Skip to main content
sharethis

คสรท.ถกเครือข่ายแรงงานสรุปท่าทีเคลื่อนไหวค้าน กม.นิรโทษ 10 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า คสรท.และเครือข่ายแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบทั่วประเทศรวม 30 องค์กร ต่างไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีเจตจำนงแอบแฝงซ่อนเร้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองให้พ้นผิดจากการสั่งฆ่าประชาชน และการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการทุจริตต่อชาติบ้านเมืองและประชาชน โดยทาง คสรท.และเครือข่ายจะประชุมหารือกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะไปร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อวุฒิสภาหรือไม่ ขณะนี้เป็นสิทธิของแรงงานแต่ละคนแต่ละองค์กรที่จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะไปร่วมกับกลุ่มใดก็เป็นสิทธิของแต่ละคนและแต่ละองค์กร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่กระทรวงแรงงานนั้น ข้าราชการกระทรวงแรงงานไม่ได้ออกมารวมตัวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ข้าราชการบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเห็นว่า เมื่อนักการเมืองทำทุจริตก็ควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการทำลายความถูกต้องของกฎหมาย สร้างความเสียหายกับบ้านเมือง เพราะในอนาคตหากมีการทำความผิด ก็สามารถออกกฎหมายล้างผิดได้

(มติชนออนไลน์, 5-11-2556)

แรงงานทวงความคืบหน้าสัญญาไอแอลโอขู่เตรียมบุกทำเนียบ

(5 พ.ย.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยสมาชิก จากองค์การแรงงานต่างๆ กว่า 50 คน เดินทางมาทวงความคืบหน้าการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องและทวงถามความชัดเจนจากรัฐบาล โดยขอให้รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และกำหนดกรอบเวลา กระบวนการ ขั้นตอนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 หาก ร.ต.อ.เฉลิม ยังเพิกเฉย ที่จะให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน จะไปชุมนุมเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.....ในปัจจุบัน
       
ด้านนางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานต้องการผู้บริหาร ที่ใส่ใจและเข้าใจปัญหาแรงงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน และแรงงานควรมีส่วนในการตรวจสอบการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ในฐานะเจ้าของเงิน ทั้งนี้ หาก ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ควรลาออกจากตำแหน่ง เปิดโอกาสให้คนที่ใส่ใจแรงงานมาบริหารงาน เพื่อผู้ใช้แรงงานจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
       
ด้าน นายพานิช จิตต์แจ้ง ว่าที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ลงมารับหนังสือเรียกร้องกับผู้ใช้แรงงาน หลังนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยสมาชิก จากองค์การแรงงานต่างๆ กว่า 50 คน เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าอนุสัญญาดังกล่าวและรอพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่เวลา 10.00 น.แต่ก็ไร้แววที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะเดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง โดยนายพานิช กล่าวว่า จะพยายามช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้ดีที่สุด เพราะเห็นใจผู้ใช้แรงงาน จะดูแลไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติและทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนการมายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุเข้าวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่าจะบรรจุเข้าที่ประชุมเมื่อใด ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเป็นเพียงช่องทางในการเรียกร้องเท่านั้น การจะรับอนุสัญญาฯ ไอแอลโอทั้ง 2 ฉบับหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี  แต่จะพยายามสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างเต็ม ที่
       
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประกาศว่าจะให้เวลารัฐบาล ในการสร้างความชัดเจนเรื่องการรับอนุสัญญาฯ ไอแอลโอ ทั้ง 2 ฉบับ ภายใน 5 วัน นับจากนี้ หากครบกำหนดไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาลในการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้ใช้แรงงานจะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่แน่นอน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-11-2556)

ผู้ว่าการ กฟผ. ไม่ตำหนิพนักงานออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

5 พ.ย.-ผู้ว่าการ กฟผ. ไม่ตำหนิพนักงานออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า  การที่พนักงาน กฟผ.ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่กระทำได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขั้นพื้นฐาน แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และยืนยันว่าพนักงานที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะไม่ถูกลงโทษหรือ ภาคทัณฑ์ เพราะใช้ช่วงเวลาพักเที่ยง ตั้งแต่เวลา 12.30-13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาการทำงาน
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. จะขึ้นเวทีร่วมประกาศจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ. และวันที่ 7 พ.ย. จะนำทีมพนักงานที่ร่วมคัดค้านเดินทางไปชุมนุมที่เวทีราชดำเนินต่อไป
 
นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ร่วมมือกับจังหวัดลำปางและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2556 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาช่วงฤดูหนาว โดยการจัดงานครั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างโรงไฟฟ้าและชาวบ้านในชุมชนรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิต และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วที่ทาง กฟผ. ได้ควบคุมคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีการติดตั้งระบบกำจัดมลภาวะที่สมบรูณ์ และตรวจสอบคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง จากกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติรวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้การทำ เหมืองลิกไนต์ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
 
ด้านนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบรูณ์ทางธรรมชาติ และมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม รวมถึงมีสถาปัตยกรรมและศาสนาที่เก่าแก่ ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวทางภาคเหนือกันมาก และงาน เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดลำปางประมาณ 4 แสนคน และคาดว่า ในปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมา 700,000-800,000 คน เฉลี่ยใช้จ่าย 3,000 ต่อคน จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 2,400 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 5-11-2556)

ดีเอสไอจ่อชงคดีแรงงานไทยถูกนายหน้าตุ๋นค้าแรงงานที่สวีเดนเป็นคดีพิเศษ

ที่กระทรวงยุติธรรม เวลา 10.00 น.วันที่ 6 พ.ย. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามที่ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมสู่ประชาชน โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 1 ชม.
      
นายธาริตกล่าวภายหลังการประชุมถึงกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่า ที่ประเทศสวีเดน ว่าสืบเนื่องจากตัวแทนผู้ใช้แรงงานมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อดีเอสไอ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 401 หมู่ 9 ต.ช่องสามหมอ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลอกลวงคนงานให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน แต่ภายหลังเมื่อคนงานเดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนแล้ว บริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กลับไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงงานเก็บผลไม้ให้แก่คนงาน และคนงานไทยที่เดินทางไปกับบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในครั้งนี้มีประมาณ 250 คน มาจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ชัยนาท ฉะเชิงเทรา แพร่ สมุทรปราการ ทั้งนี้คนงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเดินทางไปเก็บผลไม้ให้แก่ บริษัทดังกล่าวรายละประมาณ 75,000-100,000 บาท ซึ่งบางรายอาจจ่ายเป็นเงินสดให้แก่บริษัทฯ แต่บางรายไปกู้เงินกู้นอกระบบมาจ่ายเป็นค่าเดินทาง หรือบางรายไปกู้เงินที่ ธ.ก.ส. จากนนั้นก่อนออกเดินทางบริษัทจะให้คนงานลงชื่อในสัญญาจ้างแรงงานและเอกสาร การกู้ยืมเงินโดยให้นำเอกสารสิทธิในที่ดินเอกสารคู่มือรถยนต์ หรือหลักทรัพย์อื่นมาวางค้ำประกันไว้กับบริษัท
      
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า เมื่อเดินทางไปที่ประเทศสวีเดนแล้วจะถูกเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ แล้วให้ทำงานเก็บผลไม้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-22.00 น. และมีความเป็นอยู่ลำบากนอกจากนี้คนงานจะมีค่าใช้จ่ายในการพักอยู่ที่แคมป์คน งานประมาณวันละ 1,300 บาท หรือ 280 โครนสวีเดน แต่ไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างจากการเก็บผลไม้จากบริษัท จึงได้เข้าไปประท้วงและร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของประเทศสวีเดน กระทั่งมีคนงานไทยที่กู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดความเครียด ถึงขั้นฆ่าตัวตายที่ประเทศสวีเดน จนปัจจุบันคนงานเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง จากบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แต่อย่างใด
      
นอกจากนี้ จากการสืบสวนเบื้องต้นยังพบว่า บริษัทดังกล่าวจะเชิดลูกจ้างหรือพนักงานในบริษัทเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ แทนเจ้าของตัวจริง ส่วนตัวบงการซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะไม่มีชื่อปรากฏในเอกสารจด ทะเบียนของบริษัท ทั้งนี้ยังพบว่าเจ้าของบริษัทที่แท้จริงมีพฤติการณ์หลอกลวงคนงานในลักษณะ เช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ในการหลอกลวงคนงานไปทำงานในหลายประเทศ อันเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงแรงงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 344 อย่างไรก็ตาม ลักษณะคดีดังกล่าวมีความซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบ รวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดอาญาอื่น ตนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ จะนำเรื่องนี้ส่งไปที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อให้มีมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ ตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และขณะนี้คณะทำงานสืบสวนสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนปากคำชาวบ้านผู้เสียหาย เพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของ บริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แล้ว นอกจากนี้เรามีข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ อย่างเช่นการตั้งบูทหรือตั้งโต๊ะหลอกลวงในต่างจังหวัดก็จะมีเจ้าหน้าที่แรง งานในจังหวัดนั้นๆเข้ามาปรากฏตัว และเหยื่อจะมีการไปสอบถามทางแรงงานบางจังหวัดก็ยืนยันว่าเป็นบริษัทถูกต้อง นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้รับข้อมูลเชิงลึกจากผู้ใหญ่ระดับซี 10 ของกระทรวงแรงงานว่าเรื่องนี้มีการเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีการ เก็บหัวคิวและมีการส่งซ่วย และหลังจากนี้ตนจะประสานงานกับ ป.ป.ท.เพื่อส่งข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมเมื่อมีความชัดเจนกว่านี้เพื่อ ดำเนินการต่อไป
      
นายธาริตกล่าวอีกว่า นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดทางอาญา อันเข้าข่ายความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงแรงงาน” 2. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานดังกล่าวทั้งเรื่องสิทธิ และให้คำแนะนำข้อกฎหมายต่างๆ และ 3. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามตรวจสอบบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ หากปรากฏว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที
      
ทั้งนี้ นายชัยเกษมฝากประชาสัมพันธ์และเตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อหรือให้ระมัดระวังบริษัทที่อ้างว่าจัดหาแรงงานไปเก็บผลไม้ป่า ที่ประเทศสวีเดน เนื่องจากตนเคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศสวีแดน ซึ่งได้ทราบว่าเวลาไปเก็บผลไม้ป่าที่นั้นจะไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน และค่าแรงจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าปริมาณผลไม้ป่าที่เก็บได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2556)

แรงงานการบินไทย ประกาศต้านนิรโทษหน้าสำนักงานใหญ่ พรุ่งนี้เที่ยง

การบินไทย นัดแต่งชุดดำรวมตัวคัดค้านแสดงจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หน้าสำนักงานใหญ่ 8 พฤศจิกายน เวลาเที่ยงตรง

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ประกาศเชิญชวนพนักงานที่รักชาติ แต่งชุดดำร่วมกันประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น บริเวณหน้าเสาธง สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิน วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12.00 น. ซึ่งการประกาศจุดยืนของสหภาพแรงงาน มิใช่เพียงการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น แต่ประชาชนต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในหลัก จริยธรรม ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐ จึงขอรณรงค์ให้พนักงานที่มีสำนึกรักชาติ รักความยุติธรรม ร่วมกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ร่วมกันแสดงพลัง หยุดกฎหมายอัปยศ ทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย มีนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและรัฐวิสาหกิจ คัดค้านเผด็จการทุกรูปแบบ ต่อต้านการแปรรูปและทำลายรัฐวิสาหกิจ ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามหลักนิติรัฐจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความ สมานฉันท์ในชาติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

(RYT9.COM, 7-11-2556)

เตือนแรงงานถูกหลอกทำงานญี่ปุ่น

นางอธิษฐาน พันธุ์ฟัก จัดหางานจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าไปท่องเที่ยวใน ญี่ปุ่นได้เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า (FREE VISA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ทำให้มีคนไทยบางส่วนถือโอกาสเข้าประเทศและลักลอบทำงาน โดยจ่ายค่านายหน้าคนละ 300,000 บาท สำนักงานจัดหางาน จ.อำนาจเจริญ มีความห่วงใยประชาชนมาก เนื่องจากญี่ปุ่นมีบทลงโทษบุคคลที่ทำผิดกฎหมายเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 เยน และสำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมผิดประเภทของวีซ่าที่ได้รับอนุญาต เป็นเงินไม่เกิน 2,000,000 เยน หากไม่มีเงินชำระค่าปรับ จะต้องถูกกักขังและใช้แรงงาน สำนักงานจัดหางานขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว หากจะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับวีซ่าการทำงานหรือฝึกงานโดยเฉพาะ และต้องได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นเท่า นั้น.

(ไทยโพสต์, 7-11-2556)

สปส.อัด 3 โปรโมชันจูงใจแรงงานนอกระบบ เสนอจ่าย 100 บาท นาน 420 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตั้งเป้าหมายจะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อให้มีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคง ตามนโยบาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานให้ได้ทั้งหมด 2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมมาตรา 40 มีทั้งหมด 3 ทางเลือกโดยทางเลือกที่ 1 จ่ายเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท และรัฐร่วมจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ค่าทำศพ และทางเลือกที่ 2 จ่ายเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐร่วมจ่าย 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กรณีและเพิ่มกรณีเงินชราภาพ
      
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนทางเลือกที่ 3 รับสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพนั้น ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของ ประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของ บุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกัน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 โดยจะจ่ายเงินสมทบ เดือนละ 200 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่าย 100 บาท และสามารถส่งเงินออมเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หากจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 420 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพแต่หากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 420 เดือนจะได้รับเงินบำเหน็จพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ สปส.ประกาศแต่ละปีโดยเงินกรณีชราภาพจะได้รับเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนอีก
      
“สปส.จะเริ่มรับสมัครขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.นี้ โดยภายใน 1 ปี นับแต่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2556 จนถึงวันที่ 8 ธ.ค.2557 แรงงานนอกระบบที่มีอายุ 15-65 ปี จะสมัครทางเลือกใดก็ได้หรือสมัครทางเลือกที่ 1 กับ 3 หรือ ทางเลือกที่ 2 กับ 3 ได้ตามต้องการ แต่หากผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี จะสามารถสมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3 หลังจากนั้นนับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2557 จะรับสมัครเฉพาะผู้ที่มีอายุ 15-60 ปีเท่านั้น คาดว่าจะมีผู้สมัครมาตรา ดังกล่าว ประมาณ 6 แสนคนจากเป้าหมายผู้สมัครมาตรา 40 ที่ตั้งไว้ 2 ล้านคน” นายจีรศักดิ์ กล่าว
      
ประธานบอร์ด สปส.กล่าวต่อว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังกำหนดให้กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตให้จ่ายเงิน ประโยชน์ทดแทนค่าทำศพ 2 หมื่นบาท ต่อเมื่อภายในเวลา 12 เดือน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่จะเสียชีวิต เว้นแต่ผู้ประกันตนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ให้จ่ายเงินค่าทำศพต่อเมื่อภายในเวลา 6 เดือน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือนก่อนเสียชีวิต นอกจากนี้ กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็น จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับก่อนถึงความตายให้แก่สามี ภรรยา บิดา มารดาหรือบุตรของผู้รับเงินบำนาญชราภาพในจำนวนที่เท่ากัน และกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพไม่มีทายาท หรือญาติก็ให้ทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
      
“สปส.ได้รับจัดสรรงบจากรัฐบาลในปี 2557 เป็นเงินอุดหนุนให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 723 ล้านบาท และงบดำเนินงานกว่า 180 ล้านบาท และเตรียมการรองรับโดยแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขออัตรากำลังข้าราชการและจ้างพนักงาน สปส.เพิ่มรวม 395 อัตรา เตรียมระบบไอที การขึ้นทะเบียน รับชำระเงินสมทบ จ่ายประโยชน์ทดแทน อีกทั้ง สปส.จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสั่งให้หน่วยงานภายในจังหวัดช่วย รณรงค์ทั่วทุกพื้นที่” นายจีรศักดิ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-11-2556)

ก.เกษตรฯ จับมือ 8 ภาคเอกชน ต้านแรงงานประมงเถื่อน

11 พ.ย. - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ 8 ภาคเอกชน การใช้แรงงานเถื่อนในอุตสาหกรรมประมง ลดปัญหากีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ มั่นใจสามารถปลดไทยออกจากบัญชี 2 ประเทศปัญหาแรงงานเถื่อน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ 8 สมาคมภาคเอกชน ประกาศจุดยืนลงนามต่อต้านและหยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในภาคการประมงและอุตสาหกรรมการประมง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงไทย เป็นจุดอ่อนในการส่งออกและเพิ่มศักภาพการประมงไทยให้ยกระดับมากขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภาครัฐจะเร่งดำเนินการบังคับทางกฎหมาย และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการใช้แรงงานถูกกฎหมาย

ซึ่งจากรายงานสหรัฐอเมริกา จัดอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี 2 หรือกลุ่มบัญชีความรุนแรงที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ โดยมองว่าไทยยังเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ และอยู่ในความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยการจัดลำดับดังกล่าวอาจส่งผลกระทบถึงขั้นการกีดกันทางการค้า สินค้าจากไทย 5 ประเภทได้แก่ กุ้ง ปลา เสื้อผ้า และน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

โดยหารือภาคเอกชนวางแนวทางแผนยุทธศาสตร์ภายใน 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติถึงความจริงจังของไทยในการแก้ปัญหา ตั้งเป้าลดระดับและให้ไทยหยุดจากบัญชี 2 ด้านความรุนแรงให้ได้อย่างเร็วที่สุด

(สำนักข่าวไทย, 11-11-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net