นศ.เชียงใหม่เสนอรัฐบาลให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการลุ่มน้ำแม่แจ่มเอง

29 ต.ค. 2556 - เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่ม 'กล้ากล่าว' จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "เขื่อน" ที่ลานหน้าอาคาร HB7 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่แจ่ม และเตรียมร่วมเวทีประชาพิจารณ์โครงการจัดการน้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่

สำหรับในเวทีซึ่งจัดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 ต.ค. นั้น มีนักศึกษาและกลุ่มทางสังคมเข้าร่วมหลายกลุ่ม นอกจากนี้ยังมี สมิทธ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวันตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นิคม พุทธา กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ และเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตวุฒิสมาชิก จ.เชียงราย เดินทางมาร่วมด้วย

ก่อนหน้าการจัดกิจกรรม ธรรมใจ ศุภกิจเจริญ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาเพิ่งมีการลงพื้นที่ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยชาวบ้านเกรงว่าจะมีผลกระทบเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำแม่แจ่ม โดยผู้ใหญ่บ้านได้ไปดูพื้นที่แห่งใหม่ที่ต้องอพยพหากมีการสร้างเขื่อน โดยพบว่าเป็นพื้นที่ดินแห้งแล้ง ทำให้เกรงว่าหากมีการสร้างเขื่อนขึ้นจริง จะไม่สามารถทำกินได้ และชาวบ้านอาจจะต้องอพยพไปในเมือง

โดยกิจกรรมเสวนาที่จัดในวันนี้นั้น ต้องการให้เพื่อนนักศึกษาเข้ามาดูว่ารัฐกำลังมีนโยบายอะไรบ้าง อย่างเช่นโครงการจัดการน้ำ และอยากให้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกัน

ส่วน ภาณุกรณ์ รากคำ นักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อห่วงใยอันดับแรกต่อคือห่วงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่เกิดความระแวง คนเฒ่าคนแก่นอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังเกรงว่าความขัดแย้งอาจจะรุนแรงขึ้นหากมีการก่อสร้างเขื่อน ทั้งนี้ข้อเรียกร้องคือ หนึ่ง อยากให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดให้กับประชาชนได้รู้ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่แต่ทั้งประเทศ ให้ทราบว่าจุดไหนที่มีการสร้าง ใช้งบประมาณส่วนไหน สอง ต้องการให้รัฐบาลลงพื้นที่อย่างจริงจัง ไปสอบถามชาวบ้าน ลงพื้นที่จริงๆ ก่อนที่จะมาพิจารณาสร้างโครงการนี้ และสามอยากให้ชาวบ้านและคนที่ได้รับผลกระทบ ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ เป็นคนคิดร่วมกับรัฐบาลด้วย เพราะเขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ จะได้มีความคิดหลากหลายแบบ เช่น ถ้าชาวบ้านได้มีส่วนร่วม อาจมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการสร้างเขื่อน ที่สร้างไปแล้วอาจจะมีปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ เครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เผยแพร่แถลงการณ์หัวข้อ "การเปิดเผยข้อเท็จจริงและผลกระทบที่จะได้รับจากการปฏิบัติตาม “โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ"

ใจความระบุว่า "ตามที่รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำ “โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย” ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้มีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบรวมทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนซึ่งคณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) ได้จัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ณ โรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน โดยการประชุมดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) ได้มีการนำเสนอข้อมูลในส่วนรายละเอียดโครงการ 9 โมดูลที่ผ่านการประมูลเรียบร้อยแล้วเข้าสู่กระบวนการเท่านั้นโดยยังมิได้บอกผลประโยชน์และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ"

"ทางกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่มีความเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวที่ทางคณะอนุกรรมการฯได้นำเสนอต่อประชาชนนั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการสามารถทำความเข้าใจและยอมรับกับการจัดทำโครงการได้และด้วยความไม่เข้าใจเช่นว่านี้อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา ทั้งทางด้านภาครัฐและภาคประชาชนด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาจึงเรียกร้องให้ทางคณะอนุกรรมการฯเปิดเผยข้อมูลการจัดทำโครงการเพิ่มเติม ในส่วนต่อไปนี้"

"1. รายละเอียดในการดำเนินการและพื้นที่ในการจัดทำโครงการฯ ทางคณะกรรมการควรมีข้อมูลที่สามารถระบุพิกัดพื้นที่ในการดำเนินโครงการให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่การดำเนินโครงการสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับตน ตลอดจนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และการระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการโครงการฯดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบถึงหน่วยงานที่ควรติดต่อ และรับคำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาหรือผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ"

"2. ผลกระทบต่อประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการ มิใช่เพียงบอกเพียงผลประโยชน์ในการจัดการน้ำที่ประชาชนนอกพื้นที่จะได้รับ แต่ควรระบุถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่การดำเนินโครงการจะได้รับ ตลอดจนแผนรองรับและการเยียวยาความเสียหายจากการดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการยอมรับการดำเนินโครงการและหาทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น"

"3. การให้ข้อมูลเอกสารรายละเอียดของโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำควรเป็นภาษาท้องถิ่น เนื่องจากให้หลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นกลุ่มชาติพันธ์ รัฐบาลควรที่จะให้ข้อมูลรายละเอียดเป็นภาษาท้องถิ่นและควรมีการกล่าวรายละเอียดในประเด็นสำคัญเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผลกระทบอย่างชัดเจนและทั่วถึงเพื่อประกอบการตัดสินใจ"

"4. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐซึ่งโครงการต่างๆ นั้นรัฐบาลควรมีการลงพื้นที่ สำรวจ ตรวจสอบบริบทอย่างต่อเนื่องและมีการทำแบบสอบถามและการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งแบบประเมินทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างสูงสุด

ในนามของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเคารพในระบอบประชาธิปไตย อันประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการเข้าถึงข้อมูลและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น แม้ประชาธิปไตยจะยอมรับในความคิดเห็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็มิควรเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเสียงส่วนน้อยเช่นกัน" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

จากข้อมูลของ สำนักข่าวประชาธรรม โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ถูกบรรจุอยู่ในโมดูล เอ 1 ของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าเขื่อนแม่แจ่มหรืออ่างเก็บน้ำแม่แจ่มจะมีความจุประมาณ 134.694 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวน้ำท่วม 12,628 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าต้นน้ำชั้น 1 เอบริเวณผาวิ่งจู้ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมีกิจการร่วมค้าไอทีดี-พาวเวอร์ไชน่า เจวี ซึ่งมีบริษัทอิตัลไทยร่วมทุนด้วย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 2,352.18 ล้านบาท โดยให้เหตุผลในการก่อสร้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมชลประทานประมาณ 71,836 ไร่ เป็นแหล่งประมงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตไฟฟ้า แหล่งเติมน้ำบาดาลธรรมชาติ และรักษาความสมดุลระบบนิเวศ

ทั้งนี้ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ในวันที่ 30 ต.ค. นี้ คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (อรป.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยนายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามโครงการ "เพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ" โดยจะจัดที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.คันคลองชลประทาน จ.เชียงใหม่ โดยเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขาน อ.สันป่าตอง และอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่เข้าร่วมประมาณ 2,000 คน โดยเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท