Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีสลายการชุมนุมเสื้อแดง เม.ย.-พ.ค.2553 โดยอัยการเลื่อนนัดส่งฟ้อง ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.56 ด้าน ป.ป.ช.มีมติไต่สวนคดีสลายชุมนุมปี 53 ต่อ เหตุ รธน. บัญญัติไว้ เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

31 ต.ค.2556 ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า วันนี้ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เวลา 08.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินทางเข้าพบ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบคำสั่งฟ้องของนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด

จากที่มีคำสั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84, 90 และ 288 จากกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553

หลังรับทราบคำสั่งฟ้องเสร็จ ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ขอเลื่อนการสั่งฟ้องออกไป เนื่องจากอยู่ในสมัยประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อัยการจึงเลื่อนส่งฟ้องและนัดส่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลอาญา ไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.56 เวลา 10.00 น.ต่อไป
 
 
ป.ป.ช. มีมติไต่สวนคดีสลายชุมนุม ปี 53 ต่อ
 
วันเดียวกัน (31 ต.ค.2556) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ โฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ออกหนังสือ แถลงมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการร้องให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการในการสั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ตาม รธน.มาตรา 271
 
ทั้งนี้ รธน.มาตรา 250(1) และ 272 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา19(1) และมาตรา 63 บัญญัติให้ ป.ป.ช. เท่านั้นมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่อาจยุติการไต่สวนได้
 
ถึงแม้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่ จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2553
 
ส่วนกรณีคำร้องให้ดำเนินคดีอาญากับผู้กล่าวหาทั้งสอง ว่าผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา ให้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น รธน.มาตรา 250(2) ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 19(2)(4) และมาตรา 66 บัญญัติเป็นอำนาจหน้าที่กรรมการป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนไม่ว่า ไม่ว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน  ซึ่งรธน.ก็ไม่ได้กำหนดข้อห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ที่เป็นประเด็นเดียวกัน กับที่ศาลประทับรับฟ้อง หรือ มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ดังเช่น การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
 
ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยืนยัน ถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในมาตรา 24 ว่าในเรื่องฟ้องคดีอาญา สำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ผู้ต้องหาทั้ง 2 จึงอยู่ในอำนาจ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวนและอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net