Skip to main content
sharethis

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจับมือกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหายาละลายลิ่มเลือดช่วยผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้ครบทุกแห่ง เริ่มจัดระบบเพื่อขยายเครือข่าย รพ.ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ตั้งแต่ปี  52 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 60 ลดอัตราเสียชีวิตลงได้

พบคนไทยเป็นโรคหัวใจติด 1ใน 10 เสี่ยงชูจังหวัดหนองบัวลำภูสุดเจ๋งโรงพยาบาล ให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้ครบทุกแห่ง  หลังพบปัญหาไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด  ปัจจุบันโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ไม่พบผู้เสียชีวิต วินิจฉัยถูกต้อง เข้าถึงบริการทันเวลา และปลอดภัย   ด้าน สปสช.จัดระบบเพื่อขยายเครือข่ายรพ.ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ตั้งแต่ปี  52 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 60 ลดอัตราเสียชีวิตลงได้        


นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบดูแล โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และมาตรฐานอย่างทันเวลา และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2552 ผลการดำเนินการพบว่าผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดในอัตราเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 16 ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 35 ในปี 2555 จากกลุ่มเป้าหมาย 3,230 คน และผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2556 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,677 คน ได้รับการให้ยาละลายลิ่มเลือด 2,268 คน หรือร้อยละ 61.68 ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงมาก

นพ.สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข  เขตบริการสุขภาพที่ 8  เปิดเผยว่า   จากรายงานมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 8 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลศรีบุญเรือง 4 ราย  โรงพยาบาลสุวรรณคูหา 1 ราย โรงพยาบาลนากลาง 1 ราย โรงพยาบาลนาวัง 1 ราย และ โรงพยาบาลโนนสัง 1 ราย  ซึ่งผู้ป่วยทุกรายปลอดภัยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ   ทั้งนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ที่สามารถพัฒนาระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ  ทุติยภูมิ และตติยภูมิได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด       และได้มอบนโยบายให้มีการติดตามเป็นระยะๆ เพื่อนำปัญหามาปรับปรุงแก้ไข  รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในเครือข่ายและส่งเสริมให้มีการคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวและหลอดเลือดในชุมชนพัฒนาต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งนี้ทีมงานเครือข่ายต้องมีเป้าหมายร่วมกันและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่น   เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเขตบริการสุขภาพที่ 8 ได้เตรียมแผนรองรับการพัฒนาสนับสนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้เป็นแม่ข่าย ในการจัดบริการแบบไร้รอยต่อในเรื่อง โรคหัวใจและหลอดเลือดแม่ข่ายระดับเขต คือ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และแม่ข่ายในระดับจังหวัด ก็คือ โรงพยาบาลจังหวัด โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ใน 7 จังหวัดอีสานตอนบน สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้

นพ.สุทธิ ถาวรยุติธรรม ประธานเครือข่ายโรคหัวใจจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า โรงพยาบาลหนองบัวลำภูมีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจัดเป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน โดยโรงพยาบาลหนองบัวลำภูร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานีจัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 แห่งในจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทั้งหมด   โดยมีโรงพยาบาลหนองบัวลำภูเป็น Node รับส่งต่อ  ผลการดำเนินงานในปี 2556 ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตหลังได้รับยาที่โรงพยาบาลชุมชนแม้แต่รายเดียว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชุมชนที่ให้ยาละลายลิ่มเลือด ปี 2555 ในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี ร้อยละ 18.39 จากภาพรวมประเทศร้อยละ 28.59 ซึ่งในปี 2556 โรงพยาบาลสามารถให้ยาสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 73.23 (52/71แห่ง)  โดยจังหวัดหนองบัวลำภู โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้ยาได้ครบ ร้อยละ 100 (5/5 แห่ง)  จังหวัดอุดรธานี ร้อยละ 70.58 (12/17แห่ง) จังหวัดสกลนคร ร้อยละ 68.42 (13/19 แห่ง) จังหวัด เลย ร้อยละ 83.33 (10/12 แห่ง) จังหวัดหนองคาย ร้อยละ 60 (3/5 แห่ง) จังหวัดนครพนม ร้อยละ 75 (6/8 แห่ง) และจังหวัดบึงกาฬ ร้อยละ 71.42 (5/7 แห่ง)   ซึ่งสปสช.ได้  ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 8 พัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือดระดับเขตพื้นที่เพื่อให้เกิดการจัดบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่รวดเร็วและปลอดภัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net