Skip to main content
sharethis


30 ต.ค.2556 วานนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร มีการแถลงข่าวการจัดประชุมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (ICAAP 11)  ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องเอชไอวีและเอดส์ ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

จันทวิภา อภิสุข ประธานร่วมคณะกรรมการจัดการประชุมประเทศเจ้าภาพ กล่าวว่า ธีมของงานปีนี้คือ "เอเชียและแปซิฟิก: เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้ด้วยการลงทุนในนวัตกรรม" ซึ่งจะมุ่งให้เกิด 3 ศูนย์ (triple zero) คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ และไม่มีการตีตรา เลือกปฏิบัติ

สำหรับสถานการณ์เรื่องเอดส์ในประเทศไทย จันทวิภา มองว่า ในภาพรวมพัฒนาขึ้นมาก โดยด้านหนึ่งมีองค์กรเอ็นจีโอ ชุมชน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายใหญ่ มีความเข้มแข็งขึ้น ทั้งยังมีเครือข่ายเฉพาะของตัวเอง เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้ใช้ยา นอกจากนี้ เรื่องเอดส์ยังเข้าไปอยู่ในนโยบายหลักประกันสุขภาพ ทำให้การพัฒนาด้านสิทธิดีขึ้น มีการให้ตรวจเลือดได้ปีละ 2 ครั้ง ตรวจ CD4 ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 ที่เปิดให้โทรได้ โดยไม่ต้องบอกชื่อ

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า ยังมีอุปสรรคคือรัฐบาลยังไม่ได้เป็นผู้นำการปฏิบัติ บุคลากรการแพทย์ยังเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อ ไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคอื่น แม้จะวางยุทธศาสตร์ 3 ศูนย์ แต่นโยบายเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขบุคลากร คนจึงไม่ไปโรงพยาบาล นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และกำลังสนใจเรื่องการเมือง การแก้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มากกว่าเรื่องสุขภาพอนามัย

จันทวิภา กล่าวว่า สำหรับการประชุมในเดือนหน้านี้ จะมีผู้เข้าร่วมราว 3,500-4,000 คนจากกว่า 35 ประเทศโดยหนึ่งในประเด็นร่วมในภูมิภาคขณะนี้คือเรื่องของการเข้าถึงยา ซึ่งปัจจุบัน แม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่ผู้ป่วยต่างฐานะกัน ก็เข้าถึงยาคนละตัว หรือไม่คนจนก็ตายก่อนคนรวย

ด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาพประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) กล่าวว่า ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องเอดส์นั้นเป็นความท้าทาย แต่พอมีเรื่องของข้อตกลงการค้าเสรีเข้ามา ซึ่งจะทำให้ยามีราคาแพงและผูกขาด จะส่งผลให้ความท้าทายนั้นกลายเป็นหายนะทันที

กรรณิการ์ กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี 2543 ยาต้นแบบที่จะรักษาเอชไอวีนั้น มีราคาสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี หรือหลายหมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่เมื่อมียาชื่อสามัญ ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมนั้น มีค่ายาเพียง 600-700 บาทต่อเดือนเท่านั้น

กรรณิการ์ กล่าวว่า ที่บริษัทยามักอ้างตารางแสดงอัตราการตายของผู้ป่วยเอดส์ที่ลดลง ว่าเป็นเพราะนวัตกรรมของบริษัทนั้นไม่จริง เพราะยาที่ผู้ป่วยใช้คือยาชื่อสามัญ ไม่ใช่ยาต้นแบบที่มีราคาสูง และเมื่อยาชื่อสามัญทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่มีกำไรลดลง บริษัทยาจึงพยายามผลักดันมาตรการหลายอย่าง ทั้งการขยายอายุสิทธิบัตรยา ผูกขาดข้อมูลทางยา รวมถึงในข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ยังขยายนิยาม "ยาปลอม" ให้รวมถึงยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งหากยอมรับสิ่งเหล่านี้ จะทำให้การเข้าถึงยาเป็นไปได้ยากขึ้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net