นายสุภรณ์ เดินทางมาตรวจสอบลงพื้นที่ พร้อมให้คำมั่นในความเป็นกลางที่จะจัดให้มีการประชุมร่วมกัน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ สถาบันการศึกษานักวิชาการในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อศึกษาถึงข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะพิจารณาเห็นชอบหรืออนุญาตให้บริษัทเข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่
 
ด้านนายสุภรณ์กล่าว่า พร้อมที่จะเรียนเชิญทุกฝ่ายร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งได้มีการลงไปดูพื้นที่ในสถานที่ที่โรงงานจะไปตั้ง เมื่อได้ไปดูข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว และรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้ในส่วนของภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณา ตัดสิน หากมีการก่อตั้งโรงงานแล้วจะเกิดผลกระทบในหลายๆ ด้าน หากไม่มีความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้มีการตั้งโรงงานยางพาราหรือจะยกเลิกการก่อตั้งโรงงานยางพาราจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประชุมโดยให้ประชาชนมีส่วนรวมต่อไป
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท