Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการลดช่องว่างระหว่างเพศของประชาชนประเทศต่างๆ ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการจัดอันดับประเทศที่มีช่องว่างระหว่างเพศน้อยที่สุด ซึ่งประเทศไอซ์แลนด์เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และฟิลิปปินส์

สภาเศรษฐกิจโลกได้ทำการสำรวจจาก 136 ประเทศเรื่องพัฒนาการลดช่องว่างระหว่างเพศใน 4 ประเด็นหลัก คือในแง่การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมมีส่วนร่วมทางการเมือง สุขภาพและการดำรงชีวิต และความสำเร็จด้านการศึกษา

จากรายงานเปิดเผยว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในปี 2556 นี้มีพัฒนาการด้านการลดช่องว่างระหว่างเพศดีขึ้นเล็กน้อย โดยทั่วโลกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในแง่ความเท่าเทียมกันด้านเศรษฐกิจของทั้งสองเพศและในแง่การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 20 อันดับแรกโดยอยู่ในอันดับที่ 5 ขณะที่ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีลำดับสูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 คือลำดับที่ 14

โดยรวมแล้วช่องว่างระหว่างเพศในประเด็นเรื่องสุขภาพและการดำรงชีวิตได้รับการพัฒนาจนเท่าเทียมกันร้อยละ 96 ซึ่งเป็นประเด็นเดียวที่มีพัฒนาการลดลงจากเดิม โดยประเด็นนี้พิจารณาจากสถิติอัตราการเกิดรวมถึงอายุขัยและสุขภาพจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก

ในประเด็นด้านการศึกษามีคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 93 โดยมี 25 ประเทศจากการสำรวจที่ได้รับการพัฒนาอุดช่องว่างระหว่างเพศจนเท่าเทียมกัน โดยใช้มาตรวัดจากการที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาทั้งในระดับเบื้องต้น และการศึกษาระดับสูง

ส่วนเรื่องความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้รับคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 60 และร้อยละ 21 ตามลำดับ ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยทางด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทางด้านเศรษฐกิจวัดจากอัตราการเข้าถึงแหล่งจ้างงาน เงินเดือน และจำนวนผู้หญิงที่มีตำแหน่งงานระดับสูงเมื่อเทียบกับผู้ชาย ขณะที่ประเด็นด้านการเมืองวัดจากจำนวนผู้หญิงในสภา ในตำแหน่งทางการเมือง และจำนวนผู้หญิงที่เป็นผู้นำประเทศนับย้อนไป 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ชายในตำแหน่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม สภาเศรษฐกิจโลกระบุว่าทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็มีจำนวนผู้หญิงอยู่จำกัดในภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในภาคส่วนแรงงาน และผู้หญิงที่มีตำแหน่งผู้นำทางเศรษฐกิจ


ไทยอยู่อันดับที่ 65 ด้านพัฒนาการลดช่องว่างระหว่างเพศ
จากการสำรวจประเทศในเอเชียพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีอันดับดีที่สุดอยู่ที่อันดับ 5 โดยประสบความสำเร็จด้านสุขภาพ การศึกษา และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65 มีความเท่าเทียมสูงด้านสุขภาพและการศึกษา แต่มีคะแนนด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำ

อันดับอื่นๆ ของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 58 ประเทศลาวอยู่ในอันดับที่ 60 เวียตนามอยู่ในอันดับที่ 73 โดยทั้งสามประเทศนี้มีคะแนนไม่ห่างจากไทยมาก นอกจากนี้ยังมีบรูไนอยู่อันดับที่ 88 อินโดนีเซียอันดับที่ 95 มาเลเซียอันดับที่ 102 และกัมพูชาอันดับที่ 104

อันดับประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียได้แก่ จีนอยู่ในอันดับที่ 69 อินเดียอันดับที่ 101 ญี่ปุ่นอันดับที่ 105 และเกาหลีใต้อันดับที่ 111

สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา องค์กรสภาเศรษฐกิจโลกกล่าวว่าเป็นภูมิภาคที่ทำได้ดีที่สุดในด้านพัฒนาการลดช่องว่างระหว่างเพศ ประเทศที่ทำได้ดีที่สุดคือนิคารากัว (อันดับที่ 10) ซึ่งมีความสำเร็จมากในด้านส่งเสริมส่วนร่วมทางการเมือง ตามมาด้วยคิวบา (อันดับที่ 15) เอกวาดอร์ (อันดับที่ 25) เม็กซิโกได้อันดับดีขึ้น 16 อันดับมาเป็นที่ 68 จากการที่มีส.ส. และคนทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ส่วนบราซิลอยู่ที่อันดับ 62

อีกภูมิภาคหนึ่งที่ทำได้ค่อนข้างดีขึ้นคือแอฟริกา โดยมีประเทศอันดับต้นๆ คือประเทศเลโซโท (อันดับ 16), แอฟริกาใต้ (อันดับ 17) บุรุนดี (อันดับ 22) และโมซัมบิก (อันดับ 26) จากการที่มีพัฒนาการด้านจำนวนผู้หญิงในที่ทำงานมากขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงมีรายได้มากขึ้นและมีอำนาจการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในภาคส่วนของงานรายได้ต่ำ

ขณะที่ภูมิภาคคะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไม่มีพัฒนาการในด้านการลดช่องว่างระหว่างเพศ ประเทศที่อันดับสูงสุดในภูมิภาคคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (อันดับ 109) ซึ่งทำได้ดีบางส่วนในด้านการศึกษา ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังทำได้ไม่ดีนักในด้านนี้

ขณะที่ประเทศยุโรปแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ประเทศยุโรปเหนือกับยุโรปตะวันตกซึ่งมักจะอยู่อันดับต้นๆ กับกลุ่มยุโรปตะวันออกและยุโรปใต้มักจะอยู่ลำดับรองลงมา


การศึกษาช่วยเร่งพัฒนาการความเท่าเทียม
นอกจากนี้ ดัชนีของสภาเศรษฐกิจโลกยังได้แบ่งกลุ่มตามนโยบายออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มประเทศที่เคยลงทุนในเรื่องสุขภาพและการศึกษาของผู้หญิง ทำให้ในปัจจุบันผู้หญิงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น กลุ่มที่สองคือประเทศที่แม้จะมีการลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษา แต่ก็ไม่อาจนำความสามารถมาใช้ได้เนื่องจากการกีดกันทางสังคม กลุ่มที่สามคือประเทศที่มีความต่างชั้นด้านสุขภาพและการศึกษาทำให้ผู้หญิงไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ แม้ว่าผู้หญิงจะอยู่ในภาคแรงงานจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคแรงงานที่ใช้ฝีมือน้อย กลุ่มสุดท้ายคือประเทศที่มีช่องว่างทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง

"ประเทศต่างๆ ควรเริ่มคิดถึงเรื่องทรัพยากรมนุษย์ต่างออกไป โดยมีการเพิ่มผู้หญิงในบทบาทผู้นำมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านแนวคิดและการกระทำนี้ไม่ใช่เป้าหมายในอนาคต แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นตั้งแต่วันนี้" เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของสภาเศรษฐกิจโลกกล่าว

ซาเดีย ซาฮิดี ผู้ร่วมเขียนรายงานและประธานกลุ่มผู้นำหญิงและโครงการเพื่อความเสมอภาคทางเพศ กล่าวว่า การส่งเสริมด้านการศึกษาเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับพัฒนาการด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ สำหรับประเทศที่ลงทุนในด้านนี้แล้ว ลำดับต่อไปคือการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในภาคการทำงาน ส่วนประเทศที่ยังไม่ได้ส่งเสริมด้านการศึกษาควรมีการพูดถึงอุปสรรคในด้านนี้ เนื่องจากมีความสำคัญมากทั้งกับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงเอง และทั้งกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจด้วย

การสำรวจด้านช่องว่างระหว่างเพศโดยองค์กรสภาเศรษฐกิจโลก เริ่มทำครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 โดยมีวิธีการสำรวจจากตัวแปรต่างๆ 14 ตัวแปรในการนับคะแนน โดย 13 ตัวแปรมาจากข้อมูลขององค์กรระดับโลกต่างๆ อาทิ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาของสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ข้อมูลที่เหลือมาจากการพิจารณานโยบายของผู้บริหารประเทศ 87 ประเทศ ในด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนทำงานเพศหญิง

 


เรียบเรียงจาก

Increased Political Participation Helps Narrow Global Gender Gap in 2013, World Economic Forum, 25-10-2013
http://www.weforum.org/news/increased-political-participation-helps-narrow-global-gender-gap-2013

รายงานฉบับเต็ม
http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2013/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net