Skip to main content
sharethis


ส่วนที่ 1
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของนายประยุทธ์ ศิริพานิชและกรรมาธิการเสียงข้างมากฯที่เริ่มนำเข้าพิจารณาและลงมติในสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 (โดยไม่ผ่านการรับรองหลักการ วาระที่ 1 ตามนัยของกฎหมาย) เป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาแตกต่างอย่างขัดหลักการกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับรองหลักการในวาระที่ 1

การริเริ่มและเคลื่อนไหวต่อเนื่องของนายประยุทธ์กับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากดังกล่าวนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองทั้งในและนอกสภาอย่างรวดเร็ว  แต่ในการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ภายในองคาพยพของพรรคเพื่อไทยและแกนนำมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งก็ยังเกิดข้อเท็จจริงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวมในระยะยาว นั่นคือ การเปิดเผยตนเองของกลุ่มอำนาจนิยมในองคาพยพดังกล่าวที่ฝ่าฝืนหลักนิติรัฐนิติธรรม และฝ่าฝืนอุดมการประชาธิปไตยโดยการดึงดันผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับกรรมาธิการฯดังกล่าวในกระบวนการทางรัฐสภาอย่าง “หักดิบ” และยืนหยัดแข็งกร้าวตอบโต้กับข้อวิจารณ์ทางกฎหมายและการเมืองของกลุ่มพลังประชาธิปไตยและกลุ่มอำนาจอื่นที่เป็นปฏิปักษ์กับอุดมการประชาธิปไตยในช่วงเวลาเดียวกัน  การเปิดเผยความเป็นอำนาจนิยมของกลุ่มบุคคลในองคาพยพดังกล่าวยังปรากฎชัดเจนขึ้น จากการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับตนเอง เช่น การสั่งถอดรายการชูธงออกจากผังรายการของสถานีโทรทัศน์เอเซียอัพเดตและการระดมจัดตั้งการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์ (SMS) ให้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับสุดซอยของกรรมาธิการฯมากขึ้น

ภายในกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจนิยมสุดขั้วนั้น  กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งทั้งในองคาพยพของพรรคเพื่อไทย และในองคาพยพของกลุ่มมวลชนจัดตั้งล่วงหน้าภายในกลุ่มเสื้อแดงพยายามโน้มน้าวคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ให้เชื่อว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับกรรมาธิการฯ (เรียกกันว่าฉบับสุดซอย) จะช่วยให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับเมืองไทยละจะช่วยเอา “พื่น้องเสื้อแดง” ออกจากคุก  ในขณะเดียวกันกลุ่มคนในองคาพยพเหล่านี้ก็พยายามสอดแทรกวาทกรรมโน้มน้าวความคิดให้สาธารณชนโดยส่วนรวมของประเทศเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นผู้บงการสั่งการเรื่องนี้อยู่เบื้องหลัง  การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการสร้างวาทกรรมที่แสดงเจตนาหวังดีต่อพ.ต.ท.ทักษิณ  แต่มีผลในทางมุ่งร้ายทำลายพ.ต.ท.ทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างถึงที่สุด (ซึ่งสาธารณชนจะได้เห็นโดยข้อเท็จจริงที่จะต้องปรากฏต่อไปในเวลาไม่นานนัก)

พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่สามารกลับบ้านได้ โดยอาศัยข้อความตามบทบัญญัติในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับกรรมาธิการฯ (ซึ่งนักกฎหมายในกรรมาธิการเกือบทุกคนรู้ดี) นอกจากนั้น “พี่น้องเสื้อแดง” ก็ไม่สามารถออกจากคุกได้ทั้งหมดตามที่กลุ่มคลุมเครือ เช่น กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลพยายามกล่าวเรียกร้องให้คนเสื้อแดงจำนวนมากขึ้น เข้าร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยของกรรมาธิการเสียงข้างมากดังกล่าว  (แต่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยต่างหากที่มีข้อความอันสามารถช่วยให้ “พี่น้องเสื้อแดง” ออกจากคุกได้ทั้งหมดหรืออย่างน้อยออกจากคุกได้เป็นจำนวนมากกว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย)

ถ้าหากพิจารณาโครงสร้างองค์รวมของการพัฒนาทางการเมืองในประเทศที่ต้องมุ่งสู่ความเป็นสากลตามกระบวนการโลกาภิวัตน์มากขึ้น เรายังอาจเห็นว่าวิกฤตครั้งนี้อย่างน้อยที่สุดมีข้อดีในประเด็นที่มีการตรวจสอบภาวะอำนาจนิยมในพรรคเพื่อไทย และในกลุ่มมวลชนเสื้อแดงปลีกย่อยอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผลเชิงโครงสร้างในการเฉลี่ยสัดส่วนอำนาจการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา ไม่ให้กลุ่มอำนาจนิยมสุดขั้วสามารถครอบครองสัดส่วนอำนาจทั้งในระบบพรรคการเมือง และในพื้นที่พลังมวลชนในระดับทั่วประเทศ   แต่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ควรพิจารณาอย่างระมัดระวังด้วยว่าการริเริ่ม “หักดิบ” ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่นำไปสู่วิกฤตครั้งนี้อาจนำไปสู่ “การฆ่ากันรอบใหม่ระหว่างคนไทย” และภาวะนองเลือดที่อาจคล้ายคลึงกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในอนาคตอันใกล้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากสถานการณ์ถูกกระทำให้มีผลสัมฤทธ์ในทางหลังนี้ ประเทศจะถดถอยออกจากประชาคมโลกแม้ว่าจะมีเงื่อนไขที่ประเทศจะต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558ที่จะถึงไม่นานนัก 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net