ปริวรรตพุทธศาสนา : บทบาทมหาวิทยาลัยนาลันทาใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พีร์  พงศ์พิพัฒนพันธุ์ เล่าความเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาที่พัฒนาการเข้าสู่การศึกษาทางสังคมศาสตร์ในอินเดียโดยการนำของ อมาตยา เซน

<--break->

จากลักษณะวิวัฒนาการของโลกที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนทำให้ความเป็นอยู่ของประชากรจำนวนมากทั่วโลกมีความเป็นอยู่ดีขึ้น พร้อมกับพัฒนาการด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่ได้เจริญก้าวรุดหน้าไปมาก อย่างปัจจุบัน ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆหันมาสนใจศึกษาด้านปรัชญาและ ศาสนากันมากขึ้น 

ข้อสังเกตนี้มาจากสองส่วน ส่วนแรกคือ ความเคลื่อนไหวเชิงกระแสความสนใจของผู้คนในประเทศ ตะวันตก อย่างเช่น ชาวยุโรป และชาวอเมริกัน ส่วนที่สอง คือ ความเคลื่อนไหวเชิงกระแสความสนใจของ ผู้คนในเอเชียโดยเฉพาะผู้คนในประเทศยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจอย่างจีน ที่หันกลับมาสนทางด้านศาสนา หลังผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรัฐบาลของพวกเขามาแล้วช่วงหนึ่ง จนทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น

ความเคลื่อนไหวในแง่ความสนใจด้านศาสนาและปรัชญาของผู้คนตะวันตก ส่วนหนึ่งเห็นได้จาก ความสนใจและการยอมรับพุทธศาสนานิกายต่างๆ โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยาน ของคนอเมริกันและยุโรป  ซึ่งนับวันความสนใจดังกล่าวจะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พุทธนิกายฝ่ายเถรวาทนั้น แม้ว่า จะขยายตัวในชุมชนตะวันตกได้ช้าก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการเชิงการขยายตัวในระดับหนึ่ง

การที่พัฒนาการของพุทธศาสนาเถรวาทขยายตัวในชุมชนตะวันตกได้น้อยกว่าพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยาน เนื่องจากเงื่อนไขและปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัจจัยจากแรงบีบคั้นในการทำงานเผยแผ่ ที่พุทธศาสนาโดยเฉพาะนิกายวัชรยานซึ่งส่วนใหญ่ผู้เผยแผ่มาจากดินแดนทิเบตที่ประสบปัญหาด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศ, ปัจจัยจากพระวินัยหรือวัตรปฏิบัติของสงฆ์ พุทธเถรวาทมีความยืดหยุ่นใน เชิงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกน้อยกว่าพุทธมหายานและพุทธวัชรยาน นอกเหนือไปจากปัจจัย ความตั้งใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกที่พุทธเถรวาทมีความตั้งใจน้อยกว่าพุทธมหายานและพุทธวัชรยาน โดยเฉพาะความตั้งใจในเรื่องการฝึกฝนด้านทักษะภาษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารเพื่องานเผยแผ่

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นการเผยแผ่พุทธศาสนาโดยพระธรรมทูตที่ไปจากเมืองไทย ถูกข้อจำกัดด้านภาษารึงรัดเอาไว้ จนประโยชน์จากการเดินทางเพื่อภาระกิจการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมทูตกับผู้คนในท้องถิ่นประเทศตะวันตกเป็นไปในลักษณะของ การเข้าไม่ถึงวัฒนธรรม “ภาษา” กลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของพระธรรมทูตไทย พอๆกับการไม่ยอมเรียนรู้ วัฒนธรรมท้องถิ่น หากแต่มัวขลุกอยู่กันเองมากกว่าจะยอมเดินออกไปจากเพื่อนบ้านต่างวัฒนธรรม ดังมีวัดไทยในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากให้ดูเป็นตัวอย่าง

ในส่วนของความเคลื่อนไหวด้านศาสนาของประเทศตะวันออก น่าสนใจว่าสองประเทศซึ่งถือเป็น รากเหง้าของอารยธรรมศาสนาของโลก คือ จีนและอินเดีย ที่มีฐานประชากรจำนวนมากเป็นทุนอยู่แล้ว บวกกับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจในเชิงบวก รัฐบาลของทั้งสองประเทศเห็นคุณค่าของการรื้อฟื้นอารยธรรม และวัฒนธรรมด้านศาสนาขึ้น

แม้ว่าเป้าหมายส่วนหนึ่งของการรื้อฟื้นศาสนาเป็นไปเพื่อผลทางด้านเศรษฐกิจ เช่น รายได้จากการท่องเที่ยว รายได้จากการศึกษาก็ตาม หากแต่ก็ยอมรับกันว่าการรื้อฟื้นอารยธรรมด้านศาสนา ส่งผลต่อความพอใจ หรือความสุขของประชาชาติ อันเนื่องมาจากคุณค่าของศาสนาและวัฒนธรรม  ซึ่งแน่นอนว่า อารยธรรมศาสนาที่โดดเด่นมากศาสนาหนึ่งในสองประเทศตะวันออก ได้แก่ อารยธรรมพุทธศาสนา

เวลานี้ทั้งอินเดียและจีน ต่างให้ความสำคัญกับอารยธรรมด้านศาสนาในหลายด้าน นอกเหนือไปจากการลงทุนบูรณะศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ด้วยเงินจำนวนมหาศาลแล้วด้วยเหตุผลเชิง เศรษฐกิจและอื่นๆแล้ว ทั้งสองประเทศยังหันมาใส่ใจเรื่องการศึกษาด้านศาสนาด้วย โดยเฉพาะพุทธศาสนา

เนื่องจากฝ่ายจีนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านศาสนาเป็นของตนเอง ปัจจุบันโครงการของรัฐบาลจีน ส่วนหนึ่งจึงมุ่งส่งเสริมและร่วมมือกับสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาในต่างประเทศก่อน เช่น ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาด้านพุทธศาสนาของไทยอย่างมหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย ซึ่งก็คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นั่นเอง

ส่วนอินเดียนั้น มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าจีน เพราะมีบุคคลากรและทุนพร้อม อยู่แล้ว จนเป็นเหตุนำมาซึ่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา(ใหม่) หรือ Nalanda International University จำลองแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาของพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นในสมัยคุปตะ ที่ถูกพวกกองทัพเติร์กนำโดย Muhammad Bakhtiar Khalji  ทำลายเมื่อคริสตศตวรรษที่ 12  ซึ่งจากบันทึกของพระภิกษุชาวจีนฮวนซาง (Huang Tsang)  ระบุว่า มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า มีนักเรียนประมาณ 3,000- 5,000 คน

มหาวิทยาลัย(นานาชาติ)นาลันทาแห่งใหม่นี้ ได้ ดร.อมาตยา เซน (Dr. Amartya Sen)  เจ้าของรางวัลโนเบล ปี 1998  สาขาเศรษฐศาสตร์ มาเป็นอธิการบดี (Chancellor)

สำหรับ ดร. อมาตยา เซน  พื้นเพเป็นชาวอินเดีย ขณะนี้เป็นศาตราจารย์ด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด  สหรัฐอเมริกา เขาดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งทั้งในทางวิชาการและที่ปรึกษาให้กับ สถาบันต่างๆ หนังสือที่เขียนโดยดร.เซน ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ จำนวนมากกว่า 30 ภาษาในช่วง 30 ปี   ขณะเดียวกันนิตยสารไทม์ ให้เขาเป็น “60 years of Asian Heroes” เมื่อปี 2010 รวมถึงให้ดร.เซน เป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลกในจำนวนผู้ทรงอิทธิพลของโลก 100 คน  ซึ่งในส่วนของดร.เซนนั้น เขาจัดเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางด้านความคิดของโลก

มหาวิทยาลัยนานาชาตินาลันทากำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่เมือง Rajgir ในรัฐพิหาร ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยนาลันทาเก่า(เดิม)คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินมากกว่า1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  ส่วนใหญ่เงินที่ใช้ในการก่อสร้างมาจากรัฐบาลอินเดีย ขณะที่เงินจำนวนหนึ่งมาจากการบริจาคของมิตร ประเทศของอินเดียที่ประชากรส่วนหนึ่งนับถือพุทธศาสนา เช่น สิงคโปร์กับญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนประมาณ  100  ล้านเหรียญ  จีนให้การสนับสนุน 1  ล้านเหรียญสหรัฐและประเทศไทย 100,000 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ รูปแบบสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ เป็นอาคารที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำที่เกิดจากการขุดเป็นสระขนาดใหญ่ (Pond) ออกแบบเพื่อประหยัดพลังงานและ ไร้มลภาวะ (zero-energy / zero-pollution) พื้นที่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ยานยนต์เข้าออก  ส่วนพลังงานไฟฟ้าจะได้จากพลังงานแสงอาทิตย์(solar cells) ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาตึก นอกเหนือไปจากการสร้างหอสมุด หรือหอหนังสืออย่างยิ่งใหญ่ภายในอาคารที่แยกออกมาต่างหาก เพื่อเป็นแหล่งกลางความรู้ที่สำคัญของโลก เชื่อมโยงกับระบบการค้นคว้า และบริหารจัดการข้อมูลด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่

วิชาที่มหาวิทยาลัยนานาชาตินาลันทาเปิดสอน ได้แก่   มนุษยศาสตร์ (Humanities) เศรษฐศาตร์และการบริหารจัดการ (economics and management) เอเชียนบูรณาการ( Asian integration) ศาสตร์การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) และวิชาภาษาตะวันออก (oriental languages)

ปรัชญา(ideal) การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนานาชาตินาลันทา คือ ประการแรก สร้างปัญญาและพัฒนาจิต วิญญาณของผู้เรียน ประการที่สอง ปรัชญาการศึกษาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานระหว่างความกลมกลืนสอดคล้องและความสุข ผสมผสาน วิชาปรัชญากับวิชาศาสนาเข้าด้วยกัน  และประการที่สาม หลักการของปรัชญาการศึกษา ไม่เพียงแต่การได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดด้านจิตวิญญาณ ศีลธรรม ภูมิปัญญา และคุณค่าทางสุนทรียะ พร้อมกับการพัฒนาด้านร่างกายที่ถูกต้องไปในตัวด้วย

แทบไม่ต้องสงสัยว่าการให้ดร.เซน เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเพราะรัฐบาลอินเดียและหน่วยงานที่เกี่ยวของเขามองเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล “แบบทางเลือก” รวมถึงการมีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา “แบบทางเลือก” ซึ่งกำลังก่อตัวเป็นกระบวนทัศน์การศึกษาและการพัฒนาที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในอนาคต ซึ่งตัวของดร.เซนเองได้เคยนำเสนอความเห็นของเขาในเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ ในหลายที่หลายแห่ง

การศึกษาและการพัฒนา ที่รวมเอาอรรถประโยชน์ของศาสตร์แขนงต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ที่สำคัญคือ การหันมาพูดถึงการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ ภูมิปัญญา และสุนทรียะ ที่เป็นผลผลิตจากศาสนาและปรัชญามากขึ้น ซึ่งมองกันว่าการพัฒนาดังกล่าวเป็นกระบวนทัศน์สำคัญในศตวรรษที่ 21 นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท