เครือข่ายศิลปินชำแหละพ.ร.บ.มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

“มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเนการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

นี่คือมาตราหลักที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทันทีที่ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... ที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอนั้นผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.56 เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา และสภาผู้แทนราษฎรต่อไป  

วัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายนี้ เป็นไปเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง และส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน 7 สาขา ได้แก่ ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน กีฬาภูมิปัญญาไทย แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาลและภาษา

เป็นการจัดทำ พ.ร.บ.เพื่อรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโกด้วยอีกโสตหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2552-2556 แล้ว จำนวน 218 รายการ ได้แก่ สาขาศิลปะการแสดง 51 รายการ งานช่างฝีมือดั้งเดิม 42 รายการ วรรณกรรมพื้นบ้าน 43 รายการ กีฬาภูมิปัญญาไทย 20 รายการ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล 22 รายการ ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 25 รายการ และภาษา 15 รายการ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายศิลปินร่วมสมัย ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดเสวนา "ร่าง พรบ.มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : คุ้มครอง หรือ ควบคุม" โดยมีศิลปินและผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรมร่วมแลกเปลี่ยนหลายคน

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วิจารณ์บทกำหนดโทษของร่างกฎหมายนี้ว่า เป็นการเพิ่มเครื่องมือในการเซ็นเซอร์อีกอันหนึ่งให้รัฐ ทั้งที่วัฒนธรรมนั้นโดยตัวมันเองต้องปลดแอกให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้เนื้อหาในกฎหมายยังขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเจตนารมณ์ของปฏิญญายูเนสโก

“คนที่ทำหนังดีๆ ตอนนี้เขาไม่มีหวังแล้ว  ทำหนังดีๆ ก็กะฉายเมืองนอกกันหมด คนไทยไม่ต้องได้ดูแล้ว นี่เป็นการฆ่าศิลปะที่มีความก้าวหน้าและมีคุณค่า ซึ่งโดยปกติก็เกือบตายอยู่แล้วยังจะลงโทษเพิ่มอีก”

“ในยุคของความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ เชื่อว่ารัฐบาลผ่านกฎหมายนี่แน่ เพราะต้องการควบคุมสังคมอยู่แล้ว เพื่อเอาอกเอาใจเจ้าขุนมูลนายหรืออะไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม รับประกันได้เลยว่าจะมีคนมองว่าคุณหมิ่นศาสนา ความมั่นคง หรือสถาบันกษัตริย์ ติดคุกง่ายมาก และในสภาก็จะผ่านกฎหมายนี้ ไม่มีใครกล้าแตะเมื่อเห็นประเด็นเกี่ยวกับสถาบัน มันจะเป็นมรดกบาปของพวกคุณ”

สกุล บุณยทัต กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นเหมือนกฎหมายลิขสิทธิ์ ส่วนมาตราว่าด้วยความมั่นคง สถาบันกษัตริย์และศาสนาก็เป็นของตายทุกยุคสมัยที่แตะต้องไม่ได้ กระทรวงวัฒนธรรมอย่าติดหล่มตัวเอง อย่างการเลือกละครนอกมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ถามว่าจะเอาละครนอกสมัยไหน ละครนอกของจริงในอดีตนั้นไม่ถือยศศักดิ์ คนใช้ตบหัวกษัตริย์ได้ ถามว่ายุคนี้แสดงได้ไหม

“สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่จริงใจ ไม่ซื่อสัตย์กับภาวะการรับรู้ของมนุษย์ และเราจะไม่สามารถคิดอะไรใหม่ได้”

“ศิลปะเป็นด้านในของมนุษย์คนหนึ่ง มีความเป็นอัตตะสูง สังคมก็ดัดแปลงกันมาไม่รู้เท่าไร แต่เรากลับทำให้ตัวเองแคบ” สกุลว่า และยกตัวอย่างหมอลำที่เกือบสูญหายไปหากไม่มีหมอลำซิ่งเกิดขึ้น ส่วนในทางวรรณกรรมนั้น การดัดแปลงช่วยส่งเสริมให้พัฒนาไปได้อีกไกล

บรูซ แกสตัน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทย “ฟองน้ำ” กล่าวว่า สำหรับดนตรีไทยแล้วค่อนข้างลื่นไหล เล่นแต่ละครั้งแทบไม่เหมือนกันซักครั้ง แล้วจะจดทะเบียนว่าอันไหนเป็นของจริง นอกจากนี้แต่ละบ้านก็เล่นเพลงเดียวกันในคีย์ที่ต่างกัน และตีความดนตรีต่างกัน มีทางเลือกในการเล่นหลายทาง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกดนตรี

“กฎหมายนี้มองศิลปะเป็นวัตถุมากๆ ดนตรีไทยไม่เหมือนงานบีโธเฟ่นที่สองร้อยปีไม่เคยเปลี่ยนแม้ตัวโน้ตเดียว แต่ดนตรีไทยไม่มีโน้ตชัดเจน มีการประยุกต์เยอะ ผมจะจดทะเบียนตรงไหนเป็นของจริง ในเมื่อของจริงมันเปลี่ยนตลอดเวลา เราคิดจะบังคับให้อยู่อย่างนั้นอย่างนี้ตายตัว มันขัดกับความเป็นดนตรีไทย เพราะเสน่ห์ของดนตรีไทย หรือความคิดแบบไทยๆ คือ ไม่มีมาตรฐาน ต้องคิด สร้างสรรค์ตลอดเวลา” บรูซ กล่าว

มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างหนัง shakespear must die กล่าวว่า นี่คือกฎหมายเซอร์เซอร์ฉบับใหม่ในด้านวัฒนธรรม และมีปัญหาอย่างยิ่งในตีความว่าอะไรกระทบความมั่นคง ศาสนา สถาบัน และศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะความมั่นคงนั้นความหมายกว้างมาก ต่อไปประเด็นเรื่องการเมืองก็จะแตะต้องไม่ได้เลย กรณีกระทบสถาบันนั้นมีมาตรา 112 อยู่แล้ว และปัจจุบันยังเป็นปัญหากล่าวหาว่าใช้กฎหมายนี้กลั่นแกล้งกัน ขณะที่เรื่องศาสนาเป็นสิ่งที่ศิลปินวิพากษ์วิจารณ์เยอะ จะยังทำได้หรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรเสนอกฎหมายนี้ด้วยซ้ำ เพราะเปิดโอกาสให้นักการเมืองเลวๆ ทำลายเสรีภาพประชาชน หรือหากจะปรับแก้ก็ควรตัดมาตรา 39, 40 และบทลงโทษออกไปเลย สิ่งที่กระทรวงควรทำคือ การศึกษา ส่งเสริมงานวิจัยในด้านวัฒธรรม

เจ้าหน้าที่จากองค์กรยูเนสโก ประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนภายหลังงานสัมมนาว่า อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก ไม่ได้ห้ามการพลิกแพลง ไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาจะเป็นไปในทางตรงข้ามกับหัวใจสำคัญของอนุสัญญานี้ นั่นคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้พยายามทำงานในเรื่องนี้อย่างหนัก และเรื่องของเนื้อหากฎหมายยังเป็นสิ่งที่หารือและร่วมกันแก้ไขได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท