Skip to main content
sharethis

8 พ.ย. 2556 - ณ ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาวบ้านจากจังหวัดเกาะกง โอดอร์เมียนเจย และกำปงสปือ ประเทศกัมพูชา ร่วมกับองค์กร Equitable Cambodia และ Inclusive Development International ซึ่งร่วมกันทำรายงาน  “ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนของโครงการ “ทุกอย่างยกเว้นยุทโธปกรณ์ (Everything But Arms) ของสหภาพยุโรป” ได้เปิดตัวรายงานและแถลงข่าวถึงปัญหาผลกระทบสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนได้รับจากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีการขายสินค้าโดยปลอดภาษีจากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปมานับตั้งแต่ปี 2544 ทั้งโครงการดังกล่าวกลับเอื้อให้เกิดการย้ายทุนจากต่างแดนเพื่อลงทุนทำไร่อ้อยขนาดใหญ่และโรงงานตาลในกัมพูชา นำมาซึ่งปัญหาการแย่งที่ดินและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้มีบริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศไทยเกี่ยวข้องด้วย
 
"โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการกระตุ้นการเติบโต ของภาคการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country: LDC) ในการส่งสินค้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ เข้าไปขายในตลาดยุโรป ได้โดยปลอดภาษี ทว่า นโยบายถ้อยคำสวยหรูนี้ กลับกำลังก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามในประเทศกัมพูชา” เดวิด เพลด (David Pred) ผู้จัดการโครงการสากลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง (Managing Associate of Inclusive Development International) ผู้เขียนรายงานกล่าว และเสนอให้เห็นภาพปัญหาการเข้าครอบครองที่ดินสัมปทานของบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศหลายบริษัท"
 
"การลงทุนปลูกอ้อยและทำโรงงานน้ำตาล เป็นสาเหตุของปัญหาการยึดแย่งที่ดินจากชาวบ้านที่เลวร้ายที่สุดในประเทศของเราและเราไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ชาวบ้านกลับโดนขับไล่และไล่ล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน ฉันเองโดนจับติดคุก 8 เดือนหลังจากร่วมประท้วงบริษัท และต้องคลอดลูกในคุก” นางฮอย ไม (Hoy Mai)ตัวแทนชุมชนจากอำเภอ สำโรง (Samrong) จังหวัดโอดอร์เมียนเจยกล่าว และเสริมว่า "ดิฉันรู้สึกผิดหวังที่บริษัทไทยยังปฏิเสธที่จะพบพวกเราเพื่อพูดคุยกัน"
 
"คนกัมพูชาหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ไร้ที่ทำกินและประสบกับความยากจนอย่างสาหัส ลูกหลานของเราต้องออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานจุนเจือครอบครัวโดยการเป็นคนงานในไร่อ้อยแทนและไม่มีหลักประกันในชีวิตใด ๆ” นายเตง กาว (Teng Kao)ตัวแทนชุมชนจากอำเภอสเรอัมบึล (Sre Ambel) จังหวัดเกาะกงผู้ได้รับผลกระทบเสริม
 
ทั้งนี้กลุ่มผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสานของไทยร่วมแถลงสนับสนุนการเรียกร้องของชาวบ้านกัมพูชาด้วย
 
"การละเมิดสิทธิมนุษยชนของบริษัทไทยในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และประชาชนในภูมิภาคไม่ควรยอมให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกต่อไป" อุบล อยู่หว้าจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าว
 
"ประชาชนไทยจำนวนมากเติบโตมากับการปลูกอ้อย แต่เรากลับไม่มีอะไรดีขึ้นตรงกันข้าม เรากลับต้องเสียที่ดินให้บริษัทเพราะตกอยู่ในวงจรหนี้และสุขภาพต้องเสื่อมโทรมจากการปลูกอ้อยด้วยสารเคมีมาชั่วนาตาปี โดยที่บริษัทไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของเราที่ทำงานกันรุ่นแล้วรุ่นเล่า" นายพิชิตพล แสนโคตรจากเครือข่ายเกษตรกรพันธะสัญญากล่าว
 
ทั้งนี้ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายต่างยืนยันว่าการตรวจสอบบริษัทไทยเพื่อให้สังคมเข้าใจประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดนสามารถทำได้และน่าจะเป็นประโยชน์กับความก้าวหน้าของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและประชาชนอาเซียน
 
"พฤติกรรมของบริษัท พูดได้ว่าขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้และยังมีความผิดตามหลักกฎหมายสากลในหลายข้อและจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน" นายสมชาย หอมละออกล่าว
 
"ขอยืนยันว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบบริษัทไทยและเราทำร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในประเทศอาเซียนด้วย" นายแพทย์นิรันดร์กล่าวหลังการรับคำร้องจากประชาชนกัมพูชา
 
ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประชาชนและองค์กรในกัมพูชากำลังทำการยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบบริษัทน้ำตาลมิตรผลและบริษัทน้ำตาลขอนแก่นของไทยและเป็นกรณีที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net