ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 8 เดือน รอลงอาญา คดีผอ.ประชาไท

ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีตัวกลางปล่อยให้มีการโพสต์หมิ่นในเว็บบอร์ด ยก 9 ข้อความ ลงโทษ 1 ข้อความเหตุปล่อยนานเกิน ศาลระบุหลัก ‘แจ้งแล้วเอาออก’ เป็นข้อยกเว้นเฉพาะคดีเอกชน เจ้าหน้าที่ควรเน้นการจับกุมผู้กระทำผิดจริงมากกว่าตัวกลาง พร้อมแนะแนวทางธำรงรักษาสถาบัน


 

8 พ.ย.56 ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา15 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีที่ปล่อยให้มีการโพสต์ผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไทนาน 20 วัน

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 30 พ.ค.55 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ  30,000 บาท แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ในการพิจารณาลดโทษให้เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา จากกรณีจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ดปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ด 1 ข้อความ และยกฟ้องข้อความอีก 9 ข้อความ เนื่องจากดำเนินการตรวจสอบปิดกั้นในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ มาตรา 15  ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดให้ผู้ให้บริการรับโทษเท่ากับผู้กระทำผิดนำเข้าข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ราว 40 นาที โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาเต็มห้องพิจารณาคดี รวมถึงตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษ

ยกฟ้อง 9 กรรม ลบข้อความในเวลาอันสมควร

โดยสรุป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุถึงคำนิยามของ “ผู้ให้บริการ” ตาม มาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกอบกับประกาศไอซีทีเรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยเห็นว่าเว็บบอร์ดประชาไทนับเป็นกรณีของผู้ให้บริการที่เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น กระนั้นจะถือว่าจำเลยยินยอมให้มีการกระทำความผิดและต้องรับผิดทันทีหลังจากมีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบของตัวกลาง นับว่าไม่เป็นธรรมต่อตัวกลาง เนื่องจากลักษณะของเว็บบอร์ดเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันโดยทันทีเมื่อมีผู้โพสต์ข้อความ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ก่อนเหมือนข่าวสารทั่วไป ทำได้เพียงตรวจสอบเมื่อมีการโพสต์แล้ว จึงเห็นว่า หากจำเลยใส่ใจทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบแล้วจะสามารถนำข้อมูลที่เป็นความผิดตามกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ตามระยะอันสมควรที่พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยจะรู้ว่ามีข้อความที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องปรากฏว่าข้อความต่างๆ จำนวน 9 ข้อความ อยู่ในเว็บบอร์ดอันอยู่ในความควบคุมของจำเลยเป็นเวลา  11, 1, 3, 2, 2, 1, 3, 2, 1 วัน ตามลำดับ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าระยะเวลาดังกล่าวอยู่ภายในกรอบเวลาอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ด มิอาจฟังว่าจำเลยได้รู้ถึงการนำเข้าข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันจะถือว่าเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14  อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

ทางนำสืบจำเลยไม่มีน้ำหนัก เหตุปฏิเสธให้การชั้นสอบสวน

คำพิพากษาระบุว่า ส่วนอีกข้อความหนึ่งปรากฏในเว็บบอร์ดนาน 20 วัน จำเลยอ้างว่าเว็บบอร์ดมีจำเลยดูแลคนเดียว ระยะเริ่มแรกผู้ใช้บริการให้ความร่วมมือในการโพสต์ตามระเบียบ แต่หลังรัฐประหารมีผู้ใช้งานมากขึ้นเป็น 10 เท่า การโพสต์ในเว็บบอร์ดสะท้อนสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างหนักในทางการเมือง เนื้อหามีความหลากหลายและเข้มข้น มีทัศนะไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง มีผู้แลกเปลี่ยนวันละประมาณ 2800 ความเห็น จำเลยได้เพิ่มมาตรการมากขึ้นโดยผู้สามารถโพสต์ได้ต้องสมัครเป็นสมาชิกเว็บบอร์ด มีการเพิ่มอาสาสมัครตรวจสอบข้อมูล ทุกความเห็นมีป้ายแจ้งลบข้อความ และเมื่อดูจากข้อความตามฟ้องเป็นการแสดงความเห็นลำดับที่ล้านกว่า นับถึงเวลาดังกล่าวมีข้อความถูกปิดไปราวร้อยละ 3  ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเพิ่งปรากฏจากการนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณา แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยเพียงให้การปฏิเสธลอยๆ โดยอ้างขอไปให้การในชั้นศาล แม้จำเลยมีสิทธิเบิกความในชั้นศาล แต่ไม่ให้การในชั้นสอบสวนถึงรายละเอียดของข้อต่อสู้ที่สำคัญทั้งที่ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานกระทำการใดๆ โดยมิชอบอันเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะอ้างเพื่อไม่ให้การในชั้นสอบสวน อีกทั้งเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมหลังจากเสร็จการสืบพยานโจทก์แล้วเกี่ยวกับสถิติการเข้าใช้เว็บบอร์ดประชาไท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำแสดงต่อศาลในการสืบพยานจำเลย ทางนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาจึงไม่มีน้ำหนัก แม้หากยอมรับว่าเป็นความจริง มาตรการควบคุมดูแลดังกล่าวก็เป็นเพียงการทำหน้าที่ของจำเลยแต่หาเพียงพอไม่

ปล่อยข้อความ 20 วัน ไม่ลบ นับว่า "ยินยอม"

คำพิพากษาระบุว่า นอกจากนี้ข้อความตามฟ้องปรากฏอยู่ในระยะเวลาราว 4 เดือนครึ่ง ซึ่งปรากฏการโพสต์หมิ่นฯ ถึง 9 ครั้ง และยังปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายอารี จิวรักษ์ เจ้าหน้าที่ไอซีทีว่า เคยตรวจพบข้อความหรือภาพดูหมิ่นสถาบันในเว็บบอร์ดประชาไทและคำสั่งศาลในการปิดกั้น 4 ครั้ง รวมทั้งไอซีทียังมีการส่งอีเมล์ขอความร่วมมือผู้บริหารเว็บต่างๆ ช่วยสกัดกั้นข้อความหรือภาพที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน แม้ในจดหมายจะไม่ได้ระบุURLของเว็บเพจประชาไท แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 41 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. ประกอบอาชีพสื่อมวลชนตลอดมา เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของมูลนิธิ ควรตระหนักว่าสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติดังปรากฏในแถบสีของธงไตรรงค์ การไม่ไยดีต่อการดูหมิ่นสามสถาบันหลักนี้เป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่อย่างยากจะยอมรับ หากจำเลยมีความใส่ใจอย่างจริงจังเชื่อว่าจะนำข้อความไม่เหมาะสมออกจากระบบได้ในระยะเวลาอันเหมาะสม ข้อความหมิ่นฯ ที่โพสต์ในเว็บบอร์ดนาน 20 วันนับว่าเลยเวลาอันควรที่จะตรวจสอบพบ กรณีจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยยินยอมให้มีข้อความดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในความควบคุมของจำเลย จำเลยในฐานะผู้ดูแลย่อมมีความผิด แม้ศาลจะไม่พิจารณาเรื่องการตรวจพบภาพและข้อความพาดพิงสถาบันในฮาร์ดดิสก์ของจำเลยประกอบการวินิจฉัยถึงความรับรู้ของจำเลยด้วยแต่อย่างใด

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่ามีข้อความที่ปรากฏอยู่ 20 วันนั้นจนได้รับหมายเรียกไปให้ปากคำกับตำรวจ จึงได้ตรวจสอบและปิดกั้นข้อความดังกล่าว ซึ่งควรนับว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ใช้หลัก “แจ้งให้ทราบแล้วเอาออก” ศาลเห็นว่า อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะเปิดกว้างให้คนเข้าแลกเปลี่ยนเสรี การควบคุมการสื่อสารเป็นไปได้ยาก เป็นการสื่อสารแนวราบและเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยตรงเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน อย่างไรก็ตาม อินเตอร์เน็ตก็เป็นเครื่องมือที่อาชญากรใช้ก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการของสังคมออนไลน์แต่เดิมมักเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร ต่อมาเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ขณะสื่อหลักถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนหันมาใช้พื้นที่สาธารณะในอินเตอร์เน็ตในการแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเนื้อหาของข้อมูลแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ ข้อมูลที่อยู่บนฐานของเสรีภาพการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยโดยสุจริต กับข้อมูลหรือการแสดงความเห็นที่เป็นการกระทำความผิด ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคมไทยจนกระทั่งก้าวล่วงไปพาดพิงถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐในฐานะตัวแทนผู้ใช้อำนาจของประชาชนและมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม จำต้องกำหนดมาตรการทั้งในทางกฎหมายและทางเทคนิคเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ตหากเป็นกรณีของการแสดงความเห็นโดยสุจริตซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

ความสำคัญของสถาบันและแนวทางถวายความจงรักภักดี

คำพิพากษายังอธิบายถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ในบริบทสังคมไทยด้วยว่า สำหรับบริบทของสังคมไทยนั้นเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญและคุณูปการอย่างยิ่งต่อชาติไทย ดำรงอยู่ในฐานะสถาบันหลักของชาตินับตั้งแต่ต้นยุคประวัติศาสตร์ของไทยจนปัจจุบัน นำพาชาติไทยผ่านพ้นช่วงสำคัญซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติมาเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันแม้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า 80 ปีแล้ว แต่ยังคงอยู่ในช่วงพัฒนาการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในสังคมย่อมมีความแตกต่างทางความคิดและผลประโยชน์ เกิดความขัดแย้ง เสี่ยงต่อการแตกแยกล่มสลายของประเทศ การมีสถาบันหลักของชาติเป็นสิ่งยึดมั่นร่วมกันมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อให้สังคมดำรงความผูกพันไว้ไม่แบ่งแยก ทำให้มีโอกาสแสวงหาสิ่งที่ดีและแปรเป็นพลังสร้างสรรค์จากความแตกต่างและความขัดแย้งได้ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติราชกรณียกิจมากมาย บารมีที่พระองค์ทรงสร้างไม่ใช่การสืบทอดแต่เป็นพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะและความมุ่งมั่น พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่เพียงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในอุดมคติด้วย ชาวไทยจึงควรตระหนักและเชื่อมั่นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบบการปกครองที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้การเทิดทูนธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นศูนย์รวมความผูกพันยึดโยงสถาบันต่างๆ ในชาติจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพ เป็นจุดร่วมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งแม้อาจมีความแตกต่างกันบ้างทางความคิดและผลประโยชน์ แต่ควรมีปณิธานสมานฉันท์สามัคคีถวายความจงรักภักดีร่วมกัน ซึ่งอาจทำได้หลากหลายวิธี  เช่น 

หนึ่ง ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สอง สร้างความตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 

สาม จัดให้มีกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ  

สี่ เฝ้าระวัง สร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำต่อสถาบัน เช่น การจาบจ้วง คือการกล่าวถึง-พูดถึงสถาบันในลักษณะไม่บังควร ไม่เคารพ , การล่วงละเมิดคือการวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบสถานะและพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะองค์พระประมุขสูงสุด, การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือการกระทำใดๆ ที่เป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย ก่อให้เกิดผลด้านลบใดๆ ต่อสถาบัน และการมุ่งร้าย คือการกระทำหรือการแสดงออกซึ่งเจตนาที่จะบั่นทอนพระเกียรติและการดำรงอยู่ของสถาบัน จะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ต่างมีบทบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และน่าจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้ง เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจความรักและความสามัคคีของคนในชาติ ฉะนั้นการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมิใช่เพียงเพื่อการคงอยู่ของประโยชน์ของสถาบัน แต่หากเป็นการรักษาสถาบันหลักของชาติเพื่อเป็นศูนย์รวมของความผูกพันเป็นประโยชน์ของประชาชนในการเดินทางก้าวข้ามการเมืองการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืน

หลัก "แจ้งแล้วเอาออก" ใช้กับกรณีเอกชน

สำหรับเรื่องหลักการแจ้งให้ทราบแล้วเอาออกนั้น โดยสรุปศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องนี้อาจใช้เป็นข้อยกเว้นหากมีเอกชนเป็นผู้เสียหาย เช่น ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่ไม่อาจบังคับใช้ได้กับพฤติการณ์หรือการกระทำความผิดฐานยินยอมให้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาเรื่องที่อุทธรณ์ของโจทก์ขอให้ลงโทษให้หนักขึ้นนั้น คำพิพากษาระบุว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 ปี ปรับ 30,000 บาทและคำให้การของจำเลยมีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีเป็นเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

รอลงอาญา แนวทางตามสหประชาชาติ

ปัญหาต่อมาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเป็นต้องรอการลงโทษหรือไม่ ศาลเห็นว่า วัตถุประสงค์ของการลงโทษคือ การแก้แค้นทดแทน การข่มขู่ยับยั้ง การฟื้นฟูผู้กระทำความผิด การตัดผู้กระทำผิดออกจากสังคม การคุมขังผู้กระทำผิดนอกจากทำให้สิ้นอิสรภาพ ยังกระทบด้านเศรษฐกิจของตัวผู้กระทำผิดและครอบครัว รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องดูแลผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น มีผลกระทบทางสังคมเพราะการตัดขาดกับสังคมภายนอกเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับตัวของผู้กระทำความผิด ทำให้ไม่รู้ความเป็นไปของสังคมและรู้สึกหว่าเหว่ ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลกระทบต่อผู้ต้องโทษเองทำให้ลักษณะของบุคคลรวมถึงชื่อเสียงเสื่อมลง โดยเฉพาะความแออัดจะสร้างความตึงเครียดมากขึ้น ภายหลังปล่อยตัวเป็นอิสระก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก เป็นบุคคลอันตราย เป็นการยากต่อผู้ต้องโทษในการดำรงชีวิตภายหลังการจำคุก สำหรับกรณีการใช้อินเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดนี้ เห็นว่าผู้ที่สมควรได้รับการลงโทษเป็นลำดับต้นคือผู้ใช้บริการหรือผู้กระทำความผิด พนักงานตามกฎหมายควรมุ่งจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ยิ่งกว่าดำเนินคดีกับตัวกลางคือผู้ให้บริการอินเตอร์ และควรหันมามุ่งสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในการติดตามตัวผู้กระทำความผิด ประกอบกับปรากฏว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน การจำคุกเวลาสั้นเพียง 8 เดือนไม่น่าก่อผลดีในการแก้ไขปรับปรุงพฤตินิสัยของจำเลย สมควรให้โอกาสแก่จำเลยใช้ชีวิตนอกเรือนจำเพื่อปรับตัวเป็นพลเมืองดี สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานครซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่65 ได้ให้ความเห็นชอบข้อกำหนดดังกล่าวเมื่อธ.ค.53 อันเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนในกระบวนทัศน์ใหม่

ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นให้รอการลงโทษแก่จำเลยนับว่าเหมาะสมกับความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเช่นกัน สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์จำเลยนอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยมิได้มีน้ำหนักให้เป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

ทนายชี้โดยทั่วไปห้ามฎีกา

ด้านธีรพันธ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลยในคดี กล่าวถึงกระบวนการต่อไปว่า หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยทั่วไป ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงของคดี ยกเว้นจะขออนุญาตฏีกาหากเห็นว่ามีประเด็นอันสมควรที่ศาลสูงจะวินิจฉัย ตรงนี้เป็นกระบวนการคัดกรองไม่ให้คดีเข้าสู่ศาลสูงมากเกินไป อย่างไรก็ตามหากจำเลยจะฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่เคยพิจารณาคดี นี้ หรือหากอัยการจะฎีกาก็ต้องขออนุญาตจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสำหรับจำเลยคงต้องมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้อีกครั้งว่าจะมีการขออนุญาต ยื่นฎีกาหรือไม่ต่อไปภายในระยะเวลา 1 เดือน

หากมีการฎีกาคดีนี้ก็เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานบางอย่าง ซึ่งสำหรับทนายที่ต่อสู้คดีมา เราเห็นว่ามาตรา 15 เป็นกรณีที่จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม ให้บุคคลอื่นนำขอมูลที่เป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำว่าจงใจโดยปกติแล้วในกฎหมายอาญาไม่ค่อยพบว่ามีการใช้ ส่วนใหญ่มีในกฎหมายแพ่งที่มีการละเมิด โดยการจงใจนั้นหมายถึงว่าเป็นการกระทำที่ผู้กระทำรู้สำนึกถึงความเสียหายที่ จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง การกระทำที่เกิดจากการผิดพลาด พลาดพลั้ง มันไม่ถือว่าเป็นการจงใจ ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับรู้ แล้วถึงการที่มีบุคคลอื่นเอาข้อความมาโพสไว้แล้วเราเพิกเฉย

ในข้อเท็จจริง 9 กระทงที่เขาฟ้องมา จะเห็นได้ชัดว่าทางจำเลยได้มีความพยายามตรวจสอบ กลั่นกรอง และลบภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งแม้ว่าศาลจะพูดถึงกรณี นายอารีย์ จิวรรักษ์ พยานโจทก์ให้การต่อศาลว่าทางไอซีทีเคยไปขอหมายศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อ ความบางยูอาร์แอลของเว็บบอร์ดประชาไท แต่ความจริงแล้วระยะเวลาที่มีการไปขอหมายศาลทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น เป็นระยะเวลาภายหลังจากที่ได้มีการดำเนินการลบข้อความเองไปแล้ว ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าทางปะชาไทเองก็มีความพยายามที่จะตรวจสอบกลั่นกรอง ส่วนการที่ศาลบอกว่ามีผู้มาโพสข้อความถึง 9 ครั้งนั้น ตรงนี้เป็นการที่มีบุคคลอื่นมาโพสข้อความ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถไปสกัดกั้นได้ แต่สาระสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเราได้รับทราบแล้วเราเพิกเฉยหรือมีการดำเนินการ ต่อ โดยใน 9 ครั้งแรกที่มีการฟ้องมาก็เห็นได้ชัดว่าทางประชาไทได้ดำเนินการในเวลาอันควร แล้ว ซึ่งศาลก็ได้วินิจฉัยแล้วในประเด็นนี้

ความผิดพลาด ไม่เท่ากับ การยินยอม

ในส่วนกระทงที่ 10 ซึ่งปรากฏอยู่เป็นระยะเวลา 20 วัน เราต้องคำนึงถึงว่า จากกระทู้จำนวนมาก และข้อความที่แลกเปลี่ยนเป็นแสนเป็นล้าน การที่มันมีความผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นสักกรณีแล้วจะถือเป็นความยินยอมได้ หรือไม่ และความผิดพลาดบกพร่องซึ่งตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้มันเป็นเรื่องที่กฎหมายเองก็ไม่ได้มุ่งที่จะลงโทษทัณฑ์ เพราะกฎหมายมาตรา 15 มุ่งลงโทษในกรณีที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอม ไม่ได้มุ่งลงโทษสิ่งที่เกิดจากความบกพร่อง ซึ่งกรณีนี้หากจะฟังว่าผิดพลาดก็เป็นเพียงการบกพร่องเท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เห็นว่าเป็นประเด็นที่ศาลสูงควรได้วินิจฉัย ส่วนว่าจะมีการฎีกาหรือไม่อันนี้เป็นเรื่องของจำเลยว่าจะเห็นควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

ส่วนกรณีที่ศาลระบุว่าในชั้นตำรวจให้การปฏิเสธเพียงลอยๆ ทำให้ไม่มีน้ำหนักในการพิจารณาคดีของศาล ธีรพันธ์ ชี้แจงว่า ตรงนี้ความจริงเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรหรือไม่ให้ การเลยก็ได้ในชั้นตำรวจ ซึ่งในทางปฏิบัติในการต่อสู้คดีผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีอาญามักจะให้การ ปฏิเสธลอยไว้ก่อน อีกทั้งสำหรับคดีนี้ข้อกล่าวหามีถึง 10 กระทงและในแต่ละเรื่องมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นขณะที่ถูกจับกุมตัวจึงเป็นเรื่องไม่ทันตั้งตัวที่จะเตรียมเหตุผล หรือข้อมูลมาชี้แจง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้การปฏิเสธลอยไว้ก่อน ยกเว้นว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน สามารถอ้างอิงถึงบุคคล สถานที่ได้ทันทีว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตามวันเวลานั้น

ตรงนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐาน การให้น้ำหนักในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล คือข้อกล่าวอ้างอันไหน หากมีการกล่าวอ้างมาตั้งแต่ต้น มีพยานหลักฐานสนับสนุนมาตั้งแต่แรก ศาลจะให้ความเชื่อถือให้น้ำหนัก ส่วนข้อกล่าวอ้างที่มีการกล่าวอ้างขึ้นภายหลัง ศาลอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่คิดปั้นแต่งขึ้นมาในภายหลังได้

คำพิพากษาสื่อสารกับสาธารณชน

ทนายความยังตั้งข้อสังเกตถึงคำพิพากษาด้วยว่า เป็นคำพิพากษาที่ต้องการสื่อสารถึงสาธารณชน ในเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาสำคัญในเรื่องตัวกลางที่ไม่จำเป็นต้องมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำผิด โดยกฎหมายมุ่งบังคับเพื่อให้ผู้ให้บริการให้ความร่วมมือกับทางหน่วยราชการ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง อีกทั้งระบุถึงมาตรการแจ้งให้ทราบเพื่อลบว่า ควรใช้ในทางแพ่งเท่านั้น ส่วนในกรณีที่เป็นความผิดต่อรัฐผู้บริการควรลบโดยไม่ต้องรอให้มีการแจ้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท