Skip to main content
sharethis

เผยผลสำรวจของทีมงานทีวีมลายู ศอ.บต.เรื่องสันติภาพที่คนพื้นที่ต้องการ พบประชาชนต้องการให้มีการส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมอิสลามและมลายูมากกว่าเรื่องการเมืองการปกครอง

9 พ.ย. 2556 - วันนี้ (9 พ.ย.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม หัวหน้าคณะทำงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องสันติภาพที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการในอนาคต พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ มูซอดี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. นายอับดุลการีม อัสมะแอ คณะทำงานจากสถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ร่วมแถลงผลสำรวจคิดเห็นของประชาชนเรื่องสันติภาพที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการในอนาคต

นายอับดุลการีม แถลงว่า รายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องสันติภาพที่ประชาชนต้องการในอนาคต โดยคณะกรรมการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ภาษามลายู ซึ่งแต่งตั้งโดย ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนสถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาเป็นผู้ประมวลผล

นายอับดุลการีม แถลงว่า การสำรวจใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,046 คน โดยร้อยละ 55.7 เป็นเพศชาย ร้อยละ 88.9 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 8.2 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 40.3 อาศัยอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 24.9 อาศัยอยู่ในจังหวัดยะลา ร้อยละ 42.2 มีอาชีพเกษตร ร้อยละ 35.3 เป็นอาชีพอื่นๆ ได้แก่ ลูกจ้าง แม่บ้าน นักศึกษา

นายอับดุลการีม แถลงต่อไปว่า ความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง สันติภาพที่ประชาชนในจังวัดชายแดนภาคใต้ต้องการในอนาคตโดยรวม กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.30 เมื่อพิจารณาด้านใดที่รัฐต้องแก้ไขก่อน มากที่สุด ได้แก่ ด้านประเด็นทางสังคม ค่าเฉลี่ย 3.38 รองลงมา ด้านประเด็นทางเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ย 3.33 และด้านประเด็นทางการเมืองและการปกครอง ค่าเฉลี่ย 3.20 ตามลำดับ

นายอับดุลการีม แถลงว่า เรื่องที่รัฐต้องแก้ไขก่อนในประเด็นทางสังคม ลำดับ 1-8 ดังนี้ 1.ให้ยอมรับวัฒนธรรมอิสลามและมลายูเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย 2.ส่งเสริมการใช้ภาษามลายูและพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียนทุกระดับ 3.ให้ทุกคนมีการศึกษาระดับสูงอย่างเป็นธรรม 4.แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง

5.ประชาชนได้รับความเป็นธรรมทางกฎหมาย และปกป้องชีวิตทรัพย์สินอย่างเท่าเทียม 6.กำหนดหลักสูตรการศึกษาโดยท้องถิ่นเอง 7.แก้ไขปัญหาสินค้าเถื่อน หนีภาษี ให้หมดไป และ 8.แก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายให้หมดไป

นายอับดุลการีม แถลงอีกว่า เรื่องที่รัฐต้องแก้ไขก่อนในประเด็นทางเศรษฐกิจ ลำดับ 1-6 ดังนี้ 1.ให้ประชาชนทุกคนมีอาชีพและมีงานทำ 2.แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ/ลดราคาสินค้า 3.ส่งเสริมสินค้าเกษตร ให้ขายได้มีราคา 4.ให้ประชาชนมีสิทธิดูแลทรัพยากรธรรมชาติ 5.จัดสรรที่ดินให้ผู้ยากจนที่ไม่มีที่อยู่และที่ทำกิน และ 6.แก้ไขปัญหานาร้าง

นายอับดุลการีม แถลงต่อไปว่า เรื่องที่รัฐต้องแก้ไขก่อนในประเด็นทางการเมืองและการปกครอง ลำดับ 1-8 ดังนี้ 1.ให้นักการเมืองรับฟังความเห็นประชาชน 2.แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การทุจริตประพฤติมิชอบ 3.ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจในปัญหาท้องถิ่นมากขึ้น/ปกครองตนเอง 4.ให้มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้น 5. การออกเสียงประชามติเกี่ยวกับอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้

6.รูปแบบการปกครองที่อยากให้ 3 จังหวัดรวมเป็น 1 เขตปกครองเลือกตั้งผู้นำสูงสุด ยกเลิก อบจ. ส่วนอื่นๆเหมือนเดิม 7.รูปแบบการปกครองที่อยากให้เป็น ให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นและภูมิภาคเหมือนเดิม แต่อยู่ใต้ ศอ.บต. และ 8.รูปแบบการปกครองที่อยากให้เป็น แยกแต่ละจังหวัดเป็น 3-4 เขต, เลือกตั้งผู้ว่าฯ ยกเลิกนายก อบจ. ส่วนอื่นๆ เหมือนเดิม

นายอับดุลการีม แถลงว่า ส่วนเรื่อง สันติภาพที่ประชาชนในจังวัดชายแดนภาคใต้ต้องการในอนาคต ด้านการพูดคุยสันติภาพโดยรวม กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.01

นายอับดุลการีม แถลงอีกว่า เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ได้แก่ เรื่อง เห็นด้วยกับการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ ค่าเฉลี่ย 3.34 รองลงมา เรื่องเชื่อว่าการพูดคุยและการเจรจาจะไปสู่สันติภาพได้สำเร็จ ค่าเฉลี่ย 2.96 ต่อมาเรื่องเห็นด้วยกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ที่อ้างตัวเป็นตัวแทนชาวมาลายูมุสลิมในพื้นที่และเห็นด้วยกับตัวแทนฝ่ายไทยที่นำโดยพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตรและคณะ ค่าเฉลี่ย 2.87 ตามลำดับ

นายอับดุลการีม แถลงด้วยว่า ความคิดเห็นเรื่องสันติภาพในด้านสิ่งที่ประชาชนต้องการในอนาคตโดยรวม กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.38 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อด้านสิ่งที่ประชาชนต้องการในอนาคตมากที่สุด ได้แก่ เรื่อง มีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษามลายูที่เป็นมาตรฐานในโรงเรียนทุกระดับ ค่าเฉลี่ย 3.53

รองลงมา เรื่อง มีสถาบันพัฒนาภาษามลายูอันเป็นที่ยอมรับโดยรัฐและประชาชน ค่าเฉลี่ย 3.50 และกลุ่มตัวอย่างที่มีความคิดเห็นด้านสิ่งที่ประชาชนต้องการในอนาคตน้อยที่สุด เรื่อง ผู้ต้องขัง/ผู้ต้องโทษคดีความมั่นคงได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ค่าเฉลี่ย 3.24 ตามลำดับ

“จากการสำรวจปรากฏผลว่า ประชาชนให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรก คือเรื่องอัตลักษณ์วัฒนธรรมอิสลามและมลายู การใช้ภาษามลายู โดยให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในโรงเรียนที่เป็นมาตรฐาน มากกว่าด้านสังคมในเรื่องอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง” นายอับดุลการีม แถลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net