Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี เจสัน เบอร์รี่ บล็อกเกอร์ของสำนักข่าว Globalpost ชวนสำรวจอีกด้านหนึ่งของกามู ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียง คือในมุมของอุดมการณ์การเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม สิทธิมนุษยชน และขณะเดียวกันแนวคิดของกามูรวมถึงปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่หลอมรวมตัวเขา ได้ถูกกล่าวโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกรณีอาหรับสปริงหรือการทรมานนักโทษในกวนตานาโม

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันเกิด 100 ปี ของอัลแบร์ กามู นักเขียนและนักปรัชญา ผู้ที่มีคนรู้จักในแง่ของต้นธารแนวคิด absurdism (แนวคิดที่กล่าวถึงความขัดแย้งภายในตัวมนุษย์จากการพยายามค้นหาความหมายของชีวิต แต่มนุษย์ก็มักจะล้มเหลวในการค้นหาความหมาย) และในแง่วรรณกรรมจากผลงานอมตะหลายเรื่องที่ชวนสำรวจด้านต่างๆ ของความเป็นมนุษย์ เช่นเรื่อง คนนอก, มนุษย์สองหน้า, มนุษย์คนแรก

จากประวัติของกามู เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจนในเมืองแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรียซึ่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มารดาของกามูไม่รู้หนังสือและหูหนวกข้างเดียว และแทบจะกลายเป็นใบ้เมื่อทราบข่าวสามีของเธอเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในตอนนั้นกามูยังอายุได้ไม่ถึง 2 ขวบ กามูได้ทุนการศึกษาจนทำให้ได้เรียนในมหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษาวิชาปรัชญา

กามูเดินทางไปอยู่ในฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีผลงานเรื่อง 'คนนอก' (The Stranger) ตีพิมพ์เมื่ออายุ 29 ปี ขณะอยู่ในกรุงปารีส เขาทำงานเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ใต้ดินที่เป็นขบวนการต่อต้านนาซี เขาสร้างผลงานอีกหลายชิ้นหลังสงครามโลกจบลง แต่หลังจากการได้รับเลือกให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม อีก 3 ปีต่อมาเขาก็เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งในตอนนั้นเขามีอายุเพียง 46 ปี


"...ถ้าหากคุณบอกว่าการกระทำเช่นนี้คือความยุติธรรม ผมก็ขอเลือกแม่ผมดีกว่า"

ในช่วงก่อนเสียชีวิตไม่กี่ปี อดีตมิตรสหายของกามูก็ตั้งแง่รังเกียจเขาเนื่องจากกามูปฏิเสธที่จะสนับสนุนกลุ่มกบฏแนวร่วมปลดปล่อยชาติแอลจีเรีย (National Liberation Front หรือ FLN) ซึ่งพยายามเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส โดยในขณะที่กามูวิจารณ์ฝรั่งเศสเรื่องนโยบายทางการทหารที่มีการทรมานชาวแอลจีเรียผู้ถูกจับกุม แต่กามูก็เลือกจะอยู่บนวิธีการกลางๆ เขากล่าวในการแถลงข่าวที่พิธีรับรางวัลโนเบลกรุงสตอกโฮล์มว่า "ตอนนี้มีคนกำลังวางระเบิดรถรางในแอลเจียร์ แม่ผมอาจจะกำลังโดยสารอยู่บนรถรางขบวนใดขบวนหนึ่ง ถ้าหากคุณบอกว่าการกระทำเช่นนี้คือความยุติธรรม ผมก็ขอเลือกแม่ผมดีกว่า"

กามูได้นำเสนอวิสัยทัศน์เรื่องความยุติธรรมไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว ในช่วงที่กำลังเกิดความบอบช้ำจากจิตใจหลังการยึดครองของนาซี เขาตีตัวออกห่าง ฌอง-ปอล ซาร์ต นักปรัชญาอัตถิภาวนิยม และถูกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสขับไล่โดยหาว่ากามูเป็นพวกมีแนวคิดแบบทรอตสกี้ ซึ่งในช่วงนั้นกามูก็ได้เขียนหนังสือบทความที่ชื่อ "กบฏ" (The Rebel) ในปี 2494

เนื้อหาในบทความเรื่อง "กบฏ" ของกามูกล่าวถึงความขยาดของชาวตะวันตกที่มีต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เขาก็ยังได้วิจารณ์แนวคิดมาร์กซิสม์แบบเบ็ดเสร็จว่าเป็นการหลอกขายฝันถึงสังคมที่มีความเสมอภาค กามูมองเรื่องเหล่านี้ด้วยพื้นฐานเรื่องความเป็นธรรม

"กบฏคืออะไร คือคนที่กล่าวปฏิเสธ แต่ว่าการปฏิเสธของเขาไม่ได้หมายถึงการสละสิทธิ์" กามูเขียนไว้ เขาบอกอีกว่า "การกบฏจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความรู้สึกที่ว่าในที่ใดที่หนึ่งหรือในหนทางใดทางหนึ่งคุณจะได้รับความชอบธรรม"

การที่กามูไม่เลือกข้างในสงครามแอลจีเรีย ซึ่งเป็นการต่อสู้ของกลุ่มเรียกร้องเอกราชกับฝ่ายฝรั่งเศส ทำให้กามูถูกโดดเดี่ยวในแง่การเมือง ในสงครามนี้ทหารฝรั่งเศสสังหารชาวแอลจีเรียไปมากกว่า 1 ล้านคน หลังจากเมินเฉยต่อการที่กามูเรียกร้องให้มีการเจรจา โดยที่กามูได้เคยกล่าววิจารณ์การกระทำอันโหดร้ายจากทั้งสองฝ่าย ทำให้เขาจำเป็นต้องถอยไปอยู่เงียบๆ อย่างไม่สบายใจนัก

โรเบิร์ต ซาเรทสกี้ ผู้เขียนหนังสือบันทึกชีวิตของอัลแบร์ กามู ชื่อ "A Life Worth Living: Albert Camus and the Quest for Meaning" กล่าวว่า การที่กามูเงียบเฉยต่อสงครามในแอลจีเรียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือจริยธรรม แต่เป็นเพราะเขารู้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาจากทั้งสองฝ่าย


"บันทึกแอลจีเรียน"

หนังสือบทความ "บันทึกแอลจีเรียน" (Algerian Chronicles) ของกามูวางขายในฝรั่งเศสเมื่อปี 2501 ปีเดียวกับที่เกิดสงคราม ซึ่งเขาได้เขียนปกป้องผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับการก่อการร้าย หนังสือเล่มนี้ถูกเมินเฉยจากนักวิจารณ์ในปารีส ไม่มีทั้งเสียงชื่นชมหรือเสียงวิจารณ์โจมตี ดูเหมือนเป็นช่วงตกต่ำของกามู

อย่างไรก็ตามหนังสือเรื่อง "บันทึกแอลจีเรียน" เพิ่งถูกนำมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ และมีคำวิจารณ์ในแง่บวกจำนวนมาก

การที่กามูไม่ยอมรับวิธีการก่อการร้ายไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม เป็นการส่อเค้าให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่แอลจีเรียต้องประสบในเวลาต่อมาหลังจากที่กามูเสียชีวิตไปแล้ว

โดยหลังจากได้รับเอกราชในปี 2505 แอลจีเรียก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการซึ่งไม่ใช่ 'ความยุติธรรม' ในมุมมองของกามูแน่นอน และในช่วงทศวรรษที่ 1990 กลุ่มผู้ก่อการร้ายศาสนาอิสลามได้ลอบสังหารตำรวจ อาจารย์ แพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีคน 100,000 คนเสียชีวิตในสงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยมซึ่งจบลงในช่วงทศวรรษที่ 2000 แต่เดวิด แบลร์ ก็เขียนบทความถึงเรื่องนี้ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่ายังคงมีกลุ่มทหารระดับนายพลที่ชักใยอยู่เบื้องหลังแอลจีเรียและไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ

หนังสือเรื่อง "บันทึกแอลจีเรียน" เริ่มต้นด้วยรายงานข่าวช่วงปี 2482 กล่าวถึงภาวะแร้นแค้นในเขตชนบทของแอลจีเรียภายใต้ระบอบอำมาตย์ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสขึ้นบัญชีดำกามูในฐานะนักหนังสือพิมพ์ในแอลจีเรีย ในงานเขียนของเขากามูยังเรียกร้องให้ฝรั่งเศสให้แอลจีเรียมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของชนกลุ่มน้อยชาวฝรั่งเศสที่เข้าไปตั้งรกราก (ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนของกามูเอง) และเพื่อรักษาสังคมแบบหลายเชื้อชาติเอาไว้


อาหรับสปริง คุกกวนตานาโม อาวุธโดรน

หนังสือของกามูยังกล่าวอีกว่า ประชาชนชาวอาหรับต้องการสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิอื่นๆ ตามระบอบประชาธิปไตยเนื่องจากพวกเขารู้ว่าหากได้รับสิทธินี้พวกเขาก็จะสามารถขจัดความอยุติธรรมที่มีอยู่ในบรรยากาศทางการเมืองของแอลจีเรียในยุคนั้นไปได้

คำกล่าวของกามูในยุคนั้นฟังดูไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในประเทศแถบตะวันออกกลางเช่นอียิปต์ หรือตูนีเซีย ที่เพิ่งเกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริง แต่ในหลายประเทศก็ยังไม่ได้รับสิทธิตามที่เรียกร้อง และในบางประเทศเช่นอียิปต์ยังคงเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการก่อรัฐประหาร

โรเบิร์ต ซาเรทสกี้พูดถึงเรื่องนี้ว่า "สำหรับกามูแล้ว มันเป็นเรื่องสำคัญที่ได้ค้นพบช่วงเวลาเช่นนั้น คือช่วงที่คนๆ หนึ่งรู้ว่ามีคนอื่นที่พูดแบบเดียวกับเขา และทำตามแนวคิดนั้น มันเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนมีอยู่เหมือนกัน ความซื่อตรงของพวกเรา ความมีศักดิ์ศรีของพวกเรา คุณสมบัติที่คาดหวังในตัวผู้อื่นคือการที่คุณจะต่อต้าน อย่าได้สูญเสียมุมมองด้านความเป็นมนุษย์ ผู้กดขี่ก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ถูกกดขี่ แรงต่อต้านกลับเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ระวังไม่ให้ตัวคุณเองกลายเป็นผู้กดขี่หรือฆาตกรคนใหม่เสียเอง"

"นอกจากในตูนิเซียแล้ว การผลิตซ้ำปรากฏการณ์อาหรับสปริงในที่อื่นๆ ล้มเหลว" ซาเรทสกี้กล่าว "พวกเขาทำให้เผด็จการกลับมามีอำนาจเช่นกรณีของอียิปต์ หรือเกิดสงครามกลางเมืองเช่นในซีเรีย การประท้วงต่อต้านอัสซาด (ประธานาธิบดี บาชาร์ แอล-อัสซาด) ที่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นการกบฏแบบเดียวกับในความคิดของกามู คือมีแนวทางสันติ ไม่ทำลายชีวิตผู้อื่นเว้นแต่ไม่มีทางเลือกจริงๆ แต่ในตอนนี้ประเทศซีเรียอยู่ในสภาพเดียวกับคาบสมุทรบอลข่านอีกประเทศหนึ่ง"

ในบันทึกของซาเรทสกี้ยังมีตอนที่กามูกล่าวต่อต้านการใช้วิธีการทรมานของกองทัพฝรั่งเศส แต่ก็รู้สึกแย่กับการนิ่งเฉยของเพื่อนในอดีตเกี่ยวกับการก่อการร้ายของกลุ่มกบฏเรียกร้องเอกราช FLN ซึ่งทำการสังหารหัวหน้ากลุ่มขบวนการชาตินิยมอื่นๆ กามูเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายรับรู้ความผิดที่ตนกระทำลงไป

จาคส์ มาสซู อดีตนายพลของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ผู้ริเริ่มวิธีการทรมานนักโทษแสดงความเสียใจในการให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวเลอมงของฝรั่งเศสเมื่อปี 2543 ซึ่งในตอนนั้นเขามีอายุได้ 92 ปี เขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำลงไปเป็นความผิดพลาด

"สิ่งที่ฝรั่งเศสได้เรียนรู้ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1950 เป็นสิ่งเดียวกับที่พวกเราได้เรียนรู้จากยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ในอเมริกา การให้ความชอบธรรมแก่การทรมานสร้างความรู้สึกหยาบช้า สิ้นกำลังใจ และกัดกินความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำ" ซาเรทสกี้กล่าว

ซาเรทสกี้ยังได้กล่าวเทียบกับเหตุการณ์ทรมานนักโทษที่คุกกวนตานาโม ว่าเป็นสิ่งเตือนใจชวนให้นึกถึงเรื่องที่พวกเขาเคยกระทำ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการพยายามสร้างรัฐที่มีการสอดแนม ซึ่งไม่แน่ใจว่ากามูเคยคิดถึงเรื่องนี้ไว้หรือไม่ นอกจากนี้เขายังคิดว่ากามูคงตกใจถ้าทราบเรื่องการทำสงครามด้วยอาวุธโดรน (เครื่องบินไร้คนขับมีคนควบคุมจากระยะไกล) "มีสงครามรูปแบบใดอีกที่ดูนามธรรมถึงเพียงนี้ มีคนกดปุ่มจากระยะห่างออกไป 5,000 ไมล์ โดยคิดว่ามันจะเป็นการโจมตีแบบเน้นเป้าหมาย ...พวกเราก็ถูกทำลายเช่นเดียวกับประชาธิปไตย"

กามูเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมืองน้อยมาก แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยของเขาเน้นเรื่องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ดำรงไว้ด้วยความยุติธรรมที่ไม่ถูกจองจำ

ในบทความที่ชื่อ "ต้นอัลมอนด์" ซึ่งกามูเขียนไว้ในช่วงปี 2483 ก่อนหน้าฝรั่งเศสจะตกอยู่ใต้การยึดครองของฮิตเลอร์มีความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า "พวกเราต้องช่วยกันซ่อมแซมสิ่งที่ถูกทำลายไป ทำให้ความยุติธรรมกลายเป็นสิ่งที่จินตนาการถึงได้อีกครั้งในโลกที่ดูอยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัดนี้ ทำให้คำว่าความสุขกลับมามีความหมายอีกครั้งต่อผู้คนต้องกล้ำกลืนกับความทุกข์โศกของศตวรรษนี้ ถ้าพูดตามความจริงแล้วมันเหมือนเป็นงานสำหรับอภิมนุษย์ แต่คำว่าอภิมนุษย์สำหรับผมคือสิ่งที่มนุษย์เรากระทำเป็นเวลานานจนกระทั่งสำเร็จ เท่านั้นเอง"



เรียบเรียงจาก

Camus, at 100, a prophet of human rights, GlobalPost, 07-11-2013
http://www.globalpost.com/dispatches/globalpost-blogs/rights/albert-camus-centenary-nobel-prize-human-rights


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ข้อมูลหนังสือ Algerian Chronicles เว็บไซต์ amazon
http://www.amazon.com/Algerian-Chronicles-Albert-Camus/dp/0674072588

http://en.wikipedia.org/wiki/Albert_Camus
http://en.wikipedia.org/wiki/The_Rebel_(book)
http://en.wikipedia.org/wiki/National_Liberation_Front_(Algeria)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net