แรงงานในร้านสะดวกซื้อ: ว่าที่ผู้ประกอบการหรือแรงงานทาสวัยเยาว์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลายคนอาจจะชินตาภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ให้การต้อนรับเชิญชวนเราซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ (ยอดนิยม) อย่างยิ้มแย้ม และเราอาจจะวาดภาพช่วยลุ้นว่าหากเติบใหญ่และมีประสบการณ์มากพอ แรงงานเหล่านี้คงจะได้เป็นผู้ประกอบการร่วมสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการรายย่อยหน้าใหม่ให้หลากหลาย ตามการประโคมข่าวสร้างภาพของหลักสูตรการเรียนการสอนของหน่วยธุรกิจในเครือบรรษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศแห่งหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ในด้านหนึ่งพบว่าการจ้างงานในร้านสะดวกซื้อยอดนิยมนี้ก็ได้สร้างความกดดันให้กับแรงงานวัยเยาว์เหล่านี้พอสมควร

โดยจากการศึกษา "ปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อ" ของ ดลฤดี เพชรขว้าง (จากวิทยานิพนธ์ สาขาวิชาการพยาบาลอาชีวอนามัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยด้านจิตสังคมในการทำงานและความเครียดจากการทำงานของแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อ กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นแรงงานเยาวชนที่ทำงานร้านสะดวกซื้อที่อยู่ภายใต้ระบบบริหารเดียวกันในเขต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จำนวน 312 คน รวบรวมข้อมูลเมื่อเดือนเมษายน 2551)

ซึ่งผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างบางส่วนรับรู้ว่ามีการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน โดยร้อยละ 48.4 เห็นด้วยว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายมาก ร้อยละ 38.1 เห็นด้วยว่าเป็นงานหนัก ร้อยละ 53.5 เห็นด้วยว่าตนเองได้รับเงินค่าตอบแทนในการทำงานน้อยกว่าที่ควรได้รับร้อยละ 60.9 เห็นด้วยว่ามีโอกาสถูกทำร้ายร่างกายและร้อยละ 50.7 เห็นด้วยว่ามีโอกาสถูกทำร้ายจิตใจ นอกจากนั้นร้อยละ 12.5 เห็นด้วยว่าต้องเผชิญกับความขัดแย้งหรือไม่เป็นมิตรจากผู้บังคับบัญชาและร้อยละ 9.6 เห็นด้วยว่าผู้บังคับบัญชาใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

นอกจากนี้ด้านความเครียดจากการทำงานประเมินจากอาการและอาการแสดงทางด้านร่างกาย จิตใจและพฤติกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รายงานว่ามีอาการดังต่อไปนี้บ่อยถึงบ่อยมากที่สุด คือ ร้อยละ 57.7 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก ร้อยละ 47.7 มีอาการหัวใจเต้นแรง ร้อยละ 47.1 มีอาการปวดศีรษะ ร้อยละ 74.3 รายงานว่าไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้เมื่อมีความกดดันมากระทบต่องานร้อยละ 70.6 เห็นด้วยว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ร้อยละ 61.6 รู้สึกไม่มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและร้อยละ 55.8 รับประทานหรือดื่มมากกว่าปกติ

เมื่อเปรียบเทียบอาการแสดงในกลุ่มตัวอย่างที่ควรให้ความสนใจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำงานประจำร้อยละ 17.4 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมากเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานตามฤดูกาลที่มีเพียงร้อยละ 3.0 กลุ่มที่ทำงานร่วมกับการเรียนร้อยละ 11.5 มีความรู้สึกว่าในระหว่างวันมีความรู้สึกไม่ผ่อนคลายและไม่สบาย ส่วนกลุ่มที่ทำงานอย่างเดียวมีอาการดังกล่าวร้อยละ 7.6 กลุ่มที่ทำงานเฉพาะกะดึกร้อยละ 31.2 มีอาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียมากเมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานเฉพาะกะเช้ามีเพียงร้อยละ13.1 นอกจากนั้นกลุ่มที่ทำงานเฉพาะกะดึกร้อยละ 18.8 มีพฤติกรรมการรับประทานหรือดื่มมากกว่าปกติขณะที่กลุ่มที่ทำงานกะเช้าพบพฤติกรรมดังกล่าวร้อยละ 10.4

จากข้อมูลขั้นต้น ทำให้เราพบว่าหนทางสู่การเป็นผู้ประกอบการณ์ของเขาและเธอทั้งหลายนั้นมันช่างขมขื่น รวมทั้งจะรับประกันได้อย่างไรว่าเขาและเธอจะไปถึงจุดสูงสุดที่ฝันไว้มีร้านเป็นของตนเอง เพราะในธุรกิจนี้แทบจะถูกผูกขาดจากนายจ้างปัจจุบันของเขาและเธอไว้หมดแล้ว

หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงการขายฝันพร้อมขูดรีดเหยื่อของคนงานรุ่นเยาว์ ในอีกวิธีการที่ดูดีเท่านั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท