Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" ที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้นส่งผลให้เกิดแรงต่อต้านจากสังคมอย่างกว้างขวางและจากหลายภาคส่วน บทความชิ้นนี้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยในส่วนแรกนั้น บทความชิ้นนี้จะอภิปรายถึงการสลายภาพลักษณ์ของความเป็นพรรคตัวแทนมวลชนเพื่อประชาธิปไตยของเพื่อไทยอันเกิดจากการผลักดัน พรบ. ฉบับเจ้าปัญหา โดยในส่วนต่อมาของบทความมุ่งที่จะเสนอหลักการและเหตุผลของการสร้างสังคมการเมืองหลังการฆ่าผ่านการสร้างกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ สองส่วนแรกของบทความชิ้นนี้ได้อภิปรายถึงปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ (what is?) และปรากฏการณ์ที่ควรจะเป็น (what ought?) ในส่วนสุดท้าย บทความชิ้นนี้จะสรุปแนวโน้มของประชาธิปไตยไทยหลังจากการพยายามผ่าน พรบ. นิรโทษกรรมในครั้งนี้

สลายความเป็นตัวแทนมวลชน

หลังจากการรัฐประหารปี 2549 นั้นมวลชนผู้นิยมประชาธิปไตยได้ถูกผลักให้รวมตัวกันต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดยมีพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจเผด็จการและรัฐประหารมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ผ่าน พรบ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งนั้น ภาพลักษณ์ในฐานะพรรคมวลชนผู้นิยมประชาธิปไตยได้เริ่มถูกสั่นคลอนและเริ่มขาดเอกภาพในเชิงอุดมการณ์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแนวทางการนิรโทษกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทยซึ่งในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ที่เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปในสายตามวลชนกลับส่งผลให้ฐานมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้มแข็งขึ้นมาก

หากเปรียบเทียบส่วนได้ส่วนเสียของพรรคเพื่อไทยกับปชป.จะพบว่า ปชป. ได้เปรียบอย่างมากด้วยสาเหตุอย่างน้อยสองประการ ประการแรก ปชป. ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเดินออกจากสภาโดยไม่ช่วยยกมือโหวตคัดค้านการผ่านร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับของวรชัย ที่ถูกแปรญัตติเกินเลยไปจากหลักการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้ว่าจะสามารถพูดได้ว่าเป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ต่อความไม่เป็นธรรมของการกระทำดังกล่าว แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเดินเกมอย่างละเมียดละไมของพรรค ปชป. ในการรักษาฐานมวลชนของตัวเองเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษา “ซูเปอร์ดีล” และได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้นำพรรคของตัวเอง อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พ้นคดีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์นองเลือดในเดือนเมษายน 2553 ด้วยเนื่องจากไม่ได้โหวตสวนในสภา โดยสรุปคือเราสามารถพูดได้ว่า ปชป. ได้ประโยชน์จากการพ้นคดีอีกทั้งยังไม่เสียมวลชน

ประการที่สอง นอกจาก ปชป. จะไม่เสียมวลชนแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการเพิ่มฐานมวลชนให้ตัวเองด้วย พรรคประชาธิปัตย์ได้วางยุทธศาสตร์กระชับอำนาจโดยหันมานำม็อบเข้าชุมนุมต่อต้าน พรบ. นิรโทษกรรม ในวันที่ 31 ต.ค. ได้นัดชุมนุมที่สามเสน และมีการยกระดับชุมนุมในวันที่ 4 พ.ย. แกนนำพรรคได้นำม็อบเคลื่อนย้ายไปที่ถนนราชดำเนินโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ในขณะที่แกนนำพรรคแสดงความจริงใจในการต่อสู้ทางกฎหมายโดยยืนยันว่าไม่เอา พรบ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งเพื่อเพิ่มฐานมวลชน แต่ ปชป.เองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแนวทางการนิรโทษกรรมของเพื่อไทยในครั้งนี้

ในขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่พรรคเพื่อไทยก็จะเห็นทั้งผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านบนฐานของความเห็นที่หลากหลาย เมื่อลองสรุปความเห็นว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมของโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 27 ตุลาคม ในเฟซบุค ผู้เขียนพบว่าความเห็นถูกแบ่งออกเป็น 5 ฝ่ายหลัก ๆ ในสัดส่วนจำนวนคนที่พอ ๆ กันคือ

1. ผู้สนับสนุน พรบ. ดังกล่าวและอยากให้ทักษิณกลับบ้านเพื่อมาพัฒนาประเทศต่อ หรือจัดการกับฆาตกร
2. ผู้สนับสนุน พรบ. ดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่า การผ่าน พรบ. นี้จะทำให้นักโทษการเมืองถูกปล่อยออกมาเร็วที่สุด
3. ผู้ต่อต้าน พรบ. ดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของทักษิณซึ่งทำให้เกิดการคอรัปชั่น
4. ผู้ต่อต้าน พรบ. ดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ พรบ. ดังกล่าวจะล้างโทษให้กับอภิสิทธิ์และสุเทพ ล้างผลพวงรัฐประหาร อีกทั้งยังไม่ได้รวมไปถึงนักโทษการเมืองที่ถูกจับภายใต้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112
5. ผู้ขอร้องให้เกิดการปรองดองกันโดยเร็ว หรือไม่สนใจว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้พัฒนาเศรษฐกิจก็พอ

หากมองว่าความเห็นของกลุ่มที่ 3 (เกลียดทักษิณอยู่แล้ว) และกลุ่มที่ 5 (ไม่สนใจการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว) ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว จะพบว่าความเห็นของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่เดิมในปัจจุบันแตกออกเป็นสามฝ่าย และหลังจาก พรบ. เหมาเข่งผ่านสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หมายความว่าพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจตัดมวลชนที่เคยสนับสนุนพรรคออกส่วนนึง (ฝ่ายที่ 4) เพื่อให้การผ่าน พรบ. เหมาเข่งดำเนินไปได้ ในขณะที่ภาพความไม่เคยเป็นเอกภาพของเสื้อแดงมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ได้นำเสื้อแดงจำนวนหนึ่งออกมาชุมนุมที่ถนนราชประสงค์ในช่วงที่ผ่านมานำไปสู่การปลดรายการประชาชน 3.0 ของเขาจากผังรายการของ Asia Update ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หากพิจารณาตามหลักการแล้ว เมื่อพรรคเพื่อไทยมีมติออก พรบ. เหมาเข่งโดยตัดใจทิ้งมวลชนผู้สนับสนุนไปกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ทักษิณกลับบ้าน ย่อมหมายความว่า สส. ของพรรคเพื่อไทยปราศจากอำนาจในการตัดสินใจในพรรคเนื่องจากทั้ง ๆ ที่ สส. พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงเนื่องจากเสียฐานคะแนน ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงขาดลักษณะของความเป็นพรรคมวลชนเนื่องจาก สส. ผู้ที่มีอำนาจยึดโยงอยู่กับประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการเห็นแย้งกับพรรคและการตัดสินใจของพรรครวมศูนย์ไว้ที่ตัวผู้นำ กล่าวคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ขยายภาพให้สังคมการเมืองได้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมิได้ยึดโยงและกำกับโดยมวลชนอย่างที่เคยมีภาพลักษณ์มาก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสร้างพลังให้แก่ ปชป. ในฐานะพรรคที่คอยชี้ให้เห็นถึงพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่เป็นพรรคที่มิได้ถูกกำกับโดยมวลชนด้วยเช่นกัน

จากที่ได้อภิปรายไปแล้วข้างต้น เมื่อลองพิจารณาถึงมวลชนนั้น กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและต่อต้านคอรัปชั่น เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมประชาชน ต้องการให้นิรโทษคนที่โดนข้อหา 112 แต่ต้องการให้ผู้นำทางการเมืองถูกดำเนินคดีต่อไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่เป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นในระบบการเมืองทั้งหมด (เรียกสั้น ๆ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์) โดยพวกเขาจะต้องเจอกับเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายเพื่อทำให้เป้าหมายทางการเมืองของตัวเองสำเร็จ

ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการแสดงจุดยืนของตัวเองบนถนน และการเมืองบนถนนเป็นที่ยืนที่ไม่มีทางชนะ (No win situation) การอยู่บนถนนจะไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นพรรคมวลชน หากจะออกมาตั้งพรรคเองเพื่อต่อสู้แกนนำของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ต้องเจอกับปัญหาว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วก็ต้องมีผลได้ผลเสียกับกลุ่มอำนาจเดิมนำไปสู่การเจรจาที่ผลย่อมออกมาบิดเบือนไปจากความต้องการของประชาชนอีก ด้วยเหตุนี้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงไม่สามารถทำอะไรได้ไปมากกว่าการต่อสู้บนถนนและคงหยุดอยู่เพียงการต่อสู้บนถนน ทั้งนี้อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเสียงของพวกเขาเป็นเพียงเสียงเดียวของทั้งหมดด้วย

สังคมการเมืองหลังการฆ่า

หลังจากการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงผ่านอำนาจรัฐในการฆ่าประชาชนเมื่อปี 2553 นั้น หลายฝ่ายรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะสร้างความปรองดองผ่านวิธีต่างๆ อย่างไรก็ตามความพยายามในการผ่าน พรบ. ฉบับเหมาเข่งนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการการทำลายการสร้างสังคมการเมืองหลังการฆ่า บทความในส่วนนี้มุ่งอภิปรายถึงข้อเสนอว่าด้วยการสร้างสังคมการเมืองผ่านการให้อภัยโดยที่เหยื่อไม่ลืม

ในฐานะที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปนั่งรับฟังข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะในเชิงกฎหมายของอาจารย์คณะนิติราษฎร์ที่มีต่อร่างพรบ.นิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนั้น นอกจากได้ทราบถึงปัญหาในทางหลักการและข้อกฎหมายหลายประการของพรบ.ฉบับดังกล่าวดังที่ปรากฏในแถลงการณ์  แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อกังวลใจที่สุดของผู้เขียนต่อการประเมินสถานการณ์นี้ในฐานะคนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็คือปัญหาในทางปฏิบัติหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านทุกขั้นตอนและถูกนำไปดำเนินการบังคับใช้ในที่สุด

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คณะนิติราษฎร์ได้หยิบยกขึ้นมาในงานแถลงข่าวดังกล่าว คือการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาทำหน้าที่โดยตรงในการคัดกรองและพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่เข้าเกณฑ์ในการได้รับนิรโทษกรรมตามเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้จึงตกไปอยู่ในมือของฝ่ายกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดในการพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่เข้าองค์ประกอบของการได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมาย ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความยุ่งยากขึ้นมาในกรณีที่แต่ละองค์กรและขั้นตอนต่างๆของกระบวนการยุติธรรมตีความเกณฑ์ในการเข้าองค์ประกอบในการได้รับนิรโทษกรรมแตกต่างกันออกไปซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละฝ่ายแต่ละบุคคล

ทีนี้ในบรรดากลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเป้าหมายของการได้รับนิรโทษกรรมนั้น หากแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ทักษิณ 2. นักโทษการเมือง และ 3. เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้สั่งการในการสลายการชุมนุม กลุ่มที่ดูจะมีความยุ่งยากมากที่สุดแน่นอนก็คือกลุ่มนักโทษการเมือง เพราะคดีต่างๆของนักโทษการเมืองนั้นอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันออกไปในปัจจุบัน บางคนอาจจะยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน บางคนอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ หรือบางคนถูกส่งฟ้องไปยังศาลและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี บางคนก็ถูกศาลตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว หากการใช้ดุลยพินิจในแต่ละส่วนของกระบวนการยุติธรรมแตกต่างกันว่าบุคคลใดบ้างที่เข้าองค์ประกอบของการเป็นนักโทษการเมืองตามกฎหมายดังกล่าว ใครจะเป็นผู้รับประกันว่าท้ายที่สุดแล้วนักโทษการเมืองจะได้รับการนิรโทษกรรมและได้ออกจากเรือนจำทั้งหมดทุกคนจากช่องโหว่นี้?

จากข้อห่วงใยดังกล่าว ผู้เขียนได้ยกมือตั้งคำถามต่ออาจารย์คณะนิติราษฎร์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดหรือไม่ ที่ผลในทางปฏิบัติหากกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้แล้วจะทำให้ในที่สุดนักโทษการเมืองอาจจะไม่ได้ออกจากเรือนจำ ทักษิณอาจจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมและไม่ได้กลับประเทศไทย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการสลายการชุมนุมจะได้รับการนิรโทษกรรมเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งอาจารย์วรเจตน์ก็ได้ตอบว่าหากประเมินจากมุมมองนี้แล้ว ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ (มากหรือน้อยก็สุดแท้แต่) ที่จะเกิดผลลัพธ์เช่นนั้นขึ้นมา!!

อาจจะมีคนจำนวนมากโต้แย้งผู้เขียนว่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไป โดยอ้างเหตุผลถึงเรื่อง super deal ของพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มอื่นๆ หรือเหตุผลเรื่องแผนซ้อนแผนของคนในพรรคอะไรก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วในการที่เราจะประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมหนึ่งๆว่าจะสามารถเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง เราควรที่จะประเมินผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ทางการเมืองจาก worst case scenario ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้เพียงน้อยนิด ไม่ใช่ประเมินจากผลลัพธ์ด้านดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการคิดเข้าข้างตัวเองเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ต้องถามไปยังมวลชนผู้สนับสนุนพรบ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของพรรคเพื่อไทย ว่าจะสามารถรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ได้หรือไม่? ถ้าผลลัพธ์ออกมาในด้านกลับที่เลวร้ายกว่าที่ตั้งใจจะให้เป็นโดยอยู่นอกเหนือจากความคาดหมายและการควบคุม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียจากการตัดสินใจและการประเมินที่ผิดพลาดในครั้งนี้?

การที่ผู้เขียนยืนยันการคัดค้านร่างนิรโทษกรรมฉบับนี้ มิได้หมายความว่าผู้เขียนมองข้ามความสำคัญของเสรีภาพที่นักโทษการเมืองที่อยู่ในเรือนจำสมควรได้รับ หรือปฏิเสธความสำคัญของความยุติธรรมที่คุณทักษิณควรได้รับจากการทำรัฐประหารปี 49 แต่อย่างใด แต่เพราะผู้เขียนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วทั้งทักษิณและนักโทษการเมืองยังมีโอกาสที่จะได้รับเสรีภาพและทวงคืนความยุติธรรมได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำตามข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารของคณะนิติราษฎร์ เป็นต้น เพราะทั้งคุณทักษิณและนักโทษการเมืองก็ล้วนยังมีชีวิตและมีโอกาสที่จะสามารถต่อสู้เพื่อทวงคืนของพวกนั้นได้ในอนาคต แต่สำหรับผู้ที่สูญเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมไปแล้วนั้น พวกเขาได้สูญเสียทั้งชีวิตอันมีค่าของเขาไปอย่างไม่มีวันหวนคืนได้อีก พวกเขาสูญเสียสิทธิและเสรีภาพที่พึงได้รับไปตลอดกาล และผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขหรือทวงคืนสิ่งที่มีค่าเหล่านั้นและความยุติธรรมได้ด้วยตนเองอีกแล้ว

การออก พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้นั้นถึงแม้ในท้ายที่สุดจะช่วยให้คุณทักษิณได้พ้นคดีและกลับประเทศได้จริง หรือช่วยให้นักโทษการเมืองได้รับเสรีภาพได้จริง แต่การนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนั้นกลับเป็นสิ่งที่ไปทำลายโอกาสที่มีอยู่น้อยนิดในการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งความยุติธรรมนี้ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเราทุกคนในฐานะคนข้างหลังที่ยังมีชีวิตอยู่จะสามารถทวงคืนมาให้แก่พวกเขาได้ หน้าที่ของผู้ที่รักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอดไม่ใช่การทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่ทำให้คนผิดได้รับโทษตามกฎหมาย และไม่ใช่การทำความยุติธรรมให้ปรากฏเป็นจริงบนผืนแผ่นดินนี้ในท้ายที่สุดหรอกหรือ?

ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีกลุ่มญาติของผู้ที่สูญเสียจำนวนหนึ่งที่ออกมาประกาศสนับสนุนร่างพรบ.นิรโทษดังกล่าว พร้อมกับให้อภัยกับสิ่งทีเกิดขึ้นเพื่อยอมให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเองก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้อภัยซึ่งกันและกันเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยก็เรียกร้องให้ฝ่ายเดียวกันที่คัดค้านและญาติผู้เสียชีวิตลืมเรื่องที่ผ่านมาและให้อภัยต่อกันไป ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าการขอให้ผู้สูญเสียลืมเหตุการณ์ในอดีตเพื่อให้อภัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในการสร้างสังคมการเมืองหลังการฆ่า

ผู้เขียนขอยกย่องในน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของเหล่าญาติผู้สูญเสียที่ออกมาให้ประกาศอภัยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถึงที่สุดแล้วผู้เขียนก็เห็นว่าถึงแม้การให้อภัยจะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สมควรจะต้องเกิดขึ้นในความขัดแย้งนี้ แต่ในกรณีนี้นั้นมีเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ คือการป้องกันและขจัดความเป็นไปได้ของการซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต กล่าวคือสังคมการเมืองหลังการฆ่าจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์และมาตรฐานในการป้องกันมิให้เกิดการฆ่าประชาชนผ่านอำนาจรัฐขึ้นอีก ดังนั้น สังคมการเมืองหลังการฆ่าจึงต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วในภายภาคหน้าสังคมไทยเราก็ยังจะต้องมีญาติผู้สูญเสียออกมาประกาศให้อภัยเพื่อขอให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอีกมากกว่าหนึ่งหนเป็นแน่

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความแตกต่างในสาระสำคัญอย่างมากระหว่างการนิรโทษกรรม (amnesty) กับการให้อภัย (forgiveness) เพราะคำว่านิรโทษกรรมซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า amnesia มีความหมายที่แปลว่าการหลงลืมหรือความจำเสื่อม หากกล่าวเช่นนี้ก็เท่ากับว่าการออกพรบ.นิรโทษกรรมนั้นหมายถึงการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยลืมเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมดไปเสีย แต่ในขณะที่คำว่าการให้อภัย (forgiveness) นั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการจดจำได้หรือการมีความทรงจำอยู่ไม่ใช่การหลงลืมอดีต เพราะคนที่หลงลืมเหตุการณ์ทุกอย่างไปหมดสิ้นแล้ว ไม่อาจจะเป็นคนที่ให้อภัยแก่ใครได้เลย  ในแง่นี้การนิรโทษกรรมและการเรียกร้องให้ลืมอดีตไปเสียจึงไม่ใช่การตอบโจทย์ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการของการให้อภัยแต่อย่างใด

แต่ถึงแม้จะยังจำได้หรือมีความทรงจำอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่าการให้อภัยจะเป็นไปได้โดยง่ายหากไม่มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจเสียก่อน แล้วจะทำอย่างไร? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยเสนอในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ “อภัยวิถี” ว่าการให้อภัยนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีความหมายเลย หากผู้ที่ให้อภัยหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยังอยู่ในสถานะด้อยอำนาจกว่าผู้กระทำความผิด ต่อเมื่อเกิดการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้มีความเสมอกันแล้วเท่านั้น ผู้ให้อภัยหรือเหยื่อผู้ถูกกระทำจึงจะอยู่ในฐานะที่สามารถเป็นผู้กระทำการ (active actor) ในการ “ให้อภัย” หรือ “ไม่ให้อภัย” แก่ผู้ก่อความรุนแรงต่อตนเองได้อย่างแท้จริงและมีความหมาย ซึ่งการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจวิธีการหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการทำความจริงและความยุติธรรมให้ปรากฏ (เช่น มีการค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆอย่างชัดเจน ค้นหาผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนรับผิดชอบ และมีการลงโทษตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม) ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์เรียกว่าเป็น ความยุติธรรมที่มีผลในทางการเปลี่ยนแปลง (transformative justice) ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมชนิดจะเกิดขึ้นและสามารถดำเนินไปคู่กับการให้อภัยได้ในที่สุด

เมื่อประยุกต์นำกรอบคิดของอาจารย์ชัยวัตน์เพื่อทำความเข้าใจสังคมการเมืองหลังการฆ่านั้น จะเห็นได้ว่าการผ่าน พรบ. เหมาเข่งนั้นมิได้เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้สูญเสียจากการปราบปรามสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มาเป็นผู้ให้อภัย ด้วยเหตุที่่ผู้ฆ่ามิได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทิ้งรอยแผลให้กับผู้สูญเสียในกรณีตากใบด้วยเช่นเดียวกันเมื่อ พรบ. ฉบับดังกล่าวได้ตีความเหมารวมครอบคลุมหลายประเด็น ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่อีกระลอก

ประชาธิปไตยไทยหลัง พรบ.

ความพยายามผ่าน พรบ. เหมาเข่งในครั้งนี้เป็นไปตามที่ ปชป. และค่ายพระอาทิตย์ได้คาดคะเนไว้ว่าด้วยกรณีความไม่น่าไว้วางใจของนักการเมือง ซึ่งส่งผลให้พลังของมวลชนทั้งสองกลุ่มเมีพลังพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ไม่เพียงเท่านี้ หลายต่อหลายคนได้ใช้ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับฐานแนวคิดของตนพร้อมทั้งเสียดสีผู้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยต่างๆนาๆ ด้วยเหตุฉะนี้เอง หลายคนจึงเป็นกังวลต่อการนำเอาเหตุผลดังกล่าวมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการริดรอนสิทธิ์ผู้ที่นิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจได้ผิดพลาดได้เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น ทุกคนในระบอบมีสิทธิ์ที่จะคะเนความผันผวนในสังคมการเมืองได้คลาดเคลื่อนด้วยกันแทบทั้งสิ้นดังที่นักคิดนักปรัชญาอย่างฮานนา อาเรนด์ได้เคยกล่าวไว้ว่าปริมณฑลทางการเมืองเป็นอาณาบริเวณของความไม่แน่นอน เช่นเดียวกันนั้นอาณาบริเวณของประชาธิปไตยไทยก็หลากเลื่อนไม่แน่นอนด้วยเช่นกัน การที่ฐานคิดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถคะเนการแอบเสนอ พรบ.เหมาเข่งได้อย่างถูกต้องแม่นยำนั้นมิได้หมายความว่าเขาได้ผูกขาดความจริงทางสังคมไว้ได้

กล่าวถึงที่สุดคือ ไม่มีใครในสังคมการเมืองสามารถผูกขาดความจริงไว้เพียงอย่างเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองใดหรือแม้กระทั่งความเห็นอันหลากหลายมากมายของนักวิชาการก็ตาม ตัวอย่างที่สำคัญที่เห็นได้ชัดคือการที่ผู้ที่มักจะตั้งแง่ต่อที่มาของพรรคเพื่อไทยอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุลเคยเป็นหนึ่งในผู้ให้ความเห็นสนับสนุนทักษิณมากที่สุดจวบจนกระทั่งเป็นคนที่ออกมาประท้วงทักษิณ หรือการที่สนธิและอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้สนับสนุนสนธิ บุญยรัตกลินทำรัฐประหารและก็ได้ออกโรงมาวิจารณ์อดีตผู้นำรัฐประหารในภายหลัง ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามในระบอบดังกล่าวนี้มีโอกาสพลาดด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นการนำเหตุผลที่อยู่บนฐานของหลักใดหลักหนึ่งมาเพื่อใช้ในการผูกขาดความจริงทางการเมืองเพื่อปิดปากหรือลิดรอนสิทธิ์ของฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างชอบธรรม

นอกเหนือจากนี้ คำถามหลักที่มีต่อทุกฝ่ายในสังคมไทยหากเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณี พรบ.นิรโทษรรมนี้ผ่านพ้นไปแล้วก็คือ จะเอายังไงกับการเดินหน้าของระบอบประชาธิปไตยไทยหลังจากนี้? สำหรับฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็คงต้องถามว่าจะหยุดยั้งการปกป้องประชาธิปไตยเพียงแต่การปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพียงเท่านั้นหรือ? ในเมื่อความเป็นจริงแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรม (ที่มาของอำนาจ) ก็ไม่ได้เป็นเกณฑ์ในการวัดความเป็นประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะเกณฑ์ในการวัดความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลยังต้องประกอบกับการพิจารณาลักษณะของวิธีการใช้อำนาจและเป้าหมายในการใช้อำนาจนั้นๆควบคู่กันไปด้วย

การให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนเองรักโดยไม่ตั้งคำถามแม้ในเรื่องที่ดูจะผิดพลาดหรือเป็นปัญหา และพร้อมที่จะทำลายฝ่ายที่เห็นต่างหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลโดยที่เข้าใจไปว่าตนเองกำลังปกป้องประชาธิปไตยอยู่นั้น จะทำให้ประชาธิปไตยไทยหน้าตาออกมาเป็นเช่นไร?

สำหรับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล เราก็คงจะต้องตั้งคำถามว่าพวกเขาพร้อมจะใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ นอกกติกาประชาธิปไตย และนอกกติกาของกฎหมายวิธีใดๆก็ตามเพื่อที่จะโค่นล้มและขัดขวางรัฐบาลให้ได้ในที่สุดหรือไม่? ถ้าใช่ก็ถือเป็นการให้ความสำคัญกับเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้น เช่น ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอรัปชั่น ให้ความสำคัญกับการต่อต้านรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ใช้จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ระบอบประชาธิปไตยของไทยภายใต้วิธีคิดเช่นนีก็คงจะไม่เดินหน้าไปไหนเป็นแน่ จนกว่าพวกเราทุกฝ่ายจะสามารถขัดแย้งกันไม่ว่าในเรื่องอะไรได้อย่างถึงที่สุดโดยที่ไม่เล่นนอกกติกาประชาธิปไตย นอกกติกาของรัฐธรรมนูญ และไม่ละเมิดกรอบกฎหมายของบ้านเมืองแล้วเท่านั้น เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถขัดแย้งกันอย่างมีอารยะโดยที่ประชาธิปไตยของไทยก็ยังสามารถพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้

พวกเราทุกฝ่ายอยากจะเห็นประชาธิปไตยไทยหลังความขัดแย้งครั้งนี้หน้าตาเป็นเช่นไรกัน?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net