ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: มหกรรม “ตลกร้าย” แห่งชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เราๆ ท่านๆ ควรมองการเมืองไทยแบบจริงจังมากน้อยแค่ไหน หากพิจารณาว่า เกมการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ ที่ฝ่ายต่างๆ ทั้งฟากรัฐบาลและฟากต่อต้านรัฐบาลออกมาโหมโรงโจมตีร่างฯ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการมีอยู่ของ “ตลกร้าย” หรือ irony ทางการเมือง ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ผลัก ร่างพ.ร.บ.นิรโทรกรรมผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งต่อมาได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทยเอง ผมคงไม่อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้มันมีปัญหาเพียงใด ขอย้ำแต่เพียงว่า “การเหมาเข่ง” แบบนี้ ได้สร้างความโกรธแค้นให้คนหลายๆ กลุ่มในสังคมทีเดียว

กลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรอย่างเหนียวแน่น พยายามอธิบาย ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งนี้ว่าเป็นหนทางของการปรองดองแห่งชาติของพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนหนึ่ง ได้รับการยืนยันจากนางสาวยิ่งลักษณ์เอง เมื่อได้ออกมาร้องขอให้คนไทยให้อภัยกัน เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ บางคนในกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท ทักษิณเชื่อว่า มี “ซุปเปอร์ดีล” ระหว่างพรรคเพื่อไทยและฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ต้องการเห็นทักษิณกลับบ้าน และนิรโทษเหมาเข่งนี้จะทำให้ฝันของทักษิณ และฝันคนกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นจริง โดยทักษิณ ไม่เพียงแต่จะได้รับนิรโทษกรรมในคดีคอร์รัปชั่น แต่ยังถือว่าเป็นการล้าง “ประวัติเสีย” รวมถึงอาจได้ทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมาด้วย

“ตลกร้าย” ประการแรกก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งนี้ซึ่งจะล้างผิดอดีตของทักษิณ ได้บดบังข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่า ข้อเท็จจริงนั้นก็คือ กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงจำนวนเกือบ 100 คนถูกสังหารโดยหน่วยงานของรัฐเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เรียกร้องพรรคเพื่อไทย นับจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อราชประสงค์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็คือ ความต้องการให้รัฐบาลเพื่อไทยนำตัวคนผิดมาลงโทษและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต แต่วันนี้ สิ่งเรียกร้องเหล่านี้กลับจางหายไปจากกลุ่มที่สนับสนุนเพื่อไทยอย่างไม่ลืมหูลืมตา “การเมือง” ของคนกลุ่มนี้ยังวนเวียนอยู่กับการผูกยึดอยู่กับตัวบุคคล นั่นคือ ทักษิณ และผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำทางการเมือง มากกว่าการให้ความสนใจที่แท้จริงต่อประเด็นการคืนความยุติธรรม

นางสาวยิ่งลักษณ์เองนั้น นอกจากออกมาร้องขอให้มีการปรองดองของคนในสังคม ก็ใช้โอกาสนี้ในการวัดระดับ “ความเสียหาย” จากการดัน ร่างพ.ร.บ นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ที่น่าเสียดาย แม้แต่ยิ่งลักษณ์เองก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นการคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต ผมขอย้ำว่า การจะก้าวไปข้างหน้า (ดั่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์ปรารถนาจะเห็น) โดยไม่ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น จะไม่มีวันยุติความขัดแย้งในสังคมได้ เท่ากับเป็นการปัดความขัดแย้งไว้ใต้พรมเท่านั้น นี่เป็นอีกหนึ่ง “ตลกร้าย” ที่แฝงอยู่ในความนึกคิดของผู้นำการเมืองของไทย – การลืมอดีตที่นำมาสู่ความขัดแย้งในปัจจุบัน

หากในที่สุด ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ได้ผ่านการตราออกมาเป็นตัวบทกฎหมาย ก็จะเป็นการฝังรากลึกของวัฒนธรรมการยกผิด หรือ (culture of impunity) ในสังคมไทย กำหนดของขบวนการเสื้อแดงที่มีขึ้นหลังรัฐประหารนั้น ก็เพื่อต่อต้านการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องความยุติธรรม “ตลกร้าย” ที่เกิดขึ้นขณะนี้อยู่ที่ คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งลืมถึงรากเหง้าของการต่อสู้ในวันนั้น และพร้อมจะกระโจนโอบอุ้ม ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งซึ่งละเลยหลักการของการส่งเสริมความยุติธรรมและกฎเกณฑ์ทางด้านกฎหมาย ที่สำคัญ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานการยกผิดให้กับการสังหารประชาชนในอนาคต อันตรายมากครับ

แน่นอน ไม่ใช่สมาชิกเสื้อแดงทุกคนที่สนับสนุน ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง กลุ่ม “แดงก้าวหน้า” (ถ้ามีอยู่จริง) ไม่ได้แคร์ว่าทักษิณจะกลับบ้านหรือไม่ แต่ต้องการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการนำตัวผู้สั่งและลงมือสังหารประชาชนที่ราชประสงค์มาดำเนินการทางกฎหมาย แต่เรื่องน่าเศร้าอยู่ที่ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมนี้ได้มีส่วนสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงสายต่างๆ และความขัดแย้งนี้จะไม่เป็นผลดีต่อสถานะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยเอง กลุ่มสนับสนุนทักษิณสุดโต่ง (มีคำใหม่ที่ผมขอแนะนำ Hyper-Thaksinites) ได้ออกมาต่อต้านและด่าทอกลุ่มเสื้อแดงสายก้าวหน้าอย่างรุนแรง ฤาว่า ทักษิณกลายเป็นบุคคลที่ “จาบจ้วง” ไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว

เรื่อง “ตลกร้าย” เช่นนี้ยังพบในฝั่งต่อต้านรัฐบาลด้วย กลุ่มต่อต้านทักษิณซึ่งขณะนี้ ไม่ใช่มีเพียงกลุ่มเสื้อเหลืองเท่านั้น แต่ขยายตัวไปรวมกับกลุ่มชนชั้นกลาง-สูงที่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ ได้ออกมาสร้างวาทกรรมของตนเองต่อกรณีการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สำหรับคนพวกนี้ นิรโทษกรรมเป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวของทักษิณเท่านั้น ดังนั้น การรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจึงเน้นไปที่การกำจัดรัฐบาลชุดนี้ที่มีทักษิณเป็น “พี่เลี้ยง” โฟกัสอยู่ที่คนโกงชาติบ้านเมือง และวาทกรรมนี้ถูกเผยแพร่ซ้ำๆ ในหมู่ผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่บอกตัวเองว่ารักชาติ ต้องการกำจัด “คนเลว” กลับเพิกเฉยต่อการสังหารหมู่ประชาชนที่ราชประสงค์ และการใช้วาทกรรมเรื่องนิรโทษกรรมว่าเป็นการต่อต้านการคอร์รัปชั่นก็ประสบความสำเร็จในการปกปิดอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อประชาชนที่เกิดขึ้นในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

ความเคลื่อนไหวที่ปกปิดความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ในกลุ่มต่อต้านทักษิณ/ยิ่งลักษณ์นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ การเสนอ ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์ “ท้าทายและโจมตี” รัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องความพยายาม “ล้างผิด” ให้ทักษิณ นอกจากนี้ นิรโทษกรรมฉบับนี้ยังเปิดโอกาสให้นายอภิสิทธิ์บิดเบือนประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมือง โดยนายอภิสิทธิ์ได้ออกมาย้ำหลายครั้งว่า การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์นั้นเป็นความชอบธรรม และตนก็กระทำในกรอบของกฎหมาย

“ตลกร้าย” แบบนี้ยากที่จะกลืนกิน นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต แม้ตนเองจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่เกิดความรุนแรงขึ้นและเป็นคนสั่งการให้มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมก็ตาม ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น นิรโทษกรรมเหมาเข่งนี้ จะมีส่วนในการยกผิดให้นายอภิสิทธิ์แม้ว่าตัวนายอภิสิทธิ์เองจะออกมาต่อต้านนิรโทษกรรมฉบับนี้ ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยไม่ต้องการคืนความยุติธรรมให้ประชาชน แต่ยังเปิดโอกาสให้นายอภิสิทธิ์เดินหนีออกจากความรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วย

ที่ “ตลกร้าย” ที่สุดคงเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่กลับกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการ “จับนักโทษการเมืองเป็นตัวประกัน” เพราะการต่อสู้ที่มีอยู่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำทางการเมืองทั้งนั้น กลุ่มเสื้อแดงสาย “อวย” ทักษิณ อาจจะลืมไปว่า ยังมีนักโทษการเมืองเสื้อแดงหลงเหลืออยู่ในเรือนจำ การปกป้องไม่ให้ทักษิณต้องรับโทษกลับกลายมาเป็น “ลำดับความสำคัญ” แรกของการณรงค์ของคนกลุ่มนี้ หาใช่อิสรภาพของนักโทษการเมืองเสื้อแดงไม่

และขณะนี้ ดูเหมือนว่า ในที่สุดร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้คงต้องถูกเก็บลงลิ้นชักอีกระยะหนึ่ง เพราะกระแสต่อต้านจากสังคมแรงมาก โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้อง “ถอย” แต่การถอยแบบนี้ จะทำให้โอกาสที่จะเห็นนักโทษทางการเมืองเหล่านั้นได้รับอิสรภาพยิ่งมีน้อยลงมากขึ้นไปอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท