Skip to main content
sharethis
ประธานนปช. ชี้ ต้องคัดค้านเฉพาะผู้ชุมนุมและดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่เห็นด้วยรวมนิรโทษทักษิณ ในขณะที่อภิสิทธิ์-สุเทพเดินหน้าคัดค้านเต็มที่
 
21 ต.ค. - จากกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ได้แปรญัตติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ วรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ให้มีการนิรโทษกรรมแกนนำสั่งการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึง อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย 
 
ธิดา ถาวรเศรษฐ ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์มติชนออนไลน์ว่า ทางมติของกลุ่มนปช. มองว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งแกนนำ ผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่รัฐ และย้ำว่าต้องนำเอาคนกระทำผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ย้ำว่าการผ่านกม.นิรโทษกรรมฉบับนี้จะทำให้เป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตีรัฐบาล โดยสิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่าคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 
 
"ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษแบบสุดซอย จากการใคร่ครวญมาดีพอสมควร เป็นมติแกนนำ นปช. และการฟังเสียงประชาชนโดยเฉพาะคนเสื้อแดง แม้เขาจะรักคุณทักษิณแต่เขาไม่เห็นด้วย 
 
ที่จริงก็มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิม เมื่อครั้งมีการปราบปรามประชาชนใหม่ๆ เราบอกว่าเราไม่ต้องการนิรโทษกรรมเลย เพราะเราเชื่อมั่นในความถูกต้องของเรา และต้องการเอาคนผิดมาลงโทษสถานเดียว
 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าความยุติธรรมยังมาช้าเกินไปหรือเปล่า เราจึงจำเป็นต้องบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชน โดยการนิรโทษกรรม ให้ประชาชนเสียก่อน เอาแค่นี้เราเปลี่ยนมาเพียงแค่นี้
 
ถ้าเปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรมทั้งหมดมันไม่ไหว เพราะว่านี่มันไม่ใช่ตัวเรา มันเกินไป เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณต้องเข้าใจ และเห็นใจ นปช. ด้วย เพราะเราเป็นองค์กรของประชาชนในการต่อสู้ ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถจะทรยศกับประชาชนได้
 
องค์กรเราเป็นองค์กรประชาชนที่เป็นพลังประชาธิปไตย ประชาชนมีวุฒิภาวะ ไม่ได้หมายความว่า แกนนำจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ เพราะการก่อตัวของพลังประชาธิปไตย ก่อด้วยความรู้และความจริง สิ่งที่เราต้องสะท้อนคือต้องเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย คือ ต้องฟังเสียงประชาชน
 
ที่ผ่านมา เราได้ประเมินสถานการณ์ของฝ่ายขัดขวางประชาธิปไตย และฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย เราจึงได้เสนอพระราชกำหนด ซึ่งมีเนื้อหาเหมือน พระราชบัญญัติของคุณวรชัย เหมะ เพราะเราต้องการที่จะให้เสียงคัดค้านเสียงต่อต้านมีน้อยที่สุด
 
ทั้งที่ถ้าคิดแบบเราแน่นอนก็ต้องการนิรโทษ เฉพาะฝั่งเสื้อแดงและเอาผิดเฉพาะแกนนำฝั่งเสื้อเหลือง รวมทั้งคนที่ปราบปรามประชาชน แต่ในความเป็นจริงคุณทำแบบนั้นไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทางเลือกของเราจึงนิรโทษกรรมประชาชน โดยเสนอทั้งที่เป็นพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติเหมือนกัน โดยยกเว้นแกนนำ 2 สีเสื้อและผู้สั่งปราบปรามประชาชนไม่ให้ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม เพื่อให้มีการต่อต้านน้อยที่สุด จากฟืนแห้งให้เป็นฟื้นเปียกจุดไม่ติด และมีความชอบธรรมที่สุด ทั้งที่ความชอบธรรม ควรจะเป็นฝั่งเราในฐานะผู้ถูกกระทำ"
 
เว็บไซต์ ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ที่เวทีนปช. สมุทรปราการ ว่าจะไม่ขอรับการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น และจะต่อต้านไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งบุคคลทั้ง 2 มีคดีที่มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตทุกคดีและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล รวมทั้งของดีเอสไอ เพราะเป็นผู้กระทำที่สั่งฆ่าประชาชน อย่างไรก็ตาม เขามองว่าพ.ต.ท. ทักษิณ ควรได้รับการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความยุติธรรม
 
 
อภิสิทธิ์-สุเทพ ยันไม่รับนิรโทษใดๆ ชี้ขัดหลักการเพราะนิรโทษให้การทุจริตคอร์รัปชั่น
 
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องดังกล่าวว่า ตนเองและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร มีประสงค์จะไม่รับประโยชน์ใดๆ จากกฎหมายนิรโทษกรรมเหมารวมดังกล่าว และเชื่อด้วยว่าจะมีการเสนอคำแปรญัตติ ไม่ให้นิรโทษกรรมแก่ตนเองและนายสุเทพ
 
โดยเว็บไซต์มติชนออนไลน์ รายงานคำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมองกรณีนิรโทษกรรมการทุจริตขัดหลักการชัดเจนเพราะเขียนไว้ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง มองไม่เห็นว่าการทุจริตจะเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมได้อย่างไร เป็นเรื่องขัดหลักการอยู่แล้ว แต่ประธานกรรมาธิการฯและเสียงข้างมากบอกว่า ไม่ขัด ซึ่งในเรื่องนี้สภาก็ต้องพิจารณาที่สำคัญคือกฎหมายนี้จะสร้างภาระผูกพันทางการเมืองชัดเจน 5 หมื่นกว่าล้าน ที่ประชาชนต้องเสียเพราะมีคนทุจริตได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เพราะมีการเขียนชัดเจนว่าการกระทำผิดตามที่ คตส.กล่าวหาให้ได้รับการนิรโทษกรรม โดยหยิบเงื่อนไข คตส.ขึ้นมาอ้าง และตนเห็นว่าเป็นกฎหมายการเงินเพราะสร้างภาระผูกพันทางงบประมาณ แต่ก็คงจะมีการอ้างว่าตัวกฎหมายขณะนี้ไม่ใช่กฎหมายการเงิน แต่หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดก็จะมีการร้องเรียนเพื่อขอทรัพย์สินคืนเนื่องจากไม่ได้กระทำควาผิดแล้ว ก่อนที่จะออกกฎหมายจัดงบประมาณคืนให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งต้องถามรัฐบาลว่าเมื่อมีข้อผูกพันทางกฎหมายแล้วก็จะไม่มีทางเลือก ขนาดงบประมาณเสนอเข้าสภาข้อผูกมัดตามกฎหมายเขายังห้ามแปรญัตติตัด แปลว่าต้องผูกมัดรัฐบาลอยู่แล้ว
 
“ผมต้องถามนายกฯ ยิ่งลักษณ์ว่าเห็นประเทศร่ำรวยขนาดเอาเงินห้าหมื่นกว่าล้านไปคืน พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ทุจริตและกระทำผิด เพียงเพราะ คตส.กล่าวหาเลยต้องยกเงินให้ นางสาวยิ่งลักษณ์คิดว่า 5.7 หมื่นล้านเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งในส่วนของพรรคจะดูร่างสุดท้ายว่าผิด รธน.หรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นที่จะโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
เมื่อถามว่า จากเงื่อนไขเหล่านี้ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเป่าหนกหวีดหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราบอกกับประชาชนและได้คุยกับสมาชิกสาขา กทม.ให้เตรียมความพร้อม บอกกล่าวประชาชน ให้ความจริงให้มากที่สุด เพราะสื่อหลักบางสื่อไม่นำเสนอเลย เชื่อว่าหากประชาชนทราบจะไม่พอใจแน่กับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น แต่คนที่ไม่รู้ยังมีเยอะมาก ซึ่งเราต้องทำให้เกิดความเป็นเอกภาพด้วยการกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับหลายกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ และนำเสนอช่องทางสื่อสารให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้พรรคออกมาอยู่แถวหน้านำประชาชนเคลื่อนไหวนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ประกาศว่าประมาณไม่เกินวาระสามและมีเงื่อนไขอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มีมากซึ่งจะต้องหลอมรวมกัน
 
เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ กำลังเดินเกมเข้าสู่การแตกหักเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวน่าจะเป็นหลัก ส่วนการเปลี่ยนแปลงประเทศตนก็ไม่ทราบว่าเป็นเป้าหลักเป้ารอง เพราะเขาคิดถึงแต่เรื่องตัวเองและไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมกับประเทศชาติ ทั้งนี้ตนขอฝากถึงตำรวจและข้าราชการทุกคนให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา คำนึงถึงวิชาชีพของตนเอง ความจริงมีข้าราชการที่ไม่ยอมต่อความไม่ถูกต้องหลายคน ซึ่งตนขอเป็นกำลังใจให้เพราะรู้ว่าโดนกลั่นแกล้ง คุกคาม แต่ก็ยังยืนหยัดต่อสู้
 
“ผมยืนยันว่าพรรคไม่มีโลเล ต่อสู้เต็มที่จุดยืนไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าในสภาจะแพ้เสียงข้างมากก็ยังเป็นหน้าที่ต้องทำอย่างเต็มที่ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องการให้ประเทศเข้าสู่ความขัดแย้ง เรื่องที่ควรทำไม่ทำ เช่น การดูแลหลักเกณฑ์ช่วยเหลือน้ำท่วม แก้ปัญหาปากท้องของแพง รัฐบาลไม่ทำ กลับมุ่งกู้เงิน ช่วยคนโกง ช่วยคนผิด รื้อรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดความขัดแย้งมากมาย หากคิดถึงประเทศชาติและประชาชนก็ไม่ควรทำ แต่รัฐบาลคงมั่นใจกองกำลังตำรวจที่กลายเป็นกองกำลังส่วนตัวของรัฐบาล ผมจึงอยากเตือนไว้ว่าคนที่มั่นใจในเรื่องแบบนี้คิดผิดมาหลายรอบแล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
 
 
สส.เพื่อไทยระบุ ต้องการแก้ไขผลพวงความไม่เป็นธรรมจากการรัฐประหาร
 
ด้านายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญยืนยันว่าการแก้ไขร่างเพื่อให้พ.ต.ท. ทักษิณ พ้นโทษและได้รับเงินคืนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะ กมธ.ต้องการแก้ไขผลพวงความไม่เป็นธรรมและความวุ่นวายที่เกิดจากการรัฐประหารตามหลักการและเหตุผลของร่างและยืนยันว่า ไม่ได้มีการเขียนกฎหมายช่วยเหลือผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นและไม่ได้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองเสียประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ก็สามารถไปใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลในภายหลัง ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะได้รับสิทธิดังกล่าวหรือไม่
 
นายชวลิตกล่าวว่า คณะ กมธ.ใช้หลักในการทำงานโดยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และเห็นว่าร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พท.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ที่ระบุว่า บุคคลต้องได้รับความเสมอภาคทางด้านกฎหมายเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นความเห็นเช่นเดียวกับทีมกฎหมาย พท. ผู้ใหญ่ของพรรค ปชป. 2 คน และอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรรมาธิการจึงเห็นควรแก้ไขไม่ให้ขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 98 ศพนั้น กมธ.เห็นว่าต้องเริ่มที่ทุกฝ่ายให้อภัยก่อน ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ยังยอมให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทุกฝ่าย และเป็นหลักการเดียวที่ทั่วโลกพึงปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศชาติกลับมาสงบ แม้กระทั่ง น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ที่เดิมทีก็ไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรม แต่ภายหลังก็ยอมเสียสละ เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ เพราะหากยังมีความทิฐิอยู่ ก็ไม่เกิดการนิรโทษกรรมได้สำเร็จ
 
เมื่อถามว่าทางกรรมาธิการจะเสนอแก้มาตรา 309 ด้วยหรือไม่ เพราะขัดแย้งกับตัวร่างฯ ฉบับนี้ นายชวลิตกล่าวว่า ทางพรรคยังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น และเชื่อว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายพิเศษ น่าจะผ่านการพิจารณาชั้นศาลไปได้ หากมีการยื่นตีความ ส่วนมาตรา 309 นั้น ก็ยอมรับว่ามีหลายฝ่ายต้อวงการแก้ไข มีแต่พวกที่รักษามรดกรัฐประหารที่สังคมจะต้องตั้งข้อสังเกตว่า พวกนี้อิงแอบเผด็จการทำไม
 
"ผมอยากฝากพวกที่ปลุกระดมประชาชนเคลื่อนไหวให้หยุดการกระทำ โดยเฉพาะพรรค ปชป.ที่เคยระบุว่า เรียกร้องการเมืองในระบบรัฐสภา แต่วันนี้กำลังนำการเมืองไปนอกสภา จึงขอเรียกร้องให้ต่อต้านการกระทำดังกล่าว" นายชวลิตกล่าว
 
 
ธาริต เพ็งดิษฐ์เชื่อ กฎหมายนี้ทำให้คนอยู่ร่วมชาติด้วยกันดีขึ้น
 
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่อาจส่งผลให้กลุ่มคนในคดีที่ดีเอสไอดำเนินการอยู่พ้นความผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนมทางการเมืองเมื่อปี  2553 ว่า มีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างมาก ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (22 ต.ค.) เวลา 13.00 น. นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี ในฐานะกรรมมาธิการชุดดังกล่าว และตนในฐานะผู้เกี่ยวกับการดำเนินคดีกลุ่มบุคคลในเหตุการณ์ปี 2553 ร่วมกันพูดคุยและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถามเห็นในประเด็นดังกล่าว ว่าจะมีแนวทางและความคิดเห็นอย่างไรกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว
 
นายธาริตกล่าวว่า ในฐานะผู้รับผิดชอบในคดีการชุมนุม ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องและถูกดำเนินคดี ดีเอสไอดำเนินคดีไปแล้วทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนเสื้อแดง แกนนำนปช. จำนวน 65 คน 265 คดี บางคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล บางคดีอยู่ระหว่างยื่นศาลไต่ส่วนการเสียชีวิต กว่า 70 คดี และยังมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์อีกกว่า 2,000 ราย ที่แจ้งความเอาผิดกับผู้สั่งการ อีกกลุ่ม คือ ผู้สั่งการสลายการชุมนุม ที่อยู่ระหว่างพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุด  
 
นายธาริตกล่าวว่า หากถามความเห็น การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่พิจารณาจากการกระทำที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ ไม่ใช่พิจารณาจากตัวบุคคลที่กำลังพูดกันอยู่ในขณะนี้ อย่าลืมว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจนเป็นคดีความ มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง เชื่อว่ากลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นอาชญากรโดยสันดาน และเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์ต้องการให้ความเป็นอยู่ร่วมกันของคนในชาติดีขึ้น อยากให้มองเรื่องการให้อภัย อย่ามองแบบชั่งน้ำหนักว่าใครได้ใครเสียมากกว่ากัน อย่างไรก็ตามกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีรายละเอียดอย่างไร เป็นหน้าที่สภาพิจารณา ระหว่างนี้ดีเอสไอก็ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องตามขั้นตอนกฎหมายปกติ จนกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้  
 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net