Skip to main content
sharethis

หลายมหาวิทยาลัยทั่วไทยชุมนุมค้านนิรโทษกรรมสุดซอย - 32 นิติ มธ.หวั่นเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม ปท. - รังสิตหยุดเรียน 7 พ.ย. ให้ นศ. ค้านนิรโทษกรรม "โดยสมัครใจ" - ส่วนชุมนุมค้านนิรโทษกรรมที่ มช. แบ่งเป็นสองจุดยืนจึงอยู่กันคนละฝั่ง ม.เที่ยงคืนระบุถ้าพรรคการเมืองประชาชนคุมไม่ได้ นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

อธิการบดีมหิดลให้วิทยาเขตศาลายาหยุดเรียน ร่วมค้านนิรโทษกรรม

7 พ.ย. 2556 - สำหรับการเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น นอกจากการเคลื่อนไหวที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยข้าราชการและพนักงานศูนย์ราชการหลายร้อยคนที่ออกมาเดินขบวนคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) คมชัดลึก รายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท ประกอบด้วยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะสาธารณสุขศาสตร์  และวิทยาลัยการจัดการ  มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ขณะเดียวกัน กลุ่มเพื่อนมหิดล อาจารย์ นักศึกษา บุคคลากรและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้รวมตัวกันที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนที่จะเดินรณรงค์ผ่านแยกตึกชัย ไปสมทบกับกลุ่มนักศึกษามหิดลที่ลาน พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระราชบิดาฯ ถนนราชวิถี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิด

ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณบดีมหาวิทยาลัย คณาจารย์ และนักศึกษาได้ร่วมกันเดินขบวนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากศูนย์การเรียนรู้มหิดล ไปยังประตู 6 แล้วผ่านตลาดศาลายา แล้วไปเข้าประตู 3 เพื่อเดินกลับไปยังศูนย์การเรียนรู้มหิดลด้วย โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้อ่านแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมยืนแสดงเจตนารมณ์ 1 นาที มีการร่วมกันร้องเพลงเทิดพระนามมหิดล ก่อนสิ้นสุดการชุมนุม

ส่วนที่โรงพยาบาลศิริราช ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา ได้รวมตัวกันบริเวณลานพระบรมรูปสมเด็จพระบรมราชนก ประกาศคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มี นพ.อุดม คชินทรนพ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยื่นรายชื่อซึ่งมีผู้ร่วมลงนามคัดค้านกว่า 8 พันรายต่อ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา และศิษย์เก่าศิริราชด้วย

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวด้วยว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลออกประกาศงดการเรียนการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อให้นักศึกษาร่วมกิจกรรมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 6 พ.ย. ด้วย (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

32 นิติศาสตร์ มธ. ระบุนิรโทษกรรมเหมาเข่งทำลายกระบวนการยุติธรรมประเทศ

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 พ.ย. มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายณรงค์ ใจหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวในการแถลงความเห็นทางกฎหมาย คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ซึ่งมีคณาจารย์ลงชื่อ 32 ราย ระบุว่า ในฐานะที่ มธ. เป็นสถาบันวิชาการที่เปิดการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่เก่าแก่ของประเทศไทย ได้มองเห็นปัญหาที่ส่งผลเสียหายต่อระบบกฎหมาย และเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้นคือการละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน จึงไม่อาจนิ่งเฉยหากรัฐสภาจะปล่อยให้มีการตรากฎหมายดังกล่าวออกไป จำเป็นต้องชี้แจงให้สังคม และประชาชนทั่วไปได้รับทราบถึงภัยอันตรายของร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พยายามผลักดัน ดังนี้

1.ในร่างมาตรา 3 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในกระบวนการตรา พ.ร.บ.อย่างร้ายแรง เนื่องจากแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาจนแตกต่างไปจากหลักการเดิม

2.เห็นว่ามีปัญหาความชอบธรรมของตรากฎหมายฉบับนี้ในเชิงเนื้อหา ซึ่งขัดแย้งต่อหลักกฎหมายธรรมชาติอันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการมีกฎหมาย

3.มีความเคลือบแคลง สงสัยในความพยายามมุ่งมั่นของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในการเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด เหตุการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทย

4.ภัยอันตรายอย่างร้ายแรงของกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง คืออาวุธทรงพลานุภาพร้ายแรงที่ได้ประหัตประหารทำลายหลักการปกครองโดยกฎหมาย ทำลายหลักนิติรัฐที่เรียกร้องให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยกำหนดให้มีองค์กรตุลาการ หรือศาลที่มีอำนาจหน้าที่ชี้ขาด เป็นที่ยุติในเรื่องการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย อันเป็นอำนาจตุลาการที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรเข้าไปก้าวล่วง

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นๆ นั้น ในวันนี้ (7 พ.ย.) เวลา 9.00 น. อาจารย์และนักศึกษา และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะนัดหมายกันที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะเดินขบวนในเวลา 10.00 น. ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อประธานรัฐสภาด้วย

 

ม.รังสิต หยุดเรียน 7 พ.ย. เพื่อให้นักศึกษาคัดค้านนิรโทษกรรม "โดยสมัครใจ"

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี ได้มีการออกประกาศ "งดการเรียนการสอน" โดยระบุว่า "เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนบนหลักการความถูกต้อง เป็นธรรม ยึดหลักกฎหมายภายใต้นิติรัฐ และยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เร่งคืนความเป็นธรรมให้สังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จึงขอประกาศงดการเรียนการสอนทุกระดับการศึกษา ปริญญาตรี โท และเอก ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 เพื่อให้นักศึกษาเข้าร่วมชุมนุมแสดงพลังคัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ได้โดยสมัครใจ"

ทั้งนี้ในวันที่ 6 พ.ย. ช่วงเย็นก็มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตไปร่วมปราศรัยที่เวทีคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ ถ.ราชดำเนินด้วย

 

สองฝั่ง-สองจุดยืน ชุมนุมค้านนิรโทษกรรมที่ ม.เชียงใหม่

ส่วนการเคลื่อนไหวที่ จ.เชียงใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 5 พ.ย. มีการออกแถลงการณ์โดยคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช.  และนักศึกษากลุ่ม "นักศึกษา มช. คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" นั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. วานนี้ (6 พ.ย.) ที่ศาลาธรรม ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัชระ ตันตรานนท์ ส.ว. จ.เชียงใหม่ เดินทางมารับหนังสือและรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จาก นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดี มช. นัทมน คงเจริญ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มช. และศรายุทธ สุทธจิตต์ นายกสโมสรนักศึกษา มช. โดยมีนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่ม "เครือข่ายพลเมืองเชียงใหม่ต่อต้านคอรัปชั่น" รวมกันกว่าสองร้อยคน ร่วมยื่นหนังสือและเดินขบวนแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการนิรโทษกรรมด้วย โดย ส.ว. จ.เชียงใหม่ ได้รับรายชื่อเอาไว้และยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ

อย่างไรก็ตามในจำนวนผู้มาร่วมชุมนุมนี้ มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยนอกจากนักศึกษาและอาจารย์กลุ่มใหญ่ร้อยกว่าคนที่มารอยื่นหนังสือกับ ส.ว. แล้ว อีกฝั่งหนึ่งมีนักศึกษาประมาณ 30 คนมาจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มช. ถือป้ายผ้าเขียนข้อความว่า "No Set Zero ร่วมคัดค้านนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย! คืนเสรีภาพประชาชน เอาคนผิดมารับโทษ" ฯลฯ ทั้งนี้ได้ระบุเหตุผลด้วยว่าแม้จะมีความเห็นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมือนอีกกลุ่ม แต่อีกกลุ่มเจาะจงคัดค้านการนิรโทษกรรมให้กับบางบุคคล แต่กลุ่มของพวกเขามีความเห็นว่าประชาชนธรรมดา ควรได้รับการนิรโทษกรรม ส่วนแกนนำหรือผู้สั่งการไม่ว่าจะอยู่สีไหน กลุ่มไหนก็ตามต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

 

นักวิชาการ ม.เที่ยงคืนหวังประชาชนจะควบคุมพรรคการเมืองได้ ถ้าคุมไม่ได้นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย

ด้านอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมาร่วมชุมนุมด้วย ได้ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวเห็ดลมนิวส์ ว่า สำหรับการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสังคม แต่ในพรรครัฐบาลเองก็แตกเป็นสองกลุ่ม เราอาจจะเห็นชัดๆ เลยกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่อยู่กับยิ่งลักษณ์ อีกกลุ่มอยู่กับอดีตนายกฯ ทักษิณ การที่มีการลักไก่ในสภา การลอยตัวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ หรือการที่เจ๊บอกคนบอกว่าไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน ทั้งหมดเป็นการชี้ให้เห็นว่าการคืบคลานเข้ามามีอำนาจของเครือข่ายยิ่งลักษณ์เริ่มมีมากขึ้น และทำให้เครือข่ายของทักษิณลดอำนาจลง ลองนึกถึงคำพูดของทักษิณที่บอกว่า คนบางคนรักเขามาก แต่รักอยากให้เขาอยู่นอกประเทศ เพราะกลัวตกงาน ผมคิดว่ามันมีบรรยกาศที่เราต้องคิดถึงการต่อสู้ภายในของพรรคเพื่อไทยด้วย

และหลังจากนี้ไปเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทยคือพรรคการเมืองจะอ่อนแอลงในระดับที่ควบคุมได้ ไม่ใช่ควบคุมได้ทั้งหมด แต่เราจะพอควบคุมได้มากขึ้น ตรงนี้เองคือฐานของประชาธิปไตย ถ้าหากประชาชนไม่สามารถควบคุมรัฐบาล ควบคุมพรรคการเมืองได้นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย ต่อให้ผ่านการเลือกตั้งมาก็ตาม ดังนั้นผลในครั้งนี้ในทางที่ดีทำให้พรรครัฐบาลรวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ อ่อนไหวกับการกดดันของประชาชนมากขึ้น

 

ศิลปการ วลัยลักษณ์ มหาสารคาม ขอนแก่น เคลื่อนต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ที่มาของภาพ: เพจมหาวิทยาลัยศิลปากร

สำหรับการเคลื่อนไหวที่มหาวิทยาลัยอื่นนั้น ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ชัยชาญ ถาวรเวช ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยคณบดีคณะวิชาต่างๆ ผู้บริหาร,คณาจารย์,นักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกันเปิดตัวภาพเขียนและอ่านแถลงการณ์คัดค้านนิรโทษกรรม ณ บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน กทม.

ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เคลื่อนขบวนคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมาจากมหาวิทยาลัยเข้่ามาที่ตัว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมีประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วมจำนวนมาก

ส่วนที่ จ.ขอนแก่น นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำกลุ่มนักศึกษาประกาศคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเช่นกัน เช่นเดียวกับที่ จ.มหาสารคาม มีนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย โดยมีการถือป้ายว่า "อาจารย์ นิสิต บุคลากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หยุดทำลายกระบวนการยุติธรรม" นอกจากนี้มีนักศึกษาบางส่วนถือป้ายคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย โดยเขียนป้ายว่า "ไม่นิรโทษกรรมคนสั่งฆ่าประชาชน สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของวรชัย - นิติราษฎร์" ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net