Skip to main content
sharethis

สหรัฐฯ 'ชัตดาวน์' หลังจากสภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันเรื่องกฎหมายงบประมาณฉุกเฉิน โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 17

1 ต.ค. 2013 - เมื่อวันที่อังคารที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะหน่วยงานรัฐเป็นอัมพาตบางส่วน (government shutdown) หรือ ชัตดาวน์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากสภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันเรื่องกฎหมายงบประมาณฉุกเฉิน โดยฝ่ายรีพับลิกันที่ครองคะแนนเสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ ที่พ่วงเงื่อนไขเลื่อนเวลาบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปประกันสุขภาพของประธานาธิบดีบารัค โอบามา หรือ "โอบามาแคร์" ซึ่งจะมีผลเต็มตัวในวันที่ 1 ต.ค. ออกไปอีก 1 ปี แต่กฎหมายนี้ถูกโหวตตีกลับโดยวุฒิสภาซึ่งฝ่ายเดโมแครตครองเสียงข้างมาก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปที่แน่ชัดในการผ่าทางตันนี้ได้

อย่างไรก็ตาม นี้ไม่ใช่ชัตดาวน์ครั้งแรกหรือครั้งที่สองของรัฐบาลสหรัฐฯ หากเป็นครั้งที่ 18 แล้ว โดยการชัตดาวน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 1976 สมัยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ถึง 11 ต.ค. รวม 10 วัน ส่วนการชัตดาวน์ครั้งที่ 2-6 เกิดขึ้นระหว่างปี 1977-79 ซึ่งล้วนอยู่ในสมัยประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ทั้งสิ้น กินระยะเวลาตั้งแต่ 8 วัน ถึง 18 วัน แต่ เบนจามิน ซิวิเลตติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (1979-1981) เคยให้ความเห็นว่า การชัตดาวน์ที่เกิดขึ้นก่อนปี 1980 เป็นความล้มเหลวในการจ่ายงบประมาณแก่หน่วยงานบางหน่วยของรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลบางส่วนต้องหยุดงาน ต่างจากปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อหลายหน่วยงานและภาคส่วน ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งไม่จัดให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการชัตดาวน์

ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯต้องหยุดงานเพราะขาดสภาพคล่องถึง 11 ครั้ง แต่มีการชัตดาวน์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเพียง 5 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ การชัตดาวน์ครั้งที่ 7 ในวันที่ 20 พ.ย. ปี 1981 ประธานาธิบดีโรนัล เรแกน ประกาศวีโต (คัดค้าน) กฎหมายงบประมาณ เนื่องจากมีการตัดลดงบประมาณภายในประเทศน้อยกว่าที่เขาต้องการอยู่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ข้าราชการจำนวน 400,000 คนถูกส่งกลับบ้านในช่วงพักกลางวัน และได้รับแจ้งว่าไม่ต้องกลับมาทำงานอีก  จนกระทั่งสภาคองเกรสผ่านกฎหมายขยายระยะเวลารายจ่ายปัจจุบันถึงวันที่ 15 ธ.ค. เพื่อให้เวลาแก้ไขข้อขัดแย้ง พนักงานทั้งหมดจึงได้กลับมาทำงานอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ย.

การชัตดาวน์ต่อเนื่องครั้งที่ 11 และ 12 ในปี 1984 (30 ก.ย.-3 ต.ค. และ 3 ต.ค.-5 ต.ค.) การชัตดาวน์ต่อเนื่องจากความไม่ลงรอยเรื่องกฎหมายงบประมาณ ซึ่งประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน สนับสนุนงบต่อสู่อาชญากร แต่ต่อต้านงบโครงการน้ำของสภาล่าง และงบมาตรการสิทธิ์พลเรือนของสภาสูง แต่ตกลงไม่ทันจนชัตดาวน์นาน 2 วัน ก่อนผ่านกฎหมายขยายเวลา 3 วัน อย่างไรก็ตามเวลา 3 วันไม่เพียงพอ ทำให้ต้องชัตดาวน์อีกครั้งเป็นเวลา 1 วันก่อนสภาจะผ่านกฎหมายงบประมาณโดยคงงบต่อสู่อาชญากรไว้ และตัดงบโครงการน้ำของสภาล่าง และงบมาตรการสิทธิ์พลเรือนออกไป มีพนักงานถูกพักงานถึง 500,000 คนในการชัตดาวน์ครั้งนี้ แต่ทั้งหมดถูกเรียกตัวกลับไปทำงานอีกครั้ง หลังปัญหาคลี่คลาย

การชัตดาวน์ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 5 ต.ค.-9 ต.ค. ปี 1990 สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งประกาศไม่ลงนามในกฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายผ่อนปรนใดๆ ทำให้หน่วยงานรัฐหยุดงานนาน 3 วันเต็ม แต่โชคดีที่เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ (คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดย์) ซึ่งข้าราชการส่วนใหญ่หยุดงานอยู่แล้ว ก่อนที่บุชจะยอมลงนามกฎหมายงบประมาณฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดสามารถกลับไปทำงานได้ในวันอังคาร

และครั้งสุดท้าย คือ การชัตดาวน์ครั้งที่ 16 และ 17 ในวันที่ 13 พ.ย.-19 พ.ย. ปี 1995 และ วันที่ 16 ธ.ค. 1995 -6 ม.ค. 1996 เป็นการหยุดงานของหน่วยงานรัฐที่ยาวนานที่สุด (21 วัน) และส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงเดือนเม.ย. 1996 และเป็นครั้งเดียวที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งอเมริกา นับเป็นการชัตดาวน์ครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากทางตันด้านงบประมาณระหว่างประธานาธิบดี บิล คลินตัน (เดโมแครต) และสภคองเกรสที่รีพับลิกันครองเสียงข้างส่วนใหญ่ทั้งสองสภา ในเรื่องการจัดสรรงบฯให้กับหน่วยงานประกันสุขภาพ, การศึกษา, สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข โดยวิกฤตินี้คลี่คลายลงได้เมื่อสภายอมผ่านกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลเปิดอีกครั้ง ส่วนคลินตันยอมรับแผนงบประมาณที่ สำนักงบประมาณรัฐสภา เห็นว่าจะช่วยงบฯกลับมาสมดุลอีกครั้งภายใน 7 ปี

การชัตดาวน์ครั้งนี้ ส่งผลให้สหรัฐฯเสียรายได้จากภาษีอย่างน้อย 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหยุดการเฝ้าระวังเชื้อโรค งานกำจัดขยะพิษใน 609 จุดหยุดชะงัก อุทยานแห่งชาติ 368 แห่งถูกปิด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 700,000 คนในเวลาต่อมา การดำเนินการตามคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง 200,000 คำร้อง และคำร้องขอทำวีซา 2-3 หมื่นคำร้องล่าช้า อุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวสูญเสียรายได้หลายล้านดอลลาร์ และผลกระทบอื่นๆ อีกมาก

ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐเข้าสู่ภาวะอัมพาตครั้งที่ 18 ซึ่งหลายฝ่ายอยากให้สภาคองเกรส ต้องเร่งหาทางผ่าทางตันนี้ไปให้ได้โดยเร็ว แม้ทั้งสองฝ่ายจะยังคงงัดข้อกันเรื่องกฎหมายปฏิรูปประกันสุขภาพ ของประธานาธิบดีโอบามา หรือที่รู้จักในชื่อ โอบามาแคร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค. มิเช่นนั้น เรื่องนี้อาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 และยังคงเปราะบางอยู่มาก

มะกันชัตดาวน์วันที่ 5 สภาล่างโหวตผ่านก.ม.จ่ายเงินย้อนหลังพนักงาน

5 ต.ค. 2013 - ส.ส.จากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันโหวตเห็นชอบกฎหมาย จ่ายเงินย้อนหลังแก่ลูกจ้างหน่วยงานรัฐที่ถูกพักงานกว่า 8 แสนคน หลังสหรัฐฯหลุดพ้นจากวิกฤติ ชัตดาวน์ และหน่วยงานรัฐสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯชัตดาวน์ครบ 5 วันเมื่อวันเสาร์ และยังไม่มีสัญญาณว่าวิกฤตินี้จะสิ้นสุดลงในเร็วๆนี้

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯผ่านกฎหมายจ่ายค่าจ้างย้อนหลังแก่ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ และคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และได้รับการลงนามจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตามลำดับ เป็นช่วงเวลาแห่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ขณะที่ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ กำลังถกเถียงกันเรื่องวิกฤติชัตดาวน์ และยังคงปกป้องจุดยืนของตัวเอง

วิกฤติชัตดาวน์ครั้งแรกในรอบ 17 ปีของสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. หลังจากสภาคองเกรสไม่สามารถผ่านกฎมายงบประมาณทันเส้นตายหมดปีงบประมาณ 2013 ในเที่ยงคืนวันที่ 30 ก.ย. ส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลที่ไม่จะเป็นเช่นพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานแห่งชาติต้องปิดทำการ หน่วยงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ต้องให้ลูกจ้างออกจากงานรวมกว่า 8 แสนคน

สาเหตุที่ทำให้สภาคองเกรสไม่สามารถตกลงกันเรื่องกฎหมายงบประมาณได้ มาจากประเด็นเรื่องกฎหมายปฏิรูปประกันสุขภาพตามนโยบายของโอบามา หรือรู้จักในชื่อ โอบามาแคร์ ซึ่งฝ่ายรีพับลิกัน ซึ่งครองเสียข้องมากในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณที่พ่วงเงื่อนไข ตัดงบประมาณหรือเลื่อนการบังคับใช้โอบามาแคร์ออกไปอีก 1 ปี แต่วุฒิสภา ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก โหวตไม่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว

ขณะที่ความพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกจากวิกฤตินี้ในช่วง 5 วันที่ผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงยืนยันไม่อ่อนข้อให้อีกฝ่าย โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีเมื่อวันเสาร์ว่า เขาไม่คิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ขั้นตอนไม่ปกติเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯผิดชำระหนี้ เพราะเชื่อมั่นว่า คองเกรสจะเห็นชอบเรื่องการขยายเพดานหนี้ โอบามาระบุด้วยว่า มีการอ้างอิงคำพูดของจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าเขาเต็มใจจะทำให้สหรัฐฯไม่ผิดชำระหนี้

ทั้งนี้ สหรัฐฯมีเวลาสำหรับการขยายเพดานหนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 16.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึง 17 ต.ค. ก่อนที่จะผิดชำระหนี้สาธารณะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งจากส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและของโลก

ลูกจ้างเพนตากอนเฮ กลับมาทำงานได้ตามเดิมสัปดาห์หน้า

6 ต.ค. 2013 - เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐส่วนใหญ่จากทั้งหมด 400,000 คน ที่ถูกส่งกลับไปพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ ได้รับแจ้งให้กลับมาทำงานได้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า โดยนายชัค ฮาเกล รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการตีความตามรัฐบัญญัติ “Pay Our Military Act.” ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการกันเงินสำรองไว้จ่ายให้กับบุคลากรของกองทัพ

ทั้งนี้ ความขัดแย้งเรื่องงบประมาณรายจ่ายระหว่างพรรครีพับลิกันและเดโมแครต บีบให้ต้องปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางบางส่วน ซึ่งขณะนี้ ล่วงเลยมาเป็นวันที่ 5 แล้ว แต่ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายลงมติเห็นชอบกฎหมายจ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ลูกจ้างรัฐที่ถูกพักงานประมาณ 800,000 คนโดยไม่ได้รับเงินเดือนแล้ว ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายที่หาได้ยากยิ่ง โดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ลงมติเมื่อวานนี้ ด้วยคะแนนเสียง 407-0 ผ่านร่างกฎหมายจ่ายเงินย้อนหลังให้ลูกจ้างรัฐ หากหน่วยงานของรัฐบาลที่ถูกปิดกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีสัญญาณว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่าย เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังปฏิเสธที่จะเห็นชอบร่างงบประมาณดังกล่าว โดยระบุว่า จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีบารัค โอบามา หรือโอบามาแคร์ ถูกเลื่อนออกไป หรือยกเลิกไปเลย ซึ่งทางประธานาธิบดีโอบามา และพรรคเดโมแครตก็ไม่ยอม

ซาอุฯ ลุกฮือ ประท้วงขอขึ้นเงินเดือนผ่านทวิตเตอร์

7 ต.ค. 2013 - ประชาชนชาวซาอุฯได้ออกมาเรียกร้องผ่านทางทวิตเตอร์ โดยการติดแฮชแท็ก (#) ภาษาอาหรับที่แปลได้ว่า เงินเดือนไม่พอกิน เพื่อเป็นการเรียกร้องให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและพลเรือนทั้งหมด

โดยการเรียกร้องดังกล่าวมีการดำเนินการมานานตั้งแต่ฤดูร้อนท่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีจำนวนข้อความเรียกร้องผ่านแฮชแท็กแล้วกว่า 17.5 ล้านข้อความ นอกจากนี้ในแท็กดังกล่าวยังมีการวิพากษ์วิจารณืกรณีที่มีการคอรัปชั่นภายในประเทศ และการนำเงินไปช่วยเหลือประเทศอียิปต์กว่า 5,000ล้านดอลล่าร์ด้วย

บราซิล-ครูประท้วงเรียกร้องเงินเดือนเพิ่ม

8 ต.ค. 2013 - การชุมนุมประท้วงของกลุ่มครูในหลายเมืองของบราซิล ได้บานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม

โดยเฉพาะที่นครริโอ เดอ จาเนโร มีกลุ่มครู และ ผู้สนับสนุน 2 หมื่นคน ซึ่งออกมาเดินขบวนขอขึ้นค่าจ้างตามท้องถนนอย่างสงบเมื่อวานนี้ แต่เมื่อถึงเวลากลางคืน สถานการณ์การชุมนุมได้บานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง เมื่อกลุ่มผู้ประท้วง ขว้างระเบิดเพลิงเข้าใส่อาคารของรัฐบาลหายแห่ง และยังทุบทำลายเข้าไปในอาคาร ซึ่งรวมถึงธนาคารในพื้นที่ชุมนุม รายงานระบุด้วยว่ามีชายกลุ่มหนึ่งที่สวมผ้าคลุมหน้า พยายามงัดตู้เอทีเอ็ม เพื่อเอาเงินออกมา จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยิงแก๊สน้ำตา เพื่อควบคุมสถานการณ์

ทั้งนี้ปัญหาความไม่สงบ ภายในบราซิล เป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องจัดการ ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมฟุตบอลโลก ในปีหน้า และ มหกรรมโอลิมปิค ในปี 2016

วิกฤติชัตดาวน์สหรัฐล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2

9 ต.ค. 2013 - สหรัฐต้องปิดทำการหน่วยงานภาครัฐต่อเนื่องล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 โดยยังไม่มีทีท่าว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และพรรครีพับลิกัน จะยอมอ่อนข้อให้กัน ขณะที่เศรษฐกิจหมายเลข 1 ของโลก กำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงมากขึ้นทุกวัน

นายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน ยังคงท้าชนประธานาธิบดีโอบามา โดยยืนกรานว่าจะผ่านกฎหมายงบประมาณเพื่อเปิดทำการหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง รวมทั้งการผ่านกฎหมายขยายเพดานการกู้ยืมหนี้ ก็ต่อเมื่อพรรคเดโมแครตยอมตัดลดค่าใช้จ่ายขนานใหญ่ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลลง รวมถึงจะต้องชะลอแผนการประกันสุขภาพโอบามาแคร์ออกไปก่อนด้วย แต่ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวว่า สภาคองเกรสต้องผ่านกฎหมายเปิดทำการหน่วยงานภาครัฐและขยายเพดานหนี้ก่อน ส่วนเรื่องการตัดลดงบประมาณค่อยคุยกันทีหลัง

ขณะเดียวกัน ประมาณ 02.00 น. คืนนี้ ตามเวลาในไทย ประธานาธิบดีโอบามาจะเสนอชื่อนางเจเน็ต เยลเลน ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ แทนนายเบน เบอร์นันกี ที่กำลังจะหมดวาระลง ทั้งนี้ นางเยลเลนจะเป็นประธานเฟดที่เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ โดยมีงานท้าทายมากมายรอเธออยู่ข้างหน้า

จับ 8 ส.ส.มะกัน ในการเดินขบวนหนุนปฏิรูป “กม.คนเข้าเมือง”

9 ต.ค. 2013 - การชุมนุมครั้งนี้ทำให้ทำเนียบขาวออกมากระตุ้นให้บรรดาสมาชิกรัฐสภาสมานรอยต่อและ “แก้ไขกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่มีช่องโหว่” ด้วยการอนุมัติให้ร่างกฎหมายที่ตอนนี้ยังไม่คืบหน้าไปไหนได้ผ่านออกมาจากสภาผู้แทนราษฎร
       
ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ประท้วงหลายสิบคนที่ถูกมัดข้อมือด้วยเชือกพลาสติก ภายหลังที่ผู้เดินขบวนพากันปิดถนนสายที่มุ่งสู่อาคารรัฐสภาอเมริกัน
       
บรรดาผู้จัดการประท้วงที่ใช้ชื่อว่า “การชุมนุมและเดินขบวนเพื่อศักดิ์ศรี และการยอมรับในคุณค่าของผู้อพยพ” ระบุว่ามีผู้ชุมนุมถึง 10,000 คนเข้าร่วมในการประท้วงครั้งนี้
       
กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐสภาอเมริกันเห็นชอบให้มีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายราว 11 ล้านคนที่อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2011 สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผย และรอรับสิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในอีก 13 ปีข้างหน้า ทั้งนี้พวกเขาต้องรออย่างน้อย 10 ปีเพื่อรับกรีนการ์ด และรออีก 3 ปีเพื่อรับสิทธิพลเมืองอเมริกัน
       
วุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งพรรคเดโมแครตเป็นผู้กุมเสียข้างมากได้ผ่านร่างกฎหมาย ที่มีเนื้อหาครอบคลุมที่สุดของยุคสมัยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก 2 พรรค แต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่กลับกำลังร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปทีละส่วน แทนที่จะเป็นร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

สมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากต่างพิจารณาว่า ร่างกฎหมายที่วุฒิสภาเขียนขึ้นหละหลวมจนเกินไป ตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายของวุฒิสภา โดยที่ภายในพรรครีพับลิกันก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิพลเมืองอเมริกันแก่ผู้อพยพ
       
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส.ส.ของพรรคเดโมแครตได้นำเสนอร่างกฎหมายของพรรคแยกต่างหาก ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุม เพื่อมุ่งกดดันให้พรรครีพับลิกันผลักดันให้มีการประกาศใช้โดยเร็ว
       
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ส.ส.ลุยส์ กุตเตียร์เรซ สังกัดพรรคเดโมแครต คือหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมในการชุมนุมเพื่อแสดงพลังอารยะขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ และเขาได้กล่าวโทษสภาผู้แทนราษฎรที่ขัดขวางการปฏิรูปกฎหมาย
       
“ในรัฐสภา มีสมาชิกพรรครีพับลิกัน 30 หรือ 40 คน ขณะบางคนประมาณการด้วยซ้ำว่ามีถึง 85 คน ที่สนับสนุนร่างกฎหมาย และการปฏิรูประบบตรวจคนเข้าเมืองในบางรูปแบบ” กุตเตียร์เรซชี้
       
“พวกเขารับรู้พลังคะแนนเสียงของพวกเรา พวกเขารับรู้ว่ามีผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายผู้อพยพ พวกเขารู้ว่าในชุมชนพวกเรามีผู้หิวโหยและเป็นทุกข์ แต่เราก็ยังไม่เห็นประธานาธิบดีประกาศใช้ร่างกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ได้เสียที เพราะถูกพรรครีพับลิกันขัดขวางเอาไว้”
       
บรรดาสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมนั้น รวมไปถึง จอห์น เลวิส ผู้บุกเบิกในการเรียกร้องสิทธิพลเมือง และราอุล กรีจัลยา ที่ปรึกษาด้านการปฏิรูปกฎหมาย
       
ผู้ประท้วงจำนวนมากพากันโบกสะบัดธงชาติอเมริกัน หรือไม่ก็ถือผืนผ้าและป้ายสนับสนุนการปฏิรูป ขณะที่ชายคนหนึ่งสวมเสื้อยืดสีดำที่สกรีนข้อความว่า “ผมอาจจะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย”
       
การชุมนุมครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันที่ 5 ต.ค. มีผู้คนร่วมหลายหมื่นคนออกมาประท้วงใน 160 เมืองของสหรัฐฯ

อดีตประธานสหภาพแรงงานออสเตรเลียขึ้นนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานในออสเตรเลีย

13 ต.ค. 2013 - นายบิล ชอร์เทน อดีตประธานสหภาพแรงงานออสเตรเลีย ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานในออสเตรเลียแล้ว หลังจากที่เขาสามารถเฉือนเอาชนะคะแนนนายแอนโทนี อัลบานีส อดีตรองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ไปได้ด้วยคะแนนรวมร้อยละ 52.02 ในการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำพรรคแรงงานของออสเตรเลียคนใหม่ที่ดำเนินมายาวนานกว่าหนึ่งเดือน

ศึกน้ำอัดลม เป๊ปซี่-โค้ก สร้างความปั่นป่วนของธุรกิจน้ำดำ กระทบเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานพม่า

14 ต.ค. 2013 -นักวิเคราะห์การตลาดของพม่า เปิดเผยว่า กรณีข้อพิพาทประเด็น "เป๊ปซี่ โค" ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายใหญ่ ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า บริษัทเคยลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับ ไดมอนด์ สตาร์ โค หนึ่งในตัวแทนจำหน่ายสินค้าบรรจุหีบห่อรายใหญ่สุดของพม่า เพื่อจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของบริษัท ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ไดมอนด์ สตาร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจในพม่ามานานเกือบ 50 ปี จะได้รับสิทธินำเข้า จำหน่าย และค้าส่ง เครื่องดื่ม เป๊ปซี่-โคล่า เซเว่น-อัพ และมิรินด้า โดยจะซื้อและนำเข้าเครื่องดื่มเหล่านี้จาก เป๊ปซี่ โค เวียดนาม

ล่าสุด นักวิเคราะห์กล่าวว่า สงครามข้อพิพาทระหว่างบริษัทโค้กและเป๊ปซี่ เปิดฉากอีกครั้ง ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการเมือง และเศรษฐกิจของพม่าอย่างหนัก ศึกน้ำดำยังไร้ข้อยุติที่น่าพึงพอใจสำหรับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาค่าจ้างแรงงานของคนงานพม่า ที่ยังไร้ทางออกต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของสงครามน้ำอัดลมครั้งใหญ่ในพม่า หลังจาก โคคา-โคล่า โค (โค้ก) คู่แข่งสำคัญ ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2555 ที่ผ่านมา ว่า บริษัทเตรียมวางแผนเข้าไปดำเนินการในพม่าทันทีที่รัฐบาลอนุญาต และเบื้องต้นจะนำเข้าเครื่องดื่มจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้าไปตั้งกิจการในพม่าก่อน ดังนั้น ข้อบรรลุทางออกรัฐบาลพม่า ยังไม่มีการแสดงความคิดแต่อย่างใด

รัสเซียกวาดจับแรงงานต่างด้าวกว่า 1,200 คน ทั่วกรุงมอสโก

14 ต.ค. 2013 -เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ได้ควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวจากการบุกตรวจค้นสถานประกอบการทั่วกรุงมอสโกไว้กว่า 1,200 คน เพื่อสอบสวนว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนายเยกอร์ เชอร์บาคอฟ วัย 25 ปี ชาวรัสเซียท้องถิ่นจนเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อนหรือไม่

การตรวจค้นครั้งใหญ่มีขึ้นหลังตำรวจเปิดเผยภาพถ่ายของผู้ต้องหาซึ่งไม่ได้เป็นพลเมืองรัสเซีย ส่งผลให้ประชาชนชาวรัสเซียนับพันคนรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย ในจำนวนนี้มีกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุจลาจลทำลายโกดังเก็บสินค้าที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ รวมถึงปล้นร้านค้าที่มีชาวต่างด้าวเป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา

ด้านนายเซร์เก โซเบียนิน นายกเทศมนตรีกรุงมอสโก สั่งให้มีการสอบสวนคดีฆาตกรรมดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน และว่าผู้ก่อเหตุจราจลจะต้องถูกควบคุมตัวมารับโทษด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่นายวลาดิมีร์ ลูคิน ผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนรัสเซีย เรียกร้องในวันเดียวกันให้มีการนำเรื่องความวุ่นวายดังกล่าวเข้าเป็นวาระเพื่อหารือในรัฐสภาด้วยโดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นงานหลักของรัฐสภาที่จะหามาตรการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของชาติและกวาดล้างการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วย

บราซิล-ครูประท้วงขอขึ้นเงินเดือนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว

16 ต.ค. 2013 -การชุมนุมประท้วงเพื่อขอขึ้นเงินเดือนของบรรดาครูบราซิลเมื่อวานนี้ ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3 แล้ว และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เพราะหลังจากที่มีการเดินขบวนอย่างสงบของครูประมาณ 5,000 คน ความไม่สงบได้เกิดตามมา เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนการออกมาเรียกร้องของครูบราซิลกลุ่มย่อยๆ กลุ่มหนึ่งในเมืองรีโอเดจาเนโร ได้ก่อเหตุรุนแรง โดยบุกเข้าทำลายร้านค้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ และ จุดไฟเผารถตำรวจ รวมทั้งขว้างปาระเบิดเพลิงเข้าใส่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตอบโต้โดยการยิงด้วยแก๊สน้ำตาและพริกไทย ซึ่งนอกจากที่รีโอเดจาเนโร แล้ว ยังมีการปะทะกันประปรายที่เซาเปาโล และมีผู้ก่อเหตุรุนแรงจำนวนหนึ่งถูกจับกุม

ขณะเดียวกัน กำลังตำรวจส่วนหนึ่งได้กระจายกำลังออกคุ้มกันอาคารรัฐสภาในรีโอเดจาเนโร เนื่องจากเคยตกเป็นเป้าการโจมตีของกลุ่มผู้สนับสนุนการเดินขบวนของครูบราซิล เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การประท้วงเพื่อขอขึ้นเงินเดือนของครูบราซิลมีขึ้นในหลายเมือง แต่ที่รัฐรีโอเดจาเนโร มีครูออกมาชุมนุมมากที่สุดและยืดเยื้อที่สุดคือ การชุมนุมมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม ทำให้โรงเรียนบางแห่งต้องหยุดการเรียนการสอน เพราะครูเกือบทั้งโรงเรียนไปเข้าร่วมการชุมนุม และจากผลการสำรวจโรงเรียนรัฐบาลในรีโอเดจาเนโรจำนวน 50 แห่งของสื่อท้องถิ่นบราซิลพบว่า ครูในโรงเรียนเหล่านี้ประมาณ 34 %ได้ออกมาร่วมชุมนุม

มะกันยันจ่ายชดเชยให้ลูกจ้างรัฐที่ต้องหยุดงานในช่วง "ชัตดาวน์ "

16 ต.ค. 2013 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ว่า ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐกว่า 800,000 คน ต้องหยุดงานไปโดยปริยายในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เมื่อสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงแผนการใหม่เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินได้ ทั้งนี้ นายแฮร์รี่ รีด ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกล่าวว่า บรรดาลูกจ้างของรัฐที่ต้องหยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เนื่องจากความผิดพลาดของสภา ต้องได้รับเงินชดเชยตามจำนวนปกติ

ในที่สุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา บรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในวุฒิสภาสหรัฐ ก็ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อยุติการปิดหน่วยงานของรัฐบาล และขยายเพดานหนี้แล้ว อีกทั้งข้อตกลงร่างกฎหมายฉบับนี้ยังรวมไปถึงการจ่ายเงินย้อนหลังให้กับลูกจ้างของรัฐที่ต้องหยุดงานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงต้องผ่านความเห็นชอบในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งต้องได้รับการลงนามโดยประธานนาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐเสียก่อน

ลูกจ้างหน่วยงานรัฐของอเมริกันเริ่มกลับเข้ามางานอีกครั้งหลังโอบามาลงนามใช้กฎหมายการจัดสรรงบฯและขยายเพดานหนี้

17 ต.ค. 2013 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า หนุ่มสาวชาวอเมริกันนับแสนคน ที่เป็นพนักงานของรัฐ ได้กลับมาเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง ในเช้าวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ นายบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ ลงนามบังคับใช้กฎหมายการจัดสรรงบประมาณ และการขยายเพดานหนี้ ทันก่อนเดดไลน์เพียงไม่กี่นาที ทำให้สิ้นสุดวิกฤตชัตดาวน์ ที่หน่วยงานของรัฐต้องปิดทำการติดต่อกันนานถึง 16 วัน
         
โอบามา กล่าวว่า แม้จะมีการต่อสู้กันอย่างหนัก ก่อนที่จะมาประนีประนอมกัน และมีการขยายกรอบในการจัดทำแผนงบประมาณระยะยาวไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2014 และขยายกรอบเวลาการให้อำนาจกระทรวงการคลัง สำหรับการกู้เงินเพื่อชำระหนี้ ไปจนถึงวันที่ 7 ก.พ. 2014 นั้น ก็ถือว่า ยังไม่มีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง
         
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากปัญหาดังกล่าว แม้จะผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปแล้ว แต่การเผชิญหน้าของทางฝั่ง

สหภาพกัมพูชาร้องแรงงานไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมฝ่ายค้านกลางสัปดาห์นี้

21 ต.ค. 2013 - แกนนำสหภาพแรงงานกัมพูชาเรียกร้องให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของพรรคฝ่ายค้านที่วางแผนจะจัดขึ้นในกลางสัปดาห์นี้ เพื่อต่อต้านผลการเลือกตั้งเดือนก.ค. ที่ยื่นชัยชนะให้กับพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน
       
"ผมขอเรียกร้องให้แรงงานทุกคนในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ในความสงบและไม่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของฝ่ายค้าน การอยู่ห่างจากการชุมนุมประท้วงที่กำลังจะมีขึ้นจะเป็นการช่วยรัฐบาลกัมพูชารักษาความสงบ ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประชาชน" สม อุน ประธานพันธมิตรหอการค้าสหภาพแรงงานแห่งชาติกัมพูชา กล่าวกับผู้สื่อข่าว
       
อุตสาหกรรมสิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีการจ้างแรงงานราว 510,600 คน ในโรงงานกว่า 500 แห่ง
       
พรรคกู้ชาติกัมพูชาของสมรังสีระบุว่าจะจัดการชุมนุมประท้วงนาน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมราว 20,000-50,000 คน ที่สวนเสรีภาพในกรุงพนมเปญ และจากกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน จะร่วมกันเดินขบวนไปยังสำนักงานสหประชาชาติและสถานทูตต่างชาติในกรุงพนมเปญ เพื่อยื่นคำร้อง
       
อย่างไรก็ตาม โฆษกเทศบาลกรุงพนมเปญ ระบุว่า ทางการจะอนุญาตให้มีผู้ชุมนุมได้มากที่สุดเพียง 10,000 คน และไม่อนุญาตให้มีการเดินชบวน
       
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค CNRP รายหนึ่งกล่าวว่า ฝ่ายค้านยังคงยึดมั่นตามข้อเรียกร้อง ว่าประชาชนจะร่วมกันชุมนุมที่สวนเสรีภาพราว 20,000-50,000 คน และผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน จะเดินขบวนไปที่สำนักงานสหประชาชาติและสถานทูตต่างชาติเพื่อยื่นคำร้อง
       
"คำร้องของเราคือเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงในวิกฤตการเมืองของประเทศหลังเกิดเหตุพิพาทการเลือกตั้งเดือนก.ค." สมาชิกสภาพรรคฝ่ายค้านกล่าวกับสำนักข่าวซินหวา พร้อมระบุว่า วันที่ 23 ต.ค. ที่เป็นวันแรกของการชุมนุมประท้วง มีขึ้นในเวลาเดียวกันกับวาระครบรอบการลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีส 2534 ซึ่งผู้ชุมนุมจะเดินขบวนไปยังสำนักงานสหประชาชาติเพื่อยื่นคำร้อง และในวันที่ 24-25 ต.ค. จะเดินขบวนไปยังสถานทูตฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน อินโดนีเซีย อังกฤษ และออสเตรเลีย
       
กัมพูชาจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการะบุว่าพรรครัฐบาลของฮุนเซนเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง แต่พรรค CNRP ปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว โดยอ้างว่ามีความผิดปกติร้ายแรงระหว่างการเลือกตั้ง ต่อมาในวันที่ 24 ก.ย. รัฐสภากัมพูชา ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภา 68 คน จากพรรครัฐบาลได้มีมติจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของฮุนเซน แม้ว่าสมาชิกสภาฝ่ายค้าน 55 คน จะคว่ำบาตรการประชุมดังกล่าวก็ตาม
       
นายสม รังสี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ประกาศว่าพรรคของตนจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่นำโดยฮุนเซน โดยอ้างว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่ตั้งขึ้นมานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ฮุนเซนได้กล่าวแย้งว่า รัฐบาลของตนมีความชอบธรรม นับตั้งแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากกษัตริย์สีหมุนี

จอร์แดน จ่อ “ผลัก” แรงงานซีเรียผิดกม.กลับประเทศ หวังแก้ปัญหา “คนว่างงาน”

22 ต.ค. 2013 - จอร์แดนเตรียมผลักดันแรงงานชาวซีเรีย 5,723 คน ที่เข้าเมือง “ผิดกฎหมาย” กลับประเทศเดือนหน้า หากพวกเขาไม่ได้รับใบอนุญาตทำงานจากรัฐบาลจอร์แดน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานระบุวานนี้ (21 ต.ค.) ในช่วงที่ประเทศนี้ต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลที่ไหลทะลักเข้ามา
       
รัฐมนตรี นิดัล กอตามิน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเพตราของทางการจอร์แดนว่า ในขณะนี้มีแรงงานผิดกฎหมาย 15,000 คนอยู่ในราชอาณาจักรแห่งนี้ โดยเป็นชาวซีเรียถึง 5,723 คน
       
“นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป พวกเขาจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศ หากไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน และไม่ไปทำเรื่องแก้ไขสถานภาพให้ถูกกฎหมาย” กอตามินกล่าว
       
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีผู้นี้ไม่ได้บอกว่า แรงงานชาวซีเรียเหล่านี้เข้ามาในพรมแดนของจอร์แดน พร้อมกับพวกผู้ลี้ภัยที่ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเพื่อหนีภัยสงครามซีเรีย หรือเดินทางเข้ามาในช่วงก่อนที่สงครามจะปะทุขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011
       
กอตามินได้ระบุเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจขับแรงงานผิดกฎหมายออกนอกประเทศนั้นมุ่งที่จะ “ช่วยประชาชนชาวจอร์แดนให้มีงานทำ” ตลอดจนเป็นการจัดการตลาดแรงงานให้มีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น
       
ทางการของราชอาณาจักรแห่งนี้เผยว่า ชาวจอร์แดนที่กำลังว่างงานต้องแข่งกับชาวซีเรียหางานทำด้วยความยากลำบาก
       
แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีตัวเลขของชาวซีเรียที่ทำงานในจอร์แดนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการประมาณการคร่าวๆ ว่า มีแรงงานซีเรียราว 160,000 คนอยู่ในประเทศ
       
ทั้งนี้ ที่จอร์แดนมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอยู่ราว 550,000 คน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ เป็นต้นว่า ค่ายผู้ลี้ภัยซาตอรี ซึ่งเป็นที่พักพิงของผู้หนีภัยสงครามกว่า 130,000 คน
       
ชาวจอร์แดนได้ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาบอกว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดภาระหนัก กับการจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนที่อยู่อาศัย และการศึกษา ซึ่งปกติก็แทบจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจอร์แดนอยู่แล้ว

กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสเผยตัวเลขคนว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนที่สเปน ตัวเลขว่างงานลดลงเล็กน้อย

25 ต.ค. 2013 - กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสรายงานเมื่อวานนี้ว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 600,000 คน ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานทั่วประเทศเพิ่มเป็น 3.296 ล้านคน สูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อต้นปี 2009

จำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ที่ให้คำมั่นระหว่างหาเสียงว่า จะเร่งแก้ปัญหาการว่างงาน

ผลสำรวจความคิดเห็นที่เปิดเผยเมื่อเช้าวานนี้ชี้ว่า ชาวฝรั่งเศส 76 % มองว่า ออลลองด์ไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้ ขณะที่คะแนนนิยมของเขาร่วงต่ำสุดนับตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนที่สเปน สำนักสถิติแห่งชาติเผยว่า อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ลดลงเล็กน้อยจาก 26.3 % เหลือ 26 % รายงานตัวเลขมีขึ้น 1 วันหลังจากธนาคารสเปนประกาศว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตามจำนวนคนว่างงานสเปน ยังถือว่าสูงอยู่ คือ ประมาณ 5.9 ล้านคนทั่วประเทศ

วอลโว่เตรียมลดพนักงาน 2,000 ตำแหน่ง

25 ต.ค. 2013 - บริษัทรถยนต์วอลโว่ประกาศจะลดตำแหน่งงานราว 2,000 ตำแหน่ง เนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 3 พบยอดขายสุทธิลดลงร้อยละ 5

แถลงการณ์ของค่ายรถวอลโว่ ระบุจะลดจำนวนพนักงานและที่ปรึกษาทั้งในระดับพนักงานหลักและส่วนสนับสนุนราว 2,000 ตำแหน่ง หลังยอดขายสุทธิในไตรมาส 3 ลดลงมาที่ 10,200 ล้านดอลลาร์ (316,200 ล้านบาท) หรือลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านผลกำไรสุทธิลดลงร้อยละ 1 และอยู่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ทั้งนี้ บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป มีพนักงานทั้งหมด 112,000 คนทั่วโลก รวมถึงที่ปรึกษาและลูกจ้างชั่วคราว 16,000 คน

ชาวโปรตุเกสหลายพันคนเดินขบวนประท้วงแผนรัดเข็มขัดรัฐบาล

27 ต.ค. 2013 - ประชาชนชาวโปรตุเกสหลายพันคนพร้อมใจรวมตัวเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงลิสบอน เมืองหลวงของประเทศเพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่เป็นไปตามเงื่อนไขรับความช่วยเหลือมูลค่า 78,000 ล้านยูโร (ราว 3.27 ล้านล้านบาท) เมื่อปี 2554

การเดินประท้วงอย่างสงบเมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่นมีจุดหมายอยู่ที่รัฐสภา เป็นการสนับสนุนกลุ่ม “สกูร เดอะ ทรอยกา” (กวดขันทรอยกา) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในโปรตุเกส กลุ่มทรอยกา คือกลุ่มผู้ให้ความช่วยเหลือโปรตุเกสในช่วงวิกฤติการเงินที่ผ่านมา ประกอบด้วย สมาชิกประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โปรตุเกสจำเป็นต้องกอบกู้ความเชื่อถือจากตลาดเพื่อให้อันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนของประเทศดีขึ้นจากปัจจุบันที่ถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก 3 แห่งจัดให้อยู่ในอันดับขยะ นอกจากนี้ยังต้องหาทางกลับไปกู้ยืมระยาวในตลาดพันธบัตรให้ได้อีกครั้งภายในกลางปีหน้า เพราะเป็นช่วงที่โครงการความช่วยเหลือจะสิ้นสุด

รายงานประเมินระบบสุขภาพ NHS อังกฤษ เปิดเผย “พยาบาลอังกฤษ” ไม่เช็ดอาเจียนคนไข้ อ้าง “เรียนจบสูง”

29 ต.ค. 2013 - สส.พรรคแรงงาน แอนน์ คลิวย์ด (ขวา) วัย 76 ปี เอเจนซีส์ - สื่ออังกฤษ เช่น เมล ออนไลน์ เผยว่า สส.พรรคแรงงาน แอนน์ คลิวย์ด วัย 76 ปี ผู้ซึ่งต้องสูญเสียสามี โอเวน โรเบิร์ต วัย 73 ปี ต้องเสียชีวิตในโรงพยาบาลในสภาพที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากพยาบาล โดยเธอได้รับคำสั่งจากเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้จัดทำรายงานประเมินระบบสาธารณสุข NHSของอังกฤษ เรื่องNHSรับมือกับเรื่องร้องเรียนอย่างไร ซึ่งรายงานนี้เก็บข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 2,500 เรื่องในช่วง 6 เดือนนั้นสร้างความตกใจกับชาวอังกฤษที่พบว่า พยาบาลของ NHSละเลยต่อคนไข้ที่ป่วยหนัก เช่น ปฎิเสธที่จะช่วยทำความสะอาดอาเจียนของคนไข้ โดยอ้างวุฒิการศึกษาของตนเอง หรือหมกหมุ่นกับการประมูลอีเบย์จนจบก่อนที่จะให้บริการญาติคนไข้

รายงานที่ได้รับการเปิดเผยในวันอาทิตย์(27) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษร่วมกับสส.พรรคแรงงาน แอนน์ คลิวย์ด วัย 76 ปี โดยเธอได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ให้จัดทำรายงานวิเคราะห์ ระบบสาธารณสุข NHSของอังกฤษในการรับมือกับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย

ที่ผ่านมา สส. พรรคแรงงานผู้นี้ได้เสียน้ำตากลางรัฐสภาอังกฤษในปี 2012หลังจากที่เธอได้เปิดเผยถึงสามี โอเวน โรเบิร์ต วัย 73 ปี ที่ต้องเสียชีวิตในโรงพยาบาล University Hospital of Wales ในสภาพเหมือนที่ไม่มีพยาบาลเหลียวแลยามเมื่อร้องขอ โดยเขาต้องนอนใส่หน้ากากอ็อกซิเจนในสภาพที่หนาวและเท้าโผล่พ้นผ้าบางๆและสั้น2ผืนคลุมร่างกายไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมา โดยคลิวย์ดได้เดินไปตามโถงทางเดินซึ่งไม่มีพยาบาลอยู่เลย และเมื่อเธอพบพยาบาลหนึ่งคนและถามว่าเหตุใดสามีของเธอที่ป่วยหนักถึงไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ พยาบาลคนนั้นกล่าวเพียงว่า “มีคนไข้รายอื่นที่ป่วยหนักกว่า” และเดินจากไป

ข้อร้องเรียนทั้งหมดราว 2,500 เรื่องที่รวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษในช่วง 6 เดือน นั้นพบปัญหาว่า พยาบาลของNHSนั้นละเลยดูแลคนไข้ที่ป่วยหนักและญาติของผู้ป่วยเมื่อยามร้องขอ เช่น พยาบาลได้บอกกับสามีคนไข้หญิงชาวอังกฤษที่ป่วยหนักว่า “ดิฉันไม่เช็ดอาเจียน เพราะดิฉันเรียนมาสูง” หรือกลุ่มนางพยาบาลทั้งกลุ่มที่ปล่อยให้ญาติคนไข้รอ โดยพวกเธอต้องการร่วมประมูลบิดทางอีเบย์ให้เสร็จเสียก่อน

โดยรายงานประเมินผลนี้ได้รวมถึง ความเห็นของอดีตพยาบาลNHS ที่ได้เตือนว่า มาตรฐานการให้บริการขององค์กรต่ำลง เป็นเพราะการขาดวินัย ความเห็นอกเห็นใจ และความเป็นผู้นำของเหล่าผู้ปฎิบัติงานในองค์กร ซึ่งในปัจจุบันนี้ พยาบาลNHS ที่ปฎิบัติหน้าที่นั้นมุ่งใส่ใจในการรักษาที่ซับซ้อน มากกว่าที่จะให้ความสนใจในการปรนนิบัติผู้ป่วย เช่น ช่วยผู้ป่วยเปลี่ยนชุด ทำความสะอาด หรือป้อนอาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่าญาติคนไข้ยังมีปัญหากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีตำแหน่งสูง โดยมีบางส่วนที่ในคำร้องที่ผู้ร้องเรียนเรียกแพทย์พวกนี้ว่า “เป็นพวกหลงตัวเอง ปฎิบัติต่อคนไข้เหมือนเป็นขอทาน และไม่มีความใส่ใจ” และรวมถึงหล่อหลอมให้นักศึกษาแพทย์ปฎิบัติต่อคนไข้ด้วยความรู้สึกไม่เห็นอกเห็นใจ

นอกจากนี้ รายงานยังสรุปด้วยว่า นี่ถือเป็นความล้มเหลวนับ 10ปี ของNHSในการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนจากผู้มารับบริการ มีญาติคนไข้จำนวนหนึ่งถูกปล่อยให้รอนานถึง 6 ปี ก่อนจะได้คำกล่าวขออภัย โดยในปี 2012 มีคำร้องเรียนจำนวนมากกว่า 162,000 เรื่องเข้ามาที่หน่วยงานให้บริการด้านสุขภาพในอังกฤษ ที่ตกราว 450 คำร้องต่อวัน และโดยมากจะพบว่าคำร้องเรียนที่ส่งมานั้น “ถูกเพิกเฉยอย่างจงใจและปล่อยให้ลืมในที่สุด”

และคลิวย์ดกล่าวว่า หลังจากที่เธอได้เปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามีของเธอต่อสาธารณชนแล้ว เธอต้องตกใจมากขึ้นเมื่อพบว่า เธอได้รับจดหมายจากชาวอังกฤษบรรยายถึงประสบการณ์อันน่าสลดใจที่พวกเขาต่างได้รับในการให้บริการของระบบสุขภาพNHS ซึ่งมันทำให้เธอมีความมุ่งมั่นมากขึ้นที่จะเปลี่ยนระบบที่ล้มเหลวนี้ “ในรายงานฉบับนี้ได้ทำให้เสียงข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการส่งไปถึง NHS ว่า “ความล่าช้าในการปฎิบัติหน้าที่ การปฎิเสธความรับผิดชอบหรือการให้บริการ และการแก้เกี้ยวในข้อผิดพลาด”ต้องหมดไป และโรงพยาบาลต้องโปร่งใสเข้าหาคนไข้และญาติคนไข้

คลิวย์ดนั้นได้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ขึ้นร่วมกับศาสตราจารย์ทริเชีย ฮาร์ต อดีตพยาบาลและและผู้บริหารโรงพยาบาลเซาท์ทีส โดยทั้งคู่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการที่ NHS รับมือกับข้อร้องเรียน และรวมไปถึงให้คำแนะนำNHS ให้ทางโรงพยาบาลมีใบประเมินการให้บริการพร้อมปากกาไว้ข้างเตียงผู้ป่วย และเสนอให้ทางโรงพยาบาลไม่เพิกเฉยต่อข้อร้องเรียน โดยให้ทำการสอบสวนเรื่องที่ร้องเรียนโดยละเอียด พร้อมจัดทำรายงานประจำปีในปลายปีเพื่ออธิบายถึงการที่ทางโรงพยาบาลแก้ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมาอย่างไร

ด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ เจรามี ฮันท์ เปิดเผยว่า “ผมอยากเห็นการปฎิรูปในโรงพยาบาลครั้งใหญ่ที่เริ่มมาจากระบบคำร้องเรียน ซึ่งเป็นเสมือนข้อมูลชั้นดีในการปรับปรุงและพัฒนา จะไม่มีการรอมชอมต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด”

รบ.โอมานสั่งห้ามจ้างแรงงานต่างชาติทำงานก่อสร้าง-ทำความสะอาด หวังสงวนตำแหน่งงานให้ ปชช.ในประเทศ

29 ต.ค. 2013 - รายงานของสำนักข่าวแห่งชาติของโอมาน (โอเอ็นเอ) ในวันอังคาร (29) ระบุว่า กระทรวงแรงงานโอมานออกระเบียบใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ระบุห้ามการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานก่อสร้างในโครงการขนาดเล็ก และห้ามบริษัทรับจ้างทำความสะอาดจ้างแรงงานต่างชาติเข้าทำงานเป็นการชั่วคราว จนถึงเดือนเมษายนปีหน้าเป็นอย่างน้อย โดยทางกระทรวงมีอำนาจที่จะขยายระยะเวลาการห้ามจ้างแรงงานต่างชาตินี้ ให้ยาวนานขึ้นได้อีกตามความเหมาะสม
       
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกระทรวงแรงงานโอมานเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐสุลต่านแห่งนี้ ในการปราบปรามแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รัฐบาลถูกโจมตีหนักจากการที่ปล่อยให้ตำแหน่งงานจำนวนมากตกอยู่ในมือของแรงงานต่างชาติ ขณะที่ประชาชนชาวโอมานจำนวนมากยังว่างงาน
       
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอมานเพิ่งออกมาตรการจำกัดจำนวนแรงงานต่างชาติ รวมถึงประกาศปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับพลเมืองโอมาน
       
ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติมีจำนวนกว่า 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 39 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโอมาน 3.3 ล้านคนทั่วประเทศ โดยแรงงานต่างชาติส่วนใหญ่ในโอมาน ถูกดึงเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน การก่อสร้าง ตลอดจนภาคบริการ และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีจากหลายประเทศแถบ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

มีผู้เสียชีวิต 6 คนจากก๊าซรั่วในเหมืองถ่านหินสเปน

29 ต.ค. 2013 - เจ้าหน้าที่สเปนรายงานว่า เกิดก๊าซรั่วที่เหมืองถ่านหินทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาย 6 คนและบาดเจ็บอีก 5 คนในวันจันทร์ นับเป็นอุบัติเหตุเหมืองที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของสเปนในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ        

โฆษกหน่วยฉุกเฉินรายงานว่า หนึ่งในคนงานเหมืองที่บาดเจ็บมีอาการสาหัสหลังเกิดอุบัติเหตุที่เหมืองซานตาลูเซีย โดยถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาล ส่วนอีก 4 คนนำส่งรถพยาบาลไป นายกเทศมนตรีเมืองโปลา เด กอร์ดอนกล่าวคาดว่า เกิดจากก๊าซมีเทนรั่วไหล และสถานการณ์ภายในเหมืองยังอันตราย  ด้านครอบครัวและญาติมิตรของคนงานต่างมารวมกันที่บริเวณหน้าเหมืองถ่านหินซึ่งมีชั้นใต้ดินอยู่ลึกลงไปราว 700 เมตรเพื่อรอติดตามความคืบหน้า ผู้แทนสหภาพคนงานเหมืองฯ กล่าวว่าก๊าซรั่วออกมาอย่างรวดเร็ว ทำให้คนงานไม่สามารถสวมหน้ากากป้องกันได้ทัน

แรงงานทั่วอินโดนีเซียประกาศหยุดงานเป็นเวลา 2 วันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

30 ต.ค. 2013 - ภาวะเงินเฟ้อที่ฉุดค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานร้องขอให้รัฐบาลจาการ์ตาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
       
สหภาพแรงงานระบุว่า ตลอด 2 วันนี้จะมีแรงงานออกมาประท้วงเกือบ 3 ล้านคน แม้ที่ผ่านมาจำนวนผู้เข้าร่วมมักจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก็ตาม
       
ซาอิด อิกบัล ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานอินโดนีเซีย (KSPI) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ... แรงงานจำนวนมากต้องไปอาศัยอยู่ตามใต้สะพานหรือท่อระบายน้ำ เพราะไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่าบ้าน พวกเขาต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนข้าว”
       
แรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่รัฐอุดหนุนเมื่อเดือนมิถุนายน โดยราคาน้ำมันเบนซินปรับขึ้นราว 44% ส่วนดีเซลขยับขึ้นอีก 22%
       
“เราเพียงต้องการเงินเดือนที่เหมาะสมมาชดเชยกับภาวะเงินเฟ้อ... แรงงานอย่างเราเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่ทำไมเราจึงถูกย่ำยีเช่นนี้” อิกบัล ระบุ
       
KSPI คาดว่าจะมีแรงงานราว 300,000 คนออกมาประท้วงในกรุงจาการ์ตา ส่วนที่เมืองเบกาซีซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง จะมีแรงงานออกมาแสดงพลังราวๆ 400,000 คน
       
แรงงานเมืองอิเหนาจัดการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานบ่อยขึ้น เพื่อบีบให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
       
ปีนี้รัฐบาลอิเหนาเพิ่งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานในกรุงจาการ์ตาอีก 44% รวมเป็น 2.2 ล้านรูเปียะห์ต่อเดือน (ราว 6,150 บาท) ส่วนในเมืองอื่นๆ ก็มีการเพิ่มฐานเงินเดือนให้เช่นกัน
       
KSPI เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มฐานเงินเดือนแก่คนงานในเมืองหลวงไม่น้อยกว่า 3.7 ล้านรูเปียะห์ต่อเดือน (ราว 10,300 บาท)


ที่มาเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ไทยรัฐออนไลน์, สำนักข่าวไทย, ครับครัวข่าว, กรุงเทพธุรกิจ, เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net