Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระ2-3 ไปอย่างรวดเร็ว เป็นชนวนการชุมนุมให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ในขณะเดียวกัน หลายกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ก็ได้คัดค้านและ แสดงความไม่เห็นด้วย กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย เช่นกัน

หนึ่งในกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในประเด็นนี้ บนจุดยืนที่ไม่ยอมไปซบอกฝ่ายอำมาตย์ คือกลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มต่างๆ เป็นแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษา คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ออกมาแถลง เตรียมยื่นต่อวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้าน พ.ร..บ.ดังกล่าว

ตัวแทนจาก “สภาหน้าโดม” “สิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์” หรือ นิว เลขาธิการกลุ่มสภาหน้าโดม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 3

“กิตติสัณห์ อุตสาหประดิษฐ” หรือ เอิร์ธ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาหน้าโดม และสมาชิกสภานักศึกษา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี1 และ  “ศรัณย์ ฉุยฉาย” หรืออั้ม เนโกะ หนึ่งในแนวร่วม ได้ให้สัมภาษณ์แนวคิดที่มาในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

นิว อั้ม เอิร์ท

-สภาหน้าโดม มีสมาชิกกี่คน

นิว : มีประมาณ 14-15 คน ทำงานประสานประมาณ 6-7 คน

-ชื่อนี้ เกี่ยวข้องกับสภาหน้าโดม ยุค 14 ตุลา 2516 หรือเปล่า

นิว : ไม่ได้เชื่อมโยงติดต่อโดยตรง ไม่ได้ไปขอใช้ชื่อ แต่ได้เลือกใช้ไปเลย ถ้าจะมีความเกี่ยวโยงก็น่าจะเป็นเรื่องราว ความเหมือนกัน ในการทำเวที พูดคุย วงเสวนา คอนเสปต์คล้ายกัน ผมเลยนำชื่อสภาหน้าโดมกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

-แล้ว “สภาหน้าโดม” ในเจนเนอเรชั่นนี้ เคลื่อนไหวประเด็นอะไรที่คิดว่าสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก

นิว : เรื่องต่อต้านระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็งานแรกคือ งิ้วธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มิ.ย. 56 จากนั้น เดือนกรกฎามาเคลื่อนเรื่องต่อต้านระบบโซตัส ทำให้มีแรงกระเพื่อมในธรรมศาสตร์มากพอสมควร อีกเรื่อง คือ ต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา

อั้ม : สภาหน้าโดมเคลื่อนไหวตอนที่มีกรณี วิชา TU130 บังคับต่างชุดนักศึกษา

-ตอนที่อั้มทำโปสเตอร์ หรือเปล่า

อั้ม : ใช่ แต่สภาหน้าโดมเขาแจกใบปลิว

นิว : บังเอิญมาทำวันเดียวกัน แต่คนละแคมเปญ สุดท้ายสานไปด้วยกันได้ 

-กลุ่มสภาหน้าโดม ไปถ่ายโปสเตอร์กับอั้ม หรือ เปล่า

อั้ม : ไม่ใช่คะ เพราะเราคิดเห็นไปในทางเดียวกัน แต่เคลื่อนไหวคนละแบบกัน

นิว : สภาหน้าโดม เป็นคนเอาไปเผยแพร่ครับ

อั้ม : เอาโปสเตอร์ ไปโพสต์ในเฟซบุคครั้งแรก โดยสภาหน้าโดม

-เนื่องจากเป็นกลุ่มอิสระ ทำให้ไม่ถูกอาจารย์มาควบคุมหรือเปล่า

นิว : ก็มีความพยายามจะเล่นงานอยู่บ้าง เช่น ฝ่ายการนักศึกษา เรียกไปคุยว่า ใครเป็นผู้เผยแพร่ แล้วทำไมสภาหน้าโดมทำกับเพื่อนแบบนี้ แล้วเขาอ้างว่า คุณอั้ม เนโกะ เป็นคนซัดทอดมาที่สภาหน้าโดม (ทุกคนหัวเราะ)

อั้ม : ไม่จริง(หัวเราะ)

นิว : ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมฝ่ายการนักศึกษาเราทำไมเป็นแบบนี้ เหมือนจะพูดให้เราขัดแย้งกัน แล้วกลุ่มอิสระทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้งบอะไรจากมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว อุปสรรคก็เยอะ เจอระบบราชการยุ่งยาก

-ตอนอั้ม ไปแสดงละคร นอนตายอยู่หน้าพรรคเพื่อไทย ต่อต้าน ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สภาหน้าโดมได้ไปด้วยไหม

นิว : ผมไปในนามส่วนตัวครับ ไม่ได้ไปในนามสภาหน้าโดม

อั้ม : งานนั้น ตัวหลักคือกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย มีคุณไท ปณิธาน ลูกคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อยู่ในกลุ่ม

-ทำไมมาเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรม

นิว : ผมคิดว่า มันเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมาตอนนี้ และสังคมจับจ้องอยู่ และเป็นประเด็นที่ควรตั้งคำถามถึงการกระทำ ว่า ขัดต่อหลักนิติรัฐ หรือขัดต่อหลักการนิรโทษกรรมทั่วไป ซึ่งต้องมีการสำนึกผิด การขอขมาต่อเหยื่อ  แต่ปรากฏว่าไม่มีขั้นตอนพวกนี้เลย ต่อให้เหมาเข่ง คนทำผิดก็ต้องมีการขอขมา สำนึกผิดก่อน

จริงๆ เราก็ไม่อยากไปเคียดแค้นคุณอภิสิทธิ์ กับคุณสุเทพ และทหาร แต่เราต้องการเห็นการสำนึกผิด ขอขมา ไม่ลงโทษก็ไม่ว่าอะไรแต่ต้องสำนึกผิด ขอขมา ซึ่งเหยื่อก็ยังไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้

-ความรู้สึกแย่ ตอนนี้มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทยมากกว่ากัน

นิว : ผมมีความรู้สึกต่อพรรคเพื่อไทยมากกว่า รู้สึกถึงการกระทำที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังฉันทานุมัติของคนในสังคม และโดยจุดประสงค์หลัก ไม่ได้มุ่งไปที่ประชาชน แต่มุ่งไปที่กลุ่มอำนาจ ชนชั้นนำ พรรคเพื่อไทยก็คือกลุ่มอีลีท กลุ่มชนชั้นนำเช่นกัน กลุ่มชนชั้นนำเก่า กับกลุ่มชนชั้นนำใหม่ ในพรรคเพื่อไทยก็คงกำลังประนีประนอมกันอยู่ โดยไม่สนใจประชาชนว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกพรรคเพื่อไทยไป ก็หวังว่าอยากจะให้เขาช่วยเหลือคนเสื้อแดง ถึงแม้ผมจะไม่ได้เชียร์คนเสื้อแดงเต็มที่ ก็เห็นใจคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมตรงนี้ ก็อยากให้ไปช่วยแก้ไข

-เหตุผลที่ทางพรรคบอกว่า นิรโทษกรรมแบบนี้เพื่อช่วยคนที่อยู่ในเรือนจำให้ออกมาเร็วขึ้น  และถ้าไม่เหมาเข่ง ก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค

เอิร์ธ : ฟังไม่ขึ้นครับ เพราะผ่านวาระแรกไปแล้ว แสดงว่า เขาก็ต้องรู้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นิว : ถ้าร่างหลักการ เป็นเหมาเข่ง ยังว่าไปอย่าง แต่ร่างหลักการมาอีกอย่างแล้วมาเพิ่มอีกอย่าง

อั้ม : คือเป็นการตีความเพื่อจะช่วยกลุ่มชนชั้นนำ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จริงๆ แล้วความเสมอภาคทางกฎหมาย มันต้องแยกระหว่าง ประชาชนผู้เป็นเหยื่อความรุนแรง กับผู้กระทำ ว่ามันไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ความเสมอภาค ต้องเป็นเรื่องระหว่างผู้ตกเป็นเหยื่อและนักโทษทางการเมือง เช่น คดี 112 ด้วย เพราะหลังปี 2549 มาตรานี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

-ทุกคนเห็นด้วยกับร่างนิรโทษกรรมของ คุณวรชัย เหมะ หรือไม่

เอิร์ธ : ใช่ครับ เห็นด้วย

นิว : เห็นด้วยระดับหนึ่ง

- เมื่อร่างนิรโทษฉบับเหมาเข่งผ่านวาระ2-3  แล้วความรู้สึกแรก ที่สามารถอธิบายเป็นคำพูดคือคำว่าอะไร
เอิร์ธ : ผ่านไปเร็วมากเลยครับ 19 ชั่วโมง 2 วาระนี่ถือว่าสุดยอด สำหรับพรรคเพื่อไทย

นิว : พ.ร.บ.ลักหลับ แต่ผมก็เข้าใจ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ 3 วาระรวดในเวลา ไม่ถึง 3 วันอยู่แล้ว โอเคเข้าใจ ว่าต้องรวดเร็ว แต่ผมอยากพูดเรื่องความเสมอภาคหน่อย ตอนเกิดเหตุการณ์ มันไม่มีความเสมอภาค นะครับ เจ้าหน้าที่รัฐทำ มีกฎหมาย มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการสั่งการ แต่ประชาชนไม่มีอะไร นี่จึงไม่ใช่ความเสมอภาค

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ ไม่สามารถนำมารวมกับประชาชน เพื่อจะบอกว่าไม่เสมอภาค เพราะยังไงก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนไม่มีอะไรเลย

อั้ม : ที่วาระ2-3 ผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก มีคนแซวว่า ทีเรื่องอย่างนี้ขยันตั้งใจทำงานรีบออกกฎหมาย ทั้งที่ควรไตร่ตรองและฟังเสียงประชาชนบ้าง ถ้าเป็นแค่การเกี้ยเซี๊ยระหว่างกลุ่มบุคคล กลุ่มพรรคการเมือง แต่ไม่ได้มองผลประโยชน์ประชาชน ว่าคนที่สูญเสียจะได้รับการพิสูจน์ ความจริงให้พวกเขาหรือเปล่า อย่างเราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองแน่นอน แต่เราไม่นิรโทษกรรม ให้กับแกนนำ หรือผู้มีส่วนสั่งการ เพราะ อย่างที่ นิว บอก คือเราอยากได้ การรู้สึกสำนึกผิด แต่อั้ม ก็อยากได้มากกว่านั้น คือ การค้นหาความจริง

มันจะเหมือนกับที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย เพราะว่าที่ผ่านมา ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังในการสังหารหมู่ประชาชนทั้งหลายแหล่ ต่างรอดพ้นข้อครหาทางกฎหมาย ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การนิรโทษกรรม โดยรัฐสภาที่ออกกฎหมายมาช่วยเหลือตัวเอง หลังจากที่ตัวเองก่อการแล้ว

แต่ที่มันน่าเจ็บใจที่สุดก็คือเรื่องที่พรรคเพื่อไทย ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา ไปลบความผิดให้กับคนที่เราต่อสู้หรือคนที่สังหารหมู่ประชาชนมาก่อนหน้านี้  แล้วรีบโหวตตอนตีสี่

นิว : คือเวลาโจรก่อการลักขโมย ในยามวิกาลต้องได้รับโทษหนักใช่ไหมครับ อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาพรรคเพื่อไทย กระทำในยามวิกาล ส่วนใหญ่เขาก็หลับกัน พรรคเพื่อไทยเองก็ควรจะได้รับการลงโทษจากสังคมอย่างหนักเช่นกัน เพราะ การกระทำ ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วยังทำยามวิกาลที่ประชาชนแทบจะไม่รับรู้เท่าไหร่

อั้ม : เป็นพฤติกรรมเยี่ยงโจร

-ด้านหนึ่งพรรคก็บอกว่า ต้องนำประเทศไปข้างหน้าจะปรองดองหรืออะไรก็ตามแต่ แต่อีกด้านก็มีคำให้สัมภาษณ์ จาก ส.ส.เสื้อแดง อ้างผู้อาวุโสของประเทศพูดคุยกับอำมาตย์ในพรรค

อั้ม : อย่างที่คุณวรชัย ให้สัมภาษณ์ เราก็มีความเห็นว่า ตราบใดที่คุณยังไม่กล้าพูดความจริงออกมาได้ คุณก็อย่าหวังเลยว่ามันจะมีความปรองดองสมานฉันท์ ตราบใดที่มันยังมีอำนาจนอกระบบที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เข้ามาแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะกับรัฐบาลของประชาชน มันจะมีประโยชน์อะไรกับการที่บอกว่าต้องนิรโทษกรรมเพื่อปรองดองกัน แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ภายใต้ คำถามว่า ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นรวมทั้ง พ.ร.บ.นี้ซึ่งไม่สามารถพูดออกมาได้ ก็เหมือนกับการที่เรารู้ว่าฆาตกรคือใคร แต่พูดออกมาไม่ได้ หรือใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารปี 2549 แต่ให้ตายยังไงก็พูดไม่ได้

ตราบใดที่เราจะปรองกัน โดยความจริงความยุติธรรม ยังไม่ปรากฏในสังคม อั้มว่าชาติหน้าก็ไม่ขอปรองดองคะ

นิว : เรื่องผู้อาวุโส ก็เป็นข้ออ้างที่น่าเกลียดมาก ในฐานะผู้แทนประชาชน ระหว่างคำสั่งผู้อาวุโส มติพรรค กับความต้องการของประชาชน คุณจะเลือกอะไร ถ้าคุณเลือกผู้อาวุโสในพรรค ผู้อาวุโสในประเทศนี้ หรือเลือกมติพรรค แล้วคุณจะมองหน้าประชาชนกันยังไงครับ

อั้ม : หรือไม่ก็ให้พวกนั้น มาลงเลือกตั้ง แล้วให้มีเสียงเป็นฐานันดรที่ 1 ไป แล้วให้ประชาชน 10 ล้านคนจึงจะถือเป็นเสียง 1 เสียงก็ว่าไป จะเอาแบบนั้นไหม ... อย่ามาโกงโควตาประชาธิปไตย

เอิร์ธ : ตอนสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงก็มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์คนละโยด เลยครับเป็นอีกอย่างเลย

นิว : เช่น เอาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศมาหลอก ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

อั้ม : หลอกฝ่ายตรงข้ามไม่เท่ากับหลอกคนเสื้อแดง คือเหมือนหลอกคนในครอบครัวกันเอง

เอิร์ธ : เหมือนแบบว่า ดูถูกประชาชนนะครับว่าประชาชนไม่มีความรู้อะไรเลย สุดท้ายคุณก็ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง

อั้ม : ทำเพื่อประโยชน์พรรคพวกตัวเอง

-เตรียมจะไปยื่นวุฒิสภา หวังอะไรแค่ไหน

อั้ม : ต้องยื่นให้ สว. ซึ่งต้อง Approve ร่าง พ.ร.บ. ก่อน เราก็หวังว่า สว.จะมองเห็นข้อผิดพลาดของ พ.ร.บ.นี้ แล้วทำหน้าที่ในทางรัฐสภา ต้องมีหน้าที่นี้อยู่แล้ว  ดังนั้น ความหวังของเรา เหลือ 2 อย่างคือ ถ้าไม่ สว. ก็ศาลรัฐธรรมนูญ

นิว : ถ้า ส.ส. จะดันทุรังทำจริงๆ ก็อยากให้ สว.เสนอแนะแก้ไขบางส่วน ส่วนที่มันผิดต่อหลักการในวาระ1 ก็ให้แก้ไขกลับไปในวาระนั้น

-พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน  ในขณะที่เดิมทีฝ่ายเสื้อแดง หรือประชาธิปไตยอยากให้จำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ จะหวังพึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะอะไร

อั้ม : เราก็คิดแบบอุดมคติว่า จะไม่มองเรื่องที่ผ่านมาว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ แต่กรณีนี้ ถ้าศาลตีความตามกฎหมาย ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ หยุดได้ อย่างน้อยก็ทำให้ พ.ร.บ.เหมาเข่ง ไม่ผ่าน

-มองว่า เนื้อหา และ กระบวนการของ พ.ร.บ.นี้ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว ถ้าศาลสามารถวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอย่างนั้นหรือ

นิว : ที่ผ่านมา ศาลพยายามจะทำตัวเป็น  Judicial review คือเหมือนพยายามจะสถาปนาคำพิพากษาเป็นกฎหมายใหม่ขึ้นมา แต่กฎหมายนี้ มันขัดโดยหลักของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องตีความอะไรเกินกว่ากฎหมาย

-เมื่อเรามีความเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทยแล้ว จะแยกตัวไปอยู่กับม็อบอุรุพงษ์ หรือม็อบสามเสน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลหรือไม่

อั้ม : ไม่มีทาง

เอิร์ธ  : ไม่ไป

นิว : ไม่ไป

อั้ม : ส่วนตัวอั้ม ต่อให้เราไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยในประเด็น ร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่เราจะไม่เปลี่ยนจุดยืนไปซบ กับทางเผด็จการ หรืออำนาจนอกระบบเด็ดขาด คืออย่างน้อย เรายังคาดหวังต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยเช่นเดิม เรายังเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เรายังเชื่อมั่นว่า อำนาจนอกระบบ ควรที่จะถูกลดบทบาทและกำจัดออกไปเพื่อให้เสียงประชาชน มีอำนาจอย่างแท้จริง เรายังใช้กระบวนการตามประชาธิปไตย เช่น ยื่นไปที่ส.ว. หรือ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมาย  ไม่เหมือนม็อบอุรุพงษ์ที่ต้องการ ล้มรัฐบาลไปเลย

เอิร์ธ : เขาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตย

อั้ม : ซึ่งเราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะล้มพรรคเพื่อไทยนะ แต่คือบอกให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนได้แล้ว เปลี่ยนวิธีคิดที่คุณจะหลอกลวงประชาชนเดี๋ยวนี้  ในครั้งนี้ คุณจะอยู่ได้ก็พึงตระหนักในความชอบธรรมในการที่คุณมีทุกวันนี้ได้ เราก็ยังคงเป็นนักต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ จะไม่มีทาง หันไปซบอก เผด็จการ หรือพึ่งการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหา เพราะนั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและมีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย

เอิร์ธ : ม็อบอุรุพงษ์ ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายไล่รัฐบาล และอุดมการณ์ก็คนละอุดมการณ์ด้วยครับ อุดมการณ์ของเราคือ คัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ต่อสังคมไทย

นิว : เรื่องม็อบสามเสน ม็อบอุรุพงษ์ ผมมองว่า ก็เป็นสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญที่จะไปได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว คุณจะใช้สิทธิที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญไหม เช่น การทำลายล้างอำนาจรัฐที่มาจากประชาชน ผมคิดว่า มันก็ขัดหลักอยู่แล้ว คนที่จะไปควรคำนึงถึงว่า อำนาจรัฐที่มาจากประชาชน เรามีสิทธิที่จะคัดค้าน ไม่ใช่การทำลายล้างหรือใช้สิ่งที่ไม่เป็นกระบวนการประชาธิปไตย หรือการเรียกร้องรัฐประหาร

เอิร์ธ : พวกเรากลุ่มแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษา คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เราก็ได้เชิญ กลุ่มก้านพะยอม ที่ ม.รังสิต มาร่วม แต่เขาไม่มาเพราะเขาต้องการขับไล่รัฐบาล กับม็อบอุรุพงษ์ เขาต้องการขับไล่รัฐบาลเป็นอุดมการณ์คนละชุด กันเลย

อั้ม : บางที่อั้มก็งง ที่สลิ่มบางคน มาเห็นด้วยกับแนวทางคัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งของเราโดยที่ไม่ได้ดูเนื้อหาเปรียบเทียบ บางคนบอกให้เราสู้ๆ และบอกว่า ถ้าเราเคลื่อนไหวเรื่อง มาตรา 112 เมื่อไหร่ เขาถึงจะกลับมาด่าเรา (หัวเราะ) เราคิดว่า มันมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น เราเรียกร้องนิรโทษกรรม เพราะไม่ต้องการ ให้ผู้สังหารกระทำการผิดลอยนวล และเราไม่ได้ต้องการช่วยคุณทักษิณรวมไปถึงคดีตากใบ กรือเซะ หรือคดีหลังรัฐประหาร

ขณะที่คนค้านนิรโทษกรรมสุดซอยอีกกลุ่ม ไม่ได้มองมิติที่มีการสังหารหมู่คนเสื้อแดง เพราะยังมีการด่าควายแดง ด่าว่าเสื้อแดงโดนหลอก โดนจูงจมูกไปชุมนุม ซึ่งมันก็เป็นวิธีที่ดูถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ส่วนตัวเราต้องการความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

-คิดอย่างไรกับการที่ถูกเย้ยว่า ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล “ถูกหักหลัก” “หลอกใช้” “อกหัก”

นิว : ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะถ้าพูดถึงเรื่องอำนาจ พรรคเพื่อไทยทำอย่างนั้นได้ไหม ก็ทำได้ครับ อำนาจของคุณมีที่มาจากประชาชน ถึงแม้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย มีเสียงข้างมากในสภา  แต่คำถามคือ คุณจะย้อนกลับมาถามประชาชน ที่เป็นที่มาของอำนาจคุณหรือเปล่านะครับ ขัดหลักประชาธิปไตยไหม คุณต้องย้อนมาฟังที่มาอำนาจและเจตนารมย์ของประชาชนด้วย ขัดต่อหลักเสรีนิยมด้วย เพราะไม่ใช่เสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง ต้องเชื่อในกลวิธีขั้นตอน

อั้ม : ต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐบาล ที่ไม่ใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมาย เราต้องการให้รัฐบาลทำตามหลักนิติรัฐ ไม่ใช่ ใช้ข้อกฎหมายบางอย่างมาตีความให้ตัวเอง และแม้คุณผ่านกระบวนการตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องมีจิตสำนึกทางคุณธรรมว่า คุณจะยอมปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล ให้ความจริงยังถูกกลบฝัง ให้ศพถูกกวาดใต้พรหมอยู่อีกหรือ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นต่อมว่า คุณธรรมในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่คุณธรรมในแบบพุทธ ในแบบศาสนา แต่คือสิ่งที่เป็นสากลความมีมนุษยธรรม มี moral แบบนี้ คุณมีหรือเปล่า

คุณจะยอมปล่อยให้ประชาชนที่ทุกข์ยากมากับคุณ ถูกเหยียบย่ำ ดูถูก หรือเปล่า เราเองก็เหมือนกัน เราสนับสนุนท่านมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 แต่กลับถูกหักหลังดังเป๊าะ แล้วตัวเองก็กลายไปเป็นอำมาตย์เสียเอง สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนการกระตุ้นต่อมศีลธรรมความเป็นมนุษย์ของพรรคเพื่อไทย ว่าจะเป็น “ไพร่สันดานอำมาตย์” หรือจะเป็นอะไรก็บอกตรงๆ อย่ามาทำตัวกลับกลอกอย่างนี้

เอิร์ธ : ก็ประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งอย่างเดียว ตอนเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. มาหาเสียง แทบจะกราบเท้าประชาชน พอหลังเลือกตั้งกลับไม่หันหลังมาดู การที่ ส.ส. จะเป็นตัวแทนประชาชน ก็ควรจะฟังประชาชนบ้างนะครับ ไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่คุณก็ต้องฟัง แล้วมาพิจารณา กันอีกทีครับ กระบวนการมันอยู่ที่ต้องมีการพูดคุยกัน ไม่ใช่ว่า ให้เงิน ให้ผู้สูญเสีย 7.5 ล้านโดยไม่ฟังอะไรอีก มันพอหรือเปล่า มันใช่หรือเปล่าครับ

อั้ม : เราไม่ได้ต้องการฟังแค่ตัวเลข 7.5 ล้าน แต่เราเรียกร้องค่าประชาธิปไตย จะมีใครยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสิทธิการแสดงออกของตนเองได้ การกล่าวหาว่า โดนซื้อเพื่อมาตายในที่ชุมนุม เป็นวาทกรรมลวงๆ ที่ ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตี ขณะที่ทุกวันนี้เราเห็นลุงนวมทอง เอาชีวิตตนเองเข้าแลก

เอิร์ธ : โดนดูถูกว่าทำเพื่อทักษิณ แต่สุดท้ายเขาก็บอกว่า ทำเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็ยอมผูกคอตาย

อั้ม : ประชาชนเสื้อแดง ก็ต้องการเรียกร้องสิทธิของเขา แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือลูกกระสุน ถามว่าพรรคเพื่อไทย ต้องการให้เรื่องนี้มันเงียบไปเหรอ ในเมื่อเขาสนับสนุนพรรคคุณ โดยยอมแลกกับชีวิตเขา ทั้งที่ไม่มีใครอยากจะเสียชีวิต แต่คุณกลับไปมองเพียงการเยียวยาด้วยตัวเลข ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดขอขมาต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน การนิรโทษกรรม ไม่ใช่ให้เงินก็จบ แต่มีเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน

-ในธรรมศาสตร์ มีองค์ความรู้หลายชุด มีทั้งแบบ “นิติราษฎร์” มีทั้งแบบ อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตอนนี้บรรยากาศเป็นอย่างไร

นิว : อาจารย์สมคิดก็เป็นนักกฎหมายมหาชน แต่บางครั้งอาจารย์ก็ลืมมิติ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น อาจารย์บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนิรโทษกรรมให้คนทุจริต และการสังหารคน อาจารย์บอกว่านี่เป็นครั้งแรก แต่ขอโทษนะ ผมคิดว่า ลวงโลกมาก เพราะนิรโทษกรรมทุกครั้งที่ผ่านมาก็มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้นแหละครับ งบประมาณลับตรวจสอบได้ไหม ทหารไม่ได้มีแค่การเคลื่อนรถถัง เพราะเงินคือส่วนหนึ่งในการเจรจา นี่ก็คือการทุจริตคอรัปชั่น ก็นิรโทษกรรมหมดทุกครั้ง แม้กระทั่งปี 2549 ที่อาจารย์ร่วมสังฆกรรมกับเขาด้วย แล้วก็เรื่องการสังหารประชาชนเนี่ย ก็มีทั้ง 14ตุลา 16 , 6ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 35 ทั้ง 3 ครั้งเห็นจะๆ สุดท้าย ทุกวันนี้แก่ตายอย่างสบายใจ ไม่ได้รับโทษอะไร เป็นผลพวกจากการนิรโทษกรรม ซึ่งก็คือ ฉบับเหมาเข่งเหมือนกันถ้าพูดแบบยุคนี้ ตอนแรกเราคิดว่า หลังพฤษภา35 จะไม่มีอีกแล้วนะ แต่ก็มาเจอปี 52-53 อีก  ครั้งต่อๆ ไปก็คงจะเจออีกเรื่อยๆ  ถ้าเป็นอย่างนี้

ส่วนองค์ความรู้ของนิติราษฎร์ แน่นอน เป็นนักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่ แล้วอาจารย์เขามีมิติ การมองเรื่องราว เช่น อาจารย์ปิยบุตร มีเรื่องราวประวัติศาสตร์เปรียบเทียบด้วย ซึ่งมิติกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในการพูดเรื่องนี้  อาจารย์สมคิดก็เก่ง แต่พูดไวไป

หน้าที่ของคนธรรมศาสตร์ก็คือ พยายามตรวจสอบองค์ความรู้ของคนเหล่านี้ ไม่ควรเชื่อทั้งหมด ควรจะมีการพิสูจน์ ตรวจสอบ แล้วเราก็เอาองค์ความรู้ไม่ว่าจะของอาจารย์สมคิด หรือของนิติราษฎร์มาปรับใช้ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เราจะมองปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ได้

เอิร์ธ : ทั้ง 14ตุลา 6ตุลา พฤษภาทมิฬ มีการนิรโทษกรรมเหมาเข่งหมดเลย มันจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปเรื่อย อย่างเหตุการณ์ 52-53 ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ถ้ากฎหมายนิรโทษเหมาเข่งผ่านบุ๊ป ผมว่าครั้งต่อไป ทหารหรือคนที่จะมาปราบประชาชนด้วยอาวุธปืน เขาก็รู้อยู่แล้วว่า โอเค ทำไปก็ไม่มีความผิด เพราะ เดี๋ยวรัฐก็จัดการให้หมด มันก็จะเป็นวัฒนธรรม

นิว : ศพต่อไป อาจจะเป็นผม หรืออาจจะเป็นพี่ก็ได้ เพราะพี่ก็เป็นสื่อมวลชน พี่ก็เสี่ยง

อั้ม : ในสมัย 14ตุลา 6ตุลา มีคนออกมาคัดค้านนิรโทษไหม ก็คัดค้านไม่ได้หรอก เพราะรัฐบาลหลักจากนั้น ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการแต่งตั้งกันมา แต่ทุกวันนี้ มันต่างกันตรงที่ว่า เรามีประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิมีเสียง อย่าง พฤษภา 2535 ก็เกิดขึ้นหลังพ้นยุค พล.อ.เปรม มีอำนาจอย่างยาวนาน ประชาชนเพิ่งเริ่มออกมาแต่ยังไม่ได้เรียนรู้กัน

ขณะที่เราผ่านปี 35 มา 20 กว่าปีแล้ว เราควรจะเรียนรู้ได้แล้ว ทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ออกมาแล้วยังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็จะไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน การที่เราออกมาพูดเพราะอยากให้เหตุการณ์นี้ หยุดอยู่แค่ตรงนี้การนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดต้อง ไม่เกิดขึ้นอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net