Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจ SMEs ค่าแรงขั้นต่ำดันต้นทุนพุ่ง- 2 ใน 3 ยังจ่ายต่ำกว่า 300 บาท

ระหว่างวันที่ 5ส.ค.-6 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น( มข.)ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้ทำการสำรวจ “ผลกระทบและการปรับตัวต่อนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของ SMEs อีสาน ไตรมาส 3 ปี 2556” โดยสุ่มสอบถามเจ้าของกิจการ ในภาคอีสาน จำนวน 670 ราย ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี

ล่าสุด วันนี้ (24 ต.ค.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มข.เปิดเผยถึงผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังจ่ายค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท/วัน คิดเป็นร้อยละ 66.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เนื่องจากรายได้ของผู้ประกอบการบางรายไม่คุ้มทุน หากต้องจ้างตามนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล

ทั้งยังมีผู้ประกอบการบางราย จ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงหรือจ้างเหมาชิ้น จึงทำให้รวมแล้วค่าจ้างรวมไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่จัดบ้านพักและอาหารแก่ลูกจ้าง จึงทำให้ค่าแรงที่จ้างไม่ถึง 300 บาทต่อวันเช่นกัน

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนค่าแรงงานสูงขึ้น ส่งผลให้ได้กำไรน้อยลงและมีการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 69.1 โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 37.3 แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถปรับตัวได้ คิดเป็นร้อยละ 96.1 ซึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบการ มีร้อยละ 33.7 จะยังคงไม่ลดจำนวนลูกจ้างลง ณ ตอนนี้

แต่มีถึงร้อยละ 26.3 ที่มีแผนจะปรับลดเฉพาะลูกจ้างคนไทย มีเพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้นที่จะปรับลดเฉพาะลูกจ้างต่างด้าว และร้อยละ 1.4 จะปรับลดแรงงานทุกสัญชาติ และที่เหลือร้อยละ 36.4 ได้ปรับตัวการดำเนินงานในด้านอื่นๆ เช่น ลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง ปรับขึ้นราคา จ้างแบบเหมาชิ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีทดแทนแรงงาน

นอกจากนั้น ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ภาคการผลิตได้รับผลกระทบสูงกว่าสาขาอื่นๆเนื่องจากต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โดยมีร้อยละ 84.6 ของผู้ประกอบการภาคการผลิต ที่ระบุว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นปี ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 73.1 และภาคบริการอื่นๆ มีร้อยละ 71.0

ในส่วนของกำไรสุทธิ พบว่าภาคการผลิตมีร้อยละ 54.1 ระบุว่ามีกำไรสุทธิลดลง ขณะที่ภาคการค้ามีร้อยละ 52.2 และภาคบริการอื่นๆ มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ระบุว่ากำไรสุทธิลดลง

สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมช่วยเหลือ หรือสนับสนุนจากผลกระทบนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีคิดเป็นร้อยละ 26.1 รองลงมาคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คิดเป็นร้อยละ 20.1

ส่งเสริมการตลาดคิดเป็นร้อยละ 20.0 การจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตให้แก่สถานประกอบ กิจการคิดเป็นร้อยละ 8.4 การเพิ่มผลผลิตของสถานประกอบกิจการและการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (พัฒนาฝีมือแรงงาน) คิดเป็นร้อยละ 6.2 การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจ้างแรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ5.3 การช่วยจัดหาแรงงานคิดเป็นร้อยละ 5.2 และมาตรการอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 2.3

“ผลสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการ SMEs ใน 4 จังหวัดใหญ่ของภาคอีสานได้ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่สามารถจ่ายค่าแรง ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันได้ตามนโยบาย และส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างแรงงาน แต่ยอดขายและกำลังการผลิตไม่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กำไรลดลง”ดร.สุทินกล่าวและว่า

โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง แต่ยังสามารถรับมือและปรับตัวได้ และบางส่วนอาจปรับลดพนักงานลงโดยเฉพาะแรงงานไทย โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นเป็นภาคการผลิต เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการในการทำธุรกิจเพื่อลดต้น ทุนการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ และรัฐบาลจะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดีเพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำ ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs มากนัก

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-10-2556)

ผู้ประกันตนเมิน สปสช. ฮึ่มถ้าย้ายหยุดจ่ายสมทบ

หลังจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เสนอให้มีการรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคมเป็นกอง ทุนเดียวกัน เพื่อให้การรักษาเป็นมาตรฐานเดียว ขณะเดียวกันให้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเฉพาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากเมื่อเป็นกองทุนเดียว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะเหมือนกันนั้น

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นการรวมกองทุนฯ หรือจะอาศัยมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังมี อย่างการเข้าถึงบริการ การส่งต่อ ซึ่งตรงนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรพัฒนาระบบการบริการก่อนหรือไม่ ที่สำคัญผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินสมทบและการจ่ายเงินก็หวังจะได้มาตรฐาน การรักษาที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการรักษาพยาบาลของ สปส.ยังสามารถเลือกโรงพยาบาลในเครือข่ายได้ แต่ยอมรับว่า บางอย่างสิทธิประกันสังคมอาจไม่ดีมาก แต่ก็ต้องมีการปรับปรุง ซึ่งประกันสังคมยังมีปัญหาในแง่การบริหารจัดการ กลไกการควบคุม ตรงนี้เห็นด้วยว่าต้องปรับปรุงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ แต่จะให้ผู้ประกันตนโอนไปอยู่กับสปสช. มองว่าไม่ใช่

"เคยจัดเวทีแรง งานและพูดประเด็นนี้มากว่า 20 เวที ผู้ประกันตนล้วนไม่เห็นด้วยเพราะ สปสช.ก็มีข้อจำกัดอยู่ ที่สำคัญมองว่า สปส.มีความยั่งยืนในตัวระบบ เนื่องจากมีการร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสามฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มี เป็นภาครัฐจ่าย ซึ่งหากในอนาคตรัฐไม่มีงบประมาณตรงนี้ และการรักษาจะทำอย่างไร เรื่องนี้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย" น.ส.วิไลวรรณกล่าว

นายชาลี ลอยสูง" ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากต้องไปอยู่แล้วยังต้องจ่ายเงินสมทบส่วนรักษาพยาบาลเหมือนเดิม ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯยังไม่ต้องจ่าย ทำไมผู้ประกันตนยังต้องจ่าย

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม ทั้งๆ ที่ควรเป็นสิทธิข้าราชการ ซึ่งในมาตรา 4 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถใช้กองทุนประกันสังคมได้ ด้วยเหตนี้ที่ผ่านมาจึงได้หารือกับ สปสช.ว่าสามารถมาช่วยบริหารกองทุนสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือ ดังนั้น เมื่อมีข้อเสนอลักษณะนี้ โดยส่วนตัวก็เห็นด้วย แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกันตนคนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพราะในส่วนพนักงานมหาวิทยาลัย ก็มีทางเลือกในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเฉพาะขึ้น บริหารจัดการในรูปแบบเหมือนข้าราชการท้องถิ่น ที่ปัจจุบันได้โอนให้ สปสช.ดูแล

(ประชาชาติธุรกิจ, 25-10-2556)

กก.ฝ่ายนายจ้างบอร์ดค่าจ้าง ขอให้คงค่าจ้างขั้นต่ำอีก 2 ปี ตามมติเดิม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่ลูกจ้างบางกลุ่มเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นมาก ที่ประชุมเห็นว่าการปรับค่าจ้างให้สูงขึ้นอาจไม่เป็นประโยชน์ หากไม่สามารถคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการครองชีพได้ ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ต่างคงอยู่ได้ แต่หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างอีกก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ จึงอยากให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทไปอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามมติบอร์ดค่าจ้างก่อนหน้านี้ ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไปจนถึงปี พ.ศ.2558 หากไม่มีปัจจัยความผันผวนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก หลังจากนั้นใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็นฐาน โดยใช้การปรับค่าจ้างเป็นอัตราลอยตัว ที่เป็นราคาค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง ซึ่งค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ หรือส่งเสริมให้มีเรื่องโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการที่กำหนดให้สถาน ประกอบการที่ลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง

กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงแนวคิดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่จะกำหนดให้นายจ้าง ต้องปรับค่าจ้างประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไปนั้น ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน โดยนายจ้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนั้น การที่จะออกเป็นกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ ก.แรงงานจะต้องศึกษาระดมความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

"ขอฝากไปถึงพรรคการเมือง อย่านำเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้ง เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ควรจะเป็นเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผลเชิงวิชาการ เข้ามาสนับสนุน ให้เกิดความสมดุล ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถอยู่ได้" นายปัณณพงศ์กล่าว

(มติชนออนไลน์, 28-10-2556)

“จาตุรนต์” มอบ สอศ.วางแผนผลิตแรงงานภาคปฏิบัติป้อนธุรกิจโรงแรม

(28 ต.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะเดินทางเข้าพบ และ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ว่า ทาง สทท.ได้มาหารือเพื่อขอให้ ศธ.และ สอศ.ผลิตนักศึกษาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแรงงานภาคปฏิบัติการในโรงแรมมีความต้องการมาก ทั้งนี้ สอศ.มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานประกอบการอยู่แล้ว จึงขอให้ สทท.มาร่วมจัดหาผู้มีความเชี่ยวชาญงานบุคคล และนักวิชาการด้านหลักสูตรมาร่วมกันในการกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนา ขณะเดียวกันที่จะต้องทำเร่งด่วน คือ จัดคอร์สฝึกอบรมระยะสั้น เวลา 3 เดือน เพื่อพัฒนาทักษะในเรื่องที่ สทท.ต้องการทั้งเทคนิค งานบริการบางด้าน และภาษา โดยจะเปิดสอนแบบเข้มข้น ซึ่งอาจจะเปิดสอนทั้งคนที่เรียนจบและกำลังจะทำงานหรือผู้ที่ทำงานแล้วแต่ ต้องการเพิ่มทักษะ ส่วนในระยะยาว ก็จะนำแนวคิดไปปรับใช้หลักสูตรในการเรียนระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในบางสาขาที่จำเป็นต้องปรับการเรียนอย่างเข้มข้นก่อนจบในสัปดาห์สุดท้าย และจะขอความร่วมมือจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จทางท่องเที่ยวและมีความ ร่วมมือกับ สอศ.ในการพัฒนาอาชีวศึกษาที่มาร่วมพัฒนา ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปิดภาคเรียน ทั้งนี้ ตนได้ขอให้ สทท.ไปสำรวจความต้องการแรงงานภาคการโรงแรมจำนวนเท่าไร สาขาใดบ้าง รวมถึงความต้องการของล่ามและมัคคุเทศก์ด้วย ซึ่งการดำเนินการจัดคอร์สอบรมระยะสั้นจะจัดในบางพื้นที่ที่มีความต้องการโดย จะเป็นที่ใดบ้างนั้นขอรอดูตัวเลขที่ทาง สทท.จะเป็นผู้สำรวจก่อน
      
นางปิยะมาน กล่าวว่า ขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตมากโดยปี 2555 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศถึง 22.34 ล้านคน แต่ในปีนี้ (2556) คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะพุ่งสูงถึง 26 ล้านคนโดยประมาณ ในขณะที่ภาคการบริการโรงแรมที่พักมีการขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน แต่ปัญหาที่เรากำลังเผชิญในเรื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือที่จะรองรับ โดยเฉพาะในด้านการโรงแรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคปฏิบัติการ ประมาณ 1 ล้านคน เพราะที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาของไทยทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาจะผลิต นักศึกษาที่ออกมาทำงานด้านการบริหารและการโรงแรม จึงได้มาหารือร่วมกับรมว.ศึกษาธิการ และ สอศ.ร่วมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรเพื่อผลิตแรงงานภาคปฏิบัติการ โดยเฉพาะ 4 สาขาหลักได้แก่ 1.สาขาการต้อนรับส่วนหน้า 2.งานแม่บ้าน 3.การต้อนรับในห้องอาหาร และ4.การผลิตอาหารสู่ระบบโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มสาขาสอดคล้องกับความต้องการแรงงานตามมาตรฐานอาเซียน

“ที่ผ่านมาเราไม่มีคนที่จบเฉพาะด้าน ส่วนใหญ่จะนำคนมาอบรมและพัฒนามากกว่าแต่เราต้องการคนที่เก่งจริงมาทำงาน เพราะในอนาคตเราต้องแข่งขันกับอาเซียน เมื่อเราก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงได้มาหารือเพื่อขอความร่วมมือและจะกำหนดสัดส่วน หลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้ได้มาตรฐานที่นำไปใช้ผลิตบุคลากรร่วมกันใน ทุกวิทยาลัยอาชีวศึกษา” นางปิยะมาน กล่าว
      
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า จากการหารือได้ข้อสรุปว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน 1 ชุดระหว่าง สทท.และ สอศ.เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะขอให้ นางปิยะมาน เป็นประธาน และเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) อาชีวศึกษาก็จะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าเสนอในที่ประชุมด้วย โดยคณะทำงานชุดนี้จะยึดความต้องการของภาคประกอบการเป็นหลัก โดยจะดำเนินการในระยะสั้นซึ่งจะทำร่วมกันในการอบรมพนักงาน นักศึกษาและครูผู้สอน ส่วนระยะยาว สอศ.จะต้องปรับหลักสูตรและปรับการสอนอย่างมาก โดยต้องเน้นการสอนที่เข้มข้นมั่นใจว่าทำงานได้แท้จริง โดยอาจจะต้องปรับหลักสูตรบางวิชาจากเดิมที่สอนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจจะต้องเป็นตลอด 2 สัปดาห์สุดท้ายจะเน้นสอนวิชานั้นอย่างเข้มข้น เป็นต้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2556)

นายจ้างยืนยันคงอัตราค่าจ้าง 300 บ. ไปอีก 2 ปีตามมติเดิม

28 ต.ค.-กรรมการฝ่ายนายจ้าง ยืนยันให้คงอัตราค่าจ้าง 300 ไปอีก 2 ปีตามมติเดิม พร้อมย้ำอัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายปรับค่าจ้างประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้าง ที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป

นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่กระทรวงแรงงานว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีลูกจ้างบางกลุ่มเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นมาก โดยเห็นว่าอยากให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ไว้ถึงปี 2558 หากไม่เกิดความผันผวนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก และเห็นว่าการปรับค่าจ้างจะไม่เป็นประโยชน์ หากไม่สามารถคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในการครองชีพ

ส่วนการใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเป็นฐาน โดยใช้การปรับค่าจ้างเป็นอัตราลอยตัว ที่เป็นราคาค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้าง ซึ่งค่าจ้างไม่จำเป็นต้องเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศหรือส่งเสริมให้มีเรื่อง โครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการที่กำหนดให้สถานประกอบการที่ลูกจ้าง 10 คนขึ้นไปให้มีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง 

อย่างไรก็ตามฝากไปถึงพรรคการเมือง อย่านำเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้เป็นประเด็นหาเสียงในการเลือกตั้ง เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องมีเหตุผล เชิงวิชาการเข้ามาสนับสนุน ให้เกิดความสมดุล

ส่วนแนวคิดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายที่จะกำหนดให้นายจ้างต้องปรับค่าจ้าง ประจำปีขึ้นให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไปนั้น ฝ่ายนายจ้างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ ดังนั้น การจะออกเป็นกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานจะต้องศึกษาระดมความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้อง

(สำนักข่าวไทย, 28-10-2556)

บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาร้องภาครัฐ ปลดล็อคสัญญาจ้างสีดำทั่วประเทศ

จากกรณีที่มีข่าวการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่ ฟ้าหลวง  และมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม  โดยผู้ร้องเป็นบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ในสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดย รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ในฐานะเลขาธิการ กล่าวว่า บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา 1 แสน 6 หมื่นคน มีข้าราชการ 3 หมื่นกว่าคนและมีพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ในกรณีสัญญาจ้างไม่เป็นธรรม เป็นส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัย ที่มักเรียกกันว่า “สัญญาจ้างสีดำ” ศูนย์ประสานงานฯได้กำหนดเป็นวาระปัญหาระดับชาติ เป็น 1 ในข้อเรียกร้องหลักที่เสนอ รมว. ศธ. ไปแล้ว เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่องนี้ส่งผลถึงศักดิ์ศรีและความไม่มั่นคงในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย จากข่าวที่มีการบีบสัญญาจ้างเหลือคราวละ 6 เดือนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สร้างความไม่มั่นใจในการทำธุรกรรมการเงินของแหล่งทุนทั่วประเทศ พนักงานมหาวิทยาลัยถือเป็นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่พนักงานบริษัท ระบบนี้เกิดขึ้นตามมติ ครม. ปี 2542 ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ชะตากรรมของพนักงานฯถูกภาครัฐผลักไปฝากไว้ในมือผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัย จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้โดยด่วนเพราะไม่ต้องใช้งบประมาณ โดยออกกฏกระทรวงหรือมติ ครม. ที่ระบุให้สัญญาจ้างพนักงานฯทั่วประเทศ ถึงอายุ 60 ปี และมีการประเมินออกเพื่อคัดคนคุณภาพเหมือนระบบราชการเดิม ซึ่งการกลั่นแกล้งด้วยวิธีบีบสัญญาจ้างทำได้ยากเพราะมีช่องทางในการฟ้องร้อง เรียกความเป็นธรรมมากขึ้น

“จะมีองค์กรไหนบ้างที่ ดูแล ชาวอุดมศึกษา 1 แสน 6 หมื่นคน ตาดำๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจบริหาร  อาจารย์ธรรมดาเหล่านั้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนไปตามยถากรรม โดยมีข้อจำกัดเรื่องกฏหมาย เช่น ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ขึ้นกับกฏหมายแรงงาน แต่ขึ้นกับสัญญาที่ยอมเซ็นต์ นักเรียนทุนรัฐบาลที่กลับมาในช่วงเปลี่ยนผ่านมีระบบพนักงานฯมาแทนข้าราชการ ตอนไปเรียนต่างประเทศนึกว่าจะได้มาเป็นข้าราชการ แต่จบมาในช่วงปี 2542 จึงต้องบรรจุเป็นพนักงานฯ และอยู่ในระบบสัญญาจ้างระยะสั้น จำต้องอยู่เพื่อใช้ทุน ระบบนี้จะสร้างความกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกลายเป็นระบบที่สร้างให้อาจารย์บางส่วนฝึกการเอาตัวรอด ด้วยวิธีต่างๆ  เมื่อมีปัญหาความไม่เป็นธรรม  ก็ต้องดิ้นรนไปฟ้องร้องกันเอาเอง ส่วนใหญ่ฟ้องแล้วแพ้คดี โดยไล่ออกแบบถูกกฏหมายคือไม่ต่อสัญญา บางคนก็เอาชีวิตการทำงานมาแลกความเป็นธรรม โดยหันมาฟ้องอาญา ม. 157 ตามที่เป็นข่าว หันมองไปหาองค์กรกลางที่จะดูแลแต่ละท่านแต่ละคนก็ไปเป็นกรรมการสภา กรรมการที่ปรึกษา ไปทุกมหาวิทยาลัย มีความสนิทชิดเชื้อกับผู้บริหาร บางมหาวิทยาลัยกำหนดเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ต่ำกว่ามติ ครม. แต่กำหนดเงินเดือนอธิการบดี เดือนละ  4 แสนกว่า มากกว่านายกรัฐมนตรีไทยถึง 4 เท่า บางแห่งผู้บริหารก็บอกว่าตนเองก็เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีชะตากรรมเหมือนกัน แต่มองเข้าดูรายละเอียดแล้ว เขาเหล่านั้นเป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงใดๆในสถานะพนักงานฯเลย เพราะมีรายรับ 2 ทาง” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว

ด้าน อ. ประทัย พิริยะสุรวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า หลังการมีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยถี่ขึ้น หลายมหาวิทยาลัยกลับเปลี่ยนระบบสัญญาจ้างให้เข้มงวดกว่าเดิม  ระบบเงินเดือนก็ยังไม่เป็นตามมติ ครม. ปี 2542 แต่เริ่มประกาศใช้สัญญาใหม่ บังคับให้มาเซ็นต์ใหม่ เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น  อาทิ สัญญาจ้างระบุให้ทำตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ภายใน 5 ปี  หากไม่ทำไม่ต่อสัญญาจ้าง ปริญญาตรีลาปริญญาโทได้เพียง 2 ปี  ปริญญาโทเรียนต่อปริญญาเอก 3 ปี  โดยประกาศใช้กับพนักงานฯไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการในมหาวิทยาลัยที่ยังคงมี อยู่ ตนอยากให้บุคลากรแต่ละมหาวิทยาลัย รวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เพื่อเข้าไปมีส่วนในการแสดงความคิดเห็น หากกฏระเบียบบางอย่างริดรอนสิทธิของท่าน หรือออกมาร่วมกับส่วนกลาง คือศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ที่เป็นศูนย์รวมทั้ง ข้าราชการและพนักงานทั่วประเทศ

ด้าน อ. บัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองก็อยู่ในสถานะพนักงานมหาวิทยาลัย ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรกลางที่เป็นที่พึ่งในเรื่องความเป็นธรรม ตนอยากให้ทุกมหาวิทยาลัยทำชมรมเพื่อเป็นศูนย์รวมย่อย เช่นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น การทำงานของชมรมพนักงานมหาวิทยาลัย จะเป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างพนักงานฯ และข้าราชการที่เหลืออยู่ พร้อมกับสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหาร เจรจาต่อรองในเรื่องความไม่เป็นธรรมต่างๆ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานมหาวิทยาลัยทำงานและอยู่ที่มหาวิทยาลัย ขอนแก่นได้อย่างมีความสุข ส่วนการขับเคลื่อนในสิทธิที่ขาดหายไปในส่วนกลางนั้น ทางชมรมฯยินดี เข้าสนับสนุนส่วนกลาง รวมถึง ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่เป็นแกนหลักในการเรียกร้องเชิงรุกมาโดยตลอด

(มติชนออนไลน์, 28-10-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net