Skip to main content
sharethis
คดีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนต้านโครงการโรงไฟฟ้า-บ่อขยะปี 52 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลย 5 คน คนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท รอลงอาญา 2 ปี ชาวบ้านยันพร้อมจะสู้ต่อไป ชี้การกลัวถูกฟ้องคดีเป็นอุปสรรค์กระบวนการตรวจสอบ-การมีส่วนร่วม
 
 
24 ต.ค.2556 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดสระบุรีนัดอ่านคำพิพากษา คดีชาวบ้านหนองแซงปิดถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซงและบ่อขยะในพื้นที่ เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.2552 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆ ในทางสาธารณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร, ร่วมกันปิดกั้นทางหลวงนำสิ่งใด มากีดขวาง หรือกระทำการใดๆ ในลักษณะที่อาจเกิดอันตราย เสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล, ไม่จอดรถชิดขอบทาง, ร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
 
จำเลยในคดี 5 คน ประกอบด้วย นายนพพล น้อยบ้านโง้ง และนายคูณทวี ภาวรรณ์ ชาวบ้านจากพื้นที่ อ.แก่งคอยและ อ.เมือง ซึ่งประสบปัญหาจากบ่อขยะเคมีของบริษัท เบ็ตเตอร์เวิลด์กรีน จำกัด, นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนายสมคิด ดวงแก้ว ชาวบ้านจาก อ.หนองแซง จ.สระบุรี ซึ่งประสบปัญหาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซหนองแซง ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ และนางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง นักพัฒนาเอกชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้จำเลยที่ 3, 4 และ 5 มาศาล พร้อมทนายความจำเลยที่ 5 และชาวบ้านที่มาให้กำลังใจประมาณ 20 คน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 พอใจผลคำพิพากษาไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จึงไม่ได้มาศาล
 
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความได้ว่า คดีนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า การชุมนุมของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 63 หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากที่ยุติแล้วในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้สรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปิดถนน เอารถยนต์มาจอดกีดขวางในลักษณะน่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 229 และ พ.ร.บ.ทางหลวง จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ
 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ให้จำคุกจำเลยทั้ง 5 คนละ 1 ปี ปรับ 6,200 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนดคนละ 2 ปี
 
ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี จำเลยที่3 ในคดีกล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า ถ้าสังเกตดูในคำพิพากษาจะเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ อย่างในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ก็บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยมีการตีความเรื่องการชุมนุม เป็นไปได้ว่าความรู้ความเข้าใจในเรื่องรัฐธรรมนูญของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่อย่างจำกัด ในคดีนี้ศาลดูจะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญน้อยกว่ากฎหมายลูกอย่างกฎหมายควบคุมการใช้เครื่องเสียงและกฎหมายการจราจร  
 
ในแง่กระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน ตี๋ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลมักให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นตำรวจมาก เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่มีอคติหรือผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์พบว่าตำรวจเองก็มีผลประโยชน์ผูกพันกับกลุ่มทุนในรูปของการรับบริจาค โดยกลุ่มทุนจะบริจาคสิ่งของเช่นเครื่องใช้สำนักงานหรืออาคารสถานที่ให้กับตำรวจ และมีชื่อของกลุ่มทุนเขียนกำกับไว้ จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพ้นไปจากอคติและผลประโยชน์อย่างแท้จริง 
 
ตี๋ระบุด้วยว่า เหตุที่ถูกดำเนินคดีนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นการกลั่นแกล้ง มีการพยายามหาฐานความผิดมาฟ้องร้องเพื่อปรามไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาแข็งขืนกับรัฐ ส่วนตัวแม้ถูกดำเนินคดีก็จะไม่ยอมจำนนและพร้อมจะสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามมีชาวบ้าน บางส่วนถอนตัวจากการต่อสู้ เพราะการถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งที่มีต้นทุนสูงทั้งทรัพยากรและเวลา อีกทั้งชาวบ้านก็มักถูกสอนให้รักตัวเอง อย่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น ซึ่งค่านิยมแบบนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วม
 

อ่านข้อมูลคดีเพิ่มเติมได้ที่: http://freedom.ilaw.or.th/case/493#detail

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net